เกษตรกรที่สร้างชีวิตมั่นคงด้วยเกษตรอินทรีย์ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


บางครั้งรายได้จำนวนมากอาจไม่ใช่สาระสำคัญ ที่สำคัญคือ ความสามารถในการออมหรือการวางแผนใช้จ่าย

   การได้ทำกิจกรรมร่วมกับเกษตรกรที่ดำเนินกิจกรรมการเกษตรแบบชีววิถีและเกษตรอินทรีย์   ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง   ทำให้ดิฉันได้มีโอกาสเรียนรู้เรืืองราวดี ๆ  เป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตของเกษตรกรหลายคน  พี่ทัศนีย์   ไฮคำ  เป็นเกษตรกรรายหนึ่งท่ีดิฉันรู้สึกชื่นชมในความเพียรพยายาม และการดำเนินชีวิต  ซึ้งแม้เธอจะเป็นเสมือนเพียงคนตัวเล็กท่ีมีเสียงแผ่วเบาในสังคม   แต่สิ่งท่ีเธอกระทำมีพลังมากมายต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของคนในสังคม   จึงอยากแบ่งปันดังนี้คะ

          พี่ทัศนีย์  ไฮคำ   อายุ 48  ปี จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4  อยู่บ้านเลขที่ 25 หมู่ 9 บ้านปง  ต.บ้านกาด  อ.แม่วาง  จ.เชียงใหม่  สามีมีอาชีพรับจ้างทั่วไป มีบุตรชายหญิง 2  คน  บุตรชายจบชั้น ปวส.บุตรสาวกำลังเรียนปริญญาตรี ปีที่ 2 

          เดิมพี่ทัศนีย์  ไฮคำ  มีอาชีพรับจ้างทั่วไป  มีรายได้วันละ  200  บาท  ซึ่งเป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับใช้จ่ายประจำวันแต่ไม่สามารถเหลือเก็บออมได้  ต่อมามีโอกาสได้รู้เรื่องการทำเกษตรปลอดสารพิษจากอาจารย์รังสรรค์  กันธิยะ และรับการอบรมเรื่องการเกษตรชีววิถีจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่  จึงมีความสนใจและเริ่มศึกษาการทำเกษตรปลอดสารพิษ  โดยเริ่มจากทดลองปลูกเพื่อรับประทานในครอบครัว   ซึ่งพบว่า  สามารถลดรายจ่ายและได้รับประทานผักที่ปลอดภัย  ช่วยรักษาสุขภาพ  ประกอบกับตระหนักว่า  ตนเองมีอายุเพิ่มขึ้น  ยังไม่มีบ้านอาศัยเป็นของตนเอง  และลูกกำลังเรียนในระดับสูงขึ้น  ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินมากขึ้น  การออมเงินและการสร้างงานพร้อมกับการรักษาสุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ  ทั้งยังเห็นว่าเพื่อนเกษตรกรหลายคนที่ปลูกพืชปลอดสารพิษสามารถปลดเปลื้องหนี้สิน  มีเงินออม  มีอาชีพดี  มีความสุขกับครอบครัวเพราะการปลูกผักปลอดสารพิษ  อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากเจ้าของที่ดินซึ่งตนเองทำหน้าที่เฝ้าสวนให้ว่า  ให้สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้  และในครั้งที่ทดลองปลูกผักปลอดสารพิษ  ได้นำผักที่ปลูกไปให้เจ้าของที่ดินรับประทาน  ปรากฏว่า  เจ้าของที่ดินแสดงความชื่นชมสนับสนุนให้เข้ารวมกลุ่มผู้ปลูกพืชปลอดสารพิษ  จึงสมัครเข้าร่วมโครงการพืชปลอดสารพิษกลุ่มอาจารย์รังสรรค์  กันธิยะ  และปรับเปลี่ยนอาชีพจากรับจ้างเป็นการปลูกพืชปลอดสารพิษ  ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551

          การปลูกพืชปลอดสารพิษที่ดำเนินการใช้แนวทางการเกษตรระบบชีววิถี คือ  การใช้จุลินทรีย์ชีวภาพ  การเลี้ยงสัตว์ผสมผสานจำพวกหมูแม่พันธุ์  ไก่บ้านสำหรับขายเนื้อ  ไก่ชน  เป็ดสำหรับให้ไข่ไว้กินในครัวเรือน  วัวแม่พันธุ์  และปลูกพืชหมุนเวียนตามฤดูกาล ตามความต้องการตลาดและการควบคุมทางชีวภาพ  อาทิ  ถั่วฝักยาว  ผักบุ้ง  ผักสลัด  แตงกวา  มะเขือเทศ  โหระพา  ตะไคร้  สะระแหน่  ผักชี กล้วยน้ำหว้าสำหรับขาย ใบตองและลูก  ฯลฯ  อนึ่งชนิดและจำนวนผักที่ปลูกจะถูกกำหนดจากกลุ่มผู้ปลูกพืชปลอดภัย 

            ผลจากปลูกพืชปลอดสารพิษทำให้มีเงินออม มีความสุขที่มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น  สุขภาพจิตดีมีความสุขจากการแบ่งปันพืชผักแก่เพื่อนบ้าน  และพบเจอเพื่อนสมาชิกในกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้  ประชุมวางแผนการปลูกผักร่วมกัน  รวมทั้งลูกค้าผู้ซื้อปลอดภัยทุกสัปดาห์ โดยมีโรงพยาบาลสันป่าตอง  จ.เชียงใหม่  เป็นตลาดจำหน่ายประจำทุกวันจันทร์  พุธ  และศุกร์  ระหว่างเวลา  09.30 – 12.00  น  นอกจากนั้นยังภูมิใจที่ตนเองสามารถบอกเล่าความรู้เรื่องการเกษตรชีววิถีให้แก่เพื่อนบ้านที่สนใจ  และมีเพื่อนบ้านบางรายเริ่มปลูกผักสวนครัวตามแนวชีววิถีเพื่อการบริโภคในครัวเรือน  ที่สำคัญ เธอคิดว่า  ได้ทำบุญสร้างกุศล  ด้วยการปลูกผักท่ีปราศจากสารเคมีให้คนได้บริโภคเป้นการสร้างสุขภาพท่ีดีให้แก่คนอื่น

          ปัจจุบัน  พี่ทัศนีย์กับสามี  สามารถออมเงินซื้อท่ีดินแปลงเล็กและปลูกบ้านพักอาศัย  พร้อมเลี้ยงวัว 10 ตัวเป็นเงินออม  เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ปลูกผัก สร้างรายได้เพื่อส่งลูกโตเรียนจบชั้น ปวส. ส่วนคนเล็กกำลังเรียนปริญญาตรี ปีสอง

เรืองรางของพี่ทัศนีย์  ทำให้ดิฉันคิดว่า  บางครั้งรายได้จำนวนมากไม่ใช่สาระสำคัญ  ที่สำคัญคือ  ความสามารถในการออมหรือการวางแผนใช้จ่าย 


หมายเลขบันทึก: 533557เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2013 23:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 เมษายน 2013 23:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท