การพัฒนาครูเพื่อแก้ปัญหานักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้โดยใช้กระบวนการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน


ชื่อเรื่อง  :การพัฒนาครูเพื่อแก้ปัญหานักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

    โดยใช้กระบวนการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน

ผู้รายงาน  : นางสาววราภรณ์  อนุวรรัตน์

ตำแหน่ง  : ศึกษานิเทศก์ 
สถานที่ทำงาน  :
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3

ปีที่รายงาน  : 2556

บทสรุปของการพัฒนา

  วัตถุประสงค์ของการพัฒนาครั้งนี้  เพื่อศึกษาผลการดำเนินงานตามกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ผลการใช้ชุดการเรียนด้วยตนเอง เรื่องการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนเพื่อแก้ปัญหานักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และผลการพัฒนาครูตามกระบวนการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนกลุ่มเป้าหมายคือ ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 3 ในปีการศึกษา 2555 ที่มีความสนใจและต้องการพัฒนาเรื่องการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน จำนวน 40 คน

  เครื่องมือที่ใช้คือ  ชุดการเรียนด้วยตนเอง เรื่องการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนเพื่อแก้ปัญหานักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แบบสำรวจความต้องการในการพัฒนาตนเองสำหรับครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย แบบทดสอบความรู้ก่อน - หลังการพัฒนาเป็นข้อสอบปรนัย 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ  แบบประเมินผลการพัฒนาการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน  แบบสอบถามความคิดเห็นของครูที่มีต่อการใช้ชุดการเรียนด้วยตนเอง  แบบนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการพัฒนาครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  และแบบวัดและประเมินความสามารถและทักษะ ด้านการอ่านออก เขียนได้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ผลการพัฒนาสรุปดังนี้

  1.ผลการดำเนินงานตามกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เรื่องการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน ครูที่เข้ารับการพัฒนามีความพึงพอใจในการดำเนินงานตามกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการในระดับมาก สืบเนื่องมาจากกระบวนการพัฒนาในเรื่องการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนที่มีกระบวนการขั้นตอนชัดเจนและการมีส่วนร่วมของครูในการร่วมกันวางแผน ปฏิบัติ  นิเทศติดตาม และสะท้อนผลการปฏิบัติ สังเกตได้จากการที่ครูได้ร่วมกันในการวางแผนโดยได้สร้างข้อตกลงร่วมกัน  กำหนดปฏิทินการนิเทศ ประเมินผลการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนโดยตนเอง เพื่อนครู ผู้บริหาร ทำให้ครูผู้รับการพัฒนาได้ทราบผลของการศึกษาได้ทันที  และยังมีการนิเทศติดตามโดยผู้พัฒนาร่วมสังเกต และประเมินผลการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนของครู พร้อมกันนี้ยังได้ให้ข้อเสนอแนะต่อครูผู้รับการพัฒนา

    2. ผลการใช้ชุดการเรียนด้วยตนเอง เรื่องการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนเพื่อแก้ปัญหานักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ พบว่าชุดการเรียนด้วยตนเอง เรื่องการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนเพื่อแก้ปัญหานักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ มีประสิทธิภาพเท่ากับ 87.42/89.17  สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ (E1 /E2 = 80/80) สืบเนื่องมาจากโครงสร้างและส่วนประกอบของชุดการเรียนด้วยตนเองมีความเที่ยงตรงตามเนื้อหา มีความครอบคลุมเนื้อหา ผ่านการทดลองใช้ ปรับปรุงแก้ไขมาเป็นลำดับมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และการเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ย ของผลการทดสอบหลังการพัฒนาโดยใช้ชุดการเรียนด้วยตนเอง เรื่องการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนเพื่อแก้ปัญหานักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้  แตกต่างจากคะแนนเฉลี่ยก่อนการใช้ชุดการเรียนด้วยตนเอง เรื่องการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน โดยดัชนีประสิทธิผล (E.I) = 0.71 คะแนนเฉลี่ยหลังการพัฒนาสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนการพัฒนาร้อยละ 71.49  สืบเนื่องมาจาก ชุดการเรียนด้วยตนเองที่ครูนำไปศึกษาด้วยตนเอง มีการจัดประชุมปฐมนิเทศสร้างความเข้าใจร่วมกัน  และการปฏิบัติกิจกรรมในแต่ละบทเรียน ผลการปฏิบัติในขั้นแรกได้รับการประเมินด้วยตนเองและเพื่อนครู เป็นการขยายความรู้สู่เพื่อนครูในโรงเรียน อีกทั้งชุดการเรียนด้วยตนเองเป็นเอกสารที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ฝึกคิด  ฝึกปฏิบัติกิจกรรม สนองความต้องการของตนเอง  ครูที่ใช้ชุดการเรียนด้วยตนเองในภาพรวม มีความรู้ และมีความสามารถในการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนเพิ่มขึ้น  สามารถนำความรู้ไปเผยแพร่ ถ่ายทอดแก่เพื่อนครู และคิดว่าครูภาษาไทยทุกคนต้องได้รับการพัฒนาเรื่องการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน นอกจากนี้ยังมีความคิดเห็นว่ารูปแบบในการนำเสนอเนื้อหาชุดการเรียนด้วยตนเองมีความเหมาะสม และมีประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะทางการวิจัยสำหรับครูสอดคล้องกับลักษณะธรรมชาติในการเรียนรู้ของผู้ใหญ่

  3.ผลการพัฒนาครูตามกระบวนการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน พบว่า การพัฒนาครูเพื่อแก้ปัญหานักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้โดยใช้กระบวนการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน  สามารถพัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจและมีทักษะในการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนได้  ซึ่งจากการนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการพัฒนาครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ปรากฏคุณภาพการปฏิบัติโดยรวมมีค่าเฉลี่ยระดับมาก เนื่องจากการจัดฝึกอบรมให้ประสบผลสำเร็จควรมีการติดตามผลโดยเริ่มตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังการฝึกอบรม เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่าการฝึกอบรมนั้นเป็นประโยชน์สูงสุด เป็นการสร้างสภาวะที่ช่วยกลั่นกรองและกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติงาน  จะได้ผลกว่าการอบรมไปแล้วไม่มีการติดตามผลใดๆ ซึ่งผลการนิเทศ ติดตามและประเมินผลในครั้งนี้ทำให้ ทราบถึงความสามารถในการปฏิบัติงานด้านการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน การแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบโดยใช้ชุดการเรียนด้วยตนเอง เรื่องการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน  และการที่ครูภาษาไทยที่เข้าร่วมโครงการนี้ เข้าร่วมด้วยความสมัครใจและมีความต้องการที่จะพัฒนาตนเอง เรื่องการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน  โดยการพัฒนาครูจะเกิดผลได้นั้น  ครูต้องรักที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง มีศักยภาพที่จะเรียนรู้จึงพัฒนาตนเองได้  โดยครูได้นำความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยโดยใช้กระบวนการวิจัยอย่างจริงจังส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ด้านการอ่านออกเขียนได้มีพัฒนาการสูงขึ้นทุกรายทักษะ ซึ่งจะพบได้จากผลสัมฤทธิ์ด้านการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 3 ในปีการศึกษา 2555 พบว่าการเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยร้อยละผลสัมฤทธิ์การอ่านออก ก่อนและหลังการพัฒนามีพัฒนาการสูงขึ้นทุกรายทักษะแสดงให้เห็นว่า  การวิจัยช่วยให้การพัฒนางานเป็นระบบและเป็นไปอย่างน่าเชื่อถือ ซึ่งสะท้อนถึงความชัดเจน รอบคอบ และตรวจสอบได้ นอกจากนี้ยังเกิดนวัตกรรมเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียนที่สอดคล้องกับลักษณะของปัญหาการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นและนำไปใช้ได้จริง


หมายเลขบันทึก: 535802เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2013 16:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2013 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท