ทำนาไม่เป็น


     เมื่อตอนที่เข้ามาทำงานกรุงเทพฯ ครั้งแรกๆ ผมไม่เคยคิดจะกลับไปทำไร่ไถนาที่บ้านอีกเลย แม้ว่าจะเป็นอาชีพเดียวที่ครอบครัวยังคงรักษาเอาไว้อย่างแน่นเหนียว เพราะไม่ชอบมากๆ มีความรู้สึกว่าเหนื่อยลำบาก และไม่เห็นจะทำให้ฐานะที่เป็นอยู่ดีขึ้น เท่าที่ตาเห็นก็ไม่มีอะไรที่เป็นวัตถุที่แสดงถึงความร่ำรวยเพิ่มขึ้นในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น ทีวี ตู้เย็น หรือแม้กระทั่งพัดลม เห็นจะมีก็แต่ “วิทยุยี่ห้อแหลมทอง” ที่ดังบ้างไม่ดังบ้าง หรือบางครั้งก็ไม่ดังเลย เพราะถ่านหมด ก็ต้องอดฟังกันไป

         พูดถึงวิทยุทรานส์ซิสเตอร์ อดที่จะย้อนคิดถึงวันเก่าๆ ไม่ได้ เมื่อยุคสมัย 2520 ผมกับเพื่อนๆ ติด นิทานของ“คณะเก้าสิบเก้าการละคร” กันงอมแงม ต้องฟังกันให้ได้ ปักเบ็ดกลางทุ่งอยู่ก็ต้องพากันรีบทำเวลา เพราะหลังเพลงชาติไทยจบตอนหกโมงเย็น จะมีการเล่าข่าวก่อน พอข่าวจบก็จะพบกับ “นิทานชาวบ้านสำราญม่วนชื่น” ฟังคนเดียวไม่สนุกหรอกครับ ต้องฟังเป็นกลุ่ม วิทยุที่เสียงดังฟังชัดที่สุดก็ต้องบ้าน “น้าตุ่ม” เพราะเป็นยี่ห้อ “ธานินทร์” ทุกคนจะวิ่งไปรวมกันที่บ้านน้าตุ่ม จองที่นั่งกันตรงชานบ้านของแกนั่นแหละ เสียงแย่งพื้นที่เพื่อเข้าใกล้วิทยุกันเจี้ยวจ้าวไปหมด จนบางครั้งเจ้าของบ้านต้องขู่จะปิดถึงได้เงียบ แต่ก็ยังมีจ็อบแจ็บเหน็บแนมกันตามประสา ว่าใครเสียงดังก่อน จนกระทั่ง “นิทานชาวบ้านสำราญม่วนชื่น”มา เสียงเหล่านั้นก็จะเงียบหายเป็นปลิดทิ้ง ทุกคนต่างตั้งใจฟังในการเล่านิทาน สนุก เพลิดเพลินดีและมีคติสอนใจด้วยครับ พอนิทานจบจะมีบอกไว้ ว่าสอนอะไรยังไง

         ผมเคยนำนิทานที่ได้ฟังจากรายการนี้ไปเล่นรอบกองไฟในวันที่เข้าค่ายลูกเสือและยุวกาชาด  “หมู่ลิง” ของเราเล่นเรื่อง “ผู้วิเศษณ์” ครับ เนื้อหาประมาณว่า มีนักบวชมาตั้งตนเป็นผู้รู้ผู้เห็นออกแนวหลอกลวงชาวบ้านให้ลุ่มหลงว่าตนเป็นผู้วิเศษณ์เพื่อจะได้มีคนมาขอโน่นขอนี่เพื่อแลกกับทรัพย์สิน สุดท้ายก็ได้รับผลกรรมตามทันอะไรประมาณนี้ ผมจำเนื้อหาไม่ได้แล้ว การเล่นวันนั้นคงซ้อมกันน้อยกระมัง เราจึงได้รับคำเยล (YELL) จากยุวฯ ว่า “ไม่คือเลย” ถึงสามครั้ง ก็ขำกันไปครับ

         กลับมาเรื่องทำนากันต่อครับ ผมว่าพ่อกับแม่ก็คงจะไม่อยากให้ผมทำนาเหมือนที่ผมคิดนี่แหละ เพราะแกก็ไม่พยายามจะถ่ายทอดความสามารถให้ผมสักเท่าไหร่ อาจจะให้จับให้สัมผัสบ้างเพื่อให้รับรู้ถึงรสชาติแต่ก็ไม่มากพอที่จะสั่งสมจนเป็นประสบการณ์ได้ ผมจึงเป็นคนที่ทำนาไม่เป็นเลย ช่วงหนึ่งเคยกลับไปอยู่บ้านตอนรอไปทหารเกณฑ์ผลัดสอง กะจะแบ่งเบาภาระงานของสองตายาย วันแรกตื่นพร้อมพ่อเลยครับ “ตีสี่” (อันนี้พ่อบอกคงฟังจากเสียงไก่ขัน) ผมแบกไถ พ่อต้อนฝูงควาย ผมขอเป็นคนไถนาเองในวันนั้น สายโด่งงานไถของผมก็ยังไม่เสร็จสักที จนแม่หาบข้าวมาส่งแล้วก็ยังไม่เสร็จ หิวข้าวจนตาลายครับ เลยขอพักกินข้าวก่อน

         ที่ช้าพ่อบอกว่าไม่ยอมนาบควายเลย และเชือกต้องสะบัดไปด้วยปากต้อง “ฮือๆๆ ฮองๆๆ” เพื่อใ ห้ควายเดินให้เร็วขึ้น ผมบอกว่า “ก็ผมสงสารอีสาวมัน” (ชื่อควายครับ) ดูมันกระเส่าน้ำลายไหลเยิ้มจะบังคับมากๆ สงสารอย่างบอกไม่ถูกจริงๆครับ พ่อกับแม่ก็ได้แต่ยิ้มน้อยๆ กัน สุดท้ายงานนางานนี้ก็จบลงด้วยมือพ่อ ส่วนผมหลังกินข้าวเช้าเสร็จก็ลงไปตกกล้ากับแม่ เพื่อรอพ่อคาดปรับหน้าดิน ก่อนลงมือดำนากัน

        ผมดำนาปักไม่กี่ที่ก็ยืนเพราะปวดหลัง เห็นแม่กับพ่อนานที่ถึงได้ยืดตัวขึ้นสักครั้ง เหมือนไม่ปวดไม่เมื่อย ใจผมรอฟังแต่เสียงระฆังวัด และแหงนหน้าดูตะวันว่าเมื่อไหร่จะตรงหัวสักที อันเป็นสัญญาณว่าเวลาพักกินข้าวมาถึงแล้ว เหนื่อยครับ นี่ดำนาเสร็จแล้วก็ใช่ว่าจะเห็นผลอะไรนะครับ ยังมีปัจจัยใหญ่ที่ธรรมชาติต้องกำหนดให้อีก ฟ้าฝนล่ะเป็นไง การกักเก็บและปล่อยน้ำ กระทั่งใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มคุณภาพของผลผลิต ตอนข้าวออกรวงชาวนาจึงจะเปิดรอยยิ้มบางๆ พอถึงตอนเกี่ยวข้าวก็เป็นช่วงหน้าหนาว จะยืดหดร่างกายก็เจ็บปวดไปหมด แต่ดูจะมีความสุขกว่าตอนดำนานะผมว่า

        พ่อกับแม่ดูจะมีความสุขกับกองข้าวเปลือกจากน้ำพักน้ำแรงของท่าน เป็นความสุขที่ผมคิดว่าปีหนึ่งจะมีกันครั้งหนึ่ง ข้าวที่ได้จะถูกแบ่งขายในยามจำเป็นเท่านั้นนะครับสำหรับครอบครัวผม เช่นเปลี่ยนสังกะสีบ้าน ลูกขอเงิน(ฮา) ถึงจะขาย ไม่มีอะไรเดือดร้อนก็เก็บไว้กินได้ตลอดปี พี่น้องมาเยี่ยมเยือนก็ให้เป็นของฝากของต้อน และยังสามารถแลกของได้นะครับ เช่นจำพวกของใช้ของกิน พริก ปลาร้า แตงโม ผ้าไหม หรือกระทั่งความบันเทิงอย่างหมอลำ

         คุณค่าของข้าวผมยอมรับครับว่าทำให้ชาวนาหายเหนื่อยได้จากผลิตผลที่ได้รับ(ในบางครั้ง)  แต่ผมว่าสมัยนั้นมูลค่าที่ได้รับกับแรงกายที่ได้ลงไปมันเพียงแค่สมดุล หรือขาดทุนเท่านั้น หากคิดในแง่ของธุรกิจก็คือไม่มีกำไร ปัจจุบันผมจึงต้องมาทำงานรับใช้นักธุรกิจนั่งมองกิจการของเขาใหญ่โตก้าวหน้า มียอดขายทะลุเป้าทุกเดือน และก็นั่งรอคอยนับวันฝันว่าจะมีเศษเสี้ยวล่วงหล่นลงมากองเพิ่มในเงินเดือนของเราบ้าง

          ส่วนที่นาภรรยาผมเป็นผู้ดำเนินกิจการอยู่บ้าน แน่นอนครับไม่ต้องใช้ “ควายอีสาว” ไม่ต้องหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินอีกแล้ว แต่ต้องพึ่งธรรมชาติอยู่ดี อีกอย่างที่ต้องพึ่งแต่พึ่งไม่ค่อยจะได้ก็คือ ราคาข้าวที่ไม่เคยจะพิจารณาถึงต้นทุนการผลิต ชีวิตชาวนาจะอยู่ได้นานแค่ไหนอันนี้น่าเป็นห่วง

           แต่สักวันผมต้องกลับไปครับ กลับไปทำนาที่ผมทำไม่เป็น เพราะตอนนี้ผมรู้สึกได้ว่า ผมอยากมีชีวิตเหมือนพ่อกับแม่ผม ทำเพื่ออยู่และมีความสุขกับการได้ทำ ผมเป็นลูกคนเดียวของพ่อกับแม่ ที่เขาเรียกว่า “ลูกโทน” ตอนนี้พ่อไม่อยู่แล้ว แม่ไม่อยู่แล้ว ก็กะว่าจะลองดูสักตั้ง น่าจะทำได้ เพราะไม่มี “อีสาว” ให้สงสารอีกแล้ว แต่มีที่ปรึกษาประสบการณ์สูงอย่างภรรยาผมมาแทน อันนี้ผมไม่ได้เปรียบเทียบกับอีสาวนะครับ (ฮา)

คำสำคัญ (Tags): #สงสารอีสาว
หมายเลขบันทึก: 533014เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2013 13:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2013 10:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท