เพาะเลี้ยงจิ้งหรีดขาย


รายงานพิเศษ เกษตรกรรมล้ำค่า เมืองเจ้าพ่อพญาแล...ชัยภูมิ

ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา

ชาวบ้านหนองบ่อ อำเภอบ้านเขว้า เพาะเลี้ยงจิ้งหรีดขาย รายได้ไม่ธรรมดา

"ลำพังรายได้จากการปลูกข้าวอย่างเดียวอาจไม่พอเพียงต่อการประทังชีพ หากไม่คิดหารายได้เสริมจากอย่างอื่นเข้ามาจุนเจือ"

นั่นเป็นความคิดที่ผุดขึ้นของคนกลุ่มหนึ่งในหมู่บ้านหนองบ่อ ตำบลบ้านโนนแดง อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ โดยเฉพาะชาวบ้านผู้หญิงที่มีช่วงเวลาว่างภายหลังจากภารกิจการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว

หน่วยงานภาคราชการที่มีบทบาทในการส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวคือ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) อำเภอบ้านเขว้า (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอบ้านเขว้า) จึงได้จัดหลักสูตรเป็นอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ ทั้งนี้ หลักคิดในเบื้องต้นคือ การใช้วัตถุดิบที่มีในชุมชนท้องถิ่นนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน

การเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดจำหน่าย เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับการแนะนำส่งเสริม เพราะไม่มีความยุ่งยาก เลี้ยงได้ง่ายในสภาพความเป็นธรรมชาติของสถานที่เลี้ยงโดยไม่ต้องไปปรับแต่งอะไร อีกทั้งยังมีความนิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย รสชาติอร่อย มีโปรตีนสูง อีกทั้งยังมีความต้องการทางตลาดสูง ส่วนใหญ่ผู้เลี้ยงจะนำจิ้งหรีดมาเป็นอาหารโดยการแปรรูป คั่วหรือทอดขายตามตลาดทั่วไป



ภาคราชการเห็นประโยชน์

ช่วยส่งเสริมอาชีพทันที




ดังนั้น เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ชาวบ้านเกือบทุกหลังคาเรือนของหมู่บ้านหนองบ่อ หมู่ที่ 6 จึงได้เริ่มมีการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดขายเพื่อเป็นรายได้เสริม และเมื่อมาถึงขณะนี้พบว่าหลายรายต้องหยุดทำ เนื่องจากไม่ประสบความสำเร็จ คงเหลือเพียงไม่กี่รายที่สามารถทำได้ต่อ

ได้ทราบเรื่องราวเหล่านี้จาก คุณทองขันธ์ กาลเขว้า ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรบ้านหนองบ่อ หมู่ที่ 6 และประธานกลุ่มได้อาสาพาไปพบกับผู้เลี้ยงจิ้งหรีดที่ยังคงทำเป็นอาชีพเสริมอยู่ แต่น่าเสียดายเมื่อไปถึง บ้านเลขที่ 30 บ้านหนองบ่อ หมู่ที่ 6 ตำบลโนนแดง อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นบ้านของ คุณราตรี สิงห์ทอง เป็นสมาชิกกลุ่มแม่บ้านฯ ในวันนั้นเธอไม่ได้อยู่บ้าน ดังนั้น คุณทองขันธ์ ซึ่งเคยมีประสบการณ์การเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดมาก่อนจึงได้ให้ข้อมูลทั้งหมดแทน

คุณทองขันธ์ เล่าว่า การเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด เป็นการแนะนำส่งเสริมจากทางเจ้าหน้าที่ของ กศน. ที่ให้ทุนเริ่มต้นในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์แก่ชาวบ้านทุกคนที่ต้องการ ครั้นเลี้ยงไปสักระยะชาวบ้านหลายรายต้องประสบปัญหาจากการเลี้ยง ทำให้จิ้งหรีดตาย ซึ่งเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงของอากาศที่ไม่มีความแน่นอน ขณะนี้จึงเหลือเพียงไม่กี่รายที่ทำเป็นรายได้เสริม

"ตอนเริ่มต้นที่ทาง กศน. ให้ทุนมา ได้มีการจัดหาอุปกรณ์เป็นกระบะไม้ ขนาดใหญ่ จำนวน 2-3 แผ่น มีตาข่ายพลาสติก ถาดพลาสติกและอื่นๆ พร้อมกับจัดหาตัวอ่อนมาให้อีกจำนวนหนึ่งด้วย" ประธานกลุ่มกล่าว



วิธีการและขั้นตอน

การเลี้ยงไม่ยุ่งยาก




คุณทองขันธ์ เผยถึงขั้นตอนและวิธีการว่า จากไข่จิ้งหรีดที่นำมาไว้ในกล่องที่คลุมด้วยพลาสติกใส การคลุมด้วยพลาสติกเพื่อต้องการให้เกิดความร้อน คล้ายกับการอบ เหตุผลเพราะต้องการให้ไข่เป็นตัวอ่อนเร็ว ในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 7 วัน และยังเล่าต่อว่าถ้าเป็นช่วงหน้าหนาวจะใช้เวลามากกว่านี้ สำหรับภาชนะที่ใส่ไข่จิ้งหรีดจะใช้ถาดพลาสติกแบน ไม่ลึกมาก ขนาดไม่ต้องใหญ่ ประมาณ 25 คูณ 30 เซนติเมตร แล้วใส่แกลบในถาด ซึ่งไข่จะมีสีขาวนวล ลักษณะเรียวยาวคล้ายเม็ดข้าวสาร เมื่อฟักนานๆ จะมีสีเหลืองและเป็นสีดำก่อนจะฟักออกเป็นตัวอ่อน

"เมื่อไข่กลายเป็นตัวอ่อน จะย้ายมาใส่ในกระบะไม้ขนาดใหญ่ที่ปูพลาสติกไว้ด้านล่างแล้วทับด้วยใบตอง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันตัวอ่อนที่มีขนาดเล็กมากจะหลุดลงไปใต้กระบะไม้ พอเลี้ยงไปได้ประมาณ 10-15 วัน หรือดูว่ามีขนาดเท่ากับแมลงวันจะเอาพลาสติกออก ให้ใช้เป็นมุ้งพลาสติกแทน เพราะเมื่อมีอากาศถ่ายเทสะดวกจะช่วยให้จิ้งหรีดโตเร็ว" คุณทองขันธ์ บอก



จิ้งหรีดที่พร้อมไข่ ปีกมีสีส้ม

ก้นจะสั่นแล้วถูกับใบไม้




จากนั้นจะใช้เวลา ประมาณ 30-40 วัน จิ้งหรีดจะเจริญเติบโต มีการพัฒนาการจากวัยเด็กไปสู่วัยหนุ่มสาว และเริ่มมีการออกไข่

"ลักษณะตัวที่พร้อมจะวางไข่ ให้สังเกตที่ปีกจะมีสีส้ม แล้วจิ้งหรีดจะหย่อนก้นไปที่ใบไม้ จะใช้ก้นดันใบไม้หรือวัสดุที่วางบนกระบะ เป็นการแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่ต้องการวางไข่ในความเป็นธรรมชาติ ดังนั้น สรุปคือ จิ้งหรีดจะร้อง ปีกออกสีส้มเหลืองๆ ก้นจะสั่น อาการเหล่านี้บ่งบอกว่าพวกมันต้องการวางไข่แล้ว" คุณทองขันธ์ อธิบาย

หลังจากที่จิ้งหรีดวางไข่ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 คืน จำนวนการวางไข่ ครั้งละ 60 ถาด จากนั้นคนเลี้ยงจะต้องจับจิ้งหรีดส่งขาย ส่วนไข่ให้แยกไปเก็บไว้ที่กระบะ ซึ่งมีพลาสติกคลุมเพื่อรอการเปลี่ยนไปเป็นตัวอ่อนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ไข่จิ้งหรีดสามารถนำไปขายต่างหากเพื่อใช้เพาะพันธุ์



การจำหน่ายจิ้งหรีด



สำหรับตลาดขายจิ้งหรีดนั้น คุณทองขันธ์ เผยว่า มีทั้งหมด 2 ส่วน ส่วนแรก จะขายตัวจิ้งหรีดทันทีภายหลังที่วางไข่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ต้องรีบจับขาย เพราะมิเช่นนั้นจิ้งหรีดจะตายตามอายุขัย ส่วนที่สอง เป็นการขายไข่จิ้งหรีด เพราะลูกค้าจะนำไปเพาะพันธุ์

"ลูกค้าที่ซื้อจิ้งหรีดจะนำไปขายตามร้านอาหารหรือตามตลาดนัดเพื่อใช้ทอดบริโภค กับลูกค้าอีกกลุ่มจะซื้อไปเป็นเหยื่อสำหรับตกปลา

ช่วงปกติจะขายจิ้งหรีดในราคา กิโลกรัมละ 100 บาท ถ้าเป็นช่วงฤดูฝนนิยมซื้อเป็นเหยื่อตกปลา จะขายกิโลกรัมละ 200 บาท ทั้งนี้หากอยู่ในช่วงคนนิยมซื้อไปตกปลา ซึ่งมีราคาขายสูงกว่า เจ้าของจะไม่ยอมขายเพื่อไปบริโภค จำนวนในแต่ละรุ่น ประมาณ 6-7 กิโลกรัม สำหรับไข่จิ้งหรีดนั้นจะขายแบบ 3 ถาด ราคา 100 บาท" ประธานกลุ่มแม่บ้านให้รายละเอียดเพิ่ม



สภาพอากาศและกลิ่นสารเคมี

คือปัญหาสำคัญ




ปัญหาสำคัญต่อการเลี้ยงจิ้งหรีดมักจะเกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวน เช่น ร้อนมาก หนาวมาก ฝนมาก อย่างถ้าอากาศร้อนมากเกินไปจิ้งหรีดอาจตาย ถ้าอากาศหนาวมาก จะส่งผลในเรื่องไข่ที่จะเปลี่ยนเป็นตัวอ่อนจะช้ากว่าปกติ หรือถ้าฝนตกมากแล้วทำให้จิ้งหรีดเปียกน้ำ ก็อาจทำให้จิ้งหรีดตายเช่นกัน ทั้งนี้ หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น เจ้าของจะต้องคอยปรับสภาพการเลี้ยงให้มีความเหมาะสม

นอกจากสภาพความไม่แน่นอนของอากาศแล้ว ปัจจัยอื่นคือ กลิ่นสารเคมี จะต้องใช้ความระมัดระวังด้วย ในเรื่องนี้คุณทองขันธ์ บอกว่า ยากันยุง ไม่ว่าจะเป็นชนิดจุดหรือฉีดห้ามเข้าใกล้บริเวณที่เลี้ยงเด็ดขาด เพราะจิ้งหรีดจะอ่อนไหวกับกลิ่นเหล่านี้มาก หากไปโดนเข้าจะตายทันที

การให้อาหารจิ้งหรีดเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยาก เธออธิบายต่อว่า ใช้ผักที่ปลูกอยู่ตามบ้านทั่วไป หรือใบไม้ที่ขึ้นอยู่หน้าบ้านใช้เลี้ยงจิ้งหรีดได้ อย่างที่ชาวบ้านปลูกไว้กันส่วนมาก เช่น ฝักแค ใบหม่อน หรือผักบุ้ง เก็บมาวางไว้ในกระบะที่เลี้ยง จากนั้นจิ้งหรีดจะแทะกินเอง

"อีกอย่างขี้จิ้งหรีดที่อยู่ด้านล่างกระบะเลี้ยงสามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์กับพืชทุกชนิดได้ ทำให้พืชเจริญงอกงามได้อย่างดี เป็นการลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยอีกด้วย

จะเห็นว่าการเลี้ยงจิ้งหรีดดูจะไม่ใช่เรื่องยากมากนักสำหรับคนที่สนใจจริง เพียงแต่คุณอาจจะต้องเอาใจใส่เช่นเดียวกับการเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่นๆ และที่ผ่านมาคนเลี้ยงจิ้งหรีดจะมีรายได้ไม่น้อยเลยในช่วงเวลาเลี้ยงประมาณเดือนกว่าคุณก็ได้รับเงิน จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับการหารายได้ที่ไม่ยาก" คุณทองขันธ์ กล่าวตบท้าย

หากท่านใดสนใจข้อมูลการเลี้ยงจิ้งหรีด หรือสั่งซื้อ ติดต่อ คุณทองขันธ์ กาลเขว้า ที่เบอร์โทรศัพท์ (084) 542-7946





รู้จัก จิ้งหรีด กันดีหรือยัง

"จิ้งหรีด" เป็นแมลงที่มีลักษณะปากเป็นแบบปากกัด มีตารวม หนวดยาว ขาคู่หลังมีขนาดใหญ่และแข็งแรง เพศเมียปีกเรียวและมีอวัยวะวางไข่ยาวแหลมคล้ายเข็มยื่นออกมาจากส่วนท้อง เพศผู้มีปีกคู่หน้าย่นสามารถทำเสียงได้ จิ้งหรีดจัดเป็นแมลงชนิดหนึ่งที่พบได้ในทุกภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะเขตร้อนอย่างประเทศไทย จิ้งหรีดมักกัดกินต้นกล้าของพืช ใบพืช ส่วนที่อ่อนๆ เป็นอาหาร

จิ้งหรีด มีหลายชนิด หลายขนาดแตกต่างกันไปตามพฤติกรรมลักษณะพิเศษของจิ้งหรีดที่แตกต่างจากแมลงชนิดอื่นอย่างโดดเด่นและสังเกตได้ง่ายคือ การส่งเสียงร้องและการผสมพันธุ์ที่เพศเมียจะคร่อมบนเพศผู้เสมอ ปัจจุบันคนนิยมบริโภคจิ้งหรีดเป็นอาหารเพราะมีโปรตีนสูง ปลอดสารพิษ

ในธรรมชาติจะหาจิ้งหรีดมาเพื่อบริโภคได้ไม่มากนัก บางฤดูมีมาก บางฤดูแทบจะหาไม่ได้เลย เช่น ฤดูหนาว จิ้งหรีดจะขยายพันธุ์ช้า หากมีการจัดการที่ดี จะมีจิ้งหรีดไว้บริโภคหรือจำหน่ายได้ตลอด

ชนิดของจิ้งหรีด ที่พบในประเทศไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย มีจำนวน 5 ชนิด

1. จิ้งหรีดดำ

2. จิ้งหรีดทองแดง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกจิ้งหรีดนี้เป็นภาษาถิ่นว่า จินาย อิเจ๊ก จิ้งหรีดม้า เป็นต้น

3. จิ้งหรีดเล็ก มีขนาดเล็กที่สุด สีน้ำตาล บางท้องที่เรียกว่า จิลอ จิ้งหรีดผี หรือแอ้ด เป็นต้น

4. จิ้งโก่ง เป็นจิ้งหรีดขนาดใหญ่ สีน้ำตาล ชอบอยู่ในรูลึก โดยจะขุดดินสร้างรังอาศัยได้เอง และพฤติกรรมชอบอพยพย้ายที่อยู่เสมอ มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น จิโปม จิ้งกุ่ง เป็นต้น

5. จิ้งหรีดทองแดงลาย มี 2 ชนิด คือชนิดที่มีปีกครึ่งตัว และชนิดที่มีปีกยาวเหมือนจิ้งหรีดทั่วไป

ประโยชน์การเลี้ยงจิ้งหรีด

1. เป็นทางเลือกหนึ่งในการประกอบอาชีพ

2. เพื่อส่งเสริมให้มีอาหารปลอดสารพิษไว้บริโภค

3. เป็นกิจกรรมยามว่าง ส่งเสริมสุขภาพจิต โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ

4. เป็นอาหารสัตว์ เช่น ไก่ กบ เป็ด ปลา และอื่นๆ

5. ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง (จิ้งหรีดกระป๋อง)

6. เพื่อการกีฬา เช่น ใช้เป็นเหยื่อตกปลา

การผสมพันธุ์

เมื่อลอกคราบเป็นตัวเต็มวัย ประมาณ 3-4 วัน ก็จะเริ่มผสมพันธุ์ ตัวผู้จะส่งเสียงเรียกหาตัวเมีย ตอนแรกจะส่งเสียงเรียกหาตัวเมีย โดยจะส่งเสียงดังและร้องเป็นช่วงยาวๆ เพื่อให้ตัวเมียเข้ามาอยู่ใกล้ๆ จิ้งหรีดจะอาศัยเสียงร้องเท่านั้น จึงจะเห็นเพศตรงข้าม เนื่องจากสายตาไม่ดี หนวดรับการสัมผัสไม่ค่อยดี จะสังเกตได้ เมื่อตัวเมียเกาะอยู่นิ่งๆ ตัวผู้จะเดินผ่านไปทั้งๆ ตัวเมียอยู่ใกล้

เมื่อพบตัวเมียแล้วเสียงร้องจะเบาลงเป็นจังหวะสั้นๆ กริก...กริก...กริก...ถอยหลังเข้าหาตัวเมีย เพื่อให้ตัวเมียขึ้นคร่อมรับการผสมพันธุ์ ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที โดยตัวผู้จะยื่นอวัยวะเพศแทงไปที่อวัยวะเพศเมีย แล้วปล่อยถุงน้ำเชื้อมีลักษณะปลายเป็นลูกศรออกไปติดที่อวัยวะเพศเมีย หลังจากนั้น ถุงน้ำเชื้อจะฝ่อลง ตัวเมียจะใช้ขาเขี่ยถุงน้ำเชื้อทิ้งไป

การวางไข่

หลังจากผสมพันธุ์แล้ว 3-4 วัน ตัวเมียจะเริ่มวางไข่โดยใช้อวัยวะที่ยาวแหลมคล้ายเข็ม ความยาวประมาณ 1.50 เซนติเมตร แทงลงไปในดินลึก 1-1.50 เซนติเมตร และวางไข่เป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3-4 ฟอง ตัวเมีย 1 ตัว จะวางไข่ได้ประมาณ 1,000-1,200 ฟอง ปริมาณไข่สูงสุดช่วง วันที่ 15-16 นับจากการผสมพันธุ์ จากนั้นไข่จะลดลงเรื่อยๆ จนจิ้งหรีดหมดอายุขัย


ขอขอบคุณ

www.kasetonline.com

pineapple-eyes.snru.ac.th

lekkathaifood.blogspot.com

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 530104เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2012 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท