ขยายหลักสูตรปราชญ์ชุมชน ที่โรงเรียนบ้านโสกยาง


เมื่อเร็วๆนี้ “กระจายสุข”เคยนำเสนอหลักสูตร “โรงเรียนชุมชนชาวนา” ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดกิจกรรมเพื่อเด็กด้อยโอกาส ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดพื้นที่ให้

กิจกรรมทั้งหมดเน้นสร้างกระบวนการให้เด็กโรงเรียนบ้านโสกยาง ต.หนองแสง จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นตัวอย่างของโรงเรียนที่ไกลเมืองแต่มีศักยภาพ โดยเด็กเหล่านี้ได้เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนที่อาจหลงลืมไปตามกาลเวลา เช่น ทำการเกษตร วงมโหรี การย้อมผ้า ดนตรีไทย ช่างไม้หรืออบรมทักษะชีวิต ตามแต่ลักษณะเน้นของชุมชน ภายใต้หลักสูตรโรงเรียนชุมชนบ้านปลาบู่ สมาคมไทบ้าน ซึ่งจะให้ความรู้และการทำกิจกรรมจะเสริมทักษะนอกเหนือจากห้องเรียน

ถัดจากครั้งนั้นไม่นาน เรามีโอกาสคุยกับ “ธีรดา นามให” ผู้จัดการโครงการฯ และเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการร่วมผลักดันพัฒนาศักยภาพเยาวชนเข้ากับวิถีชุมชนมาตลอดอีกครั้ง “เธอ”ให้กำลังใจกับทุกฝ่ายที่ทำงานพร้อมกับตัวเองว่า ภายหลังจากที่มีการเผยแพร่ข่าวออกไปทั้งทางสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ได้มีหลายโรงเรียนใน จ.มหาสารคาม แสดงความสนใจในหลักสูตรชุมชนชาวนาและอยากให้ไปบรรยายที่โรงเรียน

 

ขณะเดียวกันในเชิงรุกแนวคิดที่เธอต้องการสื่อสารเข้าไปในระบบโรงเรียนดูเหมือนจะง่ายขึ้น เมื่อหลายคนเริ่มรู้จักเธอผ่านทางหน้าสื่อมาบ้างแล้ว การบ้านในเรื่องของการแนะนำตัวเองให้กับผู้ที่ไม่รู้จักจึงง่ายกว่าเดิม “นั่นจะเป็นกำลังใจ และช่วยเบิกทางให้เรามีพื้นที่ทำงานมากขึ้น กว้างไกลขึ้น”เธอว่า  

อีกมุมหนึ่ง เวลาเดียวกันนี้ที่โรงเรียนบ้านโสกยางกำลังมีความเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน ครู "พิชิต มะหัด" ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวว่า หลังทำกิจกรรมเมื่อความพึงพอใจและประสิทธิภาพการเรียนรู้ของนักเรียนดีขึ้น โรงเรียนกำลังพิจารณาเพิ่มเติมหลักสูตร “โรงเรียนชุมชนชาวนา” ให้มากยิ่งขึ้น

เริ่มจากเดิมที่ใช้เวลาช่วยบ่ายวันพฤหัส บ่มเพาะนักเรียนเฉพาะชั้น ป.4-6 ให้เรียนรู้วิถีชุมชน ในเทอมการศึกษาหน้าจะขยายให้ทั่วทั้งโรงเรียน ในทุกระดับตั้งแต่ ป.1-6 จะผลัดเปลี่ยนให้ปราชญ์ชุมชนเข้ามาสอนวิถีความรู้ดั้งเดิมที่จะเป็นประโยชน์กับนักเรียน สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ เช่น งานหัตถกรรม ทำผ้ามัดย้อม ทำของเล่น ฯลฯ ซึ่งจะใช้เป็นอาชีพเสริม หรือกลายเป็นอาชีพหลักหากวันใดนักเรียนประสบปัญหาเศรษฐกิจจนตัดสินใจไม่เข้าเรียนในระบบต่อ

ที่หมายมั่นปั้นมือเป็นอย่างมากคือโครงการ “เกษตรน้อย ในโรงเรียนเล็ก” ซึ่งจะเน้นการทำเกษตรอินทรีย์แบบทำจริง-กินจริง-ขายจริง ให้นักเรียนได้เข้าใจในสิ่งที่ลงมือทำอย่างรอบด้าน “เด็กบางคน เขาก็ช่วยพ่อแม่ปลูกผักขายอยู่แล้ว ทำเป็นอาชีพหลัก เราจะพัฒนาให้ดีขึ้น ยกชีวิตจริงมาในโรงเรียน ใช้พื้นที่ในโรงเรียนเพาะปลูก ขณะนี้ได้แบ่งออกเป็นกลุ่ม เช่นกลุ่มที่ศึกษาพันธุ์พืช ดิน น้ำ ศึกษาตลาด จะใช้หลักวิทยาศาสตร์ที่เรียนมาเข้ากับประสบการณ์จริง ผลัดเวรกันดูแลรักษา ทำเป็นระบบ ผมเชื่อว่าเมื่อมีการลงมือทำนอกจากการปลูกผักแล้วมันยังเชื่อมโยงเข้ากับวิชาอื่นๆได้ด้วย ทั้ง คณิตศาสตร์ สังคม ฝึกทักษะชีวิตให้เด็กมีประสบการณ์จริง”ผ.อ.พิชิต บอก

“คิดว่าทุกอย่างจะลงตัวก่อนเด็กเปิดเทอม หลักสูตรโรงเรียนชาวนาจะเป็นหนึ่งในวิชาของเด็กทุกระดับในโรงเรียน ควบคู่ไปกับวิชาการที่โรงเรียนมีอยู่เดิม” “เด็กนักเรียนเดินไปหาความรู้จริงกับปราชญ์ชุมชน ขณะที่ผู้มีความรู้เองก็ต้องรักษา และเอื้อเฟื้อความรู้ให้กับเด็ก” ครูพิชิตบอกเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง

ความเคลื่อนไหวของหลักสูตรโรงเรียนชุมชนชาวนาหนนี้ จึงไม่ใช่แค่กิจกรรมสำหรับผู้อยู่ห่างไกลความเจริญแบบที่ใครๆนิยามว่าเด็กด้อยโอกาสอีกต่อไป มันคือเรื่องสำคัญเรื่องใหญ่ ที่ใครคิดได้ คิดก่อน และลงมือทำโดยทันที


หมายเลขบันทึก: 531745เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2013 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2013 10:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีใจแทนเด็กๆ จริงๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท