พระสันตะปาปา (Pope) ลาออกและเลือกตั้งใหม่ สังคมและคณะสงฆ์ไทยจะได้อะไร ?


พระสันตะปาปา (Pope) ลาออกและเลือกตั้งใหม่ สังคมและคณะสงฆ์ไทยจะได้อะไร ?

-โมไนย พจน์-


        ข่าวการลาออกขององค์พระสันตปาปาเบนาดิกต์ที่ 16 [Benedictus XVI]

เมื่อ 12 ก.พ. และมีผลตามคำประกาศเมื่อ 28 ก.พ.56  ด้วยเหตุผลของสุขภาพ และประสงค์ปฏิบัติธรรมกับเวลาของชีวิตที่เหลือ รวมทั้งข่าวการจะเลือกตั้ง Pope พระองค์ใหม่ระหว่างวันที่ 11-13 มีนาคม 2556 เป็นที่รับรู้ไปทั่วโลก และในสังคมไทย ข้าพเจ้าเองในฐานะเป็นชาวพุทธก็ให้รู้สึกมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์เหล่านี้ไป ด้วย และก็หันกลับมาย้อนคิดและตั้งข้อสังเกตเป็นคำถามต่อสังคมไทย และคณะสงฆ์ไทย ว่า “เรา” จะได้อะไรจากข่าวการลาออกและเลือกตั้งนี้  เพราะการลาออกจะเป็นแบบอย่างที่สามารถนำมาเป็นข้อคิดและเอาอย่างได้หรือไม่ ?

  รวมไปถึงวิธีการเลือกตั้ง เพื่อคัดเลือกพระสันตปาปา ที่เป็นตัวแบบมาเป็นเวลาหลายร้อยปี เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้นำสูงสุดทางศาสนา จะสามารถนำมาเป็นแบบอย่างอะไรได้บ้าง จึงอยากเขียนและนำมาพิจารณาร่วมต่อเหตุบ้านการเมืองต่างประเทศ  ทั้งนำมาสะท้อนคิดเป็น “เรา” จากเรื่องของ "เขา" ได้ว่า

  1. องค์พระสันตะปาปา เมื่อตอนได้รับเลือกอายุ 78 ปี ดำรงตำแหน่งมา 7 ปี ขณะ ลาออก อายุ 85 ปี และให้เหตุผลในการลาออกว่า เนื่องด้วยสุขภาพ และอายุ


[องค์พระสันตะปาปาเบนาดิกต์ ลาออกด้วยเหตุผลของสุขภาพ]

  2. การลาออกเป็นการยอมรับต่อความจริงว่าสังขารมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา สุขภาพไม่ดี ต้องการรักษาสุขภาพ  "ความ แข็งแรงทางกายและใจนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก  ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ความแข็งแรงที่ลดถอยลงนั้นทำให้ข้าพเจ้า ตระหนักถึงข้อจำกัดด้านความสามารถที่จะตอบสนองต่อความไว้วางใจจากสำนัก วาติกัน" [ที่มา: ประชาไทย]

  3.การลาออกเป็นการยอมรับความจริงว่าคนเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร องค์กรต้องก้าวหน้าเดินต่อไป "อย่า ยึดติดกับตำแหน่ง ถ้ารู้ว่าทำงานได้ไม่เต็มความสามารถ อย่าอายที่จะยอมรับความบกพร่อง แต่จงถอยออกมา เพื่อประโยชน์สูงสุดของหน่วยงานนั้น"[ที่มา : popereport] ดังนั้นคนใหม่กว่า สดกว่ามีประสบการณ์มากกว่า ยอมเป็นเครื่องขับเคลื่อนได้ดีกว่า ต้องไม่คิดว่าตัวเองคือองค์กร และผูกขาดไว้แต่เพียงผู้เดียว คนเดียว กลุ่มเดียว คณะเดียว จนกลายเป็นความเสื่อมสะสม มากกว่าการพัฒนา 

  4. การลาออกเพื่อเป้าหมายทางศาสนา คือโป๊ปต้องการปฏิบัติธรรมเพื่อเป้าหมายสูงสุดทางศาสนา "พระสันตะปาปาจะดำเนินชีวิตสวดภาวนาแบบสันโดษเช่นนักพรตในเขตอารามวาติกัน หลังการประกาศสละตำแหน่งของสมเด็จพระสันตะปาปา" [ที่มา :popereport] ในความหมายคือ พระองค์ประสงค์กระทำชีวิตที่เหลือให้เข้าใกล้ความเป็นศิษย์ของพระเยซูที่ต้องการเข้าถึงอุดมธรรมทางศาสนาอย่างสูงสุด

  นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่หนุ่มกว่า สุขภาพดีกว่า มีทักษะด้านการบริหารรับกับความเปลี่ยนได้ดีกว่า มีประสิทธิภาพในการบริหารที่ดีกว่า แปลว่าเขาต้องการประสิทธิภาพขององค์กร โดยยอมละความ “อยากของตัวเอง” ต่อยศ ตำแหน่ง สถานะ เพื่อประโยชน์และเป้าหมายสูงสุดขององค์กรเป็นสำคัญ 

  5.การเลือกเลือกคนใหม่ เพื่อสิ่งใหม่ ซึ่งน่า สนใจที่ว่าคริสต์ศาสนามีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก และศาสนิกของเขา ก็เป็นส่วนหนึ่งเหมือนกันทั่วโลก กับการเลือกผู้นำสูงสุดทางศาสนา แม้จะไปเพียงพระคาดินัลผู้มีสิทธิ์เลือก แต่ก็ไปในนามของประเทศนั้น ๆ ก็ตาม แต่ก็เชื่อได้เลยว่า เป็นมติอย่างมีส่วนร่วม ในการเลือกผู้นำสูงสุดร่วมกับพระคาดินัลในประเทศตนเอง โดยมีผลคาดหวังต่อเป้าหมายคือองค์กรสูงสุดในการบริหารกิจการศาสนา 

 
[พระ คาร์ดินัลทั้ง 117 องค์ ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ จากทวีปยุโรปยุโรป 62 องค์  อเมริกาใต้ 19 องค์  อเมริกาเหนือ 14 องค์  แอฟริกา 11 องค์  เอเชีย 11 องค์  โอเชียเนีย 1 องค์ รวม 51 ประเทศ]

  6.การรับรู้อย่างมีส่วนร่วม ผ่านการเลือกตั้งโดยระบบตัวแทน เป็นระบบที่คริสต์ใช้มาจนปัจจุบัน การเลือกตั้งมีผลทำให้คาดิลนัลจากประเทศต่าง ๆ จำนวน 117 คนจากทั่วโลก และการเลือกตั้งใช้จำนวนเสียง 2 ใน 3 หรือจำนวน 77 รูป/คน ของพระคาดินัลที่มีสิทธิ์ในการเลือก ดั้งนั้นการเลือกตั้งและสื่อนำเสนออย่างต่อเนื่อง แปลว่าคนทั่วโลกมีส่วนร่วม รับรู้ และแสดงทัศนะ และเห็นทิศทางของพระศาสนาของเขาผ่านการมีส่วนรวมผ่านข่าวสาร และผู้ได้รับเลือกแถลงแนวทางและทิศทาง นโยบายของศาสนาหลังได้รับการเลือกตั้ง


[พระสันตะปาปาฟรานซิส ที่ได้รับการคัดเลือกจากพระคาดินัล 2 ใน 3 จาก 117 คน ทั่วโลก]

  7.การลาออก เลือกตั้ง และการให้ได้มาของผู้นำสูงสุด เป็นเรื่องสาธารณะที่ชาวคริสต์ทั่วโลกรับรู้ มิใช่งุบงิบ ตัดหน้า แย่งชิง เฉพาะหมู่ กลุ่ม พวก จังหวัดตัวเอง เพื่อให้ได้มาแต่อย่างใด ชาวคริสต์ทั่วโลก จึงมีส่วนร่วมต่อองค์ประมุขในการบริหาร ศาสนจักรของชาวคริสต์เอง จะแปลได้ไหมว่า ศาสนาของพระเจ้า แต่ "เขา" ก็มีส่วนร่วมในการรับรู้ ต่อทิศทาง แนวทางในการจะบริหารกิจการศาสนา แม้ไม่ได้เป็น "พระสันตะปาปา" 

  เมื่อย้อนกลับมาดู เฉพาะสังคมไทย บทเรียนจากเหตุการณ์นี้ ที่เราร่วมรับรู้ผ่านสื่อจากการลาออกของผู้นำทางศาสนา และคัดเลือกอย่างเป็นระบบ สร้างสรรค์ โปร่งใส เราจะนำมาประยุกต์ใช้ในสังคมไทยได้อย่างไร ในฐานะที่เรามีองค์กรสูงสุดทางศาสนาในประเทศไทยเช่นกัน คือองค์กรคณะสงฆ์ อันมีพระธรรมวินัยเป็นเครื่องกำกับ มีกฏหมายที่ออกในนามรัฐบาลไทยเป็นผู้ผลิตมานับตั้งแต่ พ.ศ.2425 สมัยรัชกาลที่ 5  ทำให้มีมหาเถรสมาคม ทำหน้าที่ในการบริหาร ดำเนินกิจการทางศาสนาในภาพรวม  ดังนั้นเราจะเอาสิ่งที่เราเห็น รับรู้ ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน มองเขาผ่านเหตุการณ์เลือกตั้งพระ “สันตะปาปา” แล้วนำมามองสะท้อน ย้อนดูตัวเราเอง “มหาเถรสมาคมและคณะสงฆ์” ว่าจะทำอย่างไร ซึ่งในทัศนะส่วนตัว มองได้ว่า

  1.มหาเถรสมาคม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีอายุ และเกินกว่า 80 ปี .ออกกฎให้พระสังฆาธิการอายุเกิน 80 เกษียณ[กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24(พ.ศ.2541)] ให้ผู้อื่นปฏิบัติ แต่ถึงเวลาตัวเองกับนอนป่วย รอเวลาตาย หยอดน้ำข้าวต้ม ให้อาหารทางสายยาง คาตำแหน่ง ดังนั้นกฏควรเป็นกฏไม่ควรเลือกปฏิบัติ เช่น วินัย-ธรรม ไม่ได้ให้เลือกว่าเป็นพระสมเด็จ หรือพระสามัญ แต่อย่างใด ดังนั้นผู้ปกครองต้องแยกให้ออกว่าการบริหารที่มีประสิทธิภาพ กับบุญญาธิการเป็นคนละส่วนกัน ประสิทธิภาพในการบริหารงานเป็นเรื่องขององค์กร คณะสงฆ์และพระพุทธศาสนา แต่การตายคาตำแหน่งเป็นเรื่องส่วนตัวที่ได้ประโยชน์เฉพาะตัว แต่องค์กร ศาสนาไม่ได้ประโยชน์

  2. การลาออกควรนำมาเป็นแบบอย่าง ถึง กฏจะไม่มีบอกว่าสมเด็จต้องลาออก แต่ก็สามารถนำมาเป็นแบบอย่างได้ เพราะคำสอนทางพุทธศาสนาสอนให้ปล่อยว่าง (อนัตตา-ธาตุขันธ์)  สอนการเปลี่ยนแปลง (ไตรลักษณ์) สอนให้คนไม่ยึดติด แต่ท่านในฐานะผู้บริหาร กับหวงตำแหน่ง เห็นแก่ลาภยศ และสถานะทางสังคมยิ่งกว่าชาวบ้านเสียอีก แล้วอย่างนี้จะได้ชื่อว่า สาวกผู้เดินตามแบบพระพุทธเจ้าและใช้วิถีชีวิตที่ปล่อยวางได้อย่างไร

  3. เป้าหมายสูงสุดกับเวลาที่เหลือ  การลาออกของพระสันตะปาปาเพื่อปฏิบัติธรรมกับเวลาของชีวิตที่เหลืออยู่ ถ้าแปลก็คือเวลาเหลือน้อย ควรบำเพ็ญสมณธรรมก่อนตาย "ทำนิพพานให้แจ้ง"[ม.อุ (ไทย)4/39/48,กันติสูตร] แต่เจ้าคณะ ผู้ปกครอง หลายท่าน วัยเกิน 80 ยังให้ลูกศิษย์เข็นรถ หิ้วแขน ประคองปีกไป เจริญพุทธมนต์  เปิดงาน เดินสายนั่งปรก เจิม เสก กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แปลว่าพวกท่านไม่ได้ปล่อยวาง ผูกติดสำคัญตนเป็นศูนย์กลางสรรพสิ่ง ไม่ได้บำเพ็ญธรรมตามเป้าหมายทางศาสนาเหมือนที่โป๊ปทำอย่างนั้นหรือไม่ หรือว่าท่านเป็น "พระสังฆาธิการ/สมเด็จ/พระราชาคณะ" แล้วแข็งแรงกว่ามนุษย์ในโลกนี้ ทั้งจะมีอายุเกินกว่า ๑๐๐ ปี

  4.เขาใช้การเลือตั้ง แต่ของเขาลากเอามาตั้ง หมายถึง องค์กรของเรามีการแต่งตั้งคนที่เป็นคณะตัวเอง วัดตัวเอง  พวกตัวเอง (อัตตาธิปไตย) ยึดคนของตัวเองเป็นสำคัญ  “พระราชาคณะ” หรือ คณะ พวก  ศิษย์ หรือคนที่สวามิภักดิ์ต่อตนเอง ถวายหนัก จัดให้ เสนอหน้า อาสาทุกเรื่อง เบียดบังเอาผลประโยชน์วัด ประโยชน์พระศาสนา ไปเป็นของเป็นชนชั้นปกครอง (คณาธิปไตย) ผ่านการจัด "พิธีกรรม" ทำบุญ มุทิตา ฉลองสมณศักดิ์ ฉลองอายุ แต่เป็นการอำพรางเบียดบังผลประโยชน์นั้น ทั้งการแต่งตั้งโดยไม่ได้ดูวิถีประชา ไม่ได้ดูประสิทธิภาพในการบริหารงาน ไม่ได้ดูความสามารถ เท่ากับว่าเรากำลังฝืนความจริง ทำผิดหลัก “ธรรมาธิปไตย”  “กรรมการมหาเถรสมาคมเสียเองได้สร้างปัญหาซ้ำซ้อนให้เกิดขึ้นเพิ่มเติม โดยการเล่นเส้นเล่นสาย ละโมบโลภมากในยศถาบรรดาศักดิ์"[พระมหานรินทร์ นรินฺโท,www.littlebuddha.com]   กลายเป็นการส่งต่อ  "วัฒนธรรมเลว” ต่อ เนื่องมาจนปัจจุบัน ดังนั้นการลาออก อันเนื่องด้วยชราภาพ ไร้วิสัยทัศน์ ขาดประสิทธิภาพในการบริหาร เลือกตั้ง โดยคณะสงฆ์ ชาวพุทธเข้ามามีส่วนรวมหรือมีสิทธิ์รับรู้ต่อคนที่ตนเองนับถือจะเป็นการควร กว่าหรือไม่ ? โดยเอาแบบการลาออก และเลือกตั้งขององค์พระสันตะปาปา  มาเป็นบทเรียนตัวอย่าง กรณีศึกษา ของเราในการเลือกตั้งผู้บริหารกิจการคณะสงฆ์ได้หรือไม่ ?

  ในตอนจบอยากเสนอว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ “พระเดชพระคุณท่าน” ทั้งหลายจะได้ “ละ/ลด/เลิก” มองตัวเองเป็นศูนย์กลางแล้วหันกลับมาให้ความสำคัญกับ “สารัตถธรรม” ของพระพุทธศาสนา เพื่อใช้เวลาที่เหลืออยู่ต่อเป้าหมายพุทธธรรม  รวมทั้งให้ความสำคัญกับ “องค์กร” ที่ต้องก้าวหน้าเดินต่อไป มิใช่ “สถิต” อยู่เพียงแค่ตำแหน่งเจ้าคณะต่าง ๆ ว่าสุดยอดแล้ว โดยไม่ได้มองพื้นความจริงว่าโลกเปลี่ยนเราควรเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง พัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพอย่างไร ?  โดยหาความเข้าใจ ทั้งละทิ้งหลักการแห่งพุทธธรรมที่ธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (ไตรลักษณ์) และยึดสำคัญตนประหนึ่งเป็นสรรพสิ่งของศาสนา (อัตตา) โดยไม่มองเห็นตัวเองเพื่อปล่อยวาง ไปสู่การถอดถอน และพัฒนาตนเองไปสู่อุดมธรรมทางศาสนา (นิพพาน) ก็แปลว่าพวกท่าน “มีค่าเพียงแก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน” ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ผู้มีศีลเพ่งพินิจ/ ผู้มีปัญญาเพ่งพินิจ/ผู้มีความเพียรมั่นคง/ผู้เห็นความเกิดและดับ/ผู้เห็น ทางอมตะ/ผู้เห็นธรรมอันสูงสุด..แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว..ประเสริฐกว่า ผู้ที่มีชีวิตอยู่ตั้ง 100 ปี" [ขุ.ธ (ไทย)25/109-115/64-66] ฉะนั้นความชรา อาวุโส โดยตำแหน่งไม่ใช่ตัวยืนยันความเป็น ชาวพุทธตามหลักพระพุทธศาสนาแต่ประการใด

  การที่ “พระเดชพระคุณทั้งหลาย” ยึด ตัว สำคัญตน ฝักใฝ่คนของตัวเอง และสร้างวัฒนธรรมนอกรีต สมณศักดิ์แบบฉกชิง ปาดหน้า แย่ง-ยึด-เยื้อตำแหน่ง ฉลองอายุอย่างเอิกเกริกเกินกว่าสมณวิสัย แม้เจ้าของอายุจะกินอาหารทางสายยาง นั่งรถเข็นแล้ว  ให้ดู POPE ตามภาพข่าวแล้วย้อนตัวเองดีกว่าหน่อยไหม  อย่าให้ความเห็นแก่ตัวของพวกท่าน มาเป็นส่วนหนึ่งคือความเสื่อมสะสม ต่อองค์กรสงฆ์และศาสนาเพียงเพราะคนไม่กี่คนอย่างพวกท่านเลย อะไรเปลี่ยนแปลงได้ แก้ได้ ถอยได้ ทำได้ สละได้ ก็ทำบ้างเถอะ  รุ่นลูก หลานจะได้เอาไว้เล่าขาน สรรเสริญเป็นตำนานอย่างท่าน “โป๊ปเบนาดิก” ที่ลาออกในรอบหลายร้อยปีเลย

  จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไหมหนอ หรือว่าเป็นแค่ความฝัน และจินตนาการ ?

 [Home.Sukho 11 03 2556]

  ความชรา แก่ เฒ่า เป็นธรรมชาติของมนุษย์ (อนิจลักษณะ) แต่ถ้าไว้ถูกที่ถูกเวลา ก็คงเหมาะสม เข้าทำนอง "แก่แบบมีค่า ชราแบบเป็นสุข" แต่ในองค์กรบริหารคณะสงฆ์สูงสุด ผู้บริหารกลับมีอายุรวมกันเกือบ 1 พันปี ที่ถูกยกย่องว่าเป็นผู้มีบุญญาธิการ  อย่างล้นพ้นเหลือเกินประหนึ่งเป็นบุคคลหาได้ยากในโลกนี้ไปเสียได้  ในทางกลับกันทางการบริหารในโลกนี้ คนอายุ 60  จัดเป็นคนแก่ ที่องค์กร หน่วยงาน ทั้งรัฐและเอกชน เขาให้เกษียณไปอยู่เฝ้าบ้าน เลี้ยงลูก หลาน แต่องค์กรคณะสงฆ์ ผู้บริหารออกกฎให้คนอื่นเกษียณ 80 แต่ผู้ออกกฏ กลับไม่ยอมปฏบัติดันเลือก "ตาย" คาตำแหน่ง แปลว่าเราเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำว่า "องค์กร" และการบริหารที่มีประสิทธิภาพผิดแน่ ๆ โป๊ป ลาออกเราจะเอาแบบอย่างเข้ามาใช้อะไรได้บ้างหนอ ? เปลี่ยนอะไรได้ก็เปลี่ยนเถอะพระคุณท่าน

กรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง
ราชทินนาม/รายนาม วัด เริ่มวาระ วันเกิดและอายุ
 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร  พ.ศ. 2506 3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 (99 ปี)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร พ.ศ. 2533 11 มกราคม พ.ศ. 2471 (85 ปี)
สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำภาษีเจริญ พ.ศ. 2538 26 สิงหาคม พ.ศ. 2468 (87 ปี)
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี) วัดสุทัศน์เทพวราราม พ.ศ. 2553 26 สิงหาคม พ.ศ. 2473 (82 ปี)
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) วัดพิชยญาติการาม พ.ศ. 2554 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2484 (72 ปี)
 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) วัดสัมพันธวงศาราม  พ.ศ. 2544  29 ธันวาคม พ.ศ. 2460 (95 ปี) 
 สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม  พ.ศ. 2552  26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 (85 ปี) 
สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต)  วัดบวรนิเวศวิหาร   พ.ศ. 2552

 17 กันยายน พ.ศ. 2479 (76 ปี)

สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย)  วัดเทพศิรินทราวาส  พ.ศ. 2553  22 ตุลาคม พ.ศ. 2490 (65 ปี) 

  นอกจากนี้อะไรที่มันไม่ถูกเปลี่ยนแปลงได้ก็เปลี่ยนแปลงเสีย สำนักนิยม จังหวัดนิยม วัดนิยม เพราะในภาพรวมที่ปรากฏจนกระทั่งปัจจุบัน มันส่งผลเป็นความเสื่อมสะสมมากกว่าการพัฒนา "โลกธรรม"  บอกไว้ชัดเจน ว่า สุข-ทุกข์ มีลาภ-เสื่อมลาภ มียศ-เสื่อมยศ สรรเสริญ-นินทา พระคุณท่าน อย่าทำประหนึ่งจะไม่ตาย เอาพระศาสนาไว้ดีกว่า เอาหลักการณ์ไว้ดีกว่า อย่าเอาวัดนำหน้า เอาจังหวัดนำหน้า หมู่ คณะ พวก ดีกว่าไหม ? คนเขาจะได้ไม่นินทา ด่าให้เสีย "แก่" แล้วอย่างนี้จะเรียกว่า "เฒ่าอย่างมีค่า ชราอย่างเป็นสุขได้อย่างไร" ปลง ๆ บ้างน่าจะดี

พระพุทธศาสนาใช่อยู่ได้เพราะหมู่กลุ่มและความเป็นพวก 
อย่าให้"เป็นก๊กเป็นแก๊งที่มีแต่การเล่นพรรคเล่นพวก มือใครยาวสาวได้สาวเอา"  [พระมหานรินทร์ นรินโท แห่ง littlebuddha.com] เพราะพระพุทธศาสนาหาใช่เป็นของพวกท่านแต่พวกเดียว กลุ่มเดียวไม่

ข่าวเกี่ยวเนื่อง

- สมเด็จพระสันตะปาปาทรงประกาศสละตำแหน่งในวันที่ 28 ก.พ.นี้ | เดลินิวส์

- "Pope resigns, saying no longer has strength to fulfil ministry", February 11, 2013. สืบค้นวันที่ February 11, 2013

-"Pope Benedict XVI in shock resignation", February 11, 2013. สืบค้นวันที่ February 11, 2013

- "Pope Benedict XVI announces his resignation at end of month", February 11, 2013. สืบค้นวันที่ February 11, 2013

-พระสันตปาปาเบนาดิกต์ที่ 16 [Benedictus XVI]

- สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรานซิส ที่ 1 ประมุของค์ที่ 266

- สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส

 - ความบกพร่องทางจริยธรรมของมหาเถรต่อการแต่งตั้งตำแหน่ง (พระมหานรินทร์)

- มหาเถรสมาคมออกกฎ ให้พระสงฆ์อายุ 80 ปีขึ้นไปต้องเกษียน

- รายงานข่าวเชิงวิเคราะห์พิเศษ เกษียณอายุพระที่ 80 เพิ่มโทษละเมิดจริยาพระสังฆาธิการหนัก 

หมายเหตุ ภาพจากเน็ต

คำสำคัญ (Tags): #asa#s#sa
หมายเลขบันทึก: 531063เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2013 13:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2013 13:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท