การสรุปข้อเท็จจริงและประเด็นที่ต้องพิจารณา : กรณีนางสาวกาญจนา (คนหนีภัยความตาย)


การสรุปข้อเท็จจริงของเจ้าของปัญหาและประเด็นที่ต้องพิจารณา

: กรณีนางสาวกาญจนา หรือปาน เป็นคนไร้สัญชาติและคนหนีภัยความตาย ซึ่งรอการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเกิดในประเทศไทย

โดยนางสาวศิวนุช สร้อยทอง นักศึกษาปริญญาโท สาขาอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๖

---------------------------------

ข้อเท็จจริง

---------------------------------

โครงการบางกอกคลินิก ซึ่งก่อตั้งขึ้นภายใต้กองทุนศาสตราจารย์คนึงฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งดำเนินการโดยนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เป็นที่ปรึกษา ซึ่งโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คำปรึกษาทางกฎหมายและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่บุคคลผู้มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิของบุคคล เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๓ โครงการได้รับเรื่องร้องเรียนหมายเลขคำร้องที่ ๓๖๑/๒๕๕๓ กรณีของ นางสาวกาญจนา หรือปาน (ไม่มีชื่อสกุล) ซึ่งประสบปัญหาความไร้สัญชาติในประเทศไทย

นางสาวกาญจนา หรือปาน ได้เล่าถึงความเป็นมาของตนต่อนางสาวศิวนุช สร้อยทอง และนางสาวพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นนักกฎหมายในโครงการ ดังนี้

นางสาวกาญจนา เกิดเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๒๗ ที่ศูนย์อพยพเสน่ห์พ่อ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ประเทศไทย บิดาชื่อ ทู (ไม่มีชื่อสกุล) มารดาชื่อ จะดา (ไม่มีชื่อสกุล) และมีพี่น้องรวม ๖ คน พี่น้องร่วมบิดามารดา ๒ คน และพี่น้องต่างบิดา ๓ คน

ครอบครัวของนางสาวกาญจนาเป็นคนเชื้อสายกะเหรี่ยง และพูดภาษากะเหรี่ยง ในตั้งแต่รุ่นตายายได้อาศัยอยู่แถบตะเข็บชายแดนไทย – พม่า ในฝั่งประเทศไทย เลี้ยงชีพด้วยการทำไร่ทำสวน อยู่ที่หมู่บ้านพุหม่อง อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งแม้ว่าครอบครัวของนางสาวกาญจนาจะถูกเรียกว่า “คนกะเหรี่ยงพม่า” แต่ปรากฏว่าครอบครัวของนางสาวกาญจนาไม่มีที่อยู่ในประเทศพม่า และไม่เคยเดินทางเข้าไปในประเทศพม่าเลย

ตาและยายของนางสาวกาญจนา มีลูก ๕ คน คือ นางตาชี ซึ่งเป็นมารดาของนางสาวกาญจนา นางมิตา นางพบบอ นางมิเชอ และนางโพดา (ไม่มีชื่อสกุล) เมื่อบุตรทั้ง ๕ คนเกิด ตาและยายของนางสาวกาญจนาไม่ได้ไปแจ้งเกิด เนื่องจากไม่รู้และไม่ตระหนักความสำคัญของการบันทึกตัวบุตรในทะเบียนราษฎรไทย และแม้ต่อมาตาและยายทราบข่าวว่ามีการจัดทำบัตรให้กับคนในหมู่บ้าน แต่ก็ไม่ได้ไปทำบัตร เนื่องจากกลัวว่าหากเดินทางไปทำบัตรแล้วจะถูกตำรวจจับกุมดำเนินคดี และไม่เห็นความจำเป็นเนื่องจากเข้าใจว่าการที่ครอบครัวไม่ได้เดินทางไปอยู่ในตัวเมืองจึงไม่ต้องมีบัตรก็ได้

ต่อมาเกิดสงครามในพื้นที่ชายแดนไทย – พม่า ส่งผลให้ครอบครัวของนางสาวกาญจนาต้องเดินทางอพยพหนีภัยในชายแดนฝั่งประเทศไทยโดยย้ายไปมาระหว่างหมู่บ้านในเขตชายแดน สถานการณ์ในขณะนั้นเมื่อมีการสู้รบ เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนจะแจ้งว่าชาวบ้านว่าตอนนี้ไม่ปลอดภัย ชาวบ้านจึงต้องหนีเข้าไปหลบภัยในป่า เมื่อสถานการณ์สงบจึงกลับเข้ามาอยู่ในอยู่บ้าน  ต่อมาครอบครัวของนางสาวกาญจนาได้อพยพหนีภัยเข้ามาอยู่ที่ศูนย์อพยพเสน่ห์พ่อ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นศูนย์อพยพชั่วคราวขนาดเล็ก และนางสาวกาญจนาได้เกิดในศูนย์อพยพเสน่ห์พ่อแห่งนี้

แม้ว่าในขณะนั้นระบบการทะเบียนราษฎรของประเทศไทยได้เริ่มต้นแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์สู้รบในพื้นที่และความยากลำบากในการเข้าถึงระบบทะเบียนของรัฐสำหรับคนชายแดนในสมัยนั้น ประกอบกับความไม่รู้กฎหมาย จึงปรากฏว่านางสาวกาญจนาไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรไทย กล่าวคือ แม้ว่าเกิดในประเทศไทย แต่ก็ไม่มีหลักฐานการรับรองการเกิด และไม่ได้รับการแจ้งเกิดในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย นางสาวกาญจนา จึงมีสถานะเป็นคนไร้รัฐในประเทศไทย

ครอบครัวนางสาวกาญจนาอยู่ที่ศูนย์อพยพเสน่ห์พ่อได้เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากการสู้รบยังคงรุนแรงและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยของคนในศูนย์ ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๓ จึงต้องอพยพคนโยกย้ายไปยังศูนย์อพยพ ที่ท่าบ่อ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี นางสาวกาญจนาอาศัยอยู่ในศูนย์ประมาณ ๓ – ๔ ปี ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เมื่อนางสาวกาญจนาอายุได้ ๑๐ – ๑๑ ขวบ จึงขออนุญาตมารดา ออกมาอยู่นอกศูนย์อพยพ โดยมาอาศัยอยู่กับน้าสาว ชื่อ นางโพดา ที่หมู่บ้าน คลิตี้ ตำชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเข้าศึกษาในโรงเรียนของประเทศไทย โดยนางสาวกาญจนาเข้าใจว่าครอบครัวของตนจะต้องอาศัยอยู่ในศูนย์อพยพนี้เป็นเวลานาน เพราะสถานการณ์สู้รบยังไม่สงบ และศูนย์นี้องค์การสหประชาชาติให้ความสนับสนุนอยู่ เมื่อตนออกมาเรียนแล้วก็ยังสามารถกลับเข้าไปในศูนย์เพื่อพบครอบครัวได้

เมื่อวันที่  ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๓๙ นางสาวกาญจนาเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ โรงเรียนบ้านทุ่งเสือโทน ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ โดยมีอาจารย์อมรรัตน์ ..(นามสกุล).. เป็นอาจารย์ประจำชั้น เมื่อเรียนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ นางสาวกาญจนาทราบข่าวว่า พื้นที่ชายแดนไทย – พม่าเกิดเหตุสู้รบอีกครั้งทำให้ครอบครัวของนางสาวกาญจนาซึ่งอาศัยอยู่ในศูนย์อพยพที่ท่าบ่อ ต้องอพยพย้ายไปอยู่ศูนย์อพยพนุโพธิ์ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก นางสาวกาญจนาพยายามจะตามครอบครัวไปอยู่ด้วย แต่ไม่สามารถติดต่อครอบครัวของตนเองได้

เมื่อไม่สามารถติดต่อครอบครัวได้นางสาวกาญจนา จึงตัดสินใจออกจากโรงเรียนแล้ว เริ่มต้นหางานและสมัครเข้าทำงานรับจ้าง เป็นคนทำงานในบ้าน ที่ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ทำงานเป็นคนทำงานในบ้านได้ ๒ ปี ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๔ จึงย้ายงานตามคำแนะนำของเพื่อนไปทำงานมาเป็นพนักงานรับจ้างของโรงแรมที่เดือนฉายรีสอร์ท ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ในช่วงเกือบสองปีแรกที่ทำงานในเดือนฉายรีสอร์ทนั้น นางสาวกาญจนายังคงมีสถานะเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ และไม่มีใบอนุญาตทำงาน

ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๖ นางสาวกาญจนาทราบข่าวว่าคนต่างด้าวหากทำงานจะต้องมีบัตร จึงติดต่อทำบัตรผ่านนายหน้า และได้รับใบอนุญาตทำงาน ตท.๑๔ เลขที่ M ๗๑๐๑ ๐๕๓๐๐ ๒๖๕ ออกโดยกรมการจัดหางาน จากนั้นย้ายงานจากเดือนฉายรีสอร์ท ไปยังสวนประสพสุข รีสอร์ท ตำบลแก่งเสือเต้น อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี และสุดท้ายจึงย้ายมาทำงานที่โรงแรมแควรีเวอร์ไซด์ รีสอร์ท ตำบลแก่งเสือเต้น อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ ๆ ได้พบกับนายพิษณุ เต็มสุข ชายสัญชาติไทย และต่อมาได้อยู่กินกันฉันสามีภรรยา

ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ครอบครัวของเพื่อนเชื้อสายกะเหรี่ยงชวนนางสาวกาญจนาไปขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัยที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย กรุงเทพมหานคร นางสาวกาญจนาได้ยื่นคำร้อง โดยใช้ชื่อภาษากะเหรี่ยง คือ กะยอมือ  ภายหลังจากการยื่นคำร้องแล้วทางองค์การสหประชาชาติเรียกให้มารายงานตัวที่สำนักงาน แต่เนื่องด้วยขณะนั้นนางสาวกาญจนาและนายพิษณุ มีความเข้าใจผิดกันในเรื่องกระบวนการร้องเรียนต่อองค์การสหประชาชาติ นายพิษณุจึงปฏิเสธไม่ให้นางสาวกาญจนาไปรายงานตัว ส่วนเอกสารนั้นเก็บอยู่กับครอบครัวของเพื่อนซึ่งปัจจุบันได้รับการส่งตัวไปอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว และไม่สามารถติดต่อได้อีกกระบวนการนี้จึงไม่ได้ดำเนินการต่อเนื่อง

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เมื่อนางสาวกาญจนา และนายพิษณุ ทราบข่าวว่ามีการรัฐไทยเปิดให้แรงงานต่างด้าว ๓ สัญชาติ คือ สัญชาติพม่า สัญชาติลาว และสัญชาติกัมพูชา ซึ่งอยู่ในประเทศไทยโดยไม่มีเอกสารระบุตน ให้ไปขึ้นทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ท.ร. ๓๘/๑) ในวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๗ นางสาวกาญจนาจึงไปดำเนินการขึ้นทะเบียนดังกล่าว โดยมีหมายเลขประจำตัวคนต่างด้าว ๐๐-๗๑๐๒-๑๐๑๔-XX-X และได้รับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย จึงเป็นการบันทึกประวัติของนางสาวกาญจนาในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยเป็นครั้งแรก

นางสาวกาญจนาได้ถือเอกสารดังกล่าวเพื่อระบุตัวบุคคลของตนมาโดยตลอด ซึ่งแม้ว่าเอกสารระบุว่านางสาวกาญจนามีสัญชาติพม่า แต่ปรากฏว่านางสาวกาญจนายังไม่ได้ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหภาพพม่า (MOU) แต่อย่างใด

หลังจากอยู่กินกันฉันท์สามีภรรยากับนายพิษณุ  และย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๘ นางสาวกาญจนาได้ให้กำเนิดบุตรสาวแฝด ๒ คน ที่โรงพยาบาลตากสิน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ซึ่งบุตรสาวทั้งสองได้รับการบันทึกในสูติบัตร ว่าเป็นคนสัญชาติไทย โดยมีนางสาวกาญจนา (ไม่มีชื่อสกุล) หญิงสัญชาติพม่า เป็นมารดา และนายพิษณุ เต็มสุข ชายสัญชาติไทย เป็นบิดา อย่างไรก็ดี เนื่องจากนางสาวกาญจนาและนายพิษณุยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย นายพิษณุจึงยังไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตรทั้งสองคน

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มารดา และน้องสองคนของนางสาวกาญจนาได้รับการส่งตัวในฐานะผู้ลี้ภัยไปอยู่ที่รัฐจอเจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนางสาวกาญจนาสามารถติดต่อครอบครัวได้อีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ปัจจุบันมารดากำลังดำเนินการเพื่อพานางสาวกาญจนาไปอยู่ด้วยกันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

นางสาวกาญจนาได้ดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงานล่าสุดเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๕ และใบอนุญาตทำงานชั่วคราวนั้นมีกำหนดหมดอายุในวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๕ ซึ่งนางสาวกาญจนาพยายามดำเนินการยื่นขอพิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าหลายครั้ง แต่พบอุปสรรความล่าช้าบริษัทที่รับดำเนินการพิสูจน์สัญชาติพม่า ทางโครงการจึงแนะนำให้นางสาวกาญจนาดำเนินการด้วยตนเอง ในวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๕ จึงยื่นขอพิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าผ่านสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน ปรากฏหมายเลขรับที่ ร๐๙๑๔

การเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติพม่าของนางสาวกาญจนา เป็นวิธีการหนึ่งขจัดความไร้สัญชาติและเพื่ออยู่อาศัยในประเทศไทยโดยถูกกฎหมายกับครอบครัว แต่ตราบเท่าที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติพม่า นางสาวกาญจนาก็ยังมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติ เพื่อคุ้มครองสิทธิของนางสาวกาญจนาในระหว่างที่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติยังไม่เสร็จสิ้น ในวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๕ โครงการจึงส่งหนังสือขอความเป็นธรรมในการคุ้มครองสิทธิในสัญชาติของนางสาวกาญจนา คนไร้สัญชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิสูจน์สัญชาติพม่า และคุ้มครองสิทธิอาศัยในประเทศไทยเพื่ออยู่รวมกับครอบครัวสัญชาติไทยของนางสาวกาญจนา โดยยื่นต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ประจำประเทศไทย และเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เพื่อดำเนินการร่วมมือเพื่อให้ความช่วยเหลือคุ้มครองนางสาวกาญจนา

ต่อมาอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้มีหนังสือตอบชี้แจง ลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖โดยมีความเห็นว่า นางสาวกาญจนา เกิดและอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย แต่ไม่ได้รับรองสถานะทางทะเบียนว่าเป็นคนสัญชาติใด ประกอบกับในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ บิดา มารดาและ พี่น้องของนางสาวปาน ได้ถูกส่งตัวไปอยู่รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้ลี้ภัย การที่นางสาวกาญจนา เข้าสู่กระบวนการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในปี พ.ศ. ๒๕๔๗  โดยระบุว่ามีสัญชาติพม่านั้น เพื่อต้องการให้ได้รับการรับรองสถานะทางทะเบียน และได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยกับครอบครัว ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วนางสาวกาญจนาเป็นคนต่างด้าวที่ไม่อยู่ในกลุ่มของแรงงานต่างด้าว ๓ สัญชาติ (พม่า ลาว และกัมพูชา) ที่กระทรวงแรงงานบริหารจัดการ แต่อยู่ในกลุ่มของคนต่างด้าวที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติบริหารจัดการตามยุทธศาสตร์แก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบจึงได้ส่งเรื่องของนางสาวปาน ให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติพิจารณาดำเนินการ ซึ่งกรมการจัดหางานได้ส่งความเห็นดังกล่าวไปยังสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเพื่อขอให้ดำเนินจัดการปัญหาสถานะบุคคลของนางสาวปาน ตามหนังสือที่ รง ๐๓๐๗/๔๑๗๘ ลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

---------------------------------

ประเด็นที่ต้องพิจารณา

---------------------------------

จากข้อเท็จจริงของนางสาวกาญจนา คนเชื้อสายกระเหรี่ยงซึ่งเกิดในประเทศไทย และเป็นคนในกลุ่มของคนหนีภัยความตายจากสงคราม ซึ่งมีจุดเกาะเกี่ยวกับ ๓ ประเทศ คือ ประเทศไทย ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ยังคงมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติในประเทศไทย จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาดังนี้

ประเด็นที่ ๑ นางสาวกาญจนามีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนหรือไม่ อย่างไร

ประเด็นที่ ๒ นางสาวกาญจนาเป็นคนต่างด้าวซึ่งเกิดในประเทศไทย แต่ถูกถือว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคสาม หรือไม่ อย่างไร

ประเด็นที่ ๓ นางสาวกาญจนา มีสิทธิเข้าเมือง และสิทธิอาศัยในประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร

ประเด็นที่ ๔ นางสาวกาญจนา มีสิทธิได้รับรองในทะเบียนราษฎรของประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร

ประเด็นที่ ๕ นางสาวกาญจนา มีสิทธิในเสรีภาพที่จะเดินทางหรือไม่ อย่างไร

ประเด็นที่ ๕ นางสาวกาญจนา มีสิทธิในการศึกษาหรือไม่ อย่างไร

ประเด็นที่ ๖ นางสาวกาญจนา มีสิทธิมีสุขภาพดีหรือไม่ อย่างไร

ประเด็นที่ ๗ นางสาวกาญจนา มีสิทธิก่อตั้งครอบครัวในประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร

ประเด็นที่ ๘ นางสาวกาญจนา มีสิทธิทำงานในประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร

ประเด็นที่ ๙ นางสาวกาญจนา มีสิทธิลงทุนในประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร

ประเด็นที่ ๑๐ นางสาวกาญจนา มีสิทธิถือครองทรัพย์สินหรือไม่ อย่างไร

ประเด็นที่ ๑๑ นางสาวกาญจนา มีสิทธิมีส่วนร่วมทางการเมืองในประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร

ประเด็นที่ ๑๒ นางสาวกาญจนา มีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร


หมายเลขบันทึก: 530617เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2013 03:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2013 03:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท