กฎหมายพระสงฆ์ของไทย ตั้งแต่สมัย รัฐกาลที่ ๑


เขียนโดย kaitong  

กฎหมายพระสงฆ์ของไทย



  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตรากฎหมายคณะสงฆ์ที่เรียกว่า กฎพระสงฆ์ ขึ้นในระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๒๓๔๔ รวม ๑๐ ฉบับ ดังที่ปรากฎอยู่ในกฎหมายตราสามดวง แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นับเป็นกฎหมายคณะสงฆ์ชุดแรก ที่ปรากฎหลักฐานอยู่ถึงปัจจุบัน 
  ในการตรากฎหมายคณะสงฆ์โดยส่วนรวม ทรงมีพระราชประสงค์ที่สำคัญคือ เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์และสามเณร ประพฤติปฏิบัติตนเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ให้พระราชาคณะ เจ้าอธิการ และเจ้าหน้าที่สังฆการี ทำการกำกับดูแลและลงโทษผู้ที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัย ตามสมควรแก่โทษหนักเบา ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ รวมทั้งที่ทรงตราไว้ในกฎพระสงฆ์นี้ด้วย นอกจากนั้น ในแต่ละฉบับจะทรงปรารภเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะกรณี ๆ ไป อันเป็นสาเหตุให้ต้องตรากฎพระสงฆ์ฉบับนั้น ๆ ขึ้นมา 
  การที่มีกฎพระสงฆ์ขึ้นมานี้ สะท้อนให้เห็นเหตุการณ์ในครั้งนั้น โดยเริ่มจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ เกิดสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด ประชาชนพลเมืองเกิดความระส่ำระส่ายไปทั่ว ภิกษุสามเณรเป็นจำนวนมาก ประพฤติปฏิบัติย่อหย่อนในพระธรรมวินัย บรรดาพระราชาคณะ พระอุปัชฌาย์อาจารย์ และเจ้าอาวาสปล่อยปละละเลย ไม่ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ การคณะสงฆ์จึงตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม ไม่เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของประชาชนเช่นที่เคยเป็นมาในสมัยก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ในฐานะที่เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก จึงทรงเร่งรับฟื้นฟูสถานภาพของพระพุทธศาสนาไปพร้อม ๆ กันกับที่ทรงเร่งรีบฟื้นฟูสภาพของบ้านเมือง ให้พ้นจากจุดวิกฤติโดยเร็วที่สุด 



  กฎพระสงฆ์ที่ทรงตราขึ้นมามีอยู่ ๑๐ ฉบับ เนื้อหาสาระของแต่ละฉบับ จะประกอบด้วยข้อความที่ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละเรื่อง ว่าผิดพระธรรมวินัยข้อใด ทำให้พระศาสนาเสื่อมเสียอย่างไร แล้วทรงมีพระบรมราชโองการ ห้ามมิให้ทำเช่นนั้นอีกต่อไป พร้อมทั้งกำหนดโทษทางบ้านเมือง เพิ่มจากโทษทางพระธรรมวินัยอีกส่วนหนึ่ง สาระสำคัญของกฎพระสงฆ์แต่ละฉบับ ดังนี้ 


กฎพระสงฆ์ฉบับที่ ๑
  ๑.  กฎให้ไว้แก่ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย  ฝ่ายทหารพลเรือน ฝ่ายหน้าฝ่ายใน  ขอเฝ้าจ้าวต่างกรมๆ พระราชวังบวรสถานมงคล ผู้รักษาเมือง ผู้รั้งกรมการ แลสังฆการีธรรมการ ราชาคณะ พระสงฆเจ้าอธิการ อนุจร ฝ่ายคันทธุระ วิปัสนาธุระ อรัญวาสี คามวาสี นอกกรุง ในกรุงเทพมหานครศรีอยุธยา แลหัวเมืองเอก เมืองโท เมืองตรี เมืองจัตวา ตะวันตก ตะวันออก ปากใต้ ฝ่ายเหนือ จงทั่ว 
  จึงพระบาทสมเด็จพระบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว  ทุกวันนี้มีพระราชปณิธานปรารถนาพระโพธิญาณ ..... เป็นเอกอัครมหาสาสะนูปถัมภก พระพุทธศาสนา..... เสด็จออก ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทโดยบูรพาภิมุข  พร้อมด้วย อัครมหามนตรี กวีชาติ ราชปุโลหิต โหรา ราชบัณฑิตยเฝ้าพระบาทบงกชมาศ  ทรงพระราชวิจารนุญาณรำพึงถึงพระปริยัติศาสนา  พระไตรปิฎกนี้เป็นต้น ปฏิบัติมรรคผล  ให้ได้โลกียสมบัติ โลกุตรสมบัติ เพราะพระไตรปิฎก  จึงมีพระราชโองการ ฯ ดำรัสว่า 
  โดยต่ำแต่ให้มีพระธรรมเทศนา แลสำแดงพระธรรมเทศนาให้ธรรมเป็นทานนั้น  มีผลประเสริฐกว่า  สรรพทานทั้งปวง  ชื่อว่าให้พระนิพพานเป็นทาน..... เหตุฉะนี้จึงทรงพระกรุณา แสวงหาอุบายที่จะให้สมณพราหมณ์ เสนาบดี ประชาราษฎรทั้งปวง  ให้ได้สมบัติทั้งสามประการ พ้นจากจตุราบายทุกข์ แลสงสารภัย จึงทรงพระอนุเคราะห์ให้ข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย  สมาทานพระไตรสรณาคมน์ ศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ  ในสำนักพระสงฆ์ทุกวัน ทุกเพลาเป็นปฏิบัติบูชา กองมหากุศลวิเศษ ประเสริฐกว่า อามิสบูชา จตุปัจจัยทาน..... แลพระปริยัติไตรปิฎกธรรมนี้  เมื่อบุคคลประพฤติเป็นสัมมาคารวะแล้ว  ก็มีผลอันนับประมาณมิได้..... 
  แลทุกวันนี้อาณาประชาราษฎรทั้งปวงลางบาง  ให้มีพระมหาเวสสันดรชาดกนี้มิได้มีความสังเวชเลื่อมใส เป็นธรรมคารวะ  ฟังเอาแต่ถ้อยคำตลกคะนอง  อันหาผลประโยชน์มิได้  พระสงฆ์ผู้แสดงนั้นบางจำพวกมิได้เล่าเรียนพระไตรปิฎก  ได้แต่เนื้อความแปลร้อยเป็นกาพย์กลอน  แล้วก็มาสำแดงเป็นถ้อยคำตลกคะนอง หยาบช้า  เห็นแต่ลาภสัการเลี้ยงชีวิต  มิได้คิดที่จะร่ำเรียนสืบไป  ทำให้พระศาสนาฟั่นเฟือนเสื่อมสูญ  ชวนกันประมาทในพระธรรมเทศนา..... 
  ครั้งนี้ทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งว่า  ให้สมเด็จพระสังฆราช ราชาคณะ พระสงฆ์ฝ่ายปริยัติ  นักปราชญ์ราชบัณฑิตย  ให้พิจารณาค้นดูพระไตรปิฎกนั้น ก็พบเห็นบทว่า ผู้สำแดง แลผู้ฟังธรรมอันประมาท  กล่าวถ้อยคำตลกคะนอง  เอาธรรมนั้นมากล่าวเป็นอธรรม  โทษนั้นเป็นครุโทษอันใหญ่หลวง..... เหตุฉะนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งว่า 
 แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ให้พระสงฆ์ผู้สำแดงพระธรรมเทศนา  และราษฎรผู้จะฟังพระมหาชาติชาดกนั้น สำแดง แลฟังแต่ตามวาระพระบาลี แลอรรถกถา ฎีกา ให้บริบูรณ์ด้วยผลอานิสงค์นั้น  ก็จะได้พบสมเด็จพระศรีอารยิเมตไตรในอนาคต..... 
  และให้พระภิกษุสงฆ์ เถร เณรฝ่ายคันถธุระ วิปัสนาธุระ แลอาณาประชาราษฎรทั้งปวง  ประพฤติตามพระราชกำหนดกฎหมายนี้จงทุกประการ  ถ้า..... ผู้ใดมิได้ประพฤติตามพระราชกำหนดกฎหมายนี้  จะเอาตัวผู้มิได้กระทำตามกฎ  แลญาติโยมพระสงฆ์ เถร เณรรูปนั้นเป็นโทษตามโทษานุโทษ 

  กฎให้ไว้ ณ วันเสาร์ เดือนสิบ ขึ้นสิบห้าค่ำ  จุลศักราชพันร้อยสี่สิบสี่ ( พ.ศ. ๒๓๒๕ ) ปีขาล จัตวาศก 

                                แล้วจะนำกฎพระสงฆ์ฉบับที่ ๒มานำเสนอต่อไป



คำสำคัญ (Tags): #วัดกะรน
หมายเลขบันทึก: 537347เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2013 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2013 11:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท