ประสบการณ์ตรงของเด็ก 3 ขวบ


"การจัดประสบการณ์การจัดการความรู้โดยใช้

หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับชั้นอนุบาล"

            จากการออกแบบและจัดกระบวนการเรียนการสอนโดยได้แนวคิดที่จะนำหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียงมาสอดแทรกในเนื้อหาด้วยแรงบันดาลใจจากคำถามของนักเรียนที่เกิดความสงสัยในสิ่งที่ได้พบเห็น จึงนำพานักเรียนไปสู่การปฏิบัติจริงเพื่อให้นักเรียนได้รับคำตอบจากสิ่งที่สงสัยด้วยตนเอง และมีการใช้แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย

            ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาลเกี่ยวกับเรื่องการปลูกผักอินทรีย์ ของเด็กเล็กวัยเพียง 3 ขวบ ได้จัดกิจกรรมที่เน้นการประยุกต์ใช้แนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการเรียนและในการใช้ชีวิตประจำวันของนักเรียน โดยการวิเคราะห์แนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการประยุกต์ใช้กับการปลูกผักอินทรีย์ให้นักเรียนเข้าใจหลักการของแนวคิดออกเป็นแผนผังความคิด (Mind map) ส่วนการปฏิบัติครูใช้วิธีการสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการปฏิบัติงาน เริ่มจากการเรียนรู้การทำปุ๋ยหมักโดยนำใบไม้ที่มีอยู่อย่างมากมายในโรงเรียนนำมาทำปุ๋ยหมักโดยการเรียนรู้จากฐานการเรียนรู้การทำปุ๋ยอินทรีย์ของโรงเรียน ฝึกการทำปุ๋ยหมักใบไม้เพื่อใช้ในการบำรุงดิน ในขั้นตอนนี้เด็กๆ มีความสนุกสนานเพราะนักเรียนจะแข่งขันเก็บใบไม้ให้ได้มากที่สุด เนื่องจากกลุ่มไหนได้ใบไม้มากก็จะได้คะแนนมากตามไปด้วย หลังจากนั้นนักเรียนจะช่วยกันเตรียมแปลงปลูกผัก ครูผู้สอนจะฝึกให้เด็กมีความกระตือรือร้นมากเพราะเด็กเล็กหลายคนมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเกษตรบ้างเพราะเด็กเล็กบางคนมีความรู้เรื่องการปลูกผักผักบุ้งได้ดี และบางชั่วโมงที่มีการขุดแปลงถึงอากาศร้อน เด็กเล็กๆจะสนุกมากจะมีอารมณ์ที่ร่างเริงสนุกสนานมาก  ส่วนครูผู้สอนจะคอยเสริมและให้กำลังใจเด็กเรื่องของการมีน้ำใจ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และการเสียสละที่มีต่อส่วนรวมซึ่งเป็นคุณธรรมที่ควรปลูกฝังกับเด็กตั้งแต่เล็กๆ เมื่อเวลาปลูกผักบุ้งมาถึงนักเรียนต้องนำเมล็ดผักบุ้งมาปลูกจะเป็นเวลาที่โกลาหลพอสมควรเพราะเด็กไม่ค่อยเข้าใจในการปลูกพืชก็จะมาขอเมล็ดผักบุ้งจากครูมากๆ เพื่อเอาไปปลูกให้มีต้นผักบุ้งมากๆ ครูจึงได้อธิบายว่าทำไมเราไม่ใช้เมล็ดผักบุ้งมากเกินไป เหตุผลเพราะจะทำให้ต้นกล้าที่งอกแย่งอาหารกัน ผักบุ้งจะไม่เจริญเติบโตและที่สำคัญจะเป็นการสิ้นเปลืองค่าเมล็ดพันธุ์ เมื่อถึงเวลาที่ผักบุ้งงอก เด็กที่พบเป็นคนแรกก็จะวิ่งมารายงานครูด้วยความตื่นเต้นและดีใจ แล้วกระบวนการดูแลรักษาผักบุ้งก็เริ่มขึ้นโดยให้นักเรียนแบ่งเวรรับผิดชอบมารดน้ำผักบุ้งกัน บางคนถือบัวรดน้ำคนเดียวไม่ไหวเพื่อนๆ ก็เข้ามาช่วย บางวันก็มีผู้ปกครองมาช่วยเด็กรดน้ำแปลงผักของเด็กแสดงให้เห็นถึงคุณธรรมของเด้กและผู้ปกครองทีมีน้ำใจช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน

          เมื่อผักบุ้งโตขี้นเด็กก็จะมาบอกว่ามีแมลงมากัดกินผัก และขอให้ครูช่วยเอาออก จากเหตุการณ์นี้ครูและเด็กก็ช่วยกันคิดหาวิธีการกำจัดแมลงที่เป็นศัตรูพืช โดยครูให้เด็กเสนอวิธีการกำจัดแมลงของตน ซึ่งส่วนใหญ่จะพบว่านักเรียนจะเสนอให้ใช้ยาฆ่าแมลง ครูผู้สอนเป็นกังวลกับความคิดของนักเรียนจึงได้ให้เด็กไปสำรวจว่าแมลงที่เป็นศัตรูพืชมีแมลงอะไรบ้าง และให้เด็กไปค้นคว้าเพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ท ว่าแมลงแต่ละชนิดมีประโยชน์และโทษต่อผักอย่างไร และให้หาวิธีการกำจัด โดยให้นักเรียนนำเสนอแนวคิดหน้าชั้นเรียน ซึ่งวิธีการที่นักเรียนเสนอมากที่สุดคือการใช้สมุนไพรฉีดพ่น รองลงมาคือการใช้แมลงตัวห้ำและการใช้กัปดักสีทากาว ในการใส่ปุ๋ยครูให้เด็กได้รู้จักปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยอนินทรีย์ โดยให้เด็กทดลองใช้ทั้งปุ๋ยหมักและปุ๋ยเคมี ซึ่งปรากฏว่าเมื่อราดน้ำด้วยปุ๋ยหมักไส้เดือนก็เลื้อยมุดดินหายไป แต่พอใช้ปุ๋ยเคมีไส้เดือนทุรนทุรายแล้วค่อย ๆ ตายไป มีน้องแตงโมเป็นเด็กขี้สงสัยประจำห้องศูนย์พัฒนาเด็เล็กพูดกระซิบกับเพื่อนว่า “สงสารมันจังเลย” ครูจึงได้สอดแทรกเนื้อหาให้เด็กเล็กๆทราบถึงประโยชน์และโทษของปุ๋ยเคมี เมื่อถึงเวลาเก็บผักบุ้ง เด็กก็จะนำกลับไปทำอาหารทานที่บ้าน เมื่อยังไม่หมดก็จะนำไปแจกให้เพื่อนและคุณครูท่านอื่นๆ และเมื่อแจกหมดแล้วเด็กก็นำไปขายให้ครูเพื่อเก็บเงินไว้ออมต่อไป  

            การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ได้จริงกับการดำเนินชีวิต การทำงาน  ทำให้ชีวิตมีความสมดุล  มีความสุขตามสถานภาพของแต่ละคน เป็นเรื่องสำคัญที่สุดและเป็นอันดับแรกก่อนที่ครูจะถ่ายทอดแนวคิดนี้ไปสู่เด็กผ่านกระบวนการเรียนการสอน  ซึ่งครูสามารถสอดแทรกแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การปลูกจิตสำนึก การปลูกฝังคุณธรรมให้กับนักเรียนซึ่งครูสามารถทำได้ตลอดเวลา ตลอดจนการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก  ครูผู้สอนควรสอนให้เด็กเข้าใจธรรมชาติของเด็ก     โดยเฉพาะนักเรียนประถมที่มีความอยากรู้อยากเห็น ช่างซักถามตลอดเวลา การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีการประยุกต์ใช้แนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจฯและนักเรียนนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ตัวอย่าง เรื่องการปลูกผักอินทรีย์ โดยการให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง เน้นการทำงานเป็นกลุ่มเริ่มจากการให้นักเรียนทำปุ๋ยหมักจากใบไม้ในโรงเรียน เพื่อนำไปใช้ในการปลูกผักอินทรีย์ต่อไป  ขณะที่นักเรียนลงมือปฏิบัติ ครูผู้สอน จะสอนความรู้ให้นักเรียนสังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัว เปิดโอกาสให้นักเรียนซักถามได้ตลอดเวลาและครูผู้สอนกระตุ้นความสนใจของนักเรียน โดยใช้คำถามกระตุ้นให้นักเรียนคิด นักเรียนเรียนด้วยความสนุกสนาน  โดยครูผู้สอนใช้คำถามให้นักเรียนสรุปได้ด้วยตนเอง ครูอธิบายความรู้พร้อมสอดแทรกความมีเหตุผล  ความพอประมาณ  มีภูมิคุ้มกันที่ดี มีคุณธรรม รักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งครูผู้สอนทำอย่างต่อเนื่องทุกกิจกรรม ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้เข้าใจและสามารถนำหลักปรัชญาฯไปใช้ได้ นักเรียนมีอุปนิสัยพอเพียง โดยครูมีการวัดผลประเมินผลตามสภาพจริงจากกการสังเกตขณะเรียน  ประเมินชิ้นงาน สัมภาษณ์นักเรียน และสัมภาษณ์ผู้ปกครอง 

 


หมายเลขบันทึก: 537167เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2013 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2013 14:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท