ค่านิยมกับสังคมไทยในยุคโลกาภิวัตน์


สภาพปัญหา

          ตั้งแต่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังไม่มีสมัยใดที่ประชาชน  ชาวไทยเกิดความแตกแยกทางความคิด เท่ากับช่วงเวลานี้ เป็นความแตกแยกด้านค่านิยม  2 ประการ คือ ความเก่ง กับ ความดี และ ความร่ำรวย กับ ความพอเพียง ซึ่งเป็นค่านิยมที่สร้างความสับสนด้านความคิด และการตัดสินใจของประชาชนในการเลือก “ผู้นำประเทศ” ที่แบ่งออกเป็นสองฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด และกำลังนำประเทศไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรง 
           

 ค่านิยมประการแรก: ความแตกต่างระหว่างค่านิยม ความเก่ง กับ ความดี 

ฝ่ายแรก : ขอให้ได้ผู้นำที่เก่ง ทำให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองไม่จำเป็นต้องมีคุณธรรม ผู้นำที่เก่งต้องมีความรู้ความสามารถ มีการศึกษาสูง เป็นคนมีวิสัยทัศน์ก้าวไกล ตัดสินใจรวดเร็ว และมุ่งผลลัพธ์คือ มีความร่ำรวยและได้ทรัพยากรที่เป็นรูปธรรม ดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่รวดเร็วเห็นผลเป็นรูปธรรม คือประชาชนมีรายได้สูงขึ้น อยู่ดีกินดี ไม่สนใจศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจของคนในชาติ เพราะไม่สามารถตีค่าเป็นทรัพย์สินได้

ฝ่ายที่สอง : คนดีจะต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติ ยึดค่านิยมความดี ผู้นำต้องเป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อประเทศชาติ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม เทิดทูนหวงแหนสมบัติและความภาคภูมิใจในชาติ ไม่ปล่อยให้วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และประเพณีของไทย ถูกทำลายด้วยวัฒนธรรมจากต่างชาติ ผู้นำที่ดีต้องจริงใจ ตรงไปตรงมา เชื่อว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เกรงกลัว และละอายต่อบาป” ไม่ กล้าเบียดเบียนผู้อื่น สังคมและประเทศชาติ 

 ค่านิยมประการที่สอง : ความแตกต่างระหว่างค่านิยม ความร่ำรวย กับ ความพอเพียง 

ฝ่ายแรก : ปากท้องเป็นเรื่องสำคัญหากมีใครสัญญาว่าจะทำให้ร่ำรวยก็จะได้รับการชื่นชมสนับสนุน แต่จะไม่สนับสนุนผู้นำที่มุ่งเน้นนโยบายการประหยัด การอดออม ถือว่า “เงินเป็นพระเจ้า” บันดาลได้ทุกสิ่ง สามารถนำไปสู่อำนาจรัฐ เกื้อหนุนมุ่งกอบโกยผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง

 ฝ่ายที่สอง : มุ่งความเป็นอยู่ตามอัตภาพนิยมความพอดีมุ่งดำรงชีวิตเพื่อให้ “อยู่เย็นเป็นสุข” ทำมาหากินโดยสุจริตไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ก่อหนี้สินรู้จักเก็บออมไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย จึงไม่จำเป็นต้องฉ้อราษฎร์บังหลวง คดโกงเอารัดเอาเปรียบเพื่อนร่วมชาติ และถือว่า “ต้องชดใช้แผ่นดินเกิดที่ตนเองได้อาศัย” ความแตกต่าง และความขัดแย้งของค่านิยมกำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เป็นผลมาจากการอบรมสั่งสอน และการจัดการศึกษาของไทย ประชาชนขาดข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องครบถ้วน ทำให้ไม่สามารถแยกแยะถูกผิดได้ ความขัดแย้งในค่านิยมที่กล่าวมาอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้บ้านเมืองล่มสลายได้ หากชาวไทยยังเอาตัวรอดเป็นสำคัญ ไม่ใช้จิตสำนึก คือ ความรู้ดีรู้ชั่ว รู้ถูกรู้ผิด มาเป็นตัวกำหนดแนวทางการตัดสินใจของตนเอง ( อ้างจาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=536032)   

           จากประเด็นความขัดแย้งในเรื่องค่านิยมดังกล่าวจึงมีการจัดการเสวนาเรื่อง เด็ก : ควรเรียนรู้อะไรจากวิกฤติทาง การเมือง เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2553 โดยคณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนตามรัฐธรรมนูญวุฒิสภา (อนุศักดิ์ คงมาลัย 2553) และพบว่าค่านิยมของเด็กไทยในยุคปัจจุบันที่เกิดจากการเลียนแบบทางสังคมที่สำคัญ 5 ด้าน พรหมลิขิต ติดยา บ้าแบรนด์เนม ติดเกม กลัวผี ซึ่งค่านิยมเหล่านี้มาจากเพื่อน สังคมรอบข้าง การโฆษณาชวนเชื่อ และผู้นำทางความคิด ส่วนระบบการศึกษาของไทยที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้ตามที่คาดหวังไว้ เพราะปรับตัวไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและใช้มาตรฐานในการวัดความเก่งของเด็กเพียงด้านเดียว เมื่อสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนจึงพบว่า พฤติกรรมที่อยากลอกเลียนแบบนักการเมืองของไทยมากที่สุดคือ การกระทำที่เห็นแก่ตัวและการทุจริตประพฤติมิชอบต่างๆ ขณะที่มีเยาวชนแสดงความคิดเห็นว่าอยากลอกเลียนแบบพฤติกรรมและการกระทำความดีของนักการเมืองน้อยกว่าเยาวชนกลุ่มแรก  (อ้างจาก http://www.ryt9.com/s/tpd/933656 )

              สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (สุริยเดว ทรีปาตี 2553) พบว่า ปัจจุบันเยาวชนอยู่ในสังคมที่เน้นทุนนิยมและวัตถุนิยม สังคมพื้นฐาน คือครอบครัวมีปัญหามากขึ้นทำให้พ่อแม่ ยุคใหม่ไม่อยากมีลูก ส่งผลให้ปัจจุบันขนาดของครอบครัวเล็กลง แต่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น คาดว่าในปี 2568 จะมีผู้สูงอายุถึง 14,400,000 คนส่งผลให้เกิดเป็นปัญหาด้านสังคมที่ต้องแก้ไข การสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อ ความสุขของครอบครัวไทยพบว่า 62.42 % ครอบครัวไทยต้องเผชิญกับปัญหาการขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ความแตกแยกในครอบครัว ปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งสาเหตุมาจากพฤติกรรมในการดำรงชีวิตที่ยึดติดกับค่านิยมทางวัตถุมากกว่าการพัฒนาคุณภาพของคนในครอบครัว โดยอัตราการจดทะเบียนหย่าได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว 

                การค้นพบว่าปัญหาของเด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบัน มี 5 มิติ ได้แก่
1. ปัญหาขาดศีลธรรมและรักษาวัฒนธรรมไทย ซึ่งผลการวิจัยระบุว่า เด็กไทยจะมีค่านิยมใหม่ คิดว่าถ้าเก่งแล้วโกง เป็นเรื่องที่ปกติธรรมดา คนไทยยอมรับได้ สภาพสังคมและวัฒนธรรมไทยเป็นเรื่องที่ล้าสมัย การพูดไทยคำอังกฤษคำเป็นเรื่องที่เด็กไทยนิยม 2. เรื่องการบริโภค เด็กไทยมีค่านิยมเลียนแบบสื่อ โดยเฉพาะละครโฆษณา ซึ่งนำเสนอเนื้อหารูปภาพเพื่อสร้างความต้องการให้ผู้บริโภคคิดว่ามีความจำเป็นจะต้องหาสินค้านั้นมาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง จึงทำให้เด็กไทยเกิดพฤติกรรมความอยากได้อยากมีบางคนถึงกับกู้หนี้ยืมสิน หรือใช้ตัวเข้าแลกเพื่อให้ได้เงินและนำมาซื้อของฟุ่มเฟือยเหล่านั้น
3. การพนัน ซึ่งเป็นภัยเงียบที่แฝงเข้ามาถึงตัวเด็กโดยเฉพาะทางหนังสือพิมพ์กีฬาต่างๆที่จะนำเสนอข้อมูลของช่องทางการพนันกีฬาประเภทต่างๆ เอาไว้ให้เด็กเลือกใช้เป็นแนวทางการเล่นพนัน ถือเป็นเรื่องอันตรายที่จะทำลายอนาคตของเด็กไทย เพราะเป็นการทำให้เด็กเกิดความอยากได้ อยากมี ไม่รู้จักพอ 4. การใช้ความรุนแรง ทั้งทางด้านร่างกาย วาจา และจิตใจเป็นผลมาจาก การเล่นเกมส์ ดูภาพยนตร์ ละคร ที่มีภาพ ภาษาที่มีความรุนแรง ส่งผลให้เด็กเกิดความอาฆาตพยาบาท แก้แค้นเกิดพฤติกรรมความรุนแรงทางเพศ
5. ทัศนคติการแสดงออกทางเพศ ปัจจุบันถือว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ การนำเสนอค่านิยมทางเพศที่ไม่เหมาะสมแก่เด็ก พบว่าเด็กไทยเสียตัวมากขึ้นก่อนวัยอันควร (วรัชญ์ ครุจิต 2552 อ้างจาก http://blog.eduzones.com/jipatar/26947)

ข้อเสนอแนะ สิ่งที่เด็กควรเรียนรู้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมคือ การเรียนรู้ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมด้วยตนเองอย่างรู้เท่าทัน รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้อง ครบถ้วน จากสื่อที่มีความรับผิดชอบในการนำเสนอ เพื่อไม่ตกเป็นเป้าหมายของผู้ที่ต้องการทำให้ให้สังคมและประเทศชาติเกิดปัญหาและวิกฤติการณ์ การแก้ปัญหาทำได้โดยใช้องค์ประกอบ 3 เรื่องหลัก คือ
1.ควรมีการประชุมครม.ด้านสังคมเหมือนกับที่มีการประชุมครม.เศรษฐกิจเพราะปฏิเสธ ไม่ได้ว่าปัญหาด้านสังคมสำคัญน้อยกว่าด้านเศรษฐกิจ 2. ต้องมีดัชนีตัวชี้วัดทางสังคมโดยใช้แนวทางขจัดร้ายขยายดี และสร้างภูมิคุ้มกัน 3. ต้องมีสถาบันวิชาการที่เกี่ยวกับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ที่จะช่วยกระตุ้นและประเมิน ดัชนีทางด้านสังคม ซึ่งสถาบันดังกล่าวจะมีลักษณะคล้ายกับทีดีอาร์ไอ (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) 

          การเสริมสร้างสังคมให้มีความสุขและมีคุณภาพต้องยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและสันติวัฒนธรรมหรือค่านิยมร่วมที่พึงประสงค์ ๙ ประการได้แก่ (1) รู้หน้าที่ มีวินัย เคารพสิทธิผู้อื่น (2) ซื่อสัตย์ สุจริต (3) เสียสละมีน้ำใจ คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม (4) ยึดหลักสันติประนีประนอม (5)ให้ความสำคัญกับครอบครัว (6) ขยัน อดทน ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง (7) รักษ์ ภูมิใจในความเป็นไทย (8)ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ใฝ่สร้างสรรค์ (9) ปฏิบัติตามคุณธรรมของศาสนา (สมชาย เสียงหลาย 2553)

          ปัจจุบันหน้าที่ในการอบรมเด็กถูกผลักภาระไว้ที่โรงเรียน ในขณะที่ระบบโรงเรียนกลับมุ่งเน้นในเชิงวิชาการ ดังนั้นผู้ปกครองต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลอบรมเด็ก ( ธนากร คมกริช 2553   อ้างจาก http://www.ryt9.com/s/tpd/933656

           สถานการณ์วิกฤตนี้จะเป็นโอกาสให้มีการปรับเปลี่ยนค่านิยมและสร้างจิตสำนึกใหม่ของคนในชาติ ให้มีจิตสำนึกในความเป็นไทยมีความรับผิดชอบ รู้จักใช้สิทธิและหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตยมีจิตสาธารณะคือรู้จักเอาใจใส่เป็นธุระและเข้าร่วมในเรื่องของส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ มีความสำนึกและยึดมั่นในระบบคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีงาม ละอายต่อสิ่งที่ผิด เน้นความเรียบง่ายประหยัด และมีความสมดุล ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ สร้างความสมดุลของร่างกาย เพื่อมีสุขภาพที่ดี ปลูกฝังค่านิยมที่เป็นการส่งเสริมการดูแลสุขภาพและป้องกันโรคซึ่งดีกว่าการให้การรักษาเมื่อเกิดขึ้นแล้วและหากจะนำมาเป็นกลยุทธ์ในการสร้างสังคมใหม่ ด้วยวิธีการของลูกเสือ สังคมไทยย่อมจะเป็นสังคมที่ผาสุก ทั้งจะฟันฝ่าปัญหาและอุปสรรคในทุกด้าน จึงได้นำเสนอเป็นยุทธศาสตร์ ของการสร้างประชาสังคมด้วยกิจกรรมลูกเสือ โดยเน้นไปที่ยึดมั่นตามคำปฏิญาณและปฏิบัติตามกฎของลูกเสืออย่างเคร่งครัด คือ ข้อ 1 ข้าฯ จะจงรักภัคดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 

 ข้อ 2 ข้าฯ จะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ 

 ข้อ 3 ข้าฯ จะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ ข้อเสนอแนะสุดท้ายคือ การใช้คุณธรรมนำความรู้ ขับเคลื่อนการศึกษาแก้วิกฤติชาติ ดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ 20 สิงหาคม 2507 ความว่า “วิชาความรู้นั้น ถ้าใช้ในทางที่ดีด้วยความรู้เท่ากัน ก็จะช่วยป้องกันประเทศชาติให้พ้นภยันตรายจากศัตรู และสามารถช่วยการพัฒนาบ้านเมืองให้ทันกับความเจริญของโลกในปัจจุบันได้ แต่ถ้าใช้ด้วยความหลงแล้ว ก็จะเป็นอันตรายแก่ตนเอง และแก่ชาติบ้านเมืองอย่างร้ายกาจที่สุด”  (อ้างจาก http://www.technicprachin.ac.th/other/publicgood/critical2article.htm)

หมายเลขบันทึก: 535832เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2013 22:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2013 06:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)


...การสร้างประชาคมด้วยเน้นการยึดมั่นตามคำปฏิญาณและปฏิบัติตามกฎของลูกเสืออย่างเคร่งครัด...ก็ยังมีข้อจำกัด สำหรับเด็กผู้หญิงที่แยกไปเรียนยุวกาชาดหรือเรียนเนตรนารี...แต่อย่างไรก็ตามกิจกรรมลูกเสือก็เป็นแบบอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในด้านกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางอยู่แล้ว...การปลูกฝังค่านิยมและการสร้างจิตสำนึกใหม่ที่ดีงามให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนจึงน่าจะบูรณาการกันกับทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้นะคะ...

กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงยิ่งในคำแนะนำค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท