ยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยใช้วัดเป็นศูนย์กลาง ในกลุ่มจังหวัดล้านนาตะวันออก


บทคัดย่อ

  การทำวิจัยเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยใช้วัดเป็นศูนย์กลาง ในกลุ่มจังหวัดล้านนาตะวันออก ๔  จังหวัดอันประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย  พะเยา  แพร่ และน่าน สาเหตุที่เลือกทั้ง ๔ จังหวัดนี้เนื่องจากว่าเป็นจังหวัดที่มีลักษณะวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่ใกล้เคียงกัน  มีความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน  ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ต้องการอธิบายรูปแบบประเพณีวัฒนธรรมของแต่ละจังหวัดทั้งที่มีลักษณะคล้ายกัน และที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ  พร้อมทั้งศึกษาสถานการณ์การท่องเที่ยวในปัจจุบันของแต่ละแห่ง เพื่อต้องการสะท้อนถึงผลกระทบที่เกิดจากการท่องเที่ยวโดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  ที่มีวัดเป็นแหล่งท่องเที่ยว  เพื่อหาแนวทางในการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่เหมาะสม  กับบริบทของวัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่ในวัดของทั้ง  ๔  จังหวัด ที่ใช้ในการศึกษา

คำสำคัญ 

  การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  หมายถึง  การท่องเที่ยวเพื่อชื่นชมและเรียนรู้สิ่งที่แสดงออกซึ่งความเป็นวัฒนธรรมประเพณีของล้านนา ที่ตั้งอยู่ในวัด  ในกลุ่มจังหวัดล้านนาตะวันออก

วัฒนธรรมล้านนาตะวันออก  หมายถึง วัฒนธรรมทางวัตถุ และ วัฒนธรรมทางจิตใจ ของล้านนาตะวันออก

-  วัฒนธรรมทางวัตถุ คือ สถาปัตยกรรม  ประติมากรรม และจิตกรรม ทางพระพุทธศาสนาในวัด  และแหล่งโบราณสถานต่างๆ ในกลุ่มจังหวัดล้านนาตะวันออก

-  วัฒนธรรมทางจิตใจ  คือ  ความเชื่อ  ประเพณี  และวิถีชีวิตแบบพุทธของชาวล้านนา

ยุทธศาสตร์การพัฒนา  หมายถึง  ยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในกลุ่มจังหวัดล้านนาตะวันออก  ที่ประกอบด้วยวิสัยทัศน์  เป้าประสงค์  และกลยุทธ์

การจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม หมายถึง  การศึกษาวิจัยหรือสร้างองค์ความรู้ , การประเมินคุณค่าและศักยภาพของทรัพยากรทางโบราณคดี  ,  การสงวนและการอนุรักษ์ , การดำเนินกิจกรรมธุรกิจชุมชนที่เกี่ยวเนื่องกับทรัพยากรทางวัฒนธรรม  , การเผยแพร่องค์ความรู้  ข้อมูล ประสบการณ์ให้แก่คนอื่นๆ ในชุมชน นอกชุมชน  และสาธารณชนทั่วๆ ไป , การบังคับใช้กฎเกณฑ์  ข้อปฏิบัติ  ข้อบัญญัติ และ การฟื้นฟู  ผลิตซ้ำและสร้างใหม่  ซึ่งศิลปวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม  ต่างๆ ของวัดที่ใช้ในการศึกษา

บทนำ

ปัจจุบันหลายประเทศได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยว  และตลาดทางการท่องเที่ยวก็เปิดกว้าง  มีความหลากหลายทั้งตัวของแหล่งท่องเที่ยว  และประเภทของนักท่องเที่ยว  ดังนั้นประเทศต่างๆจึงได้พยายามแข่งขันกันโดยใช้กลยุทธ์ต่างๆ  เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศของตนเองให้มากที่สุด

ข้อมูลจากองค์การท่องเที่ยวนานาชาติในปี พ.ศ.2550 ก่อนเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริการะบุว่าฝรั่งเศส สเปน สหรัฐอเมริกา จีน อิตาลี สหราชอาณาจักร สหพันธ์รัฐเยอรมนี ยูเครน ตุรกี และเม็กซิโก เป็น 10 ประเทศที่มีผู้เข้าไปท่องเที่ยวมากที่สุดโดยเฉพาะฝรั่งเศส และสเปน เป็นจุดหมายปลายทางที่มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศปีละ 82 ล้านคน และ60 ล้านคน  ส่วนประเทศที่ทำรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสูงที่สุดได้แก่ สหรัฐอเมริกา มีรายได้เข้าประเทศถึง 96.7 พันล้านดอลลาร์ รองลงมาคือ สเปน มีรายได้ 57.8 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นชาติในเอเชียที่ทำรายได้จากการท่องเที่ยวได้มากที่สุดเป็นจำนวนเงิน 41.9 พันล้านดอลลาร์  ส่วนชาติที่นำเงินออกไปใช้จ่ายในการท่องเที่ยวในต่างประเทศมากที่สุดเป็นชาวเยอรมัน  จำนวนปีละ  82.9  พันล้านดอลลาร์ รองลงมาคือ ชาวอเมริกัน 76.2 พันล้านดอลลาร์ สำหรับ 3 ชาติในเอเชียที่ใช้จ่ายในการท่องเที่ยวมากที่สุดเรียงตามลำดับได้แก่ จีน 29.8 พันล้านดอลลาร์ ญี่ปุ่น 26.5 พันล้านดอลลาร์ และเกาหลีใต้ 20.9 พันล้านดอลลาร์  สำหรับนครใหญ่ของโลกที่มีการบันทึกไว้ในปี 2550 ว่าเป็นนครที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปมากที่สุดนั้น 5 อันดับแรกได้แก่ ลอนดอน สหราชอาณาจักร มีจำนวน 15.34 ล้านคน รองลงมาได้แก่ ฮ่องกง 12.05 ล้านคน กรุงเทพมหานครของไทย 10.84 ล้านคน สิงคโปร์ 10.28 ล้านคน และกรุงปารีส ฝรั่งเศส 8.76 ล้านคน[1]  จากข้อมูลดังกล่าวเป็นการยืนยันว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่ติดอันดับโลกแห่งหนึ่ง

ประเทศไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางมาท่องเที่ยว  เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายที่สามารถสร้างให้เป็นจุดขายและดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวและพักผ่อนในระยะยาวได้ค่อนข้างสะดวก เนื่องจากค่าครองชีพไม่สูง และประชาชนส่วนใหญ่มีอัธยาศัยดี นับตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา  รัฐบาลได้พัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยวมากขึ้น  โดยบรรจุแผนพัฒนาการท่องเที่ยวไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (ระหว่างปี พ.ศ.2520-2524) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการบรรจุเรื่องการท่องเที่ยวไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และต่อมาการท่องเที่ยวก็ได้รับการบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตลอดมาจนถึงปัจจุบัน   

ในปัจจุบันการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากรายได้ที่ได้จากการท่องเที่ยวนั้นมีมูลค่าเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ 

การท่องเที่ยวนับเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญสาขาหนึ่ง ซึ่งทำรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่ามหาศาล ติดต่อกันมาเป็นเวลานานหลายปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ จาก 323.5 พันล้านบาท ในปี 2545 เป็น 547.8 พันล้านบาท และ 592.8 พันล้านบาท ในปี 2550 และ 2553 ตามลำดับ

ส่วนสถิตินักท่องเที่ยวก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย  จะเห็นได้จากปี  ๒๕๕๒  มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาถึง  14,149,841 คน  ปี  2553  เพิ่มเป็น  15,963,400 คน  และในปี  2554 มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง  19,098,323  คน  คิดเป็น  +12.63 % และ 19.84%  ตามลำดับ[2]  นอกจากนี้ยังส่งผลให้ธุรกิจการผลิตสินค้า และบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องขยายตัว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งได้แก่ ธุรกิจโรงแรมและเกสต์เฮาส์ ที่พัก อาหารและเครื่องดื่ม การผลิตและค้าขายของที่ระลึก บริการรถเช่า สถานที่จอดรถ เป็นต้น

แต่ถึงกระนั้นการท่องเที่ยวก็มีทั้งผลดีและผลเสีย  ถ้าหากาขาดการจัดการที่ถูกต้อง  โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะอยู่ภายในวัด  บทความชิ้นนี้ต้องการชี้ให้เห็นการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ในวัด  ว่าควรมีการจัดการที่ดี  เพื่อเตรียมความพร้อมในการที่เข้าสู่ประชาคมอาเซียน  และเพื่อเตรียมการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดจากการท่องเที่ยวอีกด้วย

วัตถุประสงค์การวิจัย

1.  เพื่ออธิบายวัฒนธรรมล้านนาที่ปรากฏอยู่ในวัดในกลุ่มจัดหวัดล้านนาตะวันออก  ในบริบทของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

2.  เพื่อศึกษาสถานการณ์การจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในกลุ่มจังหวัด  ล้านนาตะวันออก 

3.   เพื่อวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดล้านนาตะวันออก ที่มีผลต่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ตั้งอยู่ในวัด  ในกลุ่มจังหวัดล้านนาตะวันออก 

4.   เพื่อเสนอแนะยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีวัดเป็นศูนย์กลาง  ในกลุ่มจังหวัดล้านนาตะวันออก

5.  เพื่อหาแนวทางการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีวัดเป็นศูนย์กลางในกลุ่มจังหวัดล้านนาตะวันออก 

วิธีดำเนินการวิจัย

  ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยมีวิธีการและขั้นตอนเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ใช้ประกอบในการศึกษา  เพื่อให้ทราบถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก  กระบวนการจัดการการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดล้านนาตะวันออก  และผลการนำยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวไปใช้ในกลุ่มจังหวัดล้านนาตะวันออก  ว่ามีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างไร  เพื่อหาข้อเสนอแนะตลอดถึงแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  ในพื้นที่ล้านนาตะวันออก ดังนี้

1.  กำหนดปัญหาการวิจัย

2.  ทบทวนเอกสาร  แนวคิด ทฤษฏี  และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับตัวแปร  และนิยามศัพท์

3.  กำหนดกรอบแนวคิด

4.  ศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมล้านนาตะวันออกโดยศึกษาจาก เอกสาร  การสัมภาษณ์ การสอบถาม  การสังเกตการณ์

5.  ศึกษาการจัดการการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดล้านนาตะวันออก  โดยการศึกษาจากเอกสาร  การสัมภาษณ์ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง  การลงพื้นที่จริง

6.  การศึกษาผลกระทบจากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  โดยการศึกษายุทธศาสตร์การท่องเที่ยวที่มีอยู่จากเอกสาร  การสัมภาษณ์ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง  การสร้างแบบสอบถามเพื่อสอบถามนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว

7.  การวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว  โดยจัดเวทีเสวนาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  การบันทึกข้อมูลจากการเสวนา  เพื่อนำมาวิเคราะห์

8.  การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาตามกระบวนการการศึกษาที่ได้กำหนดไว้เพื่อนำไปสู่การสรุปอภิปรายผลการศึกษา  เพื่อตอบโจทย์การวิจัยที่ได้กำหนดไว้ และหาข้อเสนอแนะการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ยั่งยืน  เพื่อนำไปสู่การนำไปปฏิบัติของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป

ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

  ในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้เลือกศึกษาวัดที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดล้านนาตะวันออก อันประกอบด้วยจังหวัดเชียงราย  พะเยา  แพร่  และน่าน  โดยในแต่ละจังหวัดได้กำหนดคุณสมบัติของวัดที่ใช้ในการศึกษาไว้ดังนี้

1.  เป็นวัดที่มีศิลปกรรม ด้านสถาปัตยกรรม  ปติมากรรม  และจิตรกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ

2.  เป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน มีตำนาน  และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์

3.  เป็นวัดที่มีวัฒนธรรมประเพณี  พิธีกรรม ที่สืบทอดมาอย่างยาวนานในชุมชน ที่นักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมได้

4.  เป็นวัดที่มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจและเดินทางเข้าชมอย่างสม่ำเสมอ

5.  เป็นวัดที่มีการบริหารจัดการโดยชุมชนมีส่วนร่วม

6.  เป็นวัดที่มีแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เช่น พิพิธภัณฑ์  หรือ หมอเมือง

ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้  ประกอบด้วยผู้ให้ข้อมูลสำคัญ  ได้แก่  ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัด  ผู้นำชุมชน  เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว  ผู้ประกอบการธุรกิจด้านการท่องเที่ยว  องค์กรภาครัฐ  องค์กรภาคเอกชน  นักวิชาการ  ปราชญ์ท้องถิ่น  ชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนที่ศึกษา  พ่อค้าแม่ค้าที่อยู่ในพื้นที่ๆ ศึกษา  ในกลุ่มจังหวัดล้านนาตะวันออก

เครื่องมือการวิจัย และการเก็บรวบรวมข้อมูล

ในการศึกษาครั้งนี้ผู้ศึกษาจะได้เครื่องมือในการศึกษาทั้งหมด  4  แบบ คือ  แบบสอบถาม  แบบสัมภาษณ์  การสังเกตการณ์  และการจัดเวทีเสวนา  ซึ่งมีรายเอียด ดังนี้

  -  แบบสอบถาม  ซึ่งแบ่งออกเป็น  6  ตอน คือ  ตอนที่ 1  ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผู้ตอบแบบสอบถาม  ตอนที่ 2  ความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยว  ตอนที่  3  ความรู้เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว  ตอนที่  4  ผลกระทบจากการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  ตอนที่  5  การมีส่วนร่วม  ตอนที่  6  ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

  -  แบบสัมภาษณ์  โดยกำหนดประเด็นหลักไว้ คือ  ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผู้ให้สัมภาษณ์  ข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก  ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยว  ผลกระทบจากการท่องเที่ยว  ปัญหาข้อเสนอแนะ

  -  การสังเกตการณ์  เป็นการเก็บรวมร่วมข้อมูลจากสถานที่ท่องเที่ยวแบบประจักษ์  โดยการลงไปสำรวจลักษณะความเปลี่ยนแปลง  สังเกตพฤติกรรมการท่องเที่ยว  จากแหล่งท่องเที่ยว

  -  การจัดเวทีเสวนา  โดยเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมเสวนา  เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน

การวิเคราะห์ข้อมูล

  -  การศึกษาข้อมูลเชิงปริมาณ  ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านต่างๆ เช่น สถิติข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยว  รายได้  ความพึงพอใจ  การให้บริการ  ผลกระทบจากการท่องเที่ยว  ใช้การวิเคราะห์เชิงพรรณนาเกี่ยวกับการท่องเที่ยว  ด้วยการหาค่าความถี่  ร้อยละ  ค่าเฉลี่ย  ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน  การเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย  T – test  และ F – test  ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป  เพื่อใช้เป็นดัชนีชี้วัดสถานภาพความมั่นคงในเบื้องต้นควบคู่กับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ

  -  การศึกษาข้อมูลเชิงคุณภาพ  ทำการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการจัดเวทีเสวนา  การสัมภาษณ์โดยการเลือกกลุ่มตัวอย่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดล้านนาตะวันออก  เช่น นักท่องเที่ยว  ชาวบ้านที่อยู่ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยว  และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งภาครัฐและเอกชน  เพื่อศึกษาความคิดเห็น ความพึงพอใจ การบริหารจัดการ  ตลอดจนปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว  ใช้การพรรณนาเหตุการณ์  วิเคราะห์เชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมในกลุ่มจังหวัดล้านนาตะวันออก  บางส่วนใช้เป็นค่าความถี่  จากการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนานทางมานุษยวิทยา  และจากการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูล

สรุปผลการวิจัย 

ผลจากการศึกษาพบว่า “การท่องเที่ยว” เป็นคำที่มีความหมายกว้างขวางมิได้หมายเฉพาะเพียงการเดินทางเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ  หรือเพื่อความสนุกสนานบันเทิงเริงรมย์ดังที่ส่วนมากเข้าใจ   แต่การเดินทางเพื่อการประชุมสัมมนา  เพื่อการศึกษาความรู้  เพื่อการกีฬา  เพื่อการติดต่อธุรกิจ  ตลอดจนการเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องก็นับว่าเป็นการท่องเที่ยวทั้งสิ้น[3]

  จากความเจริญเติบโตของตลาดการท่องเที่ยว  ที่มีอัตราเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  จนกลายเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ทำให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยว  ทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติ  สำหรับแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางไปท่องเที่ยวนั้นพบว่ามีหลากหลายประเภท  ซึ่งหลักๆ สามารถแบ่งได้  2 ประเภทใหญ่ๆ คือแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ (Natural  Attractions) และแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Manufactured  Attractions)[4]  แหล่งท่องเที่ยวทั้งสองประเภทแต่ละประเภทยังสามารถแยกย่อยออกไปอีก คือ

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ  เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมีลักษณะเด่น  แปลก  สวยงาม มีคุณค่าต่อการเข้าไปพักผ่อนหย่อนใจหรือแสวงหาความรู้ [5]  แหล่งท่องเที่ยวประเภทนี้ยังแบ่งรูปแบบออกไปอีก เช่น  การท่องเที่ยงเชิงนิเวศ   และการท่องเที่ยวแบบผจญภัย เป็นต้น 

แหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น  แหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้มนุษย์สร้างขึ้นด้วยเหตุผลต่างๆกัน เช่น เพื่อการพักผ่อน  เพื่อการรักษาสุขภาพ  เพื่อเป็นศาสนสถาน  เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ หรือด้านศิลปวัฒนธรรมอื่นๆ แหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้าง แบ่งสามารถแบ่งเป็น 2  กลุ่ม คือ

1.1  แหล่งท่องเที่ยวทางด้านศิลปวัฒนธรรม  ประเพณี  ซึ่งเป็นแบบอย่างการดำรงชีวิตของชุมชนนั้นๆ เช่น  ประเพณีลอยกระทง  ประเพณีสงกรานต์  พิธีกรรมต่างๆ ที่เกิดจากความเชื่อของบุคคลในชุมชน

1.2  แหล่งท่องเที่ยวทางด้านประวัติศาสตร์  โบราณวัตถุ  โบราณสถานและศาสนสถานเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่แสดงถึงประวัติความเป็นมาในอดีต  หรือเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตของสังคมมนุษย์ในสมัยนั้นๆตัวอย่างแหล่งท่องเที่ยวประเภทนี้ได้แก่  เมืองโบราณ  เจดีย์  วัด สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์  อนุสาวรีย์  ฯลฯ

แนวคิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ปัจจุบันได้มีแนวคิดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม   ซึ่งมีผู้ให้ความหมายการท่องเที่ยวประเภทนี้ไว้หลายท่าน เช่น พลอยศรี  โปราณานนท์  (อ้างอิงจาก ชัชวาลย์  ธรรมสอนและคณะ  2548 : 20)  กล่าวว่า “ การท่องเที่ยวชิงวัฒนธรรมเป็นการท่องเที่ยวโดยมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการความรู้  หรือมีประสบการณ์ในวัฒนธรรมด้านต่างๆ  ของแหล่องท่องเที่ยวนั้นๆ  กิจกรรมการท่องเที่ยวประเภทนี้  จะอยู่ในรูปแบบที่ได้รับความรู้หรือประสบการณ์ด้านวัฒนธรรมจากแหล่องท่องเที่ยวในขณะเดียวกันก็มีความเพลิดเพลินรวมอยู่ด้วย  เช่น การมีประสบการณ์ด้านอาหาร  ดนตรี  การละเล่น  การต้อนรับที่เป็นวัฒนธรรมของแหล่งท่องเที่ยวที่ไปเยือนเป็นต้น”[6]

ซึ่งการท่องเที่ยวภายในวัดก็จัดอยู่ในการท่องเที่ยวประเภทนี้ด้วย  เพราะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  คือการท่องเที่ยวที่มุ่งความสนใจพิเศษ  โดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษาและการเข้าร่วมในกิจกรรมทางวัฒนธรรมของชุมชนอื่นๆ  ซึ่งได้แก่  ศิลปวัฒนธรรม  การชื่นชมในสุนทรียภาพของโบราณวัตถุสถานคุณค่าทางวิทยาการและการศึกษา  การเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างผู้คน  การเดินทางท่องเที่ยวเป็นโอกาสที่จะได้ทราบถึงวิถีชีวิตของชุมชนในแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกัน  ได้ไปมาหาสู่หรือคบค้าสมาคมและได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน  ซึ่งจะยังผลให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีทำให้เกิดภาพพจน์ที่ดีของแต่ละสังคม  เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างผู้คนต่างภูมิภาคหรือต่างท้องถิ่น  เป็นการลดช่องว่างระหว่างชาวเมืองกับชาวชนบท  นอกจากนี้ในระดับการท่องเที่ยวระหว่างประเทศก็จะเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างผู้คนต่างชาติ  ต่างภาษา  หรือต่างศาสนา  ต่างวัฒนธรรม  กระตุ้นให้เกิดความสนใจในความสวยงาม  และคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม  ประเพณีและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อคุณภาพชีวิต  ทำให้ทั้งนักท่องเที่ยวและเจ้าของท้องถิ่นหันมาสนใจที่จะบำรุงรักษาวัฒนธรรมประเพณี  และปรับปรุงสภาพแวดล้อมของทั้งธรรมชาติและศิลปกรรมให้ดีขึ้น[7]

ในปัจจุบันนักท่องเที่ยวได้ให้ความสนใจเดินทางไปท่องเที่ยวตามวัดสำคัญต่างๆ  เป็นจำนวนมาก  ดังนั้นวัดจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการด้านการท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวให้มีความเหมาะสม  ไม่ให้กระทบกับทรัพยากรภายในวัด  โดยเฉพาะวัดในล้านนาที่มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ  ที่เป็นทรัพยากรทางวัฒนธรรม  เป็นมรดกของชุมชน และเป็นมรดกของชาติ   

สถานการณ์การท่องเที่ยวของวัดในกลุ่มจังหวัดล้านนาตะวันออกในปัจจุบัน  ลักษณะการท่องเที่ยวของวัดต่างๆ ในจังหวัดล้านนาตะวันออก  ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะให้ความสำคัญกับวัดที่มี  โบราณสถาน โบราณวัตถุที่สำคัญๆ ประจำจังหวัด  เช่น วัดที่มีมหาเจดีย์เก่าแก่  มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น  แต่ก็มีบางวัดที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากวัดอื่นๆ  ที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ  เช่น วัดภูมินทร์  จังหวัดน่าน  ที่มีจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวแตกต่างจากวัดอื่น คือมีภาพวาดเก่าแก่  ซึ่งกลายเป็นสัญญาลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดที่นักท่องเที่ยวต้องแวะไปชม  และจังหวัดก็ได้ใช้เป็นจุดขายของจังหวัด 

การจัดการภายในวัดส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับนโยบายของเจ้าอาวาสของแต่ละวัด  บางวัดให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวมาก  แต่บางวัดไม่ได้เน้นเรื่องการท่องเที่ยวเท่าที่ควร  การจัดการของแต่ละวัดก็ขึ้นอยู่กับปริมาณของนักท่องเที่ยวด้วย  วัดที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเป็นจำนวนมาก  จะมีระบบการจัดการด้านสาธารณูปโภคที่ดี  เช่น มีการจัดทำแผนที่บอกทาง  ป้ายอธิบาย  ลานจอดรถ และห้องน้ำสำหรับนักท่องเที่ยว  แต่วัดที่ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวก็จะไม่ค่อยพัฒนาระบบสาธารณูปโภค

ด้านผลกระทบที่มากับการท่องเที่ยวก็มีทั้งแง่บวกและแง่ลบ  แง่บวกจากการศึกษาพบว่า  การท่องเที่ยวทำให้วัดมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการทำบุญของนักท่องเที่ยว  บางวัดใช้โอกาสจากการท่องเที่ยวในการเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีของวัด  เช่น วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง   จังหวัดน่าน  ได้ทำซุ้มสืบชะตาขนาดใหญ่เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมทำบุญสืบชะตาในช่วงสงกรานต์  หรือการจัดให้มีการทำบุญสรงน้ำประธาตุแช่แห้งแบบโบราณ  ซึ่งเป็นการนำวัฒนธรรมที่กำลังจะหายไปกลับมาทำใหม่  ซึ่งจากการสัมภาษณ์พระครูวิสิฐนันทวุฒิ  เจ้าอาวาส  ท่านกล่าวว่า “การนำวัฒนธรรมดั่งเดิมมาใช้  ซึ่งเรียกว่าการฮอมบุญ ทำให้ทางวัดลดรายจ่ายจากการจ้างนักร้องนักดนตรี ลดปัญหาวัยรุ่นทะเลาะกัน  ทำให้ชุมชนเกิดความสามัคคี  ทำให้มีคนมาเที่ยวงานเพิ่มมากขึ้น  และวัดได้รับปัจจัยจากการทำบุญมากขึ้นด้วย...” 

นอกจากนี้ชุมชนที่อยู่รอบๆ วัดที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยว  ก็ได้รับผลจากการท่องเที่ยวด้วย คือ ชุมชนเกิดอาชีพใหม่ คือการขายของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยว  เกิดรายได้เข้าชุมชน  ทำให้เกิดการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตที่ดีตามมา  เกิดการอนุรักษ์ฟื้นฟู  วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่กำลังจะหายไป  ทำให้ชุมชนรักและหวงแหนวัฒนธรรมประเพณีของตน เพราะเห็นคุณค่าจากการที่นักท่องเที่ยวได้ให้การชื่นชม

ในทางกลับกันการท่องเที่ยวก็ส่งผลเสียให้กับวัดที่ขาดระบบการจัดการดี  ไม่มีการป้องกันที่ดี ทำให้โบราณสถานโบราณวัตถุเสียหาย  จากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของนักท่องเที่ยว  หรือการนำวัฒนธรรมมาใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม  ทำให้นักท่องเที่ยวไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง  บางวัดมีการจัดการที่ไม่ระมัดระวังขาดการศึกษาที่ถูกต้อง  มีการจัดสร้างศาสนสถานที่ผิดแผกไปจากแนวทางของพุทธศาสนาโดยเฉพาะพุทธศาสนาในล้านนาซึ่งเป็นแบบเถรวาท  แต่บางวัดได้มีการสร้างศาสนสถานในแบบมหายาน  เพียงเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว  เช่นการสร้างรูปเคารพเจ้าแม่กวนอิม  หรือ
โพธิสัตว์ในลัทธิมหายาน  หรือแม้แต่การสร้างศาลเจ้าต่างๆ  ซึ่งเห็นได้ทั่วไปในวัดที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไป  ทำให้เกิดความสับสนว่าวัดเป็นลัทธินิกายไหนกันแน่  ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัญหาที่ยังไม่มีการแก้ไข หรือมีคนออกมาพูด  และนักวันยิ่งเพิ่มากขึ้นเรื่อยๆ

การจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  มีรูปแบบการจัดการ ที่แตกต่างจากการท่องเที่ยวประเภทอื่น  เพราะมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตและความเชื่อ  ถ้าจะพูดถึงกระบวนการในการวางแผนและการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมก็จะประกอบด้วยองค์ประกอบเชิงหลักการ ดังต่อไปนี้

1.  การกำหนดมาตรการและนโยบายเพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

2.  กำหนดขอบเขตพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ  และสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมโดยให้ความสำคัญของการอนุรักษ์ที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงและขณะเดียวกันควรมีการกำหนดเกณฑ์การธำรงรักษาอย่างมีความสมดุลระหว่างชุมชนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว

3.  ดำเนินการวางแผน  วางระบบการบริการจัดการตามข้อกำหนดและแนวทางปฏิบัติ และเทคนิควิธีการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม

4.  วางระบบการอำนวยความสะดวกในการมาเยือนของนักท่องเที่ยว  ได้แก่  อาคารสถานที่ทางวัฒนธรรม  การแสดงกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม  ร้านอาหาร  ร้านจำหน่ายของที่ระลึก และเส้นทางเชื่อมโยงแต่ละกลุ่มกิจกรรมท่องเที่ยว

5.  ดำเนินการตามกลไกบริหารจัดการ  โดยควบคุมแต่ละกลุ่มกิจกรรมท่องเที่ยวให้เกิดความต่อเนื่อง  โดยเฉพาะการบริหารจัดการที่บ่งชี้การธำรงรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นให้มีความต่อเนื่อง  โดยการสร้างกระบวนแลกเปลี่ยนการเรียนรู้  เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวมีความตระหนักรู้ในคุณค่าความงดงามของวัฒนธรรม[8]

วัดต้องให้ความสนใจกระบวนการในการวางแผนและการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมทั้ง  5  ข้อดังกล่าวมา  ซึ่งหลายคนอาจจะมีความเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่หลักของวัด   แต่ถึงกระนั้นวัดก็ไม่สามารถปฏิเสธ  หรือห้ามไม่ให้คนเข้าวัดได้  จะเห็นได้ว่าหลายวัดที่ไม่ได้มีการบริหารจัดการที่ดี  ในที่สุดโบราณสถานโบราณวัตถุก็ถูกทำลาย  สูญหาย  หรือทรุดโทรม  และหมดคุณค่าไปในที่สุด  วัดใหญ่ๆ หลายวัดได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว  จนบางวัดแทบจะหมดสภาพความเป็นวัดที่น่าจะมีความสงบร่มรื่น  เข้าไปแล้วรู้สึกสงบเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมกรรมฐาน  แต่กลับกลายเป็นว่าเข้าไปแล้วเหมือนเข้าไปในตลาด  มีแต่ร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึกให้แก่นักท่องเที่ยว  บางวัดไม่มีการจัดระบบร้านค้า  การวางขายหรือการตั้งร้านเต็มไปหมดไม่มีระเบียบ  ทั้งของกิน ของที่ระลึก  ซึ่งนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อม  และการทำลายบรรยากาศทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ภายในวัด

ลักษณะยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวในปัจจุบัน   จากการศึกษาพบว่าการกำหนดยุทธศาสตร์เป็นการกำหนดจากหน่วยงานที่ทำงานด้านการท่องเที่ยวเพียงด้านเดียว  วัดไม่ค่อยได้รับทราบ  และการกำหนดนโยบายส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้เกิดการท่องเที่ย

หมายเลขบันทึก: 534720เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2013 23:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2013 23:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท