คุณลักษณะของคนดี และแนวทางการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะของคนดี ในความคิดเห็นของนักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่


        การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยอาชีวศึกษา เชียงใหม่ ปีการศึกษา 2551 จำนวนทั้งสิ้น 3,736 คน ที่มีต่อคุณลักษณะของคนดี และศึกษาแนวทางในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะของคนดี  รวมทั้งเปรียบเทียบความคิดเห็นของนักเรียนนักศึกษาตามตัวแปรเพศ สาขาวิชา ระดับชั้น รายได้ของครอบครัว และภูมิลำเนาเดิมของนักเรียน นักศึกษา กลุ่มตัวอย่างได้มาจากการคำนวณโดยใช้สูตรของ Taro Yamane ที่ระดับความเชื่อมั่น 0.05  ได้ 361 คน  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่มีความเชื่อมั่น 0.97 วิเคราะห์ข้อมูล โดยการหาความถี่ ร้อยละ t - test  F – test  และ Sheffe,s test

ผลการวิจัย

  1. กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย กำลังศึกษาในระดับชั้น ปวช.มากกว่าปวส. ส่วนใหญ่กำลังศึกษาในประเภทวิชาบริหารธุรกิจ ครอบครัวที่มีรายได้ต่อเดือน 5,000 – 9,999 บาท   มีจำนวนมากที่สุด และกลุ่มตัวอย่างมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ต่างอำเภอ ในจังหวัดเชียงใหม่ มากกว่าที่อื่น

2.  กลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยกับคุณลักษณะของคนดี 50 รายการที่กำหนดไว้ โดยมีค่าเฉลี่ยรวม 4.32 เมื่อพิจารณารายข้อพบว่าคุณลักษณะของคนดีที่กลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยอย่างยิ่งมี 2 รายการ ได้แก่ คนดีเป็นผู้จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ มีค่าเฉลี่ย 4.55 รองลงมา ได้แก่ คนดีเป็นผู้ไม่เอาเปรียบผู้อื่น มีค่าเฉลี่ย 4.50 สำหรับคุณลักษณะของคนดีอีก 48 รายการนั้น กลุ่มตัวอย่างเห็นด้วย สำหรับรายการที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด ได้แก่ คนดีเป็นผู้มีความรู้ดี มีค่าเฉลี่ย 3. 89  

3.  กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อคุณลักษณะของคนดี  นอกเหนือจากรายการที่ระบุไว้ในแบบสอบถามจำนวนมากที่สุด คือ คนดีเป็นผู้ที่ไม่เห็นแก่ตัว รู้จักช่วยเหลือ ทำประโยชน์ให้ผู้อื่น รองลงมา ได้แก่  คนดีทำความดีโดยไม่เสแสร้ง และทำอย่างสร้างสรรค์ คนดีเป็นผู้ที่มีความเมตตา รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา  เข้าใจและรู้จักให้อภัยผู้อื่น

          สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการจัดกิจกรรม เพื่อส่งเสริมคุณลักษณะของคนดีนั้น กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็น 4 แนวทางใหญ่ ๆ ได้แก่ จัดกิจกรรมอุทิศตนช่วยเหลือสังคมในด้านต่าง ๆ  จัดกิจกรรมทางศาสนา จัดกิจกรรมสานสัมพันธ์กับผู้ปกครอง และจัดกิจกรรมในสถานศึกษา

4. ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีเพศ ระดับชั้นที่ศึกษา รายได้ต่อเดือนของครอบครัว ภูมิลำเนาเดิมที่แตกต่างกัน  มีความคิดเห็นต่อคุณลักษณะของคนดีแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ  กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาในประเภทวิชาที่แตกต่างกัน มีความคิดเห็นต่อคุณลักษณะของคนดี แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อทำการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ พบว่ากลุ่มตัวอย่างประเภทวิชาบริหารธุรกิจมีความคิดเห็นต่อคุณลักษณะของคนดี แตกต่างจากประเภทวิชาศิลปกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 สำหรับคู่อื่น ๆ กลุ่มตัวอย่าง มีความคิดเห็นต่อคุณลักษณะของคนดีแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 529757เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2012 21:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2012 10:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท