อ.รังสรรค์ กันธิยะ: จากชีวิตครูสู่ผู้บุกเบิกเกษตรอินทรีย์


          จากการศึกษาเรียนรู้เรื่องเกษตรชีววิถีและเกษตรอินทรีย์   ทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้และร่วมงานกับ  อ.รังสรรค์    กันธิยะ  ผู้พลิกผันชีวิตตนเองจากข่าราชการครู สู่การเป้็นเกษตรกรผู้ปลูกผักอินทรีย์   ด้วยความเชื่ือว่า  อาชีพเกษตรสามารถสร้างความมั่นคงได้  และปราถนาจะปฏิบัติด้วยตนเอง  นับจากระยะเวลากว่าห้าปีที่ร่วมงานกับ อ.รังสรรค์  ดิฉันได้มีโอกาสเรียนรู้้วิธีคิดและการใช้ชีวิตของผู้ท่ีเชื่อในอุดมการณ์และพยายามฟันฝ่าอุปสรรคปัญหา  พร้อมชักนำช่วยเหลือผู้อื่นด้วยจิตเกื้อกูล  จนสามารถสร้างกลุ่มเกษตรอินทรีย์แม่วางได้ประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับในวงกว้าง   จึงอยากแบ่งปันเรืืองราวดังนี้

        อ.รังสรรค์  กันธิยะ  อายุ 58 ปี  อยู่บ้านเลขที่ 22 หมู่ 7 บ้านริมวาง  ตำบลบ้านกาด  อำเภอแม่วาง  จังหวัด

เชียงใหม่  จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการสอนคณิตศาสตร์  มีบุตร  222  คน เดิมประกอบอาชีพรับราชการครู  อยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน  และได้ย้ายมารับราชการที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่  จนกระทั่งในปี พ.ศ.2551 ได้เข้าโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดและกลับมาพักในหมู่บ้านซึ่งเป็นบ้านเกิด  ในระหว่างนี้ได้ลงสมัครรับเลือกเป็นประธานสภา อบต.ตำบลบ้านกาด  อำเภอแม่วาง  จังหวัดเชียงใหม่

       การที่เติบโตมาจากครอบครัวเกษตรกร  จึงมีความรักในงานด้านการเกษตร  ดังนั้นเมื่อครั้งรับราชการครูจึงรับภาระสอนทั้งวิชาคณิตศาสตร์และวิชาเกษตรกรรม  ทำให้มีโอกาสได้รับการศึกษาอบรมดูงานที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร  การได้พบเห็นแบบอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม  ในขณะเดียวกันพบว่า  เกษตรกรจำนวนมากในหมู่บ้านประสบปัญหาหนี้สินจากการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวเพื่อการค้า  และมีปัญหาสุขภาพเพราะการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร  ประกอบกับสภาพสิ่งแวดล้อมชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงและเสื่อมโทรม แหล่งอาหารธรรมชาติมีจำนวนน้อยลงและความปลอดน้อยลง  เยาวชนในหมู่บ้านละทิ้งจากภาคเกษตรสู่ภาคบริการ  ขาดความรู้ด้านการเกษตร หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น ชนิดพันธุ์ต่างๆเริ่มสูญหาย  ทั้งหมดนี้ทำให้คิดอยู่เสมอว่า  หากมีโอกาสจะทุ่มเททำการเกษตรปลอดภัยให้สำเร็จ เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่เกษตรกรในหมู่บ้าน

           ครั้นได้เข้าร่วมโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด  จึงตัดสินใจแสวงหาความรู้ด้านการเกษตรเพิ่มเติมและตัดสินใจทำการเกษตรปลอดภัยแบบชีววิถีในพื้นที่  3 ไร่ โดยจัดแบ่งพื้นที่ 1.5 ไร่ สำหรับทำนาข้าวและ 1.5 ไร่สำหรับปลูกพืชหมุนเวียนประเภทต่างๆ  จำนวนกว่า  20 ชนิด  ผลการดำเนินงานระยะแรกๆ ต้องใช้ความพยายามในการเรียนรู้  โดยการแสวงหาความรู้จากการปฏิบัติ การสังเกตและทดลอง จนค้นพบความรู้หลายด้านเช่น  การผลิตฮอร์โมนพืชหรือปุ๋ยน้ำชีวภาพจากพืชผักเหลือใช้ในครัวเรือน  การใช้ปุ๋ยหมักเพื่อบำรุงดิน  การกำจัดวัชพืชโดยการใช้พลาสติกคลุม ฯลฯ  ทั้งนี้ได้ใช้แรงงานในครัวเรือนร่วมกันทำงาน เพื่อให้ลูกใช้เวลาว่างเรียนรู้การทำงานภาคเกษตรกรรมและสร้างสัมพันธภาพในครัวเรือน 

           นอกจากนั้นต้องอดทนเพราะคุณภาพผลผลิตจะแตกต่างจากการใช้สารเคมี  และมุมมองของเพื่อนเกษตรกรในชุมชน  ต่อมาผลิตดีขึ้นโดยลำดับและสามารถรวมกลุ่มผู้ผลิตผักปลอดสารพิษอำเภอแม่วาง  จำนวนกว่า 20 ครอบครัว  ทำให้ตนเองและสมาชิกกลุ่มมีรายได้ประจำ  จำนวนพื้นที่ 1.5 ไร่ สามารถสร้างรายได้ประมาณ 15,000  บาทต่อเดือน  ซึ่งสมาชิกกลุ่มจะมีการทำบัญชีฟาร์ม  วางแผนการผลิต  การควบคุมคุณภาพผลผลิต การจัดการตลาด และการออมเงิน  ขณะนี้หมู่บ้านริมวางได้รับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง  และเกือบทุกครัวเรือนมีการปลูกพืชผักสวนครัว

           ปัจจุบันแปลงเกษตรปลอดภัยของ อ.รังสรรค์  นอกจากแหล่งรายได้และทำกิจกรรมของครัวเรือน  ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของเพื่อนเกษตรกรทั้งจากภายในและนอกชุมชน  รวมทั้งนักเรียนนักศึกษาสถาบันต่างๆ อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ  วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ให้การสนับสนุนด้านการเกษตรชีววิถี  มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกพืชปลอดภัยภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงให้   อ.รังสรรค์  และกลุ่มผู้ปลูกผักปลอดภัยอำเภอแม่วาง  ศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 13 เชียงใหม่ ได้ส่งเสริมการทำปุ๋ยหมัก และกองทุนปุ๋ย  สำนักงานสาธารณสุขอำเภออำนวยความสะดวกในการตรวจสารพิษตกค้างในพืชผัก  โรงพยาบาลสันป่าตองอำนวยความสะดวกการตรวจสารพิษแก่กลุ่มเกษตรกร  และจัดแบ่งพื้นที่ในโรงพยาบาลเพื่อส่งเสริมการขายพืชผักปลอดภัย 

           เป้าหมายอนาคตของ  อ. รังสรรค์และสมาชิกกลุ่มผู้ปลูกผักปลอดภัยอำเภอแม่วางคือ การพัฒนาสู่การผลิตพืชอินทรีย์  รวมทั้งสร้างเครือข่ายผู้ผลิตพืชปลอดภัยให้มากขึ้น เพราะจากการปฏิบัติของตนและเพื่อนสมาชิกพบว่า  ได้ค้นพบความสุขในชีวิตและครัวเรือน  เพราะการทำเกษตรที่ชักชวนสมาชิกในครัวเรือนทำงานร่วมกันสร้างความรักความเข้าใจ  และเมื่อตนเองประสบความสำเร็จก็ขยายต่อเพื่อนบ้าน  เกิดเป็นการรวยความสุข  รวยความดี และรวยความมีน้ำใจแบ่งปันระหว่างกัน



คำสำคัญ (Tags): #เกษตรอินทรีย์
หมายเลขบันทึก: 533555เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2013 23:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 เมษายน 2013 23:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท