อารักขา
กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ

โรคไหม้ข้าวในระยะกล้า


เริ่มย่างเข้าเดือนพฤษภาคม ฝนตกเป็นเทน้ำเทท่า ตกเกือบทุกวัน ไม่ตกกลางวันก็ตกกลางคืน เผลอๆ
คนที่มาบึงกาฬใหม่ๆ คงอดแปลกใจไม่ได้ เพราะสภาพอากาศดูจะคล้ายคลึงกับภาคใต้มาก ด้วยสภาพฝนฟ้าอากาศเป็นใจ จึงส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรเจริญงอกงามได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ เกษตรกรชาวสวน ชาวไร่ที่บึงกาฬนี่น่าอิจฉานัก ไม่ต้องรอคอยน้ำฝนเหมือนที่อื่นๆ แต่เมื่อสภาพอากาศเป็นเช่นนี้เกษตรกร ก็มีความจำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องโรคเป็นพิเศษเช่นกัน ฝนตกชุก ความชื้นมาก ก็เป็นสาเหตุ  อีกอย่างหนึ่ง ที่ก่อให้เกิดโรคไหม้ข้าวได้เช่นกัน โดยเฉพาะช่วงนี้ ข้าวอยู่ในระยะกล้า ซึ่งเกษตรกรบางรายเริ่มหว่านข้าวในแปลงแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันและเตือนการระบาด     กลุ่มอารักขาพืช จึงได้ส่งข่าวเตือนการระบาดไปยังพี่น้องเกษตรกรผู้ทำนา เพื่อเป็นการป้องกัน และสามารถแก้ไขได้ทันท่วงทีเมื่อพบโรคในแปลงของตนเอง

ลักษณะอาการ

โรคไหม้สามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของข้าวตั้งแต่ระยะกล้า แตกกอ จนถึงระยะออกรวง


สาเหตุ เชื้อรา Pyricularia grisea Sacc.

ระยะกล้า ใบมีแผล จุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตา มีสีเทาอยู่ตรงกลาง แผลความกว้างของแผลประมาณ 2-5 มิลลิเมตร และความยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร แผลสามารถขยายลุกลามและกระจายทั่วบริเวณใบ
ถ้าโรครุนแรงกล้าข้าวจะแห้งฟุบตาย อาการคล้ายถูกไฟไหม้

การแพร่ระบาด
เชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคไหม้สามารถปลิวไปตามลม ติดไปกับเมล็ดพันธุ์ หรือเศษฟางได้
โรคไหม้มักระบาดในสภาพที่มีความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และอุณหภูมิระหว่าง 25-28 องศาเซลเซียส
สภาพที่ท้องฟ้ามีเมฆครึ้มและฝนพรำ หรือในกรณีที่ปลูกข้าวพันธุ์ที่ไม่ต้านทานต่อโรคไหม้
เช่น พันธุ์ กข6 กข15 และขาวดอกมะลิ 105 หรือปลูกข้าวค่อนข้างหนาแน่น หรือเมื่อต้นข้าวได้รับปุ๋ยไนโตรเจนอัตราสูง

การป้องกันกำจัด

1. ปลูกข้าวพันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคไหม้ เช่น หางยี 71 เหนียวอุบล 2 กข 12 กข33 และประทุมธานี1

2. แช่เมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยเชื้อราไตรโครเดอร์มาก่อนตกกล้า

3. หมั่นตรวจแปลงอยู่เสมอ เมื่อพบอาการของโรคบนใบข้าวไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจน (ยูเรีย หรือ แอมโมเนียมซัลเฟต) เพราะจะทำให้อาการของโรคไหม้และการแพร่ระบาดของเชื้อรารุนแรงขึ้น
ให้ฉีดพ่นด้วยเชื้อราไตรโครเดอร์มา

4. ใช้สารเคมีป้องกันกำกัดโรคชื่อไตรไซคลาโซลอัตรา 10-16 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไอโซโฟรไทโอเลน  อัตรา 20-40 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร เมื่ออาการของโรคไหม้บนใบข้าวถูกควบคุมได้แล้วจึงใส่ปุ๋ยไนโตรเจน(การใช้สารเคมีพ่นซ้ำกันหลายครั้ง เชื้อราจะต้านทานสารเคมีหรือดื้อยา ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อราต้านทานสารเคมี
จึงควรเลือกใช้สารเคมีบางชนิดพ่นสลับกัน ทั้งนี้ในการใช้สารเคมีควรใช้ด้วยความระมัดระวัง
และคำนึงถึงความปลอดภัยต่อตัวผู้ใช้และสภาพแวดล้อม)

5. ทำลายพืชอาศัย เช่น หญ้าชันกาด หญ้าขน หญ้าไซ

หมายเลขบันทึก: 535320เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2013 12:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2013 12:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท