แนะ 5 วิธีปกป้องบุตรหลานจากพิษสารตะกั่ว ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวชีวิตประจำวัน


มื่อวันที่ 27 มีนาคม 2555 เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ  สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก  กรมควบคุมโรค กล่าวว่า  จากความเสี่ยงของเด็กในพื้นที่บริเวณแนวชายแดนมีอาจมีสารตะกั่วในเลือดสูงนั้น  ประชาชนทั่วไปควรมีความรู้เกี่ยวกับสารตัวนี้  สารตะกั่วเป็นโลหะหนัก มีคุณสมบัติที่อ่อนตัวสามารถดัดเป็นรูปร่างต่างๆได้ทำให้ถูกนำไปใช้ได้หลายอย่าง เช่น เป็นส่วนประกอบบางส่วนในภาชนะประกอบอาหาร แบตเตอร์รี่ หมึก สี ตัวเชื่อม ท่อน้ำ

สารนี้สามารถอยู่ในอากาศ น้ำ ดิน จากสิ่งแวดล้อมสีทาอาคารที่มีสารตะกั่วผสมอยู่ อาคารเก่ามักจะมีสะเก็ดสีหลุดออกมา  เด็กอาจนำมือหรือของที่ปนสีเข้าร่างกายทางปากได้  นอกจากนั้นผู้ที่ทำอาชีพสัมผัสกับสารตะกั่ว เช่น ช่างสี ช่างถลุงแร่ ช่างเครื่องยนต์ ช่างเชื่อม กรรมกรก่อสร้างท่อ สะพาน ก็จะมีฝุ่นผงตะกั่วเกาะติดกับเสื้อผ้าที่ทำงาน  พิษจากสารตะกั่วจะพบได้บ่อยที่สุดในบรรดาโรคที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม  มักจะเกิดในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 6 ปี โดยมากมักเกิดในเด็กที่พ่อแม่มีฐานะยากจน  โดยได้รับสารนี้จากเศษสีที่หล่น หรือจากอากาศ น้ำ หรืออาหาร  ผู้ปกครองควรจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสารตะกั่ว เพื่อป้องกันบุตรหลานมิให้รับสารนี้จากสิ่งแวดล้อม

สารตะกั่วสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายวิธีทั้งทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ  ร่างกายผู้ใหญ่จะสามารถดูดซึมสารตะกั่วจากทางเดินอาหารได้ประมาณร้อยละ 11 แต่สำหรับเด็กจะดูดซึมได้มากกว่าคือประมาณร้อยละ 30-75 เมื่อสารตะกั่วเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารของเด็กจะดูดซึมได้ดี เด็กที่ขาดสารอาหาร ขาดธาตุเหล็ก ขาดธาตุแคลเซียม หรือรับประทานอาหารมันๆ จะเพิ่มการดูดซึมของสารตะกั่ว ส่วนในทางเดินหายใจนั้นร่างกายจะสามารถดูดซึมได้ประมาณร้อยละ 50 ทางผิวหนังจะดูดซึมสารนี้ได้น้อย 

อาการของสารตะกั่วเป็นพิษ  คือ จะมีผลเสียต่อสมองและการติดต่อของเซลล์ประสาท โดยสารตะกั่วในเลือดเพิ่มขึ้นทุก 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร จะทำให้ระดับไอคิวลดลง 1-3 จุด  ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายเป็นโรคโลหิตจาง  มีผลต่อการทำงานของไต ในหญิงตั้งครรภ์หากมีสารตะกั่วเป็นปริมาณมากอาจจะทำให้เกิดการแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด  เด็กที่เกิดมาจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ การทำงานของสมองจะพัฒนาช้า ปัญญาอ่อน ชัก

ดร.นายแพทย์ศักดิ์ชัย  กล่าวแนะนำต่อว่า วิธีการป้องกันสารตะกั่วสำหรับประชาชน คือ

1) ควรหมั่นทำความสะอาดบ้าน  เพราะฝุ่นในบ้านอาจจะมีสารตะกั่วผสมอยู่และเด็กอาจจะกลืนโดยการดูดนิ้ว เลียของเล่นหรือรับประทานอาหารโดยที่ไม่ล้างมือ หรือสูดเอาสารตะกั่วเข้าไป

2) หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารตะกั่วจากสีมีสารตะกั่วผสม สะเก็ดสีตามผาผนัง ขอบหน้าต่าง และบริเวณที่มีการเสียดสี เช่น หน้าต่าง ประตู ฯลฯ หากเด็กรับประทานสะเก็ดสีเข้าไปจะเกิดอันตรายต่อเด็กได้

3) อย่านำสารตะกั่วเข้าบ้าน  สำหรับผู้ที่ทำงานก่อสร้าง การรื้อทำลาย ทาสี แบตเตอร์รี่ ร้านซ่อมเครื่องยนต์ เพราะอาจจะนำฝุ่นตะกั่วเข้าบ้านและอยู่ในสิ่งแวดล้อมอีกนาน ควรเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนกลับบ้าน

4) ทำน้ำดื่มให้ปราศจากสารตะกั่ว จากอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน  การต้มน้ำไม่ทำให้สารตะกั่วลดลง

5) อย่าปรุงหรือเก็บอาหารในภาชนะไม่ได้มาตรฐานที่มีสารตะกั่วผสม หรือไม่ใช้ถุงบรรจุอาหารที่มีสี

              หากประชาชนหรือบุตรหลานมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรง อาการทางประสาท ได้แก่ ความคิดสับสน การทำงานของร่างกายไม่ประสานกัน ชัก หมดสติ ในรายที่เป็นเรื้อรังพบว่ามีอาการตาเหลือง ตัวเหลืองด้วย ให้รีบไปปรึกษาและทำการตรวจรักษาสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด

ข้อความหลัก " สารตะกั่วมีพิษต่อสมองและตับ  ต้องปรับเปลี่ยนภาชนะให้มีคุณภาพ”

กรมควบคุมโรค  ห่วงใย  อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/2555/03_27_Lead.html

 

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 529936เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2012 01:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2012 15:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท