เลี้ยงลูกอย่างไรให้ไป..... โอลิมปิกวิชาการ


โอลิมปิกวิชาการ

            

                     เส้นทางโอลิมปิกวิชาการ สอวน. ค่ายคอมพิวเตอร์ จะมีทั้งหมด 3 ค่าย โดยค่ายแรกนักเรียนทั่วประเทศที่กำลังศึกษาระดับชั้น ม.2-5 มีสิทธิ์สมัครสอบ ค่าสมัครคนละ 50 บาท วิชาที่เปิดสอบแล้วแต่ความชอบของเด็กประกอบไปด้วย ค่ายคณิตศาสตร์ ,ค่ายวิทยาศาสตร์,ฟิสิกส์,ชีวะ,เคมี,และค่ายคอมพิวเตอร์ เด็กนักเรียนทั่วประเทศเป็นแสน ๆ คนสอบแข่งขันกัน คัดเลือกเอาแค่ 45 คนไปเข้าค่าย 1 เป็นเวลา 1 เดือน ทั้งประเทศจะมีประมาณ 6 ศูนย์กระจายตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ

               ค่าย 1 จากเด็ก 45 คน ที่ผ่านกันเข้าค่ายประมาณ 1 เดือน (กิน นอน สอน ฟรีทุกอย่างค่ะ)ที่มีแต่ระดับ ดร.อาจารย์ประจำมหาลัยมาสอนการเขียนโปรแกรมขั้นสูงให้กับเด็ก ๆ ในค่ายและจะสอบคัดเลือกเหลือเด็กแค่ 25 คนเพื่อเข้าค่ายสอง 

              ค่าย 2 จากเด็กที่เหลือแค่ 25 คน เข้าค่ายผ่านไปอีก 1 เดือน สอบคัดเลือกเหลือเด็ก 6 คน เพื่อเป็นตัวแทนศูนย์ สอวน. ค่ายโอลิมปิกวิชาการ ซึ่งเด็ก ๆ จะเรียกว่า ค่าย 3

              ค่าย 3  เด็กจากทั่วประเทศแสนกว่าคน เหลือแค่ 6 คนจากแต่ละศูนย์ อาจารย์จะติวเข้มประมาณ 2-5 สัปดาห์เพื่อเป็นตัวแทนศูนย์ ไปแข่งขันระดับชาติ มีเด็กจากศูนย์ประจำภูมิภาคต่าง ๆ ราว ๆ 6 ศูนย์มาแข่งขันกันค่ะ

              หากเด็กชนะเลิศเหรียญทองระดับชาติ จะได้เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับโลก   ซึ่งจะหมุมเวียนกันเป็นเจ้าภาพในแต่ละประเทศทั่วโลกค่ะ 

              ...........ปัจจุบันน้องนนท์มาถึง ค่าย 3 กำลังเตรียมตัวเข้ารับการติวเข้มจากอาจารย์ที่เป็นสุดยอดทางด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในประเทศ เพื่อเฟ้นหาตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันระดับโลก...........

               เส้นทางของลูกชาย นายนลธวัช หนูมอ นักเรียนชั้น ม.5/1 โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จ.อุดรธานี เป็นตัวแทนศูนย์ สอวน. ค่ายโอลิมปิกวิชาการ คอมพิวเตอร์ มหาวิทลัยขอนแก่น ไปแข่งขันการเขียนโปรแกรมระดับชาติ เกรดเฉลี่ย 3.51  และนางสาวนิตย์รดี  หนูมอ อดีตศิษย์เก่าโรงเรียนสตรีราชินูทิศ ห้อง 1 ติดโควต้า สถาปัตย์ มข. ปัจจุบันเรียนชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตย์กรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เกรดเฉลี่ย 3.34

               เมื่อตอนมีลูกสาวคนแรกเกิดผู้เขียนค่อนข้างจะเคี่ยวเข็นเรื่องการเรียนและปลูกฝังการเรียนให้กับลูกคนนี้มากเป็นพิเศษ แต่เป็นลักษณะที่มาจากการทุ่มเทของคนเป็นพ่อแม่ ไม่ได้ฝากความหวังไว้ที่โรงเรียนสอนพิเศษ หรือโรงเรียนประจำที่เด็กเรียนอยู่ เพราะมีมุมมองว่า ครูคนหนึ่งรับผิดชอบเด็กตั้ง 50-60 คน ต่อห้อง คุณครูอาจจะดูแลไม่ทั่วถึง คนเป็นพ่อเป็นแม่ควรเป็นครูทั้งจิตและวิญญานเพื่อลูกน้อยสองคน

               เมื่อมีลูกชายคนที่สอง คือ น้องนนท์ ภาระการเลี้ยงดูลูกคนเล็กกลับตกหนักอยู่ที่พี่สาวคนโตของเขา ที่ทำหน้าที่ทั้งเป็น แม่ เป็น ครู ให้กับน้อง อาบน้ำ ป้อนข้าว แต่งตัว พาน้องไปโรงเรียนและสอนการบ้านให้น้อง หลายคนอาจมองว่า ผู้เขียนเป็นแม่ที่ขี้เกียจ แต่มีเหตุผลส่วนตัวค่ะ

               การที่ปล่อยให้พี่สาวซึ่งเรียนอยู่แค่ ป.4 รับผิดชอบชีวิตน้องชายขนาดนั้น เพราะจะเป็นการปลูกฝังสายสัมพันธ์ลูกทั้งสองให้แน่นเฟ้น พ่อแม่ไม่ได้อยู่กับลูกทั้งสองไปจนตาย เรามีกันแค่สองคนต้องดูแลกันแทนพ่อแม่ ฝึกให้ลูกสาวได้รู้จักงานบ้าน งานเรือน เลี้ยงน้อง วันหนึ่งเติบใหญ่มีครอบครัวจะได้รู้วิธีเลี้ยงลูก ต้องเลี้ยงแบบไหน ไม่ใช่โยนให้ เนอร์เชอรี ไปหมด 

                ที่ปล่อยให้คนพี่ซึ่งเรียนแค่ ป.4 สอนการบ้านน้อง แทนที่จะส่งลูกทั้งสองไปเรียนพิเศษ เพราะคนพี่จะได้ทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา (กระบวนการย้ำคิด ย้ำทำ) พี่น้องจะได้ใกล้ชิดกัน คนน้องจะเกรงกลัวบารมีคนพี่ที่สั่งสอนน้องมาตั้งแต่เล็ก ๆ และที่สำคัญ ..............ประหยัดตังค์ค่าเรียนพิเศษทั้งสองคนมากโขทีเดียวค่ะ


                วันหยุดเสาร์ อาทิตย์ ผู้เขียนชอบเอาลูก ๆ ไปปล่อยทิ้งไว้ตามร้านขายหนังสือ ให้เขาทั้งสองนอนเกลือกกลิ้งตามร่องทางเดินชั้นหนังสือ ประเดี๋ยวหนังสือจะตำตาแล้วเขาจะหยิบมาอ่านเอง และหากเป็นการซื้อหนังสือผู้เขียนจะไม่อั้น ให้เอาใบเสร็จมาเบิกกับแม่ได้ทุกบาททุกสตางค์ สงสัยใช่ไหมค่ะว่า ทำไมไม่จ่ายให้ลูกเลย เพราะนั่นเป็นวิธีการสอนให้ลูกรู้ว่า คุณจ่ายเงินค่าอะไรไปต้องมีใบเสร็จ เพราะทางร้านจะได้เสียภาษีเข้ารัฐ และสอนวิธีการบริหารเงินให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก ๆ แต่ถ้าของอย่างอื่น  "วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง"

               เมื่อตอนน้องนนท์อายุ 4 ขวบ เขาอยากได้รถแม๊คโครตักดินคันละ 800 บาท สมัยเมื่อสิบกว่าปีแพงมาก ๆ สำหรับคนเป็นแม่ จึงบอกลูกไปว่า "เอาสิครับ วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง" ลูกหายเงียบไป 3 เดือน เดินหอบผ้าเช็คขึ้มูกมาหาแม่ ถามว่า

                  น้องนนท์...................แม่ครับครึ่งหนึ่งของ 800 ใช่ 400 ไหมครับ  (ลูกอายุ 4 ปีเศษ)

                  แม่............................ครับ

                  น้องนนท์   ...............นนท์เก็บตังค์ได้ 400 บาทแล้วครับ แม่พานนท์ไปซื้อรถแม๊คโครคันนั้นหน่อยครับ

                 แม่.............................เหงื่อแตกท่วมหน้า แต่เป็นคนพูดมีสัจจะ ยังไม่วายใช้เล่ห์เหลี่ยมกับลูกแล้วพูดไปว่า............ถ้านับแล้วไม่ครบ ขาดหรือเกิน 400 บาท แม่ไม่ซื้อให้น่ะครับ

               นนท์...........................ครับ  เสียงขานรับแข็งขัน

               สองคนแม่ลูก ช่วยกันนับเงินมีทั้ง เหรียญสลึง เหรียญบาท เหรียญห้า เหรียญสิบ ที่ลูกเก็บสะสมมาตลอด 3 เดือนเต็ม ครบ 400 บาท พอดี คนเป็นแม่จำใจต้องพาลูกไปซื้อรถแม๊คโครคันละ 800 บาทให้ลูกเล่น ทุกวันนี้ลูกทั้งสองคน จะเป็นเด็กที่ไม่ฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายอะไรเขาจะคิดแล้วคิดอีก มีการวางแผนบริหารการเงินอยู่ตลอดเวลา

               จุดเริ่มต้นความสนใจคอมพิวเตอร์ของน้องนนท์ เริ่มตอนอยู่ ป.2 บ้านผู้เขียนเป็นบ้านหลังแรกในซอยที่ติดตั้งระบบ Internet และผู้เขียนเป็นครูคนแรกสอนให้ลูกใช้คอมพิวเตอร์ น้องนนท์ดูตื่นตาตื่นใจกับเจ้าตู้สี่เหลี่ยมนี้เป็นอย่างมากว่า ทำไมมันมีอะไรให้ดูเยอะแยะ ถามคุณกรู (google) รู้หมด ต่อมาเขาเริ่มมีคำถามแปลก ๆ ว่า คนที่ทำงานบน Internet มีรายได้อย่างไร มีเงินเดือนมาจากไหน ผู้เขียนค่อย ๆ อธิบายให้ลูกซึมซับไปเรื่อย ๆ จากจุดนี้น้องนนท์เริ่มมีพัฒนาการและสร้างเครือข่ายเล็ก ๆ ของตนเองแล้ว

                ตอนลูกเรียน ม.1 น้องนนท์เดินมาบอกให้แม่ซื้อหนังสือให้เล่มหนึ่ง ผู้เขียนใจป้ำมาก เอาซิลูก เท่าไหร่ เอาตังค์ไปซื้อเลย แต่ลูกปฏิเสธ บอกว่าให้แม่พาไปซื้อ ปรากฏว่าหนังสือเล่มนั้น ราคา 1,300 บาท ผู้เขียนหงายเงิบเลย โฮ้...........หนังสือราคาพันกว่าบาท เด็ก ม.1 อยากได้เนี่ยน่ะ แถมเป็นภาษาอังกฤษทั้งเล่ม แม่จึงย้ำถามกลับไปว่า มันเป็นภาษาเขียนโปรแกรมน่ะลูก และทั้งเล่มเป็นภาษาอังกฤษ น่ะ น้องจะอ่านรู้เรื่องเหรอ ลูกตอบว่า

                นนท์ยืนอ่านมาสองวันแล้วครับ นนท์อยากได้ นนท์อยากหัดเขียนโปรแกรม นนท์อยากเป็นเหมือน บินส์ เก็ตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟต์........ (ป้าดดดดดดดดดดด) ปรากฏว่าลูกอ่านหนังสือและโน๊ตใส่เล่มนั้นจนหนังสือพองเป็นสองเท่าตัวและยังเก็บหนังสือเล่มนั้นไว้เท่าทุกวันนี้

                 สิ่งที่ลูกเป็นอยู่ทุกวันนี้ ลูกไม่เคยเข้าคอร์สเรียนพิเศษการเขียนโปรแกรมจากโรงเรียนใด ๆ ทั้งสิ้นเป็นการเรียนรู้ ไข่วคว้าด้วยตัวของเขาเอง ทั้งจากระบบเครือข่ายรุ่นพี่ที่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันมาก่อนแต่สนใจด้านการเขียนโปรแกรม ที่คอยชี้แนะให้น้องนนท์ ไม่ว่ารุ่นพี่จากลาดกระบัง จุฬา ธรรมศาสตร์ บางคนอยู่ไกลถึงสุราษฎร์ธานี ก็มี

                เส้นทางมุ่งสู่โอลิมปิกระดับโลกของลูก ใช้เวลาทุ่มเทตลอด 3 ปีเต็ม ไม่นับรวมกับการค้นพบความชอบในการเขียนโปรแกรมของน้องนนท์........หัวอกคนเป็นแม่ได้เป็นแค่แรงใจให้ลูกล่าฝันที่จะไปโอลิมปิกโลก

                ขอแรงใจ 1 Like เชียร์ นายนลธวัช  หนูมอ นักเรียนชั้น ม.5/1 โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันเขียนโปรแกรมระดับโลก ด้วยน่ะค่ะ

                                                                         จากใจคุณแม่น้องนนท์

                                                                            นิภารัตน์  วงษ์วิชา

                                                                นักวิชาการศึกษา สพป.อุดรธานี เขต 3

                                                                               12 เมษายน 2556


     


หมายเลขบันทึก: 532764เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2013 10:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2013 12:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

  • เป็นกำลังใจให้น้องนนท์ และทุกคนในครอบครัวด้วยนะครับ
  • ดีใจที่เจอคนบ้านเดียวกันครับ


ขอบพระคุณท่าน ทิมดาบ มากค่ะ ดีใจที่เจอคนภูเขียว ด้วยกันค่ะ บ้านเดิมอยู่ติดกับบ้าน โกวิท วัฒนกุล เป็นโรงโม่งก๋วยเต๊๋ยว บ้านโกวิท เป็นเขียงขายหมู อยู่แถว ๆ หน้าตลาดเช้าน่ะค่ะ


...ขอชื่นชม...และปลื้มใจด้วยนะคะที่มีลูกเป็นเด็กดีน่ารักและยังเรียนเก่งอีก...Perfect ค่ะ

ดร.พจนา แย้มนัยนา

          ใช้สัญชาตญานของความเป็นแม่ในการเลี้ยงดูค่ะ ก็ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท