ธรรมรัต
พระมหา ธรรมรัต อริยธมฺโม ยศขุน

ถาม ตอบ ปัญหาในปัญญานิเทศ


ถามตอบปัญหาในปัญญานิเทศ

โดยพระมหาเอกวิน ปิยวณฺโณ

สาขาพุทธศาสตร์ ชั้นปีที่ ๓

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช

*****************

๑. อะไรเป็นปัญญา ?

  วิปัสนาญาณ อันสัมปยุตด้วยกุศลจิต เป็นปัญญา

๒. อะไรเป็นลักษณะ เป็นรส เป็นปัจจุปัฏฐาน และปทัฏฐานของปัญญานั้น ?

  ปัญญามีการตรัสรู้สภาวะแห่งธรรมเป็นลักษณะ

  ปัญญามีอันขจัดเสียซึ่งความมืดคือโมหะอันปิดบังสภาวะแห่งธรรมทั้งหลายเป็นรส (คือเป็นกิจ)

  ปัญญามีความหายหลงเป็นปัจจุปัฏฐาน  (คือเป็นเครื่องปรากฏหรือเป็นผล)

  และสมาธิจัดเป็นปทัฏฐาน (คือเหตุใกล้) ของปัญญานั้น  โดยพระบาลีว่า  "สมาหิโต ยถาภูต  ชานาติ  ปสฺสติ  ผู้มีจิตเป็นสมาธิย่อมรู้เห็นตามเป็นจริง

๓. ปัญญาจะพึงบำเพ็ญขึ้นได้อย่างไร ?

   ปัญญานี้ ภิกษุผู้ทำความสั่งสมความรู้โดยการเล่าเรียนและไต่ถามในธรรมทั้งหลายที่เป็นภูมิเหล่านี้ คือขันธ์  อายตนะ  ธาตุ  อินทรีย์  สัจจะ และปฏิจสมุปบาทแล้ว  เจริญ วิสุทธิ  ๒ อันได้แก่ สีลวิสุทธิและจิตตวิสุทธิ ซึ่งเป็นมูลของปัญญาให้ถึงพร้อมแล้วทำวิสุทธิ  ๕ อันได้แก่กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคามัคคญาณทัสนวิสุทธิ  ปฏิปทาญาณทัสนวิสุทธิ  ญาณทัสนวิสุทธิ เป็นสรีระ (คือเป็นลำตัวหรือลำต้น)  ของปัญญานี้  ให้ถึงพร้อมอยู่  (นั่นแหละ)  จะพึงบำเพ็ญขึ้นได้

๔. ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐานและปทัฏฐานของมานะเป็นอย่างไร ?

  มานะนั้น  มีความหยิ่งเป็นลักษณะ  มีความยกตัวเป็นรส  มีความใคร่เป็นเช่นธง  (คืออยากเด่น)  เป็นปัจจุปัฏฐาน  มีโลภะอันไม่ประกอบด้วยทิฏฐิเป็นปทัฏฐาน

๕. อวิชชามีอะไรเป็นลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐานและปทัฏฐาน ?

  อวิชชา  มีความไม่รู้เป็นลักษณะ  มีการทำให้หลงเป็นรส  มีการปกปิด  (เสียซึ่งสภาวะ)  เป็นปัจจุปัฏฐาน  มีอาสวะเป็นปทัฏฐาน

๖. จงให้ความหมาย คำว่า วิปัสสนายิกะ และ คำว่าวิปัสสนายิกะล้วนๆ หมายถึงอะไร ?

  วิปัสนายานิกะ  คือผู้ประกอบววิปัสนาโดยไม่อาศัยสมถะ  ใช้วิปัสนาเป็นยานเลยเท่านั้น  ที่ว่าวิปัสนายานิกะล้วน ๆ ก็หมายความว่าไม่เจือปนด้วยสมถภาวนานั่นเอง

๗. จงอธิบายสภาวะของญาตปริญญา ตีรณปริญญา และปหานปริญญา ตามแนวคัมภีร์วิสุทธิมรรค .

  ปัญหาอันเป็นไปโดยกำหนดปัจจัตตลักษณะ (ลักษณะเฉพาะตัว)  แห่งธรรมทั้งหลายนั้น ๆ โดยนัยว่า  "รูปมีอันสลายไปได้เป็นลักษณะ  เวทนามีอันเสวย  (รสอารมณ์)  ได้  เป็นลักษณะ" ดังนี้เป็นต้น  ชื่อว่า  ญาตปริญญา  ส่วนลักขณารัมมณิยวิปัสนาปัญญา  (วิปัสนาปัญญาอันมีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์)  ที่เป็นไปโดยยกขึ้นสู่สามัญลักษณะแห่งธรรมทั้งหลายเหล่านั้นแหละโดยนัยว่า  "รูปไม่เที่ยง  เวทนาไม่เที่ยง " เป็นต้น ชื่อว่าตีรณปริญญา  ส่วนลักขณารัมมณิยวิปัสนาปัญญานั่นเอง  ที่เป็นไปด้วยสามารถละวิปลาสสัญญามีความสำคัญว่าเที่ยงเป็นต้นในธรรมทั้งหลายนั้นแหละได้ ชื่อปหานปริญญา

๘. ไตรลักษณ์โดยวโยวุฑฒัตถคมะ ด้วยอำนาจทสกะ ๑๐ คืออะไร ? ท่านจำแนกไว้อย่างไร ?

  ไตรลักษณ์โดยวโยวุฑฒัตถคมะ ด้วยอำนาจทสกะ ๑๐ คือการพิจารณช่วงชั้นวัยของมนุษย์โดยจำแนกไว้เป็น ๑๐ ช่วงชั้นวัยดังนี้

  มันททสกะ  ๑๐  ปีแห่งเด็กอ่อน

    ขิฑฑาทสกะ  ๑๐  ปีแห่งการเล่น

    วัณณทสกะ  ๑๐  ปีแห่งผิวพรรณ

    พลทสกะ  ๑๐  ปีแห่งกำลัง

  ปัญญาทสกะ  ๑๐  ปีแห่งปัญญา

    หานิทสกะ  ๑๐  ปีแห่งความเสื่อม

  ปัพภารทสกะ  ๑๐  ปีแห่งความค้อม

    วังกทสกะ   ๑๐  ปีแห่งความค่อม

    โมมูหทสกะ  ๑๐  ปีแห่งความหลงลืม

    สยนทสกะ   ๑๐  ปีแห่งความนอน

  ในทสกะเหล่านั้น  ๑๐ ปีแรกของบุคคลผู้มีชีวิตอยู่ ๑๐๐  ปี  ชื่อว่ามันททสกะก่อน  ด้วยว่าในตอนนั้น  บุคคลนั้นยังเป็นเด็กอ่อนซุกซนอยู่ ๑๐ ปีต่อนั้นไป  ชื่อขิฑฑาทสกะ  ด้วยในตอนนั้นเขามากไปด้วยความยินดีในการเล่น  ๑๐ ปีต่อนั้นไป ชื่อวัณณทสกะ  ด้วยในตอนนั้น  ส่วนผิวพรรณของเขาย่อมถังความไพบูลย์  ๑๐  ปีต่อนั้นไป  ชื่อพลทสกะด้วยในตอนนั้น  กำลังและเรี่ยวแรงของเขา  ย่อมถึงความเต็มเปี่ยม ๑๐  ปีต่อนั้นไป  ชื่อปัญญาทสกะ  ด้วยตอนนั้นปัญญาของเขาย่อมมั่นคงดี  ได้ยินว่าปัญญาแม้นิดหน่อยของคนที่โดยปกติเป็นคนโง่  ก็เกิดขึ้นได้ในกาลนั้นเหมือนกัน ๑ ปีต่อนั้นไป  ชื่อหานิทสกะ ด้วยในตอนนั้น ความยินดีในการเล่น  ผิวพรรณ  กำลัง  และปัญญาของเขา  ย่อมเสื่อมถอยไป  ๑๐  ปีต่อนั้นไป  ชื่อปัพภารทสกะ  ด้วยในตอนนั้นร่างกายของเขาย่อมค้อมไปข้างหน้า  ๑๐ ปีต่อนั้นไป  ชื่อวังกทสกะ  ด้วยในตอนนั้นร่างกายของเขาย่อมค่อมลงดุจหางไถ  ๑๐ ปีต่อนั้นไป  ชื่อโมมูหทสกะด้วยในตอนนั้นเขาเป็นคนมักหลงลืม  ย่อมลืมการที่ทำ ๆ  แล้ว  ๑๐ ปี ต่อนั้นไป  ชื่อสยนทสกะ  ด้วยคนมีอายุถึง  ๑๐๐ ปีก็มากไปด้วยการนอนนั่นแล

๙. ภังคานุปัสสนา หมายถึงอะไร ? และอานิสงส์แห่งภังคานุปัสสนานั้นมีอย่างไร ?

  ปัญญาในการตามเห็นความแตกดับ"  เป็นต้น หมายความว่า  ปัญญาในการตามเห็นความแตกดับแห่ง ความรู้ที่พิจารณาอารมณ์ โดยความสิ้นความเสื่อมที่เกิดขึ้นนั้น 

  ภังคานุปัสนาญาณอันมีอานิสงส์ ๘ เป็นบริวาร  ย่อมเป็นญาณมีกำลัง

นี่เป็นอานิสงส์  ๘ ในคำนั้น  คือ

    ภวทิฏฺิปฺปหาน    การละภวทิฏฐิได้

    ชีวิตนิกนฺติปริจฺจาโค    การสละความไยดีในชีวิตได้

    สทา  ยุตฺตปยุตตตา   ความประกอบ  (ภาวนา)  อันชอบทุกเมื่อ  (ทั้งกลางคืนและกลางวัน)

    วิสุทฺธาชีวิตา    ความมีอาชีวะหมดจด

    อุสฺสุกฺกปฺปหาน    การละความขวนขวาย  (ในกิจจานุกิจภายนอก)

    วิคตภยตา    ความเป็นผู้ปราศจากความกลัว

    ขนฺติโสรจฺจปฏิลาโภ    ความได้เฉพาะซึ่งขันติโสรัจจะ

    อรติรติสหนตา    ความอดกลั้น  (ครอบงำเสียได้) ซึ่งความไม่ยินดีใน  (อธิกุศล)  และ

    ความยินดี  (ในกามคุณ)

๑๐. วิปลาส มี เท่าไร ? และหมายถึงอะไร ?

  วิปลาส มี ๓  คือ  สัญญาวิปลาส  (สำคัญคลาดเคลื่อน)  จิตตวิปลาส(คิดคลาดเคลื่อน)  ทิฏฐิวิปลาส  (เห็นคลาดเคลื่อน)  ซึ่งเป็นไปโดยสำคัญคิดเห็น  ดังนี้  ว่าเที่ยง  ว่าเป็นสุข  ว่าเป็นอัตตา  ว่างาม  ในวัตถุทั้งหลายอันไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เป็นอนัตตา  และไม่งาม  ชื่อว่าวิปลาส

๑๑. จงอธิบายตทังคปหานะตามเนววิสุทธิ.

  อันดับแรก  คือการละสักกายทิฏฐิด้วยนามรูปปริเฉทญาณ (กำหนดเห็นเป็นแต่นามรูป)  ละอเหตุวิสมเหตุทิฏฐิ  (ความเห็นว่าไม่มีเหตุ  และเห็นว่ามีเหตุไม่สม่ำเสมอ๒)  และมลทินคือความกังขาด้วยปัจจัยปริคหญาณ  (กำหนดรู้ปัจจัยของนามรูป)  ละสมูหคาหะ (ความถือว่าเป็นกองเป็นก้อน)  ว่าเป็นเราเป็นของเรา  ด้วยกลาปสัมมสนญาณ  (พิจารณาสังเขปเข้าเป็นกลาป)  ละอมัคเคมัคคสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นทางในธรรมที่ไม่ใช่ทาง)  ด้วยมัคคคามัคคววัฏฐานญาณ  (วิเคราะห์รู้ทางและมิใช่ทาง)  ละอุจเฉททิฏฐิด้วยอุทยทัสนาญาณ(เห็นความเกิด)  ละสัสตทิฏฐิด้วยวยทัสนญาณ  (เห็นความเสื่อม) ละสภเยอภยสัญญา  (ความสำคัญว่าไม่น่ากลัวในสิ่งที่น่ากลัว)  ด้วยภยตุปัฏฐานญาณ  (เห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว)  ละอัสสาทสัญญ (ความสำคัญว่าปัญจขันธ์เป็นของน่าพอใจ  ด้วยอาทีนวทัสนาญาณ (เห็นโทษในปัญจขันธ์)  ละอภิรติสัญญา  (ความสำคัญว่า น่าอภิรมย์ในปัญจขันธ์) ด้วยนิพพิทานุปัสนาญาณ  (คำนึงด้วยความเบื่อหน่าย) ละอมุญจิตุกามภาวะ  (ความเป็นผู้ใคร่จะไม่พ้นไป)  ด้วยมุญจิตุกัมยตาญาณ  (คำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย)  ละอัปปฏิสังขารนะ  (ความไม่คำนึงหาทาง)  ด้วยปฏิสังขาญาณ  (พิจารณาหาทาง)  ละอนุเปกขนะ  (ความไม่วางเฉย) ด้วยอุเบกขาญาณ  (วางเฉยในสังขาร)  ละสัจจปฏิโลมคาหะ  (ความยึดถือฝืนสัจจะ) ด้วยอนุโลมญาณ (อนุโลมแก่สัจจะ)

๑๒. จงอธิบายความแตกต่างระหว่างโลกิยภาวนาและโลกุตรภาวนามาพอเข้าใจ ?

  การทำศีล  สมาธิ ปัญญา  ที่เป็นโลกิยะให้เกิดขึ้น  และการอบรมสันดานด้วยโลกิยศีลสมาธิปัญญาเหล่านี้  ชื่อว่าโลกิยภาวนา  ส่วนการทำศีลสมาธิปัญญาที่เป็นโลกุตระให้เกิดขึ้น  และการอบรมสันดานด้วยโลกุตรศีลสมาธิปัญญาเหล่านั้น  ชื่อว่าโลกุตรภาวนา

๑๓. อานิสงส์แห่งปัญญาภาวนาโดยสังเขป มีเท่าไร อะไรบ้าง ?

  นี่เป็นอานิสงส์แห่งปัญญาภาวนานั้น  คือ

  (๑)  นานากิเลสวิทฺธสน  กำจัดกิเลสต่าง ๆ ได้

  (๒)  อริยผลรสานุภวน  ได้เสวยรสแห่งอริยผล

   (๓)  นิโรธสมาปตฺติสมาปชฺชนสมตฺถตา  ความเป็นผู้สามารถในการเข้านิโรธสมาบัติ

  (๔)  อาหุเนยฺยภาวาทิสิทฺธิ  ความสำเร็จแห่งความเป็นผู้ทรงอริยคุณ  มีความเป็นอาหุไนยบุคคลเป็นต้น

๑๔. ผู้สามารถเข้าผลสมาบัติได้และผู้เข้าผลสมาบัติได้มีใครบ้าง ?

  ปุถุชนทั้งปวงเข้าผลสมาบัติไม่ได้   เพราะยังไม่ได้บรรลุ  (อริยผล)  ส่วนพระอริยะทั้งปวงเข้าผลสมาบัติได้ เพราะได้บรรลุ  (อริยผล)  แล้ว 

๑๕. บุคคลเหล่าไหนเข้านิโรธสมาบัติได้  เหล่าไหนเข้าไม่ได้ ?

  ปุถุชนทั้งสิ้น  พระโสดาบันและพระสกทาคามีทั้งสิ้น  กับพระอนาคามีและพระอรหันต์ทั้งหลายที่เป็นสุกขวิปัสสก  เข้าไม่ได้  แต่พระอนาคามี  และพระอรหันต์ทั้งหลาย  ผู้ได้สมาบัติ  ๘เข้าได้  เพราะท่านกล่าวไว้  (ในปฏิสัมภิทามรรค)  ว่า  "เพระประกอบด้วยพละ ๒  และเพราะความระงับไปแห่งสังขาร ๓  ความรู้ทั่วใน (วสีภาวตา)  ความเป็นผู้มีอำนาจ  (คือเชี่ยวชาญสามารถเข้านิโรธได้ดังใจ)  ด้วยญาณจริยา ๑๖ ด้วยสมาธิจริยา  ๙  เป็นญาณในการเข้านิโรธสมาบัติ" ดังนี้  อันสัมปทา  (คือสมาบัติ)  อันนี้  ยกเว้นพระอนาคามี  และพระขีณาสพทั้งหลาย  ผู้ได้สมาบัติ  ๘ แล้ว  หามีแก่บุคคลเหล่าอื่นไม่  เพราะเหตุนั้น  พระอนาคามีแลพระขีณาสพผู้ได้สมาบัติ  ๗ นั้นเท่านั้นจึงเข้าได้  บุคคลเหล่าอื่นเข้าไม่ได้

๑๖.คุณสมบัติของพระพุทธโฆสะมีอย่างไรบ้าง ?

  คุณสมบัติของพระพุทธโฆสะ ๑๑ ข้อ ดังนี้

  (๑)  ปรมสุทฺธ  สทฺธา  พุทฺธิ  วิริยปฏิมณฺฑิเตน ประดับด้วยศรัทธา  พุทธิ  และ  วิริยะ  อันหมดจดอย่างยิ่ง

  (๒)  สีลาจารชฺชวมทฺทวาทิคุณสมุทยสมุทิเตน เด่นด้วยคุณสมุทัย  มีศีล  อาจาระ และอาชวะ  มัทวะ  เป็นอาทิ

  (๓)  สกสมย  สมยนฺตร  คหนชฺโณคาหณ  สมตฺเถน  สามารถในการหยั่งลงสู่ป่าชัฏ  (คือวินิจฉัยข้อที่ยุ่งยาก) ได้ทั้งในลัทธิฝ่ายตนและในลัทธิฝ่ายอื่น

   (๔)  ปฺาเวยฺยตฺติยสมนฺนาคเตน ประกอบพร้อมไปด้วยความกระจ่างแจ้งแห่งปัญญา

  (๕)  ติปิฎกปริยตฺติปฺปเภเท  สาฏฺกเถ  สตฺถุ  สาสเน  อปฺปฎิหตาณปฺปภาเวน มีอำนาจแห่งญาณอันไม่ข้องขัดในพระสัตถุศาสนาประเภทปริยัติ  คือพระไตรปิฎก  พร้อมทั้งอรรถกถา

  (๖)  มหาเวยฺยากรเณน เป็นนักไวยากรณ์ใหญ่

  (๗)  กรณสมฺปตฺติชนิตสุขวินิคฺคตมธุโรทารวจนลาวณฺณยุตฺเตน ประกอบด้วยความงามแห่งถ้อยคำอันไพเราะเป็นเลิศ  ที่ความถึงพร้อมแห่งกรณ์  (คือเครื่องทำเสียง)  ทำให้เกิดเสียงเปล่าออกมาได้คล่อง

  (๘)  ยุตฺตมุตฺตวาทินา  วาทีวเรน เป็นนักพูดชั้นเยี่ยม  พูดได้ทั้งผูกทั้งแก้ อนึ่ง ยุตฺตมุตฺตาวาทีพูดได้ทั้งผูกทั้งแก้  เข้าใจว่าจะได้นัยจากพระสูตรในจตุกังคุตร  ในที่นั้นท่านใช้ศัพท์ว่า  ยุตฺตปฏิภาโณ-ผู้มีปฏิภาณในการผูก  (ปัญหา)  มุตฺตปฏิภาโณ-ผู้มีปฏิภาณในการแก้ (ปัญหา)  แบ่งเป็น ๔ ประเภท  คือ  ผู้ที่ได้แต่ผูก  แก้ไม่เป็นก็มี  ผู้ที่ได้แต่แก้  ผูกไม่เป็นก็มี

  (๙)  มหากวินา-เป็นมหากวี 

  (๑๐)  ปภินฺนปฏิสมฺภิทาปริวาเร  ฉฬภิฺาทิเภทคุณปฏิมณฺฑิเต  อุตฺตริมนุสฺสธมฺเม  อปฺปฏิหตพุทฺธีน  เถรวสปฺปทีปาน เถราน  มหาวิหารวาสีน  วสาลงฺการภูเต  เป็นอลังการแห่งวงศ์ของเหล่าพระเถระฝ่ายมหาวิหารผู้เป็นประทีปแห่งเถรวงศ์ มีความรู้อันไม่ข้องขัดในอุตริมนุสธรรม  ซึ่งประดับไปด้วยคุณต่าง  ๆ  มีอภิญญา ๖ เป็นต้น มีปฏิสัมภิทาอันแตกฉานเป็นบริวาร

   (๑๑)  วิปุลวิสุทฺธพุทฺธินา มีความรู้หมดจดกว้างขวาง 


หมายเลขบันทึก: 530695เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2013 21:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2013 21:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท