ศ.ทพ.อิศระ ยุกตะนันทน์


ศ.ทพ.อิศระ ยุกตะนันทน์
  • ก่อนที่จะพ้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเดือนที่เมื่อ ๓๔ ปีก่อน มีการสถาปนาคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๒๒
  • ฅ ฅน ฅนแรกที่อยากจะเอ่ยถึงในชีวิตการทำงานของผู้เขียน คือ ศ.ทพ.อิศระ ยุกตะนันทน์ ท่านเป็นทันตแพทย์รุ่นแรกของประเทศไทย เป็นทันตแพทย์สาขาทันตกรรมประดิษฐ์ อดีตคณบดีของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตคณบดีท่านแรกคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว    
    เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ช่วงนั้น อยู่ในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ (๒๕๒๐ – ๒๕๒๔) ของประเทศไทย ระยะนั้น จำนวนสัดส่วนทันตแพทย์ต่อประชากรในประเทศไทยมีอัตราที่ต่ำมาก ประกอบกับคณะทันตแพทยศาสตร์ในประเทศไทยมีเพียง ๓ แห่ง เท่านั้น คือ
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
·  ท่าน ศ.ทพ.อิศระ  ยุกตะนันทน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นถึงความขาดแคลนทันตแพทย์ในประเทศ   จึงริเริ่มและดำเนินการเกี่ยวกับการเปิดคณะทันตแพทยศาสตร์ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อผลิต    ทันตแพทย์ให้เพิ่มขึ้น และรองรับผู้ป่วยด้านทันตกรรมในประเทศและโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ      ท่านประสงค์ที่จะให้มีทันตบุคลากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทันเวลาต่อความต้องการของประเทศในระยะนั้น ตลอดจน     อยากให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ในชุมชน ท่านจึงเสนอก่อตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและเสนอ หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ระดับปริญญาตรี ต่อทบวงมหาวิทยาลัย และได้รับการสถาปนาคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๒๒ เป็นคณะทันตแพทยศาสตร์ แห่งที่ ๔ ของประเทศไทย หลักสูตรแรกกำหนดให้มีการเรียนการสอนแบ่งเป็น ๒ ช่วง คือ การเรียนด้านวิชาการ ๔ ปี หลังจากนั้น จะให้นักศึกษาออกไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน ๒ ปี แล้วจึงกลับมาเรียนวิชาการอีก ๒ ปี จึงจะสำเร็จ    การศึกษาได้รับปริญญาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต
<span style="line-height: 1.45em;">·</span><span style="line-height: 1.45em;">  </span><span style="line-height: 1.45em;">ต่อมา จึงมีการปรับปรุงหลักสูตรและปรับการเรียนการสอนเป็น ๖ ปี ต่อเนื่อง เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอีก ๓ แห่ง  ในประเทศไทยในขณะนั้น </span>
·  ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ท่าน ศ.ทพ.อิศระ  ยุกตะนันทน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์        มหาวิทยาลัยมหิดลในขณะนั้น ได้มารักษาราชการแทนคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในช่วงแรกจนกระทั่งท่าน เกษียณอายุราชการที่มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเดินทางสลับไป – มา ระหว่างคณะทันตแพทยศาสตร์   มหาวิทยาลัยมหิดลและคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และต่อมา เมื่อท่านเกษียณอายุราชการแล้ว    จึงมาดำรงตำแหน่งคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเต็มเวลา
·  การบริหารราชการในสถานการณ์ที่ขาดแคลนทั้งบุคลากรและงบประมาณเป็นการบริหารที่ต้องใช้ยุทธวิธีทั้งหลายมา     บริหารให้คณะฯจัดการเรียนการสอนไปได้อย่างราบรื่น    ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะไม่ใช่ทันตแพทย์ แต่นโยบายหนึ่งที่จำได้แม่น คือ ท่านไม่อนุญาตให้อาจารย์หมอทั้งหลายออก ไปทำงานคลินิกในเวลากลางวันช่วงเที่ยงวัน เพราะท่านบอกว่าการทำงานรักษาทางทันตกรรมไม่เหมือนงานอย่างอื่น    ในการรักษาผู้ป่วยต้องใช้เวลามาก ถึงแม้จะเป็นเวลาช่วงพักรับประทานอาหารของบุคลากรแต่การไปทำการรักษาที่คลินิก ส่วนตัวจะทำให้รบกวนเวลาราชการ
·  ขณะนั้น คณะทันตแพทยศาสตร์ต้องขอความอนุเคราะห์ใช้ห้องทำงานและห้องบรรยายของคณะแพทยศาสตร์ คณะ   พยาบาลศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์และคณะมนุษยศาสตร์
·  ตลอดระยะเวลาช่วงแรกๆคณะทันตแพทยศาสตร์ต้องย้ายห้องทำงานหลายครั้ง
·  เริ่มจากการขอความอนุเคราะห์ใช้ห้องของคณะแพทยศาสตร์ มข. ซึ่งขณะนั้น คณะแพทยศาสตร์เปิดการเรียน    การสอนที่บริเวณที่ตั้งของคณะสาธารณสุขศาสตร์ในปัจจุบัน คณะทันตแพทยศาสตร์ มข. จึงมีห้องทำงานติดกับห้องพัสดุของคณะแพทยศาสตร์ มข. บริเวณ ชั้น ๑ ของอาคารคณะแพทยศาสตร์เดิมในขณะนั้น และขอใช้ห้องเพื่อใช้เป็นห้องทำงานอีกแห่งหนึ่ง ณ บริเวณ ชั้น ๔ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มข. คณาจารย์ของคณะฯมีประมาณ ๑๐ ฅน      และหลายฅนต้องไปศึกษาต่อต่างประเทศ เช่น รศ.ทพ.อรุณ  ฑีรฆพงศ์  รศ.ทพญ.นิธิภาวี  ศรีสุข ผศ.ทพ.อนันตจิรวิบูลย์ ข้าราชการ สาย ข – ค และลูกจ้างประจำ มีประมาณ ๑๐ ฅน
·  ภายหลัง คณะฯย้ายห้องทำงานจากคณะแพทยศาสตร์ไปอยู่บริเวณ ชั้น ๒ และ ชั้น ๔ คณะพยาบาลศาสตร์ มข.  และย้ายห้องทำงานจากคณะพยาบาลศาสตร์ไปอยู่อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ บริเวณ ชั้น ใต้ดิน และชั้น ๒ – ๓ จนสุดท้าย มาอยู่บนอาคารมหิตลานุสรณ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ ในปัจจุบัน
·  ส่วนการทำงานของเหล่าคณาจารย์ของคณะฯในการในการให้บริการผู้ป่วยด้านทันตกรรมในระยะแรกต้องปฏิบัติงานที่      แผนกทันตกรรม โรงพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ (ขณะนั้นตั้งอยู่บริเวณคณะนิติศาสตร์ปัจจุบัน)
·  ศ.ทพ.อิศระ ยุกตะนันทน์ได้ขอแยกการปฏิบัติงานคลินิกของคณะฯจากแผนกทันตกรรมคณะแพทยศาสตร์ และขอ  งบประมาณก่อสร้างอาคารคลินิกทันตกรรม ๑ เป็นอาคารแรก เพื่อใช้ในการเรียนการสอนวิชาปฏิบัติการคลินิกของ    นักศึกษา ซึ่งทำให้คณะทันตแพทยศาสตร์เริ่มมีเงินรายได้จากการให้บริการของคณาจารย์และการเรียนการสอนของ     นักศึกษาระดับปริญญาตรีของคณะฯ    จำได้ว่าถึงแม้ผู้เขียนจะเข้าทำงานในคณะฯในตำแหน่งนักวิชาการเงินและบัญชี แต่งานแรกที่ผู้เขียนต้องช่วย คือ     การช่วยจัดทำคำของบประมาณแผ่นดิน ประจำปี ๒๕๒๕ มีงบประมาณทั้งคณะฯเป็นจำนวนยอดไม่กี่หมื่นบาท     สมัยนั้นยังต้องพิมพ์ลงในกระดาษไข และโรเนียว ก่อนจะมารวมเย็บเป็นเล่ม    อีกงานหนึ่งที่เป็นงานแรกเช่นกัน คือ การยืมเงินและนำเงินไปจ่ายเป็นค่าส่งเอกสารทางไปรษณีย์ประจำรายเดือน   ที่ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น
·  ในการที่ผู้เขียนมีโอกาสได้เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านโดยมีท่านเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในคณะทันตแพทยศาสตร์  มข.ท่านแรกในชีวิตการทำงานราชการ ถือได้ว่าเป็นบุญและเป็นโอกาสอันดี ที่ได้เรียนรู้จากผู้มีความสามารถ       และมากด้วยประสบการณ์อันสูง
·  ศ.ทพ.อิศระ ยุกตะนันทน์ เป็นผู้ที่มี มีความเข้มแข็งและเข้มงวดในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ บุคลากรซึ่งมีจำนวน  น้อยต่างช่วยกันทำหน้าที่ ไม่ค่อยจะมีการบอกว่า นี่ไม่ใช่หน้าที่ เพราะ ฅ ฅน มีน้อย จึงต้องช่วยกันทำงานให้ลุล่วงไป เพื่อคณะฯจะได้ดำเนินต่อไปได้     มีอยู่ครั้งหนึ่งรถเข็นแสตนเลสของราชการเกิดหายสาบสูญไป เนื่องจากรถเข็นดังกล่าวเป็นครุภัณฑ์ หากจะทำการตั้ง กรรมการและสอบสวนคงเป็นเรื่องหลายขั้นตอนและทำลายขวัญกำลังใจของบุคลากรผู้รับผิดชอบและไม่ได้มีเจตนาให้     ครุภัณฑ์ของหลวงหายไป ท่านจึงควักเงินส่วนตัวของท่านเองซื้อรถเข็นตัวใหม่มาแทนในตอนที่คณะฯต้อง         สำรวจครุภัณฑ์ประจำปี
·   หากพินิจให้ดี จะพบว่า ศ.ทพ.อิศระ  ยุกตะนันทน์ ซึ่งเป็นฅน อายุ ๖๐ ปี มีชีวิตครอบครัวสมบูรณ์    มีความพร้อมในด้านฐานะทางการเงินและหน้าที่การงานซึ่งเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ยังคิดที่จะมาทำประโยชน์ต่อประเทศ    ในดินแดนที่ห่างไกล
 o ในการเดินทาง ถึงจะมีเครื่องบินอยู่บ้าง แต่จำนวนเที่ยวบินก็มีน้อยเที่ยวและไม่ตรงกับเวลาที่จะปฏิบัติงาน        ส่วนการเดินทางโดยรถยนต์ ถนนหนทางในสมัยนั้นยังเป็นถนน ๒ เลน บางช่วงของถนนก็ขรุขระ ดังนั้น จึงต้องใช้เวลา ในการเดินทางโดยรถไฟในเวลากลางคืนเป็นส่วนมาก ใช้เวลาเกือบทั้งคืนเป็นเวลาหลายชั่วโมงในการเดินทางจากกรุงเทพฯถึงขอนแก่น  จะเห็นได้ว่าต้องเหน็ดเหนื่อยพอสมควรสำหรับผู้สูงอายุดังเช่นท่าน
 o  ส่วนที่พัก ท่านพัก ณ แฟลตศูนย์แพทย์ ใกล้คณะเทคนิคการแพทย์ในปัจจุบัน สมัยนั้น เรียกว่าแฟลตนกกระจอก
·  ช่วงการดำเนินชีวิตของท่านเพียงระยะเวลาช่วงสั้นๆในคณะทันตแพทยศาสตร์ ของ ฅ ฅน ผู้นี้ ถือได้ว่าท่าน       ได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อ ฅ ฅน อื่นๆ ทั้งในคณะฯ ในประเทศไทย และสังคมโลกนี้อย่างน่าสรรเสริญยิ่ง
·  ฅ ฅน แบบนี้ น่ายกย่องยิ่ง ใช่ไหมคะ

จึงขอเอ่ยถึงท่านเป็น ฅน แรก ไว้ ณ ที่แห่งนี้ นะคะ

หมายเลขบันทึก: 537585เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2013 18:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2018 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท