หลวงคงคณานุการ (แฉล้ม สมิตะมาน) อดีตนายอำเภอราษีไศล ภาค ๒



การจัดเมล์ตำบล

     จัดให้ตำบลต่างๆ  จัดคนมารับส่งเมล์ที่อำเภอ เพื่อรับส่งหนังสือราชการทุกวัน โดยให้ผลัดเปลี่ยนกันจัดเวร วันละ ๑ คน ทุกตำบล บางตำบลก็จะจัดคนภายในหมู่บ้านเดียวโดยให้ยกเว้นงานโยธาให้แก่คนในหมู่บ้านนั้น อุปกรณ์ที่ใส่หนังสือเรียกว่า บั้งเมล์ ทำจาก กระบอกไม้ไผ่ขนาดใหญ่มีฝาสวมครอบปิดกันฝนเปียกได้ มีสายสะพายใส่บ่า เดินทางรับส่งจากตำบลเข้ามาอำเภอ

 การเก็บหนังสือราชการ

      ได้แนะนำทางโรงเรียน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เก็บหนังสือ เอกสาร โดยให้สานไม้ไผ่เป็นสี่เหลี่ยม ๒ แผ่น นำเชือกร้อยมัด เหมือนแฟ้มปกแข็งที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ โดยไม่ต้องซื้อให้เสียเงิน


ลักษณะเด่นประจำตัว

     ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่ยอมรับซองจากคนที่มอบให้เป็นการส่วนตัว เช่น เมื่อเฒ่าแก่บุ้นซิล(เกสิน) ประมูลได้เป็นยี่กงสี จำหน่ายสุราในอำเภอ ได้นำซองไปมอบให้ในวันตรุษจีนแต่ท่านไม่ยอมรับเอาไว้ โดยอ้างว่าท่านมีเงินเดือนกิน ไม่ต้องการของจากคนอื่น

     ประหยัด ตัวท่านเป็นคนประหยัด และได้ฝึกให้คนใกล้ชิดประหยัด เช่นเมื่อหลวงพ่อสา ได้เข้ารับราการเป็นครูใหม่ๆ ได้เงินเดือนครั้งแรก ไปตัดกางเกงด้วยผ้าต่วน ซึ่งมีราคาแพง ท่านทราบเข้าเรียกไปตักเตือนสั่งสอนว่าทำเกินตัวไม่รู้จักประหยัด

    ยกย่องนายบา เกษร (ครูซึ่งได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว) เป็นครูเงินเดือนๆ ละ ๖ บาท สามารถเก็บเงินเดือนได้ ๓ ชั่ง(๒๔๐ บาท) ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่มากในสมัยนั้น

    อบรมให้ข้าราชการ เก็บออมวันละสตางค์ สองสตางค์ วันละสลึง สองสลึง หรือวันละบาท สองบาทเท่าที่ตัวเองจะทำได้ เพื่อจะเป็นทุนสร้างตัวในวันหน้า

    จะขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการ ต้องเรียกตัวมาอบรม บอกให้รู้ค่าของเงิน แต่ละบาท สอนว่ากว่าจะหามาได้นั้นลำบาก ให้นำเงินไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

     ในขณะที่ออกตรวจท้องที่จะไม่ยอมรับของจากชาวบ้าน cและจะอบรมว่าให้เก็บของเหล่านั้นไว้ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ครอบครัวของตนเอง “ฉันมีพอใช้แล้วไม่เอา เธอจงเก็บเอาไว้ใช้ยามจำเป็น”

     ไม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือเล่นการพนัน  ตลอดช่วงชีวิตของท่าน


-------------------------------------------

มุมมองของข้าพเจ้า

       หลวงคงคณานุการ  เกิดเมื่อ ๒๒ เมษายน ๒๔๓๘

       ดำรงตำแหน่งนายอำเภอราษีไศล ครั้งแรก เมื่อ ๑ กรกฎาคม ๒๔๖๑ เมื่ออายุ ๒๔ ปี ดำรงตำแหน่งอยู่ ๒ ปี
ย้ายไปดำรงตำแหน่งนายอำเภอลุมพุก(อำเภอคำเขื่อนแก้ว) จังหวัดอุบลราชธานีเป็นเวลา ๒ ปี แล้วท่านก็ย้ายกลับมาดำรงตำแหน่งนายอำเภอราษีไศล อีกเมื่อ ๒๘ เมษายน ๒๔๖๖ อายุ ๒๘ ปี จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ รวมเวลาครั้งที่ ๒  อีก ๑๐ ปี รวม ๒ ครั้งเป็นเวลา ๑๒ ปี ท่านจึงมีความผูกพันกับอำเภอราษีไศล เป็นอย่างมาก แม้จากไปแล้วก็มีความระลึกถึง   บุตรสาวคนแรกก็ฝากชื่อไว้กับ โรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา)      ผลงานของท่านปูรากฐานที่
อำเภอราษีไศลไว้ทุกด้าน ไม่มีผลงานนายอำเภอท่านใดยุคใดสมัยใด ที่จะมีผลงานฝากไว้ให้ประชาชนระลึกถึงมากเท่าท่านแม้จนถึงปัจจุบันนี้ นามบรรดาศักดิ์ หลวงคงคณานุการ เป็นเครื่องบ่งบอกยืนยันอยู่ในตัวไม่เชื่อลองให้ผู้รู้แปลให้ฟังเถิด ท่านเกิดปี พ.ศ. ๒๔๓๘ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘จะครบ ๑๒๐ ปี ชาติกาล ในอีก ๒ ปีข้างหน้า พวกเราชาวเมืองคง หรืออำเภอราษีไศล ควรจะได้สร้างรูปปั้นเท่าตัวจริงครึ่งตัวของท่านเอาไว้เป็นอนุสรณ์แห่งความดีของท่านและจัดงานเฉลิมฉลองในฐานะคนดีศรีเมืองคงในอดีตที่หาได้ยากหรือไม่? คนดีเช่นนี้นับวันจะหาดูผลงาน หรือค้นคว้าประวัติได้ยากขอให้ช่วยกันคิดดูเถิด


                                        พฤษภกาสร        อีกกุญชรอันปลดปลง

                                  โท ทนต์ เสน่งคง        สำคัญหมายในกายมี

                                  นรชาติวางวาย          มลายสิ้นทั้งอินทรีย์

                                  สถิตทั่วแต่ชั่วดี          ประดับไว้ในโลกา


                                          โคควายวายชีพได้     เขาหนัง

                                 เป็นสิ่งเป็นอันยัง                 อยู่ไซร้

                                 นรชนดับสูญสัง                  ขารร่าง

                                 เป็นชื่อเป็นเสียงได้             แต่ร้าย  กับดี


                                       นายสมหมาย   ฉัตรทอง ( อดีตนายอำเภอราษีไศล)


หมายเลขบันทึก: 535061เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2013 08:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2013 08:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท