ระบบมาตรฐาน มอก. 18001 – 2554


                  มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย : ข้อกำหนด มาตรฐานเลขที่ มอก. 18001 -  2554  เป็นมาตรฐานฉบับใหม่ล่าสุดที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจากมาตรฐานฉบับเดิมที่ใช้ตั้งแต่ปี 2542 โดยมีการประยุกต์เอามาตรฐานการจัดการความปลอดภัยของสากล (OHSAS 18001) และมาตรฐานแรงงานไทย (มรท. 8001) มาใช้เป็นแนวทาง  ในภาพรวมมาตรฐานฉบับใหม่นี้ได้เพิ่มเติมและปรับปรุงเนื้อหาสาระให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น เน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานโดยผ่านช่องทางการสื่อสาร ลดเอกสารในระบบและสามารถบูรณาการกับระบบการจัดการอื่นๆได้ง่ายยิ่งขึ้น เช่น ระบบบริหารคุณภาพ (ISO 9001) ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001)  ทั้งนี้ การดำเนินระบบการจัดการมุ่งให้กิจกรรมต่างๆด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของหน่วยงานบรรลุตามวัตถุประสงค์เป้าหมายที่ตั้งไว้  ลดและควบคุมความเสี่ยงจากอันตรายต่างๆ รวมถึงให้ความสำคัญกับด้านสุขภาพอนามัยและโรคที่อาจเกิดจากการทำงานที่จะเกิดกับพนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมา ผู้เยี่ยมชมพื้นที่ บุคคลภายนอก เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและนำสู่การปรับปรุงระบบการจัดการอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554

 

                   กระบวนการของการบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มอก. 18001 -  2554 ยึดกรอบแนวคิดรูปแบบระบบการจัดการ (ตามภาพ) ซึ่งประกอบด้วยข้อกำหนดหลักดังนี้ (1) ข้อกำหนดทั่วไป (2) นโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ซึ่งผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้กำหนด (3) การวางแผน  ประกอบด้วยกิจกรรมการชี้บ่งอันตรายละประเมินความเสี่ยง การทบทวนกฎหมายและข้อกำหนดต่างๆที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมาย  (4) การนำไปใช้และการปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่การกำหนดบทบาทหน้าที่และภาระรับผิดชอบ การฝึกอบรมให้มีความสามารถและการสร้างจิตสำนึก การสื่อสารข้อมูลข่าวสารต่างๆ การมีส่วนร่วมและการปรึกษาทั้งในส่วนของพนักงานและผู้มีส่วนได้เสีย การกำหนดเอกสารในระบบและการควบคุมเอกสาร รวมถึงการควบคุมการปฏิบัติงานทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน (5) การตรวจสอบและการแก้ไข ประกอบด้วย การติดตามตรวจสอบและการวัดผลการดำเนินการต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น การตรวจสอบความสำเร็จของการบรรลุวัตถุประสงค์ อาจพิจารณาทั้งเชิงปริมาณเชิงคุณภาพ เชิงรับเชิงรุก การติดตามประสิทธิผลการควบคุมด้านสุขภาพและความปลอดภัย เป็นต้น การประเมินผลการปฏิบัติตามกฎหมาย  การสอบสวนอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้น  การปฏิบัติการแก้ไขและป้องกันเมื่อพบความไม่สอดคล้องตามข้อกำหนด การจัดทำและเก็บบันทึกต่างๆ และการตรวจประเมินภายใน (6) การทบทวนการจัดการ เพื่อให้ผู้บริหารตัดสินใจในประเด็นต่างๆและให้มั่นใจว่าระบบยังมีความเหมาะสม พอเพียงและมีประสิทธิผลนำสู่การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

 

รูปแบบระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

 

 

 

Download เอกสาร :  TIS-18001-2554.pdf

หมายเลขบันทึก: 534965เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2013 10:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2013 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท