ภูมิปัญญาเรื่อง ข้าวแต๋นทรายบ้านกลางทุ่ง


ภูมิปัญญาเรื่อง    ข้าวแต๋นทรายบ้านกลางทุ่ง

สถานที่   
  บ้านกลางทุ่ง
  ตำบลวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน

เจ้าของภูมิปัญญา  นางวัน  จันทร์เอี่ยม 

นักเรียนแกนนำ  นางสาวเพียงฤทัย  แรงอด  นางสาวกมลทิพย์  ทาทราย  นางสาวทนตวรรณ  บุญคำพงศ์ 

นางสาวอารยา  มูลเหล่า

ครูที่ปรึกษา  นางรัตนา  อู่อรุณ นางดวงพร แก้วสุข 

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ความเป็นมา

           ข้าวแต๋น อาหารสูตรดั้งเดิมของคนในภาคเหนือที่มีข้าวเหนียวนึ่งเป็นส่วนประกอบหลักเป็นอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือที่ภาคอื่นๆ รู้จักคุ้นเคยไม่ว่าจะเป็นของกินสำหรับต้อนรับแขกผู้มาเยือน เป็นขนมที่สำคัญในงานทำบุญใหญ่หรือเรียกว่าบุญหลวงล้านนา(วันพระสำคัญทางพระพุทธศาสนา) หรือของฝากประทับใจคนรับอันเลื่องชื่อมาช้านาน  และเป็นที่นิยมแพร่หลายตั้งแต่อดีตสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนอกจากนั้นข้าวแต๋นยังถือเป็นสินค้าที่สามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้แก่ชาวบ้านเกษตรกรชุมชน จากฝีมือการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างไม่หยุดยั้ง เช่น เป็นข้าวแต๋นสีต่างๆหลากหลายสี ทั้งสีขาวข้าวเหนียวเปล่า สีแดงจากน้ำแตงโม  หรือสีเขียวจากใบเตย  นอกจากนั้นก็จะเป็นรสชาติ เช่นเป็นข้าวแต๋นน้ำแตงโม ข้าวแต๋นธัญพืช หรือข้างแต๋นหน้าหมูหยอง หน้าน้ำพริกเผา ฯลฯ เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศไทย เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของภาคเหนือที่เป็นทั้งของกินและของฝาก  ปัจจุบันกำลังก้าวไกลไปสู่ตลาดโลกสร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างคาดไม่ถึง

            ข้าวแต๋น กำเนิดเริ่มต้นเมื่อใดไม่มีเอกสาร หลักฐานปรากฏชี้ได้อย่างชัดเจนบางหลักฐานว่าถือกำเนิดมาจากประเทศจีน  บ้างว่าถือกำเนิดจากในวัดทางภาคเหนือของประเทศไทยที่บริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักนี่เอง โดยมีคนสันนิษฐานว่าข้าวแต๋นซึ่งเป็นอาหารที่มาจากข้าวเหนียวนึ่งมาแปรรูปนั้น 
เกิดขึ้นจากความบังเอิญในการเก็บข้าวเหนียวนึ่งที่เหลือจากการกินในแต่ละวันแต่ละครั้งของชาวบ้าน นำมาตากแห้งแล้วทอดด้วยน้ำมันเก็บไว้รับประทานนานๆ แต่คนล้านนาซึ่งมีชาวนาเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ได้ทำนามาด้วยความยากลำบากจึงรู้คุณค่าของข้าวมากกว่าคนในอาชีพอื่น  ชาวนาจะไม่กินข้าวทิ้งๆ ขว้างๆจะนึ่งข้าวให้พอดีกับการกินในแต่ละวัน ถ้ามีข้าวเหลือก็จะนำมาอุ่นในวันต่อไป ข้าวที่เหลือจึงไม่มากพอที่จะคิดนำไปแปรรูปเป็นข้าวแต๋นได้ แต่ที่วัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันทำบุญสำคัญทางศาสนาชาวบ้านที่ศรัทธานำข้าวปลาอาหารไปถวายพระจำนวนมากทำให้มีข้าวเหลือกินและเกิดความเสียดายกลัวข้าวจะเสียจึงนำไปตากแห้งเก็บไว้จนเกิดความคิดในการแปรรูปนำไปทอดในน้ำมันกลายเป็นข้าวแต๋นจนถึงปัจจุบันนี้ก็เป็นได้  แต่อีกทางหนึ่งมีผู้กล่าวไว้ว่าการทำข้าวแต๋นเป็นวิธีถนอมอาหารเพื่อเก็บไว้กินนานๆของชาวบ้าน  และเพื่อการนำติดตัวไปเมื่อต้องเดินทางไกลหรือไปทำศึกสงครามในสมัยโบราณ และต้องไปหลายวันหรือหลายเดือนเพราะอาหารถือเป็นปัจจัยสำคัญของสงคราม (กองทัพต้องเดินด้วยท้อง) ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็นับว่าข้าวแต๋นเป็นยุทธปัจจัยที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งทีเดียว 

 

ความสำคัญ

         ในจำนวนข้าวแต๋นที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักไม่พบว่ามีข้าวแต๋นทราย รวมอยู่ด้วย ทั้งๆ ที่ ข้าวแต๋นทราย มีประวัติการทำมายาวนานกว่า๕๐ ปี  ตำนานข้าวแต๋นทรายที่นักเรียนในโครงการศึกษาเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นอำเภอป่าซาง-เวียงหนองล่องฯของโรงเรียนน้ำดิบวิทยาคม ได้ค้นพบจากปราชญ์ชาวบ้านที่บ้านกลางทุ่งอำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน เป็นข้าวแต๋นที่ไม่เป็นที่รู้จักในตลาด ของข้าวแต๋นภคเหนือเลย ลักษณะไม่ใช่ข้าวแต๋นที่กำลังทำรายได้เป็นกอบเป็นกำในชุมชนต่างๆและได้รับการพัฒนาในทุกด้าน เป็นข้าวแต๋นที่มีความแตกต่างไปจากข้าวแต๋นทั่วไปจากการตรวจสอบ พบว่ามีทำอยู่เพียงแห่งเดียวในจังหวัดลำพูนหรืออาจหมายรวมถึงจังหวัดอื่นๆในภาคเหนือที่ยังคงรักษาภูมิปัญญานี้ไว้อย่างมั่นคง 

          คุณยายวัน  จันทร์เอี่ยม ปราชญ์ชาวบ้านเจ้าของภูมิปัญญาการทำข้าวแต๋นทราย  เกิดเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๔๗๙ ปัจจุบันอายุ ๗๕ปี  อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านกลางทุ่งอำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน (เป็นอำเภอที่มีเขตติดต่อกับ อำเภอจอมทองและอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่)  ทุกเทศกาลสำคัญทางพุทธศาสนาเช่น วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันสงกรานต์ (ปี๋ใหม่เมือง) งานถวายสลากภัต (ตานก๋วยสลาก)และงานปอยหลวง (งานบุญหลวงล้านนาที่สำคัญของคนจังหวัดลำพูน)ยายวันและลูกสาวจะทำขนม  ข้าวแต๋นทรายออกจำหน่ายเป็นประจำ ข้าวแต๋นทรายของยายวันจะมีลักษณะแตกต่างจากข้าวแต๋นที่ คนภาคเหนือทั่วไปรู้จัก  ทั้งรูปร่าง หน้าตา รสชาติ  วิธีทำและวิธีเก็บรักษา ส่วนใหญ่ยายวันจะทำในปริมาณเท่าที่มีพ่อค้าหรือแม่ค้ามาสั่งซื้อเพื่อนำไปจำหน่ายจากหมู่บ้านต่าง ๆ และสำหรับตนเองจะใช้ในการรับประทานและทำบุญเท่านั้น  ดังนั้นการที่เราจะหาข้าวแต๋นทรายมารับประทานทุกวันนี้จึงเป็นเรื่องยากมากยายวันเล่าว่าแต่เดิมมีหลายครอบครัวที่เป็นเครือญาติกันได้ทำข้าวแต๋นทราย ทั้งทำเพื่อกินในครอบครัวและทำเพื่อจำหน่ายนานวันเข้าก็เหลือยายวันทำอยู่เพียงคนเดียว ยายวัน อาศัยการทำข้าวแต๋นทรายจำหน่ายหารายได้เลี้ยงชีพเรื่อยมา ต่อมาประสบปัญหาเรื่องการตลาด ข้าวแต๋นทรายเหลือจำหน่ายไม่หมด เพราะข้าวแต๋นทรายของยายวันเป็นข้าวแต๋นทรายสูตรโบราณที่ยายวันไม่เคยเปลี่ยนแปลงหรือปรุงแต่งด้วยวัสดุเจือปนอย่างอื่นยังคงรักษาสูตรโบราณดั้งเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น ทำให้รสชาติของข้าวแต๋นไม่เคยเปลี่ยนไปจากเดิม  จึงไม่เป็นที่นิยม 
        ยายวัน  จันทร์เอี่ยม ได้สูตรการทำขนมข้าวแต๋นทราย มาจาก บรรพบุรุษของตัวเองเริ่มจากมารดาของยายวัน คือ แม่กุย ได้สูตรขนมจากแม่ซุม ซึ่งเป็นน้องสาวอีกทอดหนึ่ง  แม่ซุม แต่งงานกับชาวจีนทีชื่อว่า แดซางและแดซางนี่เองที่เป็นผู้นำสูตรขนมข้าวแต๋นทรายมาเผยแพร่ฝึกหัดทำกันในครอบครัว 
และได้ทำสืบต่อกันเป็นรุ่นๆ จนถึงปัจจุบัน ยายวัน  จันทร์เอี่ยมเริ่มศึกษาเรียนรู้การทำข้าวแต๋นทรายจากแม่กุย ตั้งแต่อายุได้ประมาณ ๑๗ ปีถึงปัจจุบัน (อายุ ๗๕ ปี) รวมเวลา ๕๘ ปี ยายวันเล่าถึงวิธีการเรียนรู้ในช่วงอายุ ๑๗
๖๐ ปีว่าการทำข้าวแต๋นทรายเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวของยายวันและแม่กุยมาโดยตลอดเมื่อทำเสร็จในแต่ละครั้งแต่ละรอบนั้นยายวันก็จะนำข้าวแต๋นทรายใส่กระบุงหาบไปจำหน่ายเองที่ตลาดใกล้บ้าน  ตลาดในอำเภอฮอดและอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่  และตามหมู่บ้านต่างๆเป็นประจำ มาระยะหลังยายวันอายุมากขึ้น ไม่สะดวกในการออกไปขายเองก็จะขายส่งให้กับพ่อค้า แม่ค้า ที่มารับซื้อเองที่บ้าน  จำนวนที่ขายก็จะลดลงกว่าเดิม

 

 



 




หมายเลขบันทึก: 535559เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2013 18:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2013 18:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท