กฎหมายคุ้มครองแรงงาน


 กฎหมายคุ้มครองแรงงาน
(Labour Protection Law) 
กฎหมายคุ้มครองแรงงานที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2541 ซึ่งในการประกาศบังคับใช้ดังกล่าว มีผลให้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 เรื่อง คุ้มครองแรงงาน และ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม2515 (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2533 ถูกยกเลิก (มาตรา 3) 
กฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงสิทธิ หน้าที่ระหว่างนาย ลูกจ้าง โดยกำหนด

* มาตรฐานขั้นต่ำในการจ้าง (ค่าจ้างเหมาะสม)
* การใช้แรงงาน
* การจัดสถานที่และอุปกรณ์ในการทำงาน
กฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายที่จำกัดหลักเสรีภาพในการทำสัญญาหรือหลักความศักดิ์สิทธิ์ในการแสดงเจตนา หมายความว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงานหาได้ยกเลิกหลักความศักดิ์สิทธิ์ในการแสดงเจตนาหรือหลักเสรีภาพในการทำสัญญาในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยสิ้นเชิงไม่ หากแต่จำกัดหลักดังกล่าวให้แคบลงเท่านั้น คือจะแสดงเจตนาทำนิติกรรมใด ๆ ให้มีมาตรฐานต่ำกว่าที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานบัญญัติไว้ไม่ได้ แต่ในทางตรงข้าม นายจ้างลูกจ้างยังคงมีเสรีภาพเต็มที่ในการทำสัญญาตราบเท่าที่สัญญานั้นไม่ขัดต่อบทบัญญัติในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กล่าวอีกนัยหนึ่งถ้านายจ้างลูกจ้างแสดงเจตนาทำสัญญาได้สูงกว่ามาตรฐานขั้นต่ำที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานบัญญัติไว้ สัญญานั้นใช้บังคับได้และไม่ให้นำกฎหมายแรงงานมาบังคับใช้
กฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน นิติกรรมใดที่ทำขึ้นขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของกฎหมายคุ้มครองแรงงานย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 หรือแตกต่างจากที่บัญญัติไว้ก็ตกเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน 
* บทบัญญัติที่เป็นข้อห้าม ใช้คำว่า "ห้ามมิให้" 
* ข้อต้องปฏิบัติใช้คำว่า "ให้หรือต้อง"
สรุป ลักษณะสำคัญของกฎหมายคุ้มครองแรงงานได้ ดังนั้น
1. เป็นกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม กฎหมายคุ้มครองแรงงานนั้นผูกพันอยู่กับสภาพสังคม เศรษฐกิจและการเมือง เมื่อสภาพต่าง ๆ เหล่านี้เปลี่ยนแปลงไป กฎหมายคุ้มครองแรงงานก็สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปได้
2. เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน กฎหมายคุ้มครองแรงงานมุ่งที่จะสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะเพื่อคุ้มครองลูกจ้างมิให้ถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบเกินไป บทบัญญัติในกฎหมายคุ้มครองแรงงานจึงเป็นข้อบังคับที่เด็ดขาด เป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญาหากมีการฝ่าฝืน และนายจ้างอาจถูกดำเนินคดีทางแพ่งเพื่อบังคับให้จ่ายเงินหรือชดใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิด้วย
3. เป็นกฎหมายกึ่งมหาชนกึ่งเอกชน คือเป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง จึงมีลักษณะเป็นกฎหมายเอกชน และมีโทษทางอาญาเมื่อมีการฝ่าฝืน ซึ่งเป็นลักษณะของกฎหมายมหาชน
4. เป็นกฎหมายทางสังคม กฎหมายคุ้มครองแรงงานตราขึ้นเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม มุ่งที่จะคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของลูกจ้าง

การตีความกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
การตีความกฎหมายคุ้มครองแรงงานในส่วนที่กำหนดความผิดและมีโทษทางอาญา จะต้องให้เป็นไปเช่นเดียวกับการตีความกฎหมายทั่วไป ส่วนการตีความในกรณีมีปัญหาหรือข้อสงสัยว่าจะตีความบทกฎหมายที่ไม่ชัดแจ้งไปในทางใด ให้ตีความไปในทางหรือนัยที่จะให้การคุ้มครองลูกจ้าง และสร้างปทัสถานที่ดีแก่สังคมแรงงาน ยิ่งกว่าที่จะตีความไปในทางหรือนัยที่จะให้ประโยชน์แก่นายจ้างหรือปัจเจกบุคค

ขอบเขตการบังคับใช้

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541ใช้บังคับแก่นายจ้าง ลูกจ้างในกิจการจ้างงานทุกราย 
ไม่ว่าจะประกอบกิจการปกระเภทใด และไม่ว่าจะมีจำนวนลูกจ้างเท่าใดยกเว้นนายจ้างหรือกิจการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 คือ
1. ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น
2. รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
3. นายจ้างประเภทที่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งจะไม่ใช้บังคับตามกฎหมายทั้งฉบับหรือบางส่วนก็ได้ ซึ่งได้ออกกฎกระทรวง 2 ฉบับ ยกเว้นมิให้ใช้บังคับกฎหมายทั้งฉบับแก่โรงเรียนเอกชนในส่วนที่เกี่ยวกับครูและครูใหญ่ งานเกษตรกรรมและงานรับไปทำที่บ้าน กับยกเว้นไม่ให้ใช้บังคับกฎหมายบางส่วนแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้ประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย (ฎีกาที่ 3206/2533) และนายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ

**ตัวอย่าง งานที่มิได้แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ เช่น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ (ฎีกาที่ 1340/2525) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฎีกาที่ 1785/2527) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา (ฎีกาที่ 2762/2528) กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายตามกฎหมายว่าด้วยอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ จึงไม่มีอำนาจฟ้องกองทุนให้รับผิดค่าชดเชย หนังสือกรมอัยการที่ มท. 1201.1/23065 ลว. 25 พฤศจิกายน 2530)
ในการพิจารณาว่างานที่ทำมีการแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจหรือไม่ มิใช่ดูเพียงวัตถุประสงค์ขององค์การเท่านั้น ถ้ามีการเรียกค่าตอบแทนถือว่าเป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ

นายจ้าง-ลูกจ้าง (บุคคลสำคัญตามกฎหมายแรงงาน)
นายจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานนายจ้างมี 4 ประเภท คือ (มาตรา 5)
1. นายจ้างตัวจริง หมายถึง บุคคลที่ตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ ซึ่งเป็นนายจ้างตัวจริง
2. นายจ้างตัวแทน หมายถึง ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล
3. นายจ้างรับมอบ หมายถึง ผู้ซึ่งได้รับมอบให้ทำงานแทนนายจ้างตัวจริงหรือนายจ้างตัวแทน
4. นายจ้างรับถือ หมายถึง ผู้ประกอบการที่มีกิจการจ้างเหมาค่าแรง ซึ่งถือว่าเป็นทั้งนายจ้างของลูกจ้างตนเองและนายจ้างของลูกจ้างซึ่งมารับเหมาค่าแรงในกิจการของตนด้วย
ลูกจ้าง หมายความว่า ผู้ที่ตกลงทำงานให้แก่ลูกจ้างโดยได้รับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร 
ลูกจ้างจึง หมายถึงลูกจ้างทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างทดลองงาน ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน 
ลูกจ้างที่ทำงานไม่เต็มเวลา ลูกจ้างสัญญาพิเศษ และรวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้านด้วย

การคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

1. การคุ้มครองทั่วไป 
2. การใช้แรงงาน
3. การใช้แรงงานหญิง
4. การใช้แรงงานเด็ก
5. การจ่ายค่าตอบแทนการทำงาน
6. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
7. การจัดทำเอกสารการจ้าง
8. การพักงาน
9.. การจ่ายค่าชดเชย


หมายเลขบันทึก: 530513เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2013 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2013 10:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท