ถอดบทเรียนคนทำงานอาสาฯ ถึง “ตัวเล็ก” แต่คิด “ใหญ่”


เรื่องจากคนตัวเล็กๆ ใครว่าไม่สำคัญ เพราะถึงแม้จะไม่ได้มีภูมิหลังใหญ่โต แต่ถ้าวัดกันที่เนื้อหาของ “งาน” ก็มากคุณค่าไม่แพ้ใคร อย่างไม่นานมานี้ได้มีโอกาสสนทนากับกลุ่ม “ลูกเหรียง” กลุ่มคนหนุ่ม-สาวที่จับงานด้านการเยียวยาเยาวชนที่ครอบครัวเป็นผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่3จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคนกลุ่มนี้เพิ่งได้รับรางวัลแด่คนหนุ่มสาว ของมูลนิธิโกมล คีมทอง พี่เลี้ยงหลักของโครงการค่ายอาสาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 


เรื่องใหญ่ๆที่ถูกริเริ่มจากคนเล็กๆเช่นนี้มีความเป็นมาอย่างไรลองมาติดตามกัน จุดเริ่มต้นของการริเริ่มงานใหญ่อย่างเรื่องปัญหาความไม่สงบในพื้นภาคใต้นั้น  วรรณกนก เป๊าะอิแค่ดาโอะ (ชมพู่) เล่าว่า พวกเธอรวมตัวขึ้นมาจากเด็กที่ทำกิจกรรม เริ่มจากร่วมทำกิจกรรมประเด็นยาเสพติด, อนามัยเจริญพันธ์ และ HIV/Aids จนกระทั่งปี 2547 เป็นต้นมา เกิดความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สมาชิกในกลุ่มลูกเหรียงเองเริ่มเสียผู้นำครอบครัวไปตั้งแต่ต้นปีจากเหตุการณ์ความไม่สงบ จนมีโอกาสร่วมโครงการเยี่ยมกลุ่มผู้หญิงหม้ายซึ่งสูญเสียสามีจากเหตุการณ์ในพื้นที่ จึงได้เห็นว่า แต่ละบ้านน้องๆ ที่สูญเสียคนในครอบครัวไปนั้น เสียใจไม่แพ้ผู้ใหญ่ หลายคนเก็บกดและฝังความแค้นไว้เต็มหัวใจ รอวันโตขึ้น รอวันแก้แค้น เราจึงได้แลกเปลี่ยนกันจึงปรึกษากับผู้ใหญ่ว่า อยากจะมีค่ายเยียวยาน้อง ๆ นั่นเพราะมันคงจะดีหากเด็ก ๆจะได้มีพื้นที่พูดคุย บอกเล่า เยียวยาตัวเอง ก่อนที่ความแค้น ความเกลียดชัง จะเติบโตพร้อมตัวเขาและสังคม “จะเป็นญาติพี่น้อง หรือเป็นเหยื่อที่ไหน ไม่มีใครไม่เสียใจกับการสูญเสีย เราเองก็ถือว่าช่วยงานรัฐมาตลอด อยากจะเห็นชุมชนเราดีขึ้น เห็นเด็กเยาวชนมีคุณภาพ แต่เมื่อเหตุการณ์ความไม่สงบยังมีอยู่ต่อเนื่อง เราเห็นว่านี่คือหนึ่งในประเด็นที่กลุ่มลูกเหรียง ที่ทำงานด้านเยาวชนอยู่แล้วจะหันมาให้น้ำหนักกับเรื่องนี้” เธอเล่า


หลักสูตรการจัดเยียวยาแก่เยาวชนผู้สูญเสีย นั้นถูกออกแบบเนื้อหาเป็นขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การจัดค่ายในระยะแรกซึ่งเน้นการระบายความทุกข์ของญาติผู้เคราะห์ร้าย ผ่านการเล่า การทำงานศิลปะเพื่อขจัดเวลาแห่งการนึกคิดในสิ่งที่โศกเศร้า ส่วนระยะที่สองจะเริ่มมองไปถึงการวางแผนอนาคต กำหนดเป้าหมายชีวิต แนะแนวการศึกษาซึ่งเยาวชนจะได้ตั้งสติเลือกวิถีของตัวเอง ขณะที่ค่ายในระยะสุดท้ายจะเน้นเรื่องทักษะชีวิต วิชาชีพ เพื่อหารายได้ยืดหยัดด้วยตัวเองต่อไป  “วรรณกนก” ย้ำว่า แนวคิดของพวกเธอทุกขั้นตอนคือการให้เยาวชนได้ทบทวน และวางแผนไปถึงอนาคตข้างหน้า ในวันที่ไม่มีพ่อแม่ หรือญาติพี่น้อง กลุ่ม “ลูกเหรียง”จึงอาสาใช้วันเวลาพาให้เดินไปข้างหน้า ทั้งด้านวางแผนใช้เงินทุนเยียวยา การศึกษาต่อ โดยเฉพาะการสร้างทัศนคติของการอยู่ร่วมกันของคนต่างความคิด


“จริงอยู่ที่ความรุนแรงทำให้พวกเขาต้องสูญเสีย เราเองก็เสียพี่ชาย เสียคนในครอบครัว มันเป็นความเจ็บปวด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความรุนแรงในลักษณะเดียวกันจะแก้ปัญหาให้เขาได้ และก็แน่นอนว่าไม่มีใครอยากเห็นความสูญเสียอีกในดินแดนผืนนี้ ความโกรธแค้นชิงชังไม่ได้ช่วยอะไร เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เรารู้ กระบวนการของภาครัฐก็ทำไป แต่ถ้าเป็นไปได้สำหรับเยาวชนเป้าหมายสูงสุดเราอยากเห็นการไม่อาฆาต ชิงชัง จะลูกชาวบ้านหรือลูกคนก่อการฯหากสูญเสียความรู้สึกคงไม่ต่างกัน”อีกเรื่องเหล่าหนึ่งมาจาก น้องป๊อก" วีรนันท์ ฮวดศรี หนุ่มชัยภูมิ วัย 21 ปี เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ เล่าถึงการทำค่ายอาสาฯ ซึ่งมูลนิธิโกมลคีมทอง สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนบสนุนว่า พวกเขาศึกษาประเด็นนี้ที่ชุมชนคลองหลอด เพราะเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนมากมายหลากหลายอาชีพ บางคนเป็นกลุ่มที่เคยอาศัยหลับนอนที่สนามหลวง พอสนามหลวงเป็นของรัฐ ไม่สามารถเข้าไปอาศัย ไฮปาร์ค จึงย้ายมาอยู่บริเวณคลองหลอด ตนพร้อมกับเพื่อนๆ ได้เริ่มทำความรู้จักกลุ่มคนเหล่านี้ เป็นกลุ่มที่ไม่เป็นเอกภาพ ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีผู้นำชัดเจน ต้องไปค่อยๆ พูดคุย ตอนแรกเขาจะมองพวกเราแปลกๆ ต้องเริ่มสวัสดี แนะนำตัว พวกเขาก็ยังระแวงว่าเราจะไปทำอะไร ต้องใช้เวลาสักพักถึงจะสามารถเรียนรู้พวกเขาได้


"คนทั่วไปมองว่าคนไร้บ้านคือคนจน ไม่มีบ้าน แต่จากผลการศึกษาเบื้องต้นของกลุ่มอาสาสมัครม.ร. พบว่า บางคนมีบ้านอยู่ แต่ก็มานอนที่คลองหลอด เพราะอยากมีเพื่อน บางคนมีบ้านแต่ไม่อยากกลับบ้าน เพราะว่าไม่รู้จะอยู่บ้านไปทำไม คิดว่าน่าจะมีปัญหาครอบครัว บางคนอาชีพอยู่ที่ตลาดคลองหลอดรับจ้างเก็บขวดวันละ 100 บาท พอเก็บเสร็จก็นอนอยู่ตรงนั้น เราอาศัยพวกเขาเป็นสื่อกลางเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติจากคนในสังคมส่วนใหญ่ที่มีต่อพวกเขา จริงๆ แล้วพวกเขาไม่ได้เลวร้าย ไม่ได้ขี้เกียจ กินเหล้า อยู่ไปวันๆ บางคนขยันทำมาหากินแต่สร้างฐานะได้แค่พอเลี้ยงตัวเอง เราได้เห็นว่าทุกสังคมมีคนดี คนไม่ดีปะปนกันไป อาจเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัว" น้องป๊อก วิเคราะห์ขณะที่สุขภาวะอนามัย ห้องอาบน้ำ ห้องสุขาของพวกเขาไม่เป็นกิจจะลักษณะ ไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐ เทียบกับบางงานที่จัดที่สนามหลวงมีรถสุขามาบริการให้ตลอด ครั้งนี้เราจะมาเรียนรู้จากเขา เพื่อที่จะให้เพื่อนของเราได้เรียนรู้สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมเมืองความเหลื่อมล้ำที่ยังมีให้เห็นในเมืองใหญ่ๆ

"ผมเชื่อว่าการที่เรานักศึกษาที่เป็นผู้ที่กำลังศึกษาด้านกฎหมาย เมื่อเห็นสภาพปัญหาที่แท้จริงแล้วว่า เกิดจากอะไร ต่อไปในภายภาคหน้า ได้มีโอกาสเข้าไปบริหารบ้านเมือง ก็จะรู้ช่องทางในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของชุมชน และลดช่องว่างระหว่างประชาชนคนในชาติได้"น้องป๊อกเล่าถึงประโยชน์ที่มาทำกิจกรรมค่ายนี้

หมายเลขบันทึก: 534393เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2013 21:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2013 15:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นกิจกรรมที่ดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท