กระแสติว O-NET ในโรงเรียน วิชามาร...กัดกินคุณภาพเด็กไทย


กระแสติวO-NETในโรงเรียนวิชามาร...กัดกินคุณภาพเด็กไทย   

                  

 

'1,040,000'  คือยอดรายการเมื่อลองค้นหาคำว่ากวดวิชา O-NETผ่าน Google
ระบบเสิร์ชเอนจินที่ทรงประสิทธิภาพ ผลการค้นหาแสดงให้เห็นทั้งรายชื่อสถานบันกวดวิชา
รายวิชาที่เปิดติวซึ่งเรียกว่าแทบจะครอบคลุม 8 สาระเรียนรู้เลยทีเดียว
มีบอกแม้กระทั่งว่าติวกับ "ติวเตอร์คนไหน" แล้วได้คะแนน O-NET ดี
(อุแม่เจ้า!)

    ต้องบอกว่าปัจจัยที่ส่งผลให้กระแสกวดวิชา
O-NET พีคสุดๆ ก็เป็นผลจากนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
(สพฐ.) กำหนดให้ใช้คะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET
มาเป็นองค์ประกอบของการประเมินจบช่วงชั้น ป.6 ม.3
และนำไปใช้พิจารณาเข้าเรียนต่อในระดับชั้น ม.1 และ ม.4 ต่อเนื่องนับเป็นปีที่ 2
แล้ว
    
เช่นเดียวกับการนำคะแนน O-NET มาเป็นองค์ประกอบในระบบแอดมิสชั่นส์
การคัดเลือกนิสิตนักศึกษาเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย

  
ขณะเดียวกัน สพฐ.ยังเพิ่มมูลค่าผล O-NET
โดยนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะของครูและผู้บริหารสถานศึกษาด้วย 
เพื่อลดงานเอกสาร เน้นผลงานเชิงประจักษ์
ซึ่งคุณภาพของผู้เรียนก็เป็นตัวชี้วัดที่ดีที่สุด ซึ่งโดยแก่นแท้แล้ว
สพฐ.วาดหวังจะเห็นการพัฒนาในเชิงคุณภาพวิชาการ
เกิดแรงกระตุ้นให้ผู้เรียนและครูผู้สอนเอาใจใส่ต่อการเรียนรู้ในชั้นเรียนมากขึ้น
และลดกระแสการกวดวิชาลง
    
แต่ทว่าความจริงนั้นกลับสวนทาง...
    
และเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อสถานศึกษาเปิดทางจ้างติวเตอร์ กวดวิชา O-NET
จัดเสิร์ฟเอง ด้วยสนนราคาย่อมเยา 500 บาทต่อคาบวิชา หวังให้ค่าน้ำหนัก O-NET
ดีดขึ้นเกินครึ่งสักที เพราะนับแต่มีการสอบประเมินระดับชาตินี้
ผู้หลักผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบด้านการศึกษาของชาติ ออกอาการไม่ปลื้มเท่าไร ด้วยผล
O-NET นักเรียนไม่เคยเกิน 50% ให้ชื่นใจสักครา    
    
มิหนำซ้ำการตั้งเป้า O-NET ไว้สูงเช่นนี้ ดูเหมือนจะยิ่งซ้ำเติม
ความเหลื่อมล้ำของสถานศึกษาในเมืองใหญ่และท้องถิ่นมากขึ้นไปอีก
ซึ่งเรื่องนี้บรรดานักวิชาการ นักพัฒนาหลักสูตร กระทั่งผู้บริหารที่รับสนองนโยบาย
ต่างมีความคิดเห็นที่หลากหลายน่าสนใจยิ่ง    

    อาจารย์สมพงษ์ จิตระดับ จากคณะครุศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ให้ความเห็นว่าเดิมทีการได้วิทยฐานะต้องประเมินจากทำงานเอกสาร
งานวิจัย ซึ่งเป็นการทิ้งเด็ก แต่ขณะนี้น่าเป็นห่วงกว่า คือนโยบายการใช้คะแนน O-NET
ไปเชื่อมโยงกับการเลื่อนวิทยฐานะของครู และการเลื่อนตำแหน่ง
ผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขนาดกลาง และโรงเรียนใหญ่ ซึ่งเป็นการใช้ O-NET
มาบังคับทางอ้อม ขณะเดียวกันครูก็มาบังคับเด็กให้ตั้งใจสอบ  O-NET
ให้ได้คะแนนสูงๆ

    "ที่ผ่านมาคะแนน
O-NET ไม่ได้นำไปใช้ทำอะไร เด็กก็ไม่ตั้งใจสอบและไม่สนใจเรียนในห้องเรียน
ดังนั้นเมื่อโรงเรียนต้องการให้คะแนน O-NET สูงขึ้น จึงบังคับให้เด็กที่เรียน ป.6
ม.3 และ ม.6 ต้องเอาคะแนน O-NET ไปยื่นในการเลื่อนชั้น และการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
เด็กเอาไปใช้ในเรื่องการศึกษาต่อ ครูเอามาใช้ในเรื่องการเลื่อนวิทยฐานะ
และผู้บริหาร
เอามาใช้ในการเลื่อนตำแหน่ง
จึงเกิดเป็น O-NET แบบโกงๆ มีกระบวนการจัดทำคะแนนให้สูงขึ้นแบบข้ามขั้น ก้าวกระโดด
ซึ่งมันเป็นวิชามาร แทนที่จะใช้กระบวนการเรียนการสอน
การตั้งโจทย์ให้เป็นไปตามธรรมชาติ กลับฉีกออกไปแนวหนึ่ง คือติว O-NET
กันทั้งเทอม"
   
นายสมพงษ์ กล่าวและว่า แทนที่โรงเรียนจะจัดการเรียนแบบเป็นธรรมชาติ
กลับถูกอัดเร่งความรู้เข้าไปเหมือนใส่ปุ๋ย O-NET เพื่อให้ O-NET
ขยายตัวอย่างรวดเร็ว บางโรงเรียนทำมา 2-3 ปีแล้ว
แต่เทอมนี้หนักสุดโรงเรียนแทบไม่สอน แต่มาเน้นเรื่องติว O-NET อย่างเดียว
ซึ่งต่อไปในอนาคตโรงเรียนจะไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเอง
แต่กลับเป็นโรงเรียนกวดวิชาเข้ามาทำหน้าที่แทน ไม่ได้สอนเรื่องกระบวนการคิด
แต่เป็นการสอนเทคนิคการทำข้อสอบ
ซึ่งมันเป็นตัวที่ทำให้เกิดหายนะทางการศึกษาครั้งยิ่งใหญ่
แทนที่จะได้เรียนตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นปกติของการศึกษา
เป็นสถาบันหรือองค์กรที่ผลิตพลเมืองให้มีคุณภาพ แต่กลับกลายมาเป็นโรงเรียนกวดวิชา
ซึ่งผิดปรัชญา ผิดวัตถุประสงค์ในแง่ของการจัดการศึกษา
ซึ่งไม่มีทักษะในการคิดเชื่อมโยง แต่กลับมาใช้เทคนิค
แล้วเด็กจะเรียนรู้อย่างสมบูรณ์ได้อย่างไร
ซึ่งเรื่องเป็นความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ของระบบการศึกษาไทย เพราะ
สพฐ.ไม่ได้นึกถึงจุดนี้

 
นายสมพงษ์ กล่าวว่า นโยบายการนำผลคะแนน O-NET ของ สพฐ.มาเชื่อมโยงกับการเรียนต่อ
การเลื่อนวิทยฐานะ และการเลื่อนตำแหน่งของผู้บริหาร เป็นนโยบายที่ขาดความรอบคอบ
จริงอยู่การนำ O-NET มาใช้เป็นเรื่องดี เพราะเป็นการเกิดกระบวนการการเรียนรู้
แต่ไม่ใช่วิธีการติว O-NET และก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องติว
แต่กระบวนการเรียนรู้การสอนจะต้องอยู่ในระบบโรงเรียน การติวเป็นส่วนหนึ่ง
แต่ขณะนี้การติวกลับเป็นเรื่องใหญ่ มันผิดฝา ผิดตัว ผิดวัตถุประสงค์
ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง ที่จะนำไปสู่การเกิดจลาจลทางการศึกษา

     ด้านดร.ศักดิ์สิน
โรจน์สราญรมย์
ประธานกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ
(พว.) สะท้อนว่า
การจัดการศึกษาโดยการเน้นมาตรฐานเป็นสิ่งที่ถูกต้องเราต้องเอาผลการเรียนรู้ของเด็กเป็นตัวตั้ง
เพื่อจะเอามาประเมินผู้สอนและประเมินการบริหารจัดการ
เพราะฉะนั้นผลที่จะได้รับในทุกๆ ด้านต้องเอาตัวเด็กเป็นตัวตั้ง เมื่อเราทำผลการสอบ
O-NET ให้มีความหมายต่อผู้เรียนแล้ว
ก็ขึ้นกับว่าผู้บริหารโรงเรียนและครูจะไปวางกรอบอย่างไร     
"ในการพัฒนาเพราะผลของ O-NET เป็นการวัดผลในภาพรวมของการเรียนรู้ทั้งหมดระดับชาติ
ซึ่งเป็นผลการเรียนรู้ที่เน้นระดับคิดวิเคราะห์ขึ้นไป
มันจะเป็นความรู้ที่แท้จริงที่เด็กพึงจะได้รับ
แต่การที่จะทำให้เด็กเกิดความรู้ขึ้นนั้น
ถ้าเราไปติวอย่างเดียวการเรียนรู้ก็จะไม่เกิดขึ้น ความหมายก็จะไม่เกิดขึ้น
เป็นความจำระยะสั้นก็จะไม่ประสบความสำเร็จ
เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องทำตอนนี้คือว่าโรงเรียนต้องมีวิธีการพัฒนาผู้เรียนให้ถูกวิธี
เพราะเมื่อใดก็ตามที่หลักสูตรประเทศเราเน้นมาตรฐาน เน้นตัวชี้วัด
ความรู้ทั้งหมดตามที่ตัวชี้วัดกำหนดจะอยู่ที่กระบวนการทั้งหมดเลย
ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหา เพราะครูจะต้องเข้าใจตรงนี้ การเอาเนื้อหาไปให้เด็กจำ
เขาจะจำได้เพียงระยะสั้น สมองจะไม่จำ
จะจำได้ก็ต่อเมื่อมันมีความหมายคือเกิดจากการกระทำคือตั้งแต่การคิดจนถึงขั้นลงมือทำถึงจะเกิดความเข้าใจและกลายเป็นความรู้ของตัวเด็กไป"

ดร.ศักดิ์สิน ยังพูดถึงนโยบายการใช้ผล O-NET ของ สพฐ.ว่า เป็นนโยบายที่ดี
แต่ความกลัวของครูและผู้บริหาร
กลับทำให้เกิดการแสวงหาวิธีที่เดินไปสู่คุณภาพตามที่นโยบายกำหนด โดยขาดหลักการที่ดี
ซึ่งเรื่องวิชาการหรือกระบวนการพัฒนาคนเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน
และต้องมีความชัดเจน ครูต้องรู้จริงจึงจะพัฒนาผู้เรียนได้
ดังนั้นครูต้องเน้นกระบวนการ เพราะทั่วโลกเน้นกระบวนการทั้งสิ้น กระบวนการ
คือวิธีเรียนรู้ที่พาเด็กคิด พาเด็กทำ และให้เข้าใจหลังคิดหลังทำ
มันจะกลายเป็นความรู้ติดตัวของเด็ก

    "การกวดวิชา การติวหรือการสอนย้ำซ้ำเตือนก็ตาม
จริงๆ ต้องสอนให้เด็กเกิดหลักคิด  ติวแบบไหนให้เด็กเกิดหลักคิด และนำไปใช้ได้
ไม่ทราบว่าติวกันอย่างไร แต่ถ้าติวให้จำมันไม่เกิดประโยชน์ ให้เด็กจำ
โดยไม่รู้ความหมาย จำวิธี จำโจทย์ จำคำตอบ ทำให้เด็กเสียโอกาส ซึ่งการติววิชา
จะต้องทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ที่เราสอนคือให้เกิดการเรียนรู้ เกิดวิธีคิด
ไม่ใช่ให้จำวิธีคิด"
  
ดร.ศักดิ์สิน กล่าวย้ำว่า ถ้าเราพัฒนาไม่ถูกวิธี
ความเสียหายย่อมเกิดขึ้นกับผู้เรียนแน่นอน แต่ถ้าวิเคราะห์ให้ดี
ไม่ว่าจะเป็นนโยบายหรือหลักสูตรก็ดี
ทุกฝ่ายต้องมาทำความเข้าใจเรื่องหลักสูตรกันให้มาก
เพราะหากหลักสูตรที่อิงมาตรฐานจะเน้นเรื่องความสามารถในการคิดวิเคราะห์
เพียงแต่ว่าถ้าเราไม่เข้าถึงตัวมาตรฐานก็จะเข้าไปหาวิธีไม่พบจะหาคุณภาพไม่ได้
การนำโอเน็ตมาใช้เป็นสิ่งที่ดี แต่เราต้องหาวิธีที่จะพัฒนาเด็กให้เกิดการเรียนรู้
ผลของเด็กจะต้องเกี่ยวข้องกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง
นี่คือความเป็นธรรมซึ่งทุกคนต้องช่วยกัน

ในขณะที่มุมมองของผู้รับนโยบาย มาดำเนินการอย่างนายสายัณห์ รุ่งป่าสักผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา
เขต1 ก็มองว่า เป็นเรื่องที่แล้วแต่ใครจะคิด หากทำอะไรแล้วมีมาตรฐาน เชื่อถือได้
สังคมยอมรับได้ ก็ย่อมทำได้

"มาตรฐานการศึกษาวันนี้
ผลกระทบที่ตกต่ำมา
จากผลของความขาดแคลนไม่ว่าจะเป็นนโยบายจำกัดอัตรากำลังพลภาครัฐที่ทำมาตั้งแต่ปี
2543 เด็กเพิ่มขึ้น แต่คนสอนลดลง
งบประมาณรายหัวในการจัดการศึกษาต่ำกว่าความเป็นจริงที่โรงเรียนต้องแบกรับภาระทุกปี
แค่ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจ้างครู โรงเรียนก็แบกหลังจะแอ่นอยู่แล้ว
ไม่มีใครสนใจที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง สื่อเทคโนโลยี
ก็ล้วนแต่ดิ้นรนหามาป้อนให้นักเรียน โดยอาศัยผู้ปกครองกันทั้งนั้น
โรงเรียนไหนโชคดีได้คนดีไปทำ ก็ทำให้ผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น
ตรงกันข้ามหากได้คนไม่ดีผลสัมฤทธิ์ก็ต่ำลง
เรื่องนี้คงต้องแก้ปัญหาตั้งแต่รากเหง้าในทุกเรื่อง ไม่ใช้มาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
แล้วมาลงเอ่ยกับเด็ก"

 
ผอ.สายัณห์ ยังตั้งประเด็นย้อนถามว่า
ที่ผ่านมาเราทำอะไรที่ได้มาตรฐานแล้วหรือยัง?

"หากทุกโรงเรียนใช้ระบบนี้ จะส่งผลกระทบอะไรบ้าง
กรณีกวดวิชาก็เป็นวิธีหาทางเอาตัวรอด
เพื่อตอบสนองต่อสิ่งที่เป็นเงื่อนไขทางสังคมที่ผู้มีอำนาจกำหนดขึ้นมา
หากใครไม่ทำก็เสียเปรียบ ลูกใครก็รักก็ต้องทำกันไป
ซึ่งโรงเรียนดังคัดเด็กเข้าเรียนก็ต้องได้เปรียบแน่นอน
เพราะเด็กเหล่านี้ไม่ว่าจะทำข้อสอบแบบไหนก็ได้คะแนนสูงอยู่แล้ว ที่สำคัญ
ระบบการออกข้อสอบของสำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ยังเชื่อถือไม่ได้
สอบครั้งไหนก็มีปัญหาทุกครั้ง เอาข้อสอบที่มีปัญหามาชี้ชะตาเด็กและครู

    ...ข้อดีของการนำผลคะแนน O-NET ไปใช้
ก็คือกระตุ้นให้เด็กสนใจเรียน ครูตั้งใจสอนมากขึ้น แต่ข้อเสียคือ
ข้อสอบเชื่อถือไม่ค่อยได้ เด็กเลยต้องรับกรรมถูกผู้ใหญ่กำหนด"
ผอ.สายัณห์
กล่าวทิ้งท้าย

ขอขอบคุณข่าวสาร/ข้อมูลดีๆ
จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

 

หมายเลขบันทึก: 535315เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2013 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2013 11:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ปัญหาการศึกษาของไทยอีกประการหนึ่งค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท