หอศิลป์ชุมชน แหล่งเรียนรู้ที่ศิลปินคืนความรู้สู่มาตุภูมิ





หอศิลป์ชุมชน : แหล่งเรียนรู้ที่ศิลปินคืนความรู้สู่มาตุภูมิ

แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน ทวีความสำคัญขึ้น เมื่อกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายสนับสนุนการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน ตามจุดเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเปิดโลกทัศน์การเรียนรู้กับสังคมยุคใหม่ สอดคล้องกับการเรียนรู้ตามวิถีประชาธิปไตย ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การเรียนรู้จากการเผชิญสถานการณ์จริง หรือจากประสบการณ์ตรง ย่อมเกิดคุณค่าต่อการเรียนรู้  ทั้งนี้กำหนดให้โรงเรียนจัดกิจกรรมนอกห้องเรียนในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ จึงมีข้อสังเกตว่า ในเดือนที่ปลอดฝน สถานที่ท่องเที่ยว โบราณสถาน หลายแหล่ง มีนักเรียนไปทัศนศึกษากันอย่างเนืองแน่น  

“หอศิลป์” เป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปะทางเลือกหนึ่ง ที่หลายโรงเรียนนำเด็กๆไปทัศนศึกษา ในบรรดาหอศิลป์ที่ใหญ่และมีชื่อเสียง มีการประชาสัมพันธ์ทางเว็บไซต์ มีไม่น้อยกว่า ๓๐ แห่งทั่วประเทศ เฉพาะที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครก็มีไม่น้อยกว่า ๖ แห่ง บางแห่งมีการหมุนเวียนจัดนิทรรศการผลงานศิลปะทั้งของศิลปินไทยและต่างประเทศตลอดปี อย่างไรก็ตาม “หอศิลป์” ส่วนใหญ่ยังเน้นการจัดแสดงผลงานศิลปิน ( Arts Gallery )และดำเนินการในเชิงธุรกิจท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ใหญ่หรือผู้สนใจงานศิลปะมากกว่าเป็นหอศิลป์สำหรับเด็ก

อีกทางหนึ่ง แหล่งเรียนรู้ที่เป็น “หอศิลป์” สำหรับเด็กมีผลงานศิลปะของเด็กจัดแสดงจริงๆ ก็คือ หอศิลป์ของโรงเรียนที่มีชื่อเสียงทางศิลปะ ซึ่งบางแห่งยังให้บริการจัดอบรมการสอนศิลปะอีกด้วย แต่แม้จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีมีคุณค่า  แต่ “หอศิลป์” มักเป็นเป้าหมายรองในการจัดทัศนศึกษานอกโรงเรียน จากการให้น้ำหนักคุณค่าในแหล่งเรียนรู้ทางศิลปะสำหรับเด็กน้อยกว่าแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ ที่แปลกตา สะดุดใจ หรือได้พักผ่อนหย่อนใจควบด้วย นั่นเอง

  ยังมี “หอศิลป์” อีกประเภทหนึ่ง ที่ศิลปินเจ้าของหอศิลป์ตั้งขึ้นมาเพื่อบริการสาธารณะด้วยจิตอันเป็นกุศล ให้เด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้มีใจรักในศิลปะ และขาดโอกาสที่จะเรียนรู้ศิลปะในระบบโรงเรียน ด้วยเหตุผลต่างๆกัน ได้เข้ามาเรียนรู้ฝึกฝนตนเอง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย  จึงจัดเป็นประเภทหอศิลป์แหล่งเรียนรู้ชุมชน

   กรณีตัวอย่าง  หอศิลป์ “คลังจัตุรัส” แหล่งเรียนรู้ชุมชน

อาจารย์สมาน  คลังจัตุรัส ครูศิลปินอิสระ ประธานกลุ่มศิลปินอิสระ ‘๙๖ ผู้ใช้นามสกุลเป็นชื่อหอศิลป์ แห่งนี้ ได้รวบรวมรายได้จากปลายพู่กันเนรมิตสวนริมน้ำ ๖ ไร่ ชานเมืองชัยภูมิ ให้เป็นอุทยานที่ประกอบด้วยหอศิลป์ ห้องสมุดศิลป์ เรือนรับรอง เรือนสัมมนา เสมือนเป็นห้องเรียนธรรมชาติที่สวยงาม ร่มรื่น  ตั้งใจให้เป็นสถานที่ พักผ่อนและใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนอันเป็นบ้านเกิดของตนเอง  สำหรับเด็กเยาวชน ผู้สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ศิลปะ โดยไม่เสียค่าใช่จ่าย การตั้งเป้าหมายเพื่อสาธารณะ เท่ากับศิลปินอิสระผู้นี้ได้ประกาศตัวชัดเจนที่จะอุทิศเวลาที่เหลืออยู่เพื่อคนรักศิลปะโดยแท้

     จากการที่ผู้เขียนได้นำครูผู้สอนศิลปะในเขตพื้นที่การศึกษา มาฝึกปฏิบัติการการวาดเส้น การวาดภาพสีน้ำ และวาดภาพสีอคลีลิก กับอาจารย์สมานและทีมงานจากมหาวิทยาลัยเพาะช่าง ตามโครงการสอนศิลป์แด่ครูสู่เยาวชน ณ หอศิลป์คลังจัตุรัส เมื่อวันที่ ๑๕-๑๖ กันยายน ๒๕๕๕  ในช่วงเวลาพักผ่อน ได้ร่วมวงเสวนากับอาจารย์และทีมวิทยากร ทำให้ผู้เขียนได้รับรู้ถึงแนวคิด ประสบการณ์  ทัศนะต่อการเรียนรู้ศิลปะ ในฐานะครูศิลปินผู้มากด้วย “ประสบการณ์แห่งวิชาชีพศิลปะ” มีผลงานปรากฏในวงการศิลปะอาชีพมากมาย  

  “ผมอยากสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ศิลปะ กับเขตพื้นที่ใกล้เคียง เริ่มจากครูที่มีใจรักกลุ่มแรกให้ประสบผลสำเร็จในการสอนศิลปะ มีผลงานเกิด แล้วขยายผลรุ่นต่อรุ่น ต่อไปต้องเชิญพระสงฆ์ ศิลปินพื้นบ้านมาร่วมด้วย เพราะศิลปะพื้นบ้านตามวัดวาอารามก็มีการรื้อทิ้งไปมากแล้ว เพื่อสร้างตึกปูนใหม่ๆ มาแทน เห็นแล้วเสียดาย....”

  “...ศิลปะ เป็นวิชาขั้นสูง ต้องใช้ปัญญา คนที่เข้าถึงศิลปะจะรักศิลปะ จะวาดภาพให้ดีได้ คนวาดจะต้องเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจชีวิต เข้าใจความเป็นจริงอย่างถ่องแท้ ถูกต้อง จะว่าไป งานของศิลปินก็คือผลผลิตของปัญญา การทำงานศิลปะก็คือการฝึกตนให้เกิดปัญญา... ศิลปะจึงมีคุณค่ามากกว่าที่หลายคนคิด”

  “...ลูกศิษย์ผมมีหลายรุ่น ตั้งแต่เด็ก หนุ่มสาว คนแก่อายุกว่าหกสิบปีก็มี เหตุผลที่เรียนศิลปะเอาเมื่อแก่ เพราะเสียโอกาสตอนเป็นเด็ก อยากวาดรูปมาก แต่ถูกพ่อแม่ส่งให้ไปเรียนบริหารธุรกิจ ไม่เคยมีความสุขเลย....ผมเองก็เหมือนกัน ตอนเรียนจบมัธยม พอผมบอกแม่ว่าจะเรียนต่อ “ช่างศิลป์” ท่านร้องไห้แล้วบอกว่า เรียนช่างศิลป์แล้วเอ็งจะเอาอะไรกิน?... ”

ผู้เขียนมองเห็นภาพ...ศิลปินไส้แห้ง...แต่วินาทีนี้...ศิลปินอิสระผู้นั่งอยู่ตรงหน้านี้ มีรายได้จากปลายพู่กันแต่ละครั้ง เป็นตัวเลขหกหลัก อย่างน้อยก็ห้าหลัก....ใครว่า ศิลปะไร้ค่า ...ผู้เขียนเถียงตายเลย...


หมายเลขบันทึก: 531713เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2013 21:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2013 23:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

ถ้าจำไม่ผิด อ.สมาน คลังจตุรัส ท่านเป็นวิทยากรที่ศูนย์ศิลปาชีพด้วยใช่ไหมคะ

ชื่นชมกิจกรรมดีๆค่ะ

ขอบคุณครับที่แวะเยี่ยม  ใช่ อ.สมาน คนนี้แหละครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท