เตือนหน้าร้อน เดินทาง ฉลองเทศกาล เด็กเล็ก ผู้สูงอายเสี่ยงป่วยโรคอาหารเป็นพิษรุนแรง


เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2555 นายแพทย์โกวิท  พรรณเชษฐ์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ  กลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค  กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ปัญหาโรคที่มักจะเกิดขึ้นคือโรคที่มากับอาหารและน้ำ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงขึ้นทำให้เชื้อโรคโดยเฉพาะแบคทีเรียที่ปนเปื้อนในอาหารและน้ำสามารถเจริญเติบโตได้รวดเร็ว จนมีปริมาณเพียงพอที่จะก่อให้เกิดโรคได้  หนึ่งในโรคที่พบผู้ป่วยได้บ่อยในฤดูร้อนก็คือ โรคอาหารเป็นพิษ ( Food poisoning )

          ปี พ.ศ.2555 นี้ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ( พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ สุโขทัย ตาก ) พบการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษ ที่มีการรับประทานอาหารร่วมกันทั้งในโรงเรียน งานเทศกาล และงานพิธีต่าง ๆ รวม 3 ครั้ง  ในแต่ละครั้งมีผู้ป่วยมากกว่า 50 คน เนื่องจากในเดือน เมษายน ของทุกปีจะเป็นช่วงที่ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อเฉลิมฉลองงานเทศกาลสงกรานต์เป็นจำนวนมาก ซึ่งมักมีการจัดเลี้ยงอาหารในกลุ่มคนมาก ๆ มักจะมีการรับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุก  จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้ 

          สาเหตุโรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคหรือสารพิษที่สร้างจากเชื้อโรค หรือสารพิษอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เชื้อโรค เช่น เห็ดพิษ พืชพิษต่าง ๆ เป็นต้น  อาหารเป็นพิษที่เกิดจากเชื้อโรคสามารถติดต่อกันได้ และพบการระบาดเป็นครั้งคราวในหมู่คนที่กินอาหารร่วมกัน เช่น อาหารในโรงเรียน งานเลี้ยงในพิธีและเทศกาลต่าง ๆ เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุสำคัญของอาหารเป็นพิษที่พบได้บ่อยได้แก่เชื้อสแตฟฟิโลคอคคัส สเตรปโตคอคคัส ซัลโมเนลล่า และคลอสตริเดียม

          อาการที่สำคัญที่สำคัญของโรคอาหารเป็นพิษ คือ การปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง  และถ้าเป็นรุนแรง  อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและเป็นอันตรายได้โดยเฉพาะในเด็กและคนชรา  ระยะฟักตัวขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของเชื้อหรือพิษจากเชื้อที่รับเข้าไป  แต่โดยทั่วไปมักพบเกิดอาการ 2 – 6 ชั่วโมง จนถึง 2 – 3 วัน  ประมาณร้อยละ 80 – 90 เป็นผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงและหายได้ภายใน 2 – 3 วัน  ในผู้ที่มีอาการรุนแรงคือ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้องมาก ดื่มน้ำไม่ได้ ไข้สูง ควรพาไปสถานบริการสาธารณสุขใกล้เคียงโดยเร็ว

          สำหรับการป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ทำได้ดังนี้คือ หน่วยงานท้องถิ่น ให้ปรับปรุงสุขาภิบาลอาหารและน้ำ ตลาดให้ได้มาตรฐานเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค  ในส่วนประชาชน ควรรักษาสุขอนามัยพื้นฐานโดยการล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ กินอาหารสุก ใหม่ สะอาด  หากเป็นผักสดควรล้างให้สะอาด หรือแช่น้ำยาฆ่าเชื้อเช่น ด่างทับทิม  และการดูแลความสะอาดเครื่องใช้ในครัว  และแยกเก็บอาหารให้ถูกสุขลักษณะ

          นายแพทย์โกวิท  กล่าวต่อว่า ในส่วนผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่  ควรเตรียมความพร้อมและดำเนินการทีมเครือข่ายทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ทุกระดับให้พร้อม รวมทั้งวัสดุ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ต่าง ๆ ในการสอบสวนและควบคุมโรค เฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิดโดยทีมเครือข่ายทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็วระดับตำบล และอาสาสมัครสาธารณสุข ( อสม.) เป็นผู้หาและแจ้งข่าวทันทีที่พบเหตุการณ์ที่มีผู้ป่วยอาหารเป็นพิษที่เกิดขึ้นพร้อมกันมากกว่า 2 คน  และสื่อสารความเสี่ยงให้คำแนะนำกับประชาชน และผู้ประกอบอาหารได้รับทราบอย่างทั่วถึงและปฏิบัติได้ถูกต้อง  หากทุกหน่วยงานและทุกคนร่วมมือกันตามคำแนะนำข้างต้น  ก็จะช่วยลดการป่วยและการแพร่กระจายโรคอาหารเป็นพิษลงได้

ข้อความหลัก " กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือสะอาด ป้องกันโรคอุจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ

กรมควบคุมโรค  ห่วงใย  อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/2555/04_04_fps.html

 

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 529949เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2012 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2012 08:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท