สสส. ประกาศเปิดรับชุมชน เสนอโครงการ “ร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่” ปี 2555


หลักการและเหตุผล

          ชุมชน/ท้องถิ่นเป็นฐานหลักของสังคม แนวคิดการพัฒนาระดับชุมชนและท้องถิ่นให้เข้มแข็ง น่าอยู่ ปลอดภัย มีพัฒนาการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ทั้งด้านสังคม การศึกษา สุขภาพ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม จะส่งผลให้ประชาชนในชุมชนมีสุขภาวะที่ดี และหากทุกชุมชน/ท้องถิ่นมุ่งมั่นดำเนินการอย่างกว้างขวาง ประเทศไทยก็จะพัฒนาอย่างมีทิศทาง เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด

          ชุมชนจะเข้มแข็ง น่าอยู่ และพึ่งตนเองได้ ต้องอาศัยความรับผิดชอบ การเรียนรู้ ร่วมคิดร่วมทำ ตลอดจนอาศัยความร่วมมือและข้อมูลทางวิชาการจากหน่วยงานในท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน  เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิด ปรับพฤติกรรมการผลิตและการบริโภคโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รักษาสิ่งแวดล้อม เน้นการพึ่งตนเอง เป็นสังคมเอื้ออาทร พึ่งพาอาศัยกันได้ และไม่ทอดทิ้งกัน

           จากการสนับสนุนโครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ส่งผลให้เกิดแนวคิดในการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ ดังต่อไปนี้

  1. การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การพัฒนาผู้นำและส่งเสริมการรวมกลุ่มของชุมชน โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่
  2. การส่งเสริมและปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมที่เหมาะสม เพื่อนำมาปรับใช้กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. มุ่งเน้น“การปรับทัศนคติ”และ“เสริมพลังชุมชน” พร้อมทั้งเปิดโอกาสในการเรียนรู้และการเข้าถึงองค์ความรู้ของชุมชน

สสส. ตระหนักถึงความสำคัญข้างต้น จึงขอเชิญชวนชุมชน และท้องถิ่น เสนอโครงการเพื่อร่วมสร้างสรรค์ชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ที่สุด

 

วัตถุประสงค์

          เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาไปสู่ชุมชนและท้องถิ่นที่น่าอยู่โดยชุมชนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ ที่ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ กาย ใจ สังคม และ ปัญญา หรือในมิติใดมิติหนึ่ง

 

คุณสมบัติของผู้เสนอโครงการ

  1. ระดับหมู่บ้าน มีผู้ร่วมรับผิดชอบโครงการอย่างน้อย 3-5 คน ประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้านหรือประธานชุมชน สมาชิก อบต. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือตัวแทนกลุ่มต่างๆ ในชุมชนที่มีอยู่เดิม เช่น กลุ่มออมทรัพย์ ชมรมผู้สูงอายุ หรือกลุ่มอื่นๆ เป็นองค์ประกอบหลักในการดำเนินโครงการ
  2. คณะผู้รับผิดชอบโครงการต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในตำบลนั้นๆ  และมีศักยภาพที่จะบริหารจัดการโครงการให้สำเร็จได้ และมีโครงสร้างการบริหารจัดการโครงการที่ชัดเจน
  3. ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ต้องมีคุณสมบัติหรือองค์ประกอบดังนี้

      1) เป็นชุมชนที่มีความสนใจและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นของตนเองให้น่าอยู่

     2) เป็นชุมชนที่มีสภาผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งและมีแกนนำกลุ่มต่างๆ ในหมู่บ้าน โดยมีการบริหารจัดการด้วย 8 ก. ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนงานในชุมชน ได้แก่

  • แกนนำ กลุ่ม/องค์กร : มีแกนนำชุมชน หรือกลุ่ม/องค์กรหลักในการรับผิดชอบและขับเคลื่อนงาน
  • กัลยาณมิตร : มีการสร้างสัมพันธภาพ ภาคีเครือข่ายในการร่วมสนับสนุนและขับเคลื่อนงาน
  • กองทุน : มีการระดมทรัพยากรเพื่อเป็นกองทุนของชุมชนเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนงาน
  • การจัดการ : มีระบบการจัดการ มีการแบ่งหน้าที่/โครงการสร้างการทำงานที่ชัดเจน
  • การเรียนรู้ : ส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชน
  • การสื่อสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ : มีการสื่อสารข้อมูลโครงการเป็นระยะ เพื่อสร้างความตื่นตัวของชุมชน ตลอดจนสื่อสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชน
  • กระบวนการพัฒนา : มีกระบวนการพัฒนาเสริมศักยภาพสำหรับคนในชุมชน
  • กฎกติกา/กฎระเบียบชุมชน : ควรมีการกำหนดกฎกติกา ระเบียบชุมชนเพื่อเป็นแนวทาง  ข้อปฏิบัติร่วมกันของชุมชน

   3)  เป็นชุมชนที่มีการประชุมหมู่บ้านอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละครั้ง และมีการสำรวจข้อมูลพื้นฐานชุมชนเพื่อการจัดทำแผนชุมชน

   4) แสดงให้เห็นทุนเดิมของชุมชน เช่น การทำประชาคมในชุมชน  การรวมกลุ่มในชุมชน กองทุนหมู่บ้าน สวัสดิการชุมชน เป็นต้น

  1. คณะผู้รับผิดชอบโครงการที่เคยได้รับทุนจาก สสส. หรือแหล่งทุนอื่นๆ จะต้องแจ้งให้ สสส. ทราบ และเสนอโครงการฯ ที่ยกระดับคุณภาพ หรือต่อยอดจากโครงการเดิม หรือมีส่วนเพิ่มเติมที่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ
  2. สสส. สงวนสิทธิ์ไม่พิจารณาโครงการในกรณีที่ผู้เสนอโครงการไม่มีคุณสมบัติตามระบุข้างต้น และ เป็นผู้ที่มีประวัติการรับทุน สสส. ที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญา  รวมถึงผู้ที่อยู่ระหว่างการรับทุนเพื่อดำเนินโครงการกับ สสส.

 ลักษณะโครงการที่สนับสนุน

  1. โครงการที่เสนอต้องแสดงข้อมูลเชิงประจักษ์เกี่ยวกับปัญหา และทุนเดิมที่ชุมชนมีอยู่ (ทุนทางสังคม ทุนวัฒนธรรม ทุนทรัพยากรธรรมชาติ  หรือทุนภูมิปัญญา) มีการวางแผนและการดำเนินการเพื่อการแก้ไขปัญหาตรงกับความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริงและแสดงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและมีกิจกรรมสร้างสรรค์ เป็นโครงการที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในทุกกระบวนการตั้งแต่ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูล ร่วมดำเนินงาน และร่วมติดตามประเมินผล เพื่อทำให้ชุมชนและท้องถิ่นน่าอยู่
  2. เป็นโครงการที่มีการวางแผนการทำงานที่ชัดเจนและมีแนวโน้มในการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง
  3. ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการต้องเป็นคนในชุมชน ไม่เฉพาะเจาะจงสมาชิกกลุ่ม ชมรม หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง
  4. เป็นโครงการที่มีรายละเอียดกลวิธีการดำเนินงานและแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจน มีค่าใช้จ่ายสมเหตุสมผล หากจำเป็นต้องซื้อวัสดุอุปกรณ์หรือครุภัณฑ์ หรือสร้างถาวรวัตถุ จะสนับสนุนไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณโครงการ
  5. สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และแนวทางการสนับสนุนทุนของ สสส.

 ขั้นตอนการพิจารณาโครงการและสนับสนุนโครงการ

  1. ผู้สนใจเสนอโครงการตามแบบฟอร์ม “ข้อเสนอแนวคิดโครงการ” โดยขอให้แสดงรายละเอียดให้ชัดเจน และกิจกรรมต้องเชื่อมโยงกับการสร้างเสริมสุขภาพ  โดยมุ่งที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่กำหนด
  2. สสส. พิจารณาคัดเลือกข้อเสนอแนวคิดโครงการที่เข้าข่ายการสนับสนุนตามแนวทางที่กำหนด
  3. สสส. จะสนับสนุนให้ผู้รับผิดชอบโครงการที่ผ่านการคัดเลือกในขั้นต้นเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการและศึกษาดูงานชุมชนตัวอย่างแต่ละภูมิภาค
  4. ผู้รับผิดชอบโครงการนำประสบการณ์ที่ได้ไปพัฒนาข้อเสนอโครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ให้ชัดเจนและสมบูรณ์  โดย สสส. สนับสนุนทุนโครงการละไม่เกิน 200,000 บาท
  5. คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ สสส. พิจารณาสนับสนุนทุนโครงการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และขอสงวนสิทธิ์การใช้ดุลยพินิจหากโครงการที่เสนอไม่ตรงตามเกณฑ์

 ทุนสนับสนุน

 

  • สสส. สนับสนุนทุนโครงการที่ผ่านการพิจารณาให้กับชุมชน/ท้องถิ่น 1 โครงการ โครงการละไม่เกิน 200,000 บาท ระยะเวลา 1 ปี
  • โครงการจะได้รับการสนับสนุนทุนต่อเนื่องในปีที่ 2 เมื่อคณะกรรมการฯ ได้ประเมินผลสำเร็จของโครงการในปีที่ 1 และประเมินความเป็นไปได้ในการทำโครงการปีที่ 2 แล้ว

 ระยะเวลาดำเนินการ

 

 

กิจกรรม

ระยะเวลา

สสส. เปิดรับโครงการ

ตั้งแต่วันที่  1 พฤษภาคม 2555 – 31 พฤษภาคม 2555

สสส. จัดประชุมปฏิบัติการ/ศึกษาดูงาน และพัฒนาโครงการ

ตั้งแต่วันที่  1 มิถุนายน 2555 – 15 กรกฎาคม 2555

สสส. พิจารณาอนุมัติโครงการ

ภายในเดือนสิงหาคม 2555

ช่วงเวลาเริ่มต้นโครงการ

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป

 

ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติม ที่

สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (คุณพินทุสร / คุณฐิติพร /

คุณปรีดารัตน์ / คุณกิติพัฒน์ / คุณตรีทิพย์นิภา / คุณอลิศรา)

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

โทร. 02-2980500 ต่อ 1112 – 1113 , 1115 – 1116 , 1118 - 1119

และสามารถดูรายละเอียดและ Download ข้อมูลจาก www.thaihealth.or.th

http://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/892/668/original_livingtor.pdf?1363672339

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 530038เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มกราคม 2013 23:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท