เที่ยวนาลันทาปี ๒๕๔๗


นาลันทา เป็นชื่อเมือง ๆ หนึ่งในแคว้นมคธ อยู่ห่างจากพระนครราชคฤห์ประมาณ 1 โยชน์ (ประมาณ 16 กิโลเมตร) ณ เมืองนี้มีสวนมะม่วง ชื่อ ปาวาริกัมพวัน (สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี) ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับแรมหลายครั้งคัมภีร์ฝ่ายมหายานกล่าวว่า พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นอัครสาวก เกิดที่เมืองนาลันทา แต่คัมภีร์ฝ่ายบาลีเรียกถิ่นเกิดของ พระสารีบุตรว่า หมู่บ้านนาลกะหรือนาลันทคาม

นาลันทาเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ห่างจากเมืองราชคฤห์ใหม่ประมาณ 12 กิโลเมตร ห่างจากเมืองปัตนะรัฐพิหาร ประมาณ 90 กิโลเมตร ถึงแม้จะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ แต่ภายหลังการขุดค้นพบซากมหาวิทยาลัยนาลันทาแล้ว ทางรัฐบาลรัฐพิหารได้ประกาศยกฐานะหมู่บ้านนาลันทา เป็นอำเภอนาลันทา (ที่ว่าการอำเภออยู่ที่พิหารชารีฟ ตั้งอยู่ห่างจากนาลันทา 12 กิโลเมตร) รายละเอียดเพิ่มเติมเราสามารถค้นดูได้จากกูเกิ้ล หรือเว็บนี้

http://th.wikipedia.org/wiki

เนื่องจากเป็นการเดินทางในเดือนเมษายน ดังนั้น การลงเดินชมมหาวิทยาลัยนาลันทาจึงเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าต้องยอมแพ้ เพราะแดดที่ร้อนแรง แผดกล้าจนเกินจะบรรยาย เหมือนเดินหิ้วเตาถ่านไปด้วย ดังนั้นจึงอาสานั่งรออยู่บนรถให้แต่ลูกทั้งสองลงไปเดินชมกับป้าแอ๋วกันเอง..เพราะอาจหาญคิดว่าตัวเองมาบ่อยแล้ว แต่สุดท้ายก็ต้องได้ไปอินเดียอีกถึงสองครั้ง เพื่อลงไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยนาลันทาที่ยิ่งใหญ่ในสมัยพุทธกาล ...

การเดินทางวันที่สอง เราออกจากพุทธคยาแต่เช้ามืด วิ่งเลียบแม่น้ำเนรัญชลา ผ่านกลางเมืองคยามุ่งหน้าขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้เวลาราวสองชั่วโมงก็ถึงราชคฤห์..ทั้งกลุ่มก็ลงมาทานอาหารเช้าคือไข่ต้ม น้ำพริกนรก ก่อนเดินเท้าขึ้นไปยังยอดเขาคิชกูฏเพื่อกราบกุฏิพระพุทธองค์ และก่อนถึงยอดเขาก็แวะทำพิธีไหว้พระที่ถ้ำสุกรขาตากันก่อน 

ราชคฤห์ เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธในสมัยพุทธกาล (ปัจจุบัน คือ จังหวัดนาลันทา รัฐพิหาร) เป็นอาณาจักรที่เข้มแข็ง และมีอิทธิพลมากแห่งหนึ่ง เป็นเมืองสำหรับการแสวงบุญของชนชาวพุทธ พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ในเมืองนี้หลายครั้ง การกระทำปฐมสังคายนาก็ทำที่เมืองนี้
• ปัจจุบันเมืองราชคฤห์ยังมีซากปรักหักพังของโบราณสถานให้เห็นอยู่เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญในอดีตและเบญจคีรีนครเป็นทิวเขา 5 ลูก อยู่ล้อมรอบเมืองราชคฤห์ คือ อิสิคิรี บัณฑวะ คิชฌกูฏ เวภาระ และเวปลละ


ทางขึ้นเขาคิชกูฏ

เขาคิชฌกูฏเป็นภูเขาที่เอียงลาดยาวขึ้นไป ทางขึ้นไม่ลำบาก เมื่อจวนจะถึงยอดเขาก็จะเห็น บริเวณที่พระเทวทัตคิดทำร้ายพระพุทธเจ้า โดยพระเทวทัต แอบขึ้นไปบนยอดเขาคิชฌกูฏ แล้วงัด ก้อนหินใหญ่ลงมา หวังจะปลงพระชนม์พระบรมศาสดาในขณะเสด็จขึ้นจะไปประทับที่กุฏิวิหาร
ของพระองค์บนยอดเขา แต่ก็ไม่อาจทำอันตรายพระบรมศาสดาได้ เป็นแต่เพียงสะเก็ดหินได้กระเด็นไปกระทบพระบาทจนห้อพระโลหิตและหมอชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์ประจำพระองค์พระพุทธเจ้าก็ถวายการปฐมพยาบาลพระองค์ในครั้งกระนั้น จากนั้นก็ผ่าน ถ้ำพระโมคคัลลานะ และ ถ้ำสุกรขาตา (ถ้ำพระสารีบุตร)

ถ้ำสุกรขาตา (ถ้ำพระสารีบุตร) 

ตั้งอยู่ ณ เชิงเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
สถานที่พระสารีบุตรบรรลุเป็นพระอรหันต์ ผู้หมดกิเลสาสวะโดยสิ้นเชิง
ในตอนกลางวันของวันมาฆบูชา วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓
หลังจาก “พระสารีบุตร” พระธรรมเสนาบดี อุปสมบทได้ ๑๕ วัน

วันมาฆบูชา (วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ หรือเดือน ๔ ในปีที่มีอธิกมาส) เป็นวันที่บังเกิดขึ้นของพระอรหันตสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่านผู้นั้นก็คือ “พระอุปติสสะ” ซึ่งต่อมาเพื่อนสหธัมมิก (พระภิกษุ) ด้วยกันเรียกขานในนามว่า “พระสารีบุตร”

ในตอนกลางวันของวันนั้น พระพุทธองค์ประทับเข้าสมาธิอยู่ ณ “ถ้ำสุกรขาตา” (ถ้ำหมูขุด หรือถ้ำคางหมู) เชิงเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์ มีพระสารีบุตรคอยถวายงานพัดอยู่ด้วย ทีฆนขปริพาชก (นักบวชเล็บยาว) ซึ่งเป็นหลานของพระสารีบุตร ตามหาพระพี่ชาย มาพบอยู่กับพระพุทธเจ้า ทีฆนขปริพาชกไม่ค่อยจะให้ความสำคัญแก่พระพุทธองค์มากนัก จึงพูดแบบหยิ่งผยองว่า ข้าพเจ้าไม่เชื่อทิฐิ (ความเห็น) ใดๆ พูดพลางลุกเดินไปมา

พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบว่า ถึงอย่างไรเธอก็มีทิฐิอยู่นั้นเอง ทีฆนขปริพาชกพูดอีกว่า ข้าพเจ้าไม่เชื่อทฤษฎีใดๆ พระพุทธองค์ตรัสว่า “การที่เธอไม่เชื่อทฤษฎีใดๆ นั่นแหละเป็นความเชื่อของเธอล่ะ” ได้ยินดังนั้น ทีฆนขปริพาชกสะดุดถึงกับนั่งลง อาการหยิ่งผยองค่อยๆ หายไป พระพุทธองค์จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาที่เรียกว่า “เวทนาปริคคหสูตร” (พระสูตรว่าด้วยการกำหนดเวทนา) ให้ฟัง

“พระสารีบุตร” นั่งเบื้องพระปฤษฎางค์ (เบื้องหลัง) ถวายงานพัดพระพุทธองค์อยู่ เงี่ยโสตสดับกระแสพระธรรมเทศนาไปด้วย เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมจบ ทีฆนขปริพาชก นักบวชเล็บยาว หลานของท่านก็ได้บรรลุโสดาบัน แต่ตัวท่านพระสารีบุตรได้บรรลุพระอรหัต เป็นพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสาสวะโดยสิ้นเชิง

เนื่องจากการบรรลุธรรมขั้นสูงสุดของ “พระสารีบุตร” เกิดขึ้นในวันเพ็ญมาฆปุณณมี หรือวันเพ็ญเดือน ๓ ณ ถ้ำสุกรขาตา ดังนั้น “วันมาฆบูชา” จึงถือว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่บุคคลสำคัญแห่งพระพุทธศาสนาประสบความสำเร็จในธรรมขั้นสูงสุด รวมทั้งเป็นวันเดียวกับวันประชุมกันเป็นพิเศษแห่งพระอรหันตสาวกจำนวน ๑,๒๕๐ รูป โดยมิได้มีการนัดหมาย ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร นั้นเอง

เมื่อโปรดทีฆนขปริพาชก นักบวชเล็บยาว แล้ว พระพุทธองค์ทรงเสด็จกลับวัดเวฬุวันมหาวิหาร (วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ที่พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งแคว้นมคธ ถวายให้เป็นที่ประทับของพระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์) พร้อมกับพระสารีบุตรซึ่งบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว

ในค่ำคืนของวันนั้นเป็นวันเพ็ญ เดือนมาฆะ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓
พระสงฆ์สาวกจำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมายล่วงหน้า
ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ผู้ทรงอภิญญา ๖ 
และท่านเหล่านั้นเป็นเอหิภิกขุ ผู้ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า
พระพุทธองค์ทรงเห็นปรากฏการณ์พิเศษนี้ จึงทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” 
แก่ที่ประชุมสงฆ์ นับเป็นที่ประชุมอันประกอบด้วยองค์ ๔ เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต”


ผู้ที่มาเติมเต็มความสมบูรณ์ของกองทัพธรรม ก็คือ “พระสารีบุตร” ซึ่งเมื่อท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ถือได้ว่า “พระธรรมเสนาบดี” ได้บังเกิดขึ้น ดุจขุนพลแก้วบังเกิดแล้วแก่พระเจ้าจักรพรรดิ โดยท่านจะเป็นหัวเรือใหญ่รับสนองนโยบายภารกิจนี้โดยตรง พระพุทธองค์จึงทรงทำการประชุมมหาสาวกสันนิบาตทันทีในวันเดียวกันนั้นเอง โดยมิได้นัดหมายล่วงหน้า เพราะทรงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่กองทัพธรรมจะต้องเร่งรุดขยายให้ได้กว้างไกลที่สุด ฉะนั้น จำต้องมีทิศทางและยุทธศาสตร์ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน จึงได้ทรงประทาน “โอวาทปาติโมกข์” เพื่อไว้ใช้เป็นแม่บทในการประกาศพระศาสนา



ลงจากเขาคิชกูฏ ก็ไปชมถ้ำเก็บสมบัติพระเจ้าพิมพิสาร อาศรมของหมอชีวกโกมารภัจน์ วัดเวฬุวัน รอยเกวียนของพ่อค้าห้าร้อยเล่มเกวียนที่แล่นผ่านเส้นทางนี้จนเป็นร่อง..ก่อนแวะเข้าไปไหว้พระที่วัดไทยนาลันทา และเดินทางมุ่งหน้าสู่เมืองปัตนะหรือปาฏลีบุตรเพื่อขึ้นรถไฟไปยังดาร์จิลลิงค์ต่อไปในคืนนี้







ตโปทาราม เป็นสวนแห่งหนึ่ง อยู่ใกล้กับบึงใหญ่ที่ชื่อว่า ตโปทา และที่บึงนี้มีแม่น้ำตโปทา ซึ่งก็คือแม่น้ำสุรัสวดีไหลผ่านและน้ำในแม่น้ำนี้ร้อนก็เพราะว่า ได้ไหลผ่านระหว่างโลหะกุมภีนิรยะทั้งสอง ซึ่งเป็นที่เกิดของบ่อน้ำพุร้อนในทุกวันนี้

 ในตโปทารามนี้มีวิหารอยู่หลังหนึ่ง ซึ่งพระศาสดาได้เสด็จไปประทับเป็นครั้งคราว และใกล้ๆ กับตโปทารามนี้ ยังมีเงื้อมภูเขาตโปทกันทระ ซึ่งเคยเป็นที่อยู่จำพรรษาของ พระทัพพมัลลบุตร

 ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุก็นิยมมาอาบน้ำร้อนกันที่ตโปทารามนี้ จนพระผู้มีพระภาคเจ้าได้บัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุที่อาบน้ำที่นี่แล้วหนหนึ่ง ให้เว้นไปอีก 15 วัน จึงจะอาบน้ำที่นี่ได้อีก, ถ้าไม่ถึง 15 วัน ไปอาบเข้า ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีเหตุจำเป็นเท่านั้น  การที่ต้องบัญญัติสิกขาบทนี้ก็เพราะว่า เมื่อพระภิกษุพากันไปอาบน้ำนี้แล้ว ชาวบ้านเกรงใจพระภิกษุ จึงไม่กล้าไปอาบน้ำด้วย

ปัจจุบันเขาได้สร้างเป็นที่สำหรับอาบน้ำมี 3 ระดับ ชั้นบนสุดเป็นที่อาบน้ำของวรรณะสูงคือ พราหมณ์, ซึ่งน้ำก็จะไหลต่อไปเป็นที่อาบน้ำของวรรณะแพศย์และศูทร และน้ำที่ถูกอาบมาทั้งสองวรรณะแล้ว ก็จะไหลมายังชั้นสุดท้ายก็เป็นที่อาบน้ำของจัณฑาล ซึ่งคนที่อาบก็อาบไป สำหรับคนที่ซักผ้าก็ซักไปเช่นกัน

วัดไทยนาลันทา



คำสำคัญ (Tags): #นาลันทา
หมายเลขบันทึก: 533866เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2013 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2013 13:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)


หนุ่มน้อย แอบดูแขกอาบน้ำที่บ่อน้ำตะโปทาราม...น้ำไหลมาตลอดปีไม่เคยขาด


ตโปทาราม เป็นสวนแห่งหนึ่ง อยู่ใกล้กับบึงใหญ่ที่ชื่อว่า ตโปทา และที่บึงนี้มีแม่น้ำตโปทา ซึ่งก็คือแม่น้ำสุรัสวดีไหลผ่านและน้ำในแม่น้ำนี้ร้อนก็เพราะว่า ได้ไหลผ่านระหว่างโลหะกุมภีนิรยะทั้งสอง ซึ่งเป็นที่เกิดของบ่อน้ำพุร้อนในทุกวันนี้

 ในตโปทารามนี้มีวิหารอยู่หลังหนึ่ง ซึ่งพระศาสดาได้เสด็จไปประทับเป็นครั้งคราว และใกล้ๆ กับตโปทารามนี้ ยังมีเงื้อมภูเขาตโปทกันทระ ซึ่งเคยเป็นที่อยู่จำพรรษาของ พระทัพพมัลลบุตร

  ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุก็นิยมมาอาบน้ำร้อนกันที่ตโปทารามนี้ จนพระผู้มีพระภาคเจ้าได้บัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุที่อาบน้ำที่นี่แล้วหนหนึ่ง ให้เว้นไปอีก 15 วัน จึงจะอาบน้ำที่นี่ได้อีก, ถ้าไม่ถึง 15 วัน ไปอาบเข้า ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีเหตุจำเป็นเท่านั้น  การที่ต้องบัญญัติสิกขาบทนี้ก็เพราะว่า เมื่อพระภิกษุพากันไปอาบน้ำนี้แล้ว ชาวบ้านเกรงใจพระภิกษุ จึงไม่กล้าไปอาบน้ำด้วย

ปัจจุบันเขาได้สร้างเป็นที่สำหรับอาบน้ำมี 3 ระดับ ชั้นบนสุดเป็นที่อาบน้ำของวรรณะสูงคือ พราหมณ์, ซึ่งน้ำก็จะไหลต่อไปเป็นที่อาบน้ำของวรรณะแพศย์และศูทร และน้ำที่ถูกอาบมาทั้งสองวรรณะแล้ว ก็จะไหลมายังชั้นสุดท้ายก็เป็นที่อาบน้ำของจัณฑาล ซึ่งคนที่อาบก็อาบไป สำหรับคนที่ซักผ้าก็ซักไปเช่นกั
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท