เพลงทำนองไทยชุด "กากี" (๙)


เพลงกากีเหมือนดอกไม้ 

นอกจากเพลงคนธรรพ์รำพึงที่นำความมาจากเรื่องกากีแล้ว ครูไสล ไกรเลิศยังแต่งเพลง "กากีเหมือนดอกไม้" ไว้อีกเพลงหนึ่ง โดยแต่งร่วมกับครูศักดิ์ เกิดศิริ เพลงกากีเหมือนดอกไม้มิได้บรรยายความเรื่องกากี แต่อุปมาอุปไมยเปรียบเทียบระหว่างดอกไม้กับผู้หญิง คือกากี 

สำหรับทำนองเพลงกากีเหมือนดอกไม้ ครูไสลนำเอาเพลงไทยเดิม "ลีลากระทุ่ม" หรือที่เรียกแบบชาวบ้านว่า "ลิ้นลากระทุ่ม" มาดัดแปลงทำนองเป็นทำนองเพลงกากีเหมือนดอกไม้ 

สำหรับเพลงลีลากระทุ่มนี้ ยังไม่มีข้อมูลว่ายังมีผู้ใดนอกจากครูไสลที่นำทำนองมาดัดแปลงเป็นเพลงไทยสากลอีก ไม่เหมือนกับเพลงดาวทองที่มีผู้นำมาดัดแปลงเป็นเพลงไทยสากลกันตั้ง ๒๐ กว่าเพลง ครูไสลจึงนับเป็นผู้รู้เพลงไทยเดิมอีกท่านหนึ่ง 

ทำนองเพลงลีลากระทุ่มมีความไพเราะน่าฟัง เมื่อนำมาดัดแปลงเป็นทำนองเพลงกากีเหมือนดอกไม้ทำนองจึงมีความไพเราะมาก ประกอบกับเนื้อร้องที่เรียบเรียงโดยครูศักดิ์ เกิดศิริก็มีความสวยงามตามแบบวรรณศิลป์ จึงทำให้เพลงกากีเหมือนดอกไม้เป็นเพลงดังอมตะจนถึงปัจจุบัน 

ผมยังเห็นว่าเพลงกากีเหมือนดอกไม้เป็นเพลงกากีที่ดังที่สุด ด้วยเหตุผล ๒ ข้อคือ

๑. มีนักร้องขับร้องบันทึกเสียงกันมาก ตั้งแต่ชรินทร์ นันทนาคร ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ต่อจากนั้นขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง ชรัมภ์ เทพชัย พรเทพ เทพรัตน์ แจ้ ดนุพล หยาด นภาลัย ฝ่ายลูกทุ่งก็มี รังษี เสรีชัย ยอดรัก สลักใจ เอกชัย ศรีวิชัย

๒. มีเพลงร้องแก้ ถ้าเพลงไม่ดังจริงก็มักไม่มีเพลงร้องแก้ซึ่งแต่งขึ้นในภายหลัง เว้นแต่บางเพลงที่แต่งพร้อมกันมาตั้งแต่ต้น

กากีเหมือนดอกไม้
คำร้อง ศักดิ์ เกิดศิริ ทำนอง ไสล  ไกรเลิศ
ดัดแปลงทำนองไทยเดิม "ลีลากระทุ่ม"

"โอ้มาลีนี้ใครชมเล่น กลีบเจ้าเป็นรอยช้ำ ใครทำให้เจ้าเฉา หรือภุมรา แกล้งมาภิรมย์ชมเจ้า มองแล้วพายิ่งเศร้า เจ้าเคยพริ้มเพรา กลับมาอับเฉาเพราะมือคนชม ใครอยากจะรักใครอยากจะดม ใครอยากจะชมนิยมว่าเด่นดี 

เปรียบกานดาโสภางามผ่อง โอ้รูปทองใจทราม มีนามว่ากากี สวยอรชร กลิ่นขจรหอมดังมาลี กรรมของนางเทวี เจ้างามโสภี แต่ใจบัดสีเพราะมีอารมณ์ ใจอยากจะรักใจอยากจะชม ใจกลับระทมเพราะลมสวาทเอย"


ฟังเพลงกากีเหมือนดอกไม้

http://www.youtube.com/watch?v=7FJNo2bQggE http://www.youtube.com/watch?v=33rD6XmvzKQ


หมายเลขบันทึก: 533683เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2013 15:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 เมษายน 2013 15:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท