0003 -- สารพัดวิธีการเก็บน้ำใช้ ...ในยามที่น้ำขาดแคลน


เขียนโดย D-PrepPro

ช่วงนี้ มีข่าวแผ่นดินไหว พายุหมุน ภัยแล้ง ดินยุบ พายุสุริยะเข้า รวมทั้งการก่อการร้ายต่างๆ เกิดถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น ไม่เว้นแต่ละวัน ทำให้การเตรียมเสบียงต่างๆของผู้เขียนมีเหตุผลมากขึ้นในการเก็บสต็อคน้ำและอาหาร เอาไว้จะเล่าเหตุผลกันจริงจังในคราวต่อๆไปนะคะ

เอนทรี้นี้ สัญญาว่าจะเขียนเรื่องการเก็บน้ำใช้ (ต่อเนื่องจากคราวก่อน เรื่องการเก็บน้ำดื่ม)

ผู้เขียนว่า น้ำดื่มควรต้องเป็นน้ำที่สะอาดมากกว่าน้ำใช้ วิธีการเก็บน้ำจึงแยกออกเป็น 2 ตอน ในยามเกิดภัยพิบัติ การรักษาความสะอาดส่วนตัว (personal hygiene) เป็นเรื่องสำคัญมากค่ะ ถ้าเจ็บป่วยไปจะหาหมอรักษาได้ที่ไหน (เช่น หากน้ำท่วม จะต้องเดินทางหลายชั่วโมง บางโรงพยาบาลก็โดนน้ำท่วมไปแล้ว ถูกย้ายไปที่อื่น ไม่ต้องคิดว่าจะมีภัยที่หนักหนากว่านี้ ถึงตอนนั้นคงโกลาหลน่าดู) แม้เตรียมสต็อคยาไว้ ก็อาจจะไม่เพียงพอ ผู้เขียนรู้จักผู้ใหญ่ท่านนึงที่แค่ท้องเสีย แล้วเมื่อรุนแรงก็ทานยาธาตุอะไรไปตามเรื่อง ไม่หาหมอ เพราะคิดว่าเดี๋ยวก็หายเอง ปรากฎว่าท้องเสียอยู่สามวันจนร่างกายขาดน้ำ เข้าโรงพยาบาลอยู่ได้อีกสี่วันก็เสียชีวิต ... ก็เก็บไว้เป็นอุทาหรณ์กันค่ะ

ตอนที่แล้ว คนเราต้องการน้ำดื่มวันละ 1.5-2 ลิตร และควรจะเป็นน้ำที่สะอาด ไม่ปนเปื้อน ไม่มีเชื้อโรค  แล้วน้ำใช้หละ... พวกเราต้องการใช้แค่ไหนกัน ???

มีผลวิจัยนึงบอกว่า คนกรุงเทพฯใช้น้ำกันวันละ 200 ลิตร ขณะที่คนจังหวัดอื่นใช้น้ำเพียง 50 ลิตรต่อวัน

โอ้โห แล้วจะเก็บสำรองน้ำกันเท่าไหร่จะพอหละเนี่ย !!!

งั้นมาดูกันว่า กิจกรรมการใช้น้ำของเรามีอะไรบ้าง จะได้ประมาณการณ์ถูก ปกติเราใช้น้ำในการ

1.  ถูบ้าน   ร้อยละ 2

2.  ใช้ในครัวเรือน   ร้อยละ 5

3.  ซักผ้า   ร้อยละ 9

4.  อาบน้ำแปรงฟัน   ร้อยละ 23

5.  สุขาทั้งหนัก-เบา  ร้อยละ 26

6.  ล้างรถ/รดต้นไม้  ร้อยละ 35

โอเค ค่อยเห็นภาพชัดขึ้นหน่อยค่ะ ถ้ายามมีภัยจริงๆ ช่วงแรกๆ เราคงไม่ล้างรถ ไม่รดต้นไม้ ไม่ถูบ้าน ไม่ซักผ้า งั้นก็ตัดข้อ 1,3,6 ออกก่อน เหลือ 2,4,5 รวมเป็น ร้อยละ 54 ถ้าเราประหยัดจริงๆ เราใช้น้ำแค่ 50 ลิตรต่อวันในเวลาปกติ เราก็น่าจะใช้ประมาณ 27 ลิตรเท่านั้นต่อวัน แล้วตอนนั้นเกิดอาการช็อค ก็คงใช้น้ำน้อยลงกว่านี้อีกแน่ๆ งั้นกะไว้ว่า ให้ใช้ 25 ลิตรต่อวันจะได้คำนวณง่ายๆ (เพื่อนบางคนบอกว่า หากประหยัดจริงๆ จะใช้แค่ไม่เกินน้ำขวด 6 ลิตรต่อวัน ...โห ทำได้ยังไงกัน ... สงสัยตัดเรื่องอาบน้ำออกแน่ๆ และทานแต่อาหารกระป๋อง คือไม่ต้องทำกับข้าว จะได้ใช้น้ำได้แค่นั้น โหดจริงๆ)

มาดู 3 วิธีเก็บสำรองน้ำใช้ กันค่ะ

1.เก็บน้ำใส่ตุ่ม – โอ่ง – แท้งค์น้ำ – ถังน้ำ

เดี๋ยวนี้ในกรุงเทพฯและปริมณฑล เราไม่ค่อยได้เห็นตุ่มหรือโอ่งเก็บน้ำกัน ไม่ค่อยมีใครเก็บสำรองน้ำไว้ในบ้าน จะว่าไปก็คือเราประมาทเกินไป หวังพึ่งพาแต่การประปาฯอย่างเดียว หากวันไหนเค้างดจ่ายน้ำ เราก็จะลำบากไม่มีน้ำใช้ มาดูความจุกัน โอ่งแดงลูกใหญ่ สามารถจุน้ำได้ถึง 1 – 1.5 คิว (1,000 – 1,500 ลิตร หรือ 50 – 75 ปี๊บ) ซึ่งสามารถเก็บน้ำให้เราใช้ได้ถึง 40-60 วันต่อคน หรือ 10-15 วันต่อครอบครัว 4 คน

โอ่งมังกร สามารถจุน้ำได้ 0.16 คิว หรือ 160 ลิตร หรือ 8 ปี๊บ ใช้ได้นาน 6 วันต่อคน

แท้งค้น้ำ เดี๋ยวนี้มีหลายขนาดตั้งแต่ 150 – 5,000 ลิตร หรืออาจมากกว่านั้น มีขายตามร้านขายวัสดุก่อสร้าง ก็ลองคำนวณดูค่ะ (ใช้สูตร 25 ลิตรต่อคนต่อวัน) ส่วนวิธีการเลือกถังเก็บน้ำ คือ ตรวจดูว่าไม่รั่วซึม แข็งแรงทนทาน มีอายุการใช้งานนาน สามารถทำลายแบคทีเรียและจุลินทรีย์ได้ (ถ้าเป็นไปได้) มีขนาดและปริมาณที่เหมาะสมกับการใช้งาน และอ่านอ้างอิงด้านล่างค่ะ

ถังน้ำ อันนี้ในกรณีไม่มีพื้นที่หรือต้องการเก็บน้ำสำรองในห้องน้ำ ถังน้ำใบเล็กหน่อยก็ช่วยให้สำรองน้ำไว้ 2-3 วันแล้วค่ะ 

  โอ่งมังกร ยังเห็นใช้มากในต่างจังหวัด

แท้งค์น้ำหลายขนาด หลายรูปแบบ

   ถังน้ำขนาด 20 ลิตร

ถังน้ำพลาสติกขนาดต่างๆ


2. เจาะบ่อบาดาล

ข้อนี้  ชาวกรุงเทพฯมีกฎหมายห้ามเจาะค่ะ ส่วนต่างจังหวัดหลายบ้านก็เจาะไว้สำรองเผื่อไม่มีน้ำทำนาทำสวนกัน ช่วงนี้หน้าแล้ง ตามข่าวก็มีความนิยมขุดบ่อบาดาลกันมากขึ้นค่ะ บ่อบาดาลช่วยให้เรามีน้ำใช้ในปริมาณมหาศาล ไม่ต้องห่วงเรื่องการเก็บน้ำอีกต่อไป

3. กรองใส่ถังน้ำ

น้ำใช้ จะต้องผ่านการกรองเมื่อเราอยากได้ความสะอาดมากขึ้น เดี๋ยวนี้ก็มีระบบกรองน้ำหลายแบบ กรองหลายชั้น หรืออาจจะทำที่กรองเองก็ได้ กรองแล้วก็ใส่ภาชนะเอาไว้ใช้ ในยามที่น้ำขาดแคลนกันค่ะ


วันนี้ หวังว่าจะเป็นไอเดียคร่าวๆในการเก็บน้ำใช้นะคะ

หากเพื่อนๆ มีไอเดียอื่นๆ ก็มาแชร์กันได้เลยค่ะ

D-PrepPro

20-04-13


อ้างอิง

มาทำความรู้จักและเลือกถังเก็บน้ำกันดีกว่า

ถังน้ำแบบสแตนเลสหรือพลาสติก ในระยะยาวแบบไหนดีกว่า

หมายเลขบันทึก: 533378เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2013 08:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 เมษายน 2013 08:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท