จาก “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ของภูฏาน สู่อุดมการณ์ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ของไทย


ตามล่าหา “GNH” (Gross National Happiness)

                ระหว่างวันที่ 25 29 สิงหาคม 2549 คณะของเรา 14 ชีวิต จาก 10 องค์กร ผนวกด้วยผู้นำการทัศนศึกษาเชิงวัฒนธรรมอีก 2 คน จากประเทศไทย ได้มุ่งสู่ประเทศภูฏาน เพื่อค้นหาตัว “GNH” (“Gross National Happiness” หรือ ความสุขมวลรวมประชาชาติ) อันลือเลื่องไปทั่วโลกและได้รับความสนใจเป็นพิเศษในประเทศไทย

                เราพยายามไปดูว่าตัว “GNH” หน้าตาเป็นอย่างไร มีพี่น้องลูกหลายแผ่ขยายไปมากเพียงใด ได้รับความนิยมและนำไปอยู่ในหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของเอกชน ในองค์กร ในสถาบัน และในหมู่ประชาชนทั่วไป อย่างเข้มข้นจริงจังขนาดไหน และวิธีเลี้ยงดู “GNH” ให้เจริญงอกงาม มีชีวิตชีวา เขาทำกันอย่างไร ฯลฯ

                เราตั้งเป้าหมายไว้มาก และรู้อยู่แล้วว่าคงไม่สมประสงค์ทั้งหมดหรอก คงได้เท่าที่เป็นไปได้ภายในเวลาเพียง 5 วัน และภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ

                GNHหรือ Gross National Happiness ถือกำเนิดในประเทศภูฏาน ในปี 2517 โดยเป็นพราะราชดำริและพระราชปณิธานของพระราชาธิบดี จิกมี ซิงเย วังชุก หลังจากที่พระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ในปี 2515

                พราะราชปณิธานนั้น คือ Gross National Happiness is more important than Gross National Product. หรือ ความสุขมวลรวมประชาชาติ มีความสำคัญมากกว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ

                น่าจะเทียบเคียงได้กับ พระปฐมบรมราชโองการ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย ที่ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

                ปัจจุบันพระราชดำริและพระราชปณิธานของพระราชาธิบดี ได้ฝังรากชัดเจนเป็นอุดมการณ์และเป้าประสงค์แห่งชาติ (National Goal) ซึ่งปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญที่จะเริ่มใช้ในปี 2008 ปรากฏในวิสัยทัศน์และนโยบายของรัฐบาล เป็นธงชัยและแนวดำเนินการให้กับหน่วยงานภาครัฐทั้งหลาย ลงไปถึงอยู่ในหนังสือเรียนและบทเรียนสำหรับนักเรียนระดับมัธยมอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม

GNH อยู่ในรัฐธรรมนูญและอยู่ในโรงเรียน

                ร่างรัฐธรรมนูญ (ซึ่งมี 34 มาตรา) มาตรา 9 ว่าด้วยหลักการสำหรับนโยบายแห่งรัฐ (Principles of State Policy) วรรค 2 ระบุชัดเจนว่า รัฐต้องมุ่งสร้างเงื่อนไขทั้งหลายอันจะนำสู่การบรรลุ ความสุขมวลรวมประชาชาติ (The State shall strive to promote those conditions that will enable the pursuit of Gross National Happiness.)

                ในหนังสือเรียน Bhutan Civics ว่าด้วยระบบการปกครอง สถาบันทางสังคม และหน้าที่พลเมืองของภูฏาน บทที่ 9 (จากทั้งหมด 10 บท) เป็นบทว่าด้วย National Goals (เป้าหมายแห่งชาติ) และระบุชัดเจนว่า เป้าหมายแห่งชาติที่สำคัญประกอบด้วย

                1. Gross National Happiness     (ความสุขมวลรวมประชาชาติ)

                2. People’s participation             (การมีส่วนร่วมของประชาชน)

                3. National self – reliance           (การพึ่งพาตนเองได้ของชาติ)

                4. Sustainability                           (การพัฒนาอย่างยั่งยืน)

                5. Preservation and promotion of cultural and traditional values  

                                                                                (การรักษาและส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม และประเพณี)

                6. National integration                  (ความเป็นปึกแผ่นแห่งชาติ)

                ในหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง ซึ่งไกลจากเมืองหลวงพอสมควรและเราได้เข้าไปเยี่ยมโดยไม่ได้วางแผนเตรียมการไว้ล่วงหน้า เด็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งเรียนชั้นมัธยมปลาย เล่าว่า เขาเรียนเกี่ยวกับ GNH ในบทเรียนรวม 3 วิชา คือ หน้าที่พลเมือง ภูมิศาสตร์ และภาษาอังกฤษ

                สำหรับโรงเรียนชั้นประถม ครูใหญ่ของโรงเรียนที่เราได้ไปเยี่ยมบอกว่าไม่มีการสอน GNH ในหลักสูตรโดยตรง แต่ GNH เป็นหลักสำคัญที่โรงเรียนจะประยุกต์สอดแทรกให้กลมกลืนอยู่ทั่วๆไป และครูใหญ่ผู้นั้นมีความภูมิใจว่าโรงเรียนเขาเป็นโรงเรียนแห่งความสุข และเขามั่นใจว่าเด็กนักเรียนของเขามีความสุขกับชีวิตในโรงเรียน ซึ่งวัดได้จากการที่เด็กเต็มใจอยากมาโรงเรียนและไม่ขาดเรียนเป็นต้น

สี่เสาหลักของ GNH

                เราพบว่า GNH ไม่ใช่อุดมการณ์ลอยๆ แต่มีแนวปฏิบัติชัดเจน เรียกว่า สี่เสาหลัก (Four Pillars) ดังนี้

                1. การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืน เท่าเทียม และพึ่งพาตนเองได้

                2. การอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

                3. การรักษาส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม

                4. การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (หรือการมีธรรมาภิบาล)

                ทั้ง 4 เสาหลักนี้ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญชัดเจน แสดงถึงความจริงจังหนักแน่นในระดับชาติ เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยืน เท่าเทียม และพึ่งพาตนเองได้ (เสาหลักที่ 1 ) กับเรื่องการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (เสาหลักที่ 4 ) ปรากฏโดยปริยายอยู่ในมาตรา 9 ว่าด้วยหลักการของนโยบายแห่งรัฐ (Principles of State policy) ส่วนเสาหลักที่ 2 การอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับเสาหลักที่ 3 การรักษาส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม ปรากฏเด่นชัดในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 (ว่าด้วย Culture) และมาตรา 4 (ว่าด้วย Environment) ตามลำดับ

                เฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เขากำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเลยว่าจะต้องรักษาพื้นที่ป่าไว้ให้มีไม่น้อยว่าร้อยละ 60 ตลอดไป

                เมื่อมีโอกาสได้ประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงและองค์กรต่างๆของภูฏาน พบว่าเขาสามารถอธิบายขยายความการนำ GNH ตามแนวทางของ สี่เสาหลัก ไปปฏิบัติได้อย่างชัดเจนพอสมควร

                เรารับทราบด้วยว่า เขากำลังพยายามพัฒนาตัวชี้วัด GNH ในลักษณะต่างๆ ทั้งที่เป็น ภาวะเป็นสุข (วัดเชิงภววิสัย) และ ความรู้สึกสุข (วัดเชิงอัตวิสัย) แต่ยังไม่ถึงกับลงตัวแน่ชัดและใช้ปฏิบัติอย่างเป็นทางการ ซึ่งเขายินดีและประสงค์จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประเทศไทยในเรื่องการพัฒนาตัวชี้วัดเกี่ยวกับ ความสุข ดังกล่าว

สู่อุดมการณ์ สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ของประเทศไทย

                สะท้อนมาดูประเทศไทยของเรา เรามีพระปฐมบรมราชโองการตั้งแต่ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ซึ่งเป็นพระราชสัตยาธิษฐานตามโบราณราชประเพณีของพระมหากษัตริย์ไทย 

                ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 44) ได้เริ่มต้นนวัตกรรมทางความคิดที่ให้ คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และมีการประดิษฐ์คำพูดเชิงวัสัยทัศน์ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ คนมีความสุข ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติ สิ่งแวดล้อมยั่งยืน

                ในแผนฯ 8 ยังระบุด้วยว่าจะมีการสร้างดัชนีชี้วัดเพื่อวัดผลกระทบขั้นสุดท้ายของการพัฒนา ทั้งในด้านการพัฒนา คน สังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

                ครั้นมาถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 49) ได้สานต่อแนวคิด คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าด้วย เศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาประเทศ

                จุดมุ่งหมายในการพัฒนาประเทศตามแผนฯ 9 มุ่งเน้นให้เกิด การพัฒนาที่ยั่งยืน และความอยู่ดีมีสุขของคนไทย โดยกำหนดสภาพสังคมไทยที่พึงประสงค์ ว่าควรเป็น สังคมที่เข้มแข็งและมีดุลยภาพ บนพื้นฐานของการอนุรักษ์วัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของความเป็นไทย และสังคมที่พึงประสงค์ดังกล่าว ควรประกอบไปด้วย 3ลักษณะ ได้แก่ (1) สังคมคุณภาพ (2) สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ และ(3) สังคมสมานฉันท์และเอื้ออาทรต่อกัน

                ภายใต้แผนฯ 9 ยังได้มีการพัฒนา ดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุข และดัชนีหรือตัวชี้วัดอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีชี้วัดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ดัชนีชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืน ดัชนีชี้วัดทุนทางสังคม เป็นต้น

                และในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 54) ได้กำหนดเป็น วิสัยทัศน์ประเทศไทยว่า มุ่งพัฒนาสู่ สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน โดย คนไทยมีคุณธรรมนำความรอบรู้ รู้เท่าทันโลก ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติสุข เศรษฐกิจมีคุณภาพ เสถียรภาพ และเป็นธรรม สิ่งแวดล้อมมีคุณภาพและทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน อยู่ภายใต้ระบบบริหารจัดการประเทศที่มีธรรมาภิบาล ดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และอยู่ในประชาคมโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี

ไทยกับภูฏานจะเป็นเพื่อนร่วมเดินทางกันได้ดี

                จะเห็นว่าอุดมการณ์ สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ของประเทศไทย ตามที่ระบุในแผนฯ 10 กับแนวคิด ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness – GNH) ของภูฏานนั้น เทียบเคียงกันได้อย่างดี รวมทั้งข้อความใน วิสัยทัศน์ประเทศไทย ยังสอดครับกับแนวทาง 4 เสาหลัก ของภูฏานอีกด้วย

                ในรายละเอียดของแผนฯ 10 ได้กำหนดเป็น ยุทธศาตร์ ขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯสู่การปฏิบัติ รวม 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

                1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้

                2. ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมเป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศ

                3. ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและยั่งยืน

                4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพและการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

                5. ยุทธศาตร์การเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการประเทศ

                อ่านแล้วน่าจะถือได้ว่าประเทศไทยกับภูฏาน สามารถและควรจะเป็น เพื่อนร่วมเดินทาง ในเส้นทางแห่งการพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างดี เพราะต่างมีเป้าหมายและแนวทางที่คล้ายกันมาก

                เมื่อเป็นเพื่อนกันก็สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้เอื้อเฟื้อเกื้อกูลซึ่งกันและกันในเรื่องต่างๆและด้วยวิธีการต่างๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งในเชิงรูปธรรมและในทางจิตใจต่อทั้งสองฝ่าย

แนวทางปฏิบัติสำหรับประเทศไทยที่ควรลงมือทำ

                ในขณะที่ภูฏานเดินหน้าไปแล้วพอสมควรทีเดียวในการใช้ ความสุขมวลรวมประชาชาติ หรือ GNH เป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ โดยไม่ให้ความสำคัญกับ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ GNP มากนัก ประเทศไทยเราเองแม้จะมีเป้าหมายเรื่องการพัฒนาคนและการสร้าง ความเป็นสุข (Well-being) ของคนและสังคม มาตั้งแต่แผนฯ 8 แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลไทยและสังคมไทยโดยรวมได้เน้น ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product – GDP) กับเรื่องของรายได้ที่เป็นตัวเงินเป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศมาจนทุกวันนี้

                ดังนั้น ในโอกาสของการเข้าสู่ช่วงเวลาของแผนฯ 10 ที่กำหนดให้ ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน เป็น วิสัยทัศน์ประเทศไทย ภายใต้ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นจังหวะเวลาเหมาะสมอย่างยิ่งที่ทั้งรัฐบาลไทย ฝ่ายการเมือง หน่วยงาน องค์กร สถาบัน ท้องถิ่น ชุมชน และสังคมไทยโดยรวม จะเอาจริงเอาจังกับการมุ่งมั่นดำเนินการต่างๆรวมถึงการปฏิบัติตามแนวทาง เศรษฐกิจพอเพียง ให้ได้อย่างดีที่สุด

                แนวทางตามยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ประการที่ระบุในแผนฯ 10 นั้นถือได้ว่าดีพออยู่แล้ว แต่สำคัญที่ต้องพยายามปฏิบัติให้ได้

                จะปฏิบัติได้ ต้องรู้ว่าใครเกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์เหล่านั้น แล้วจัดกระบวนการให้บุคคล หน่วยงาน องค์กร สถาบัน ฯลฯที่เกี่ยวข้อง มาร่วมมือประสานงานประสานพลังกันให้ได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ

                บทบาทในการจัดกระบวนการเช่นนี้ น่าจะเป็นของสภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สศช.) แต่สภาพัฒน์ไม่จำเป็นและไม่สมควรต้องมีบทบาทเป็นผู้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ประการนั้น เพราะบทบาทหน้าที่ที่จะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว มีผู้รับผิดชอบครบถ้วนอยู่แล้ว

 

คำสำคัญ (Tags): #การพัฒนาสังคม
หมายเลขบันทึก: 52975เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2006 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ไพบูลย์...             

  • เรื่อง GNH ของภูฎานน่าสนใจมากครับ
  • เป็นบทเรียนใหญ่ที่ประเทศเล็กๆ สอนโลก

ขอเรียนเสนอให้มีภาพประกอบจากภูฎานบ้าง... เพราะไม่มีโอกาสได้ไปดูของจริง

  • ขอขอบพระคุณ

ผมเข้ามาหาแนวคิดนนี้พบว่ามีไม่กี่ท่านที่ได้แสดงความคิดเห็นไว้ อย่างกว้างและชี้แนวทางไว้ ผมเองเป็นคนหนึ่งที่เชื่อมั่นในแนวทางการพัฒนาประเทศด้วยหลักดังกล่าว แม้เป็นเพียงข้าราชการส่วนท้องถิ่น ครั้งหนึ่งอาจารย์เคยมาที่ อบต.ท่าข้าม สงขลาแต่ผมไม่มีโอกาสได้ใกล้ชิด และพูดคุย(ขณะนั้นท่านเป็นรัฐมนตรี)สุดท้ายนี้ขอให้ท่านศรัทธาและเชื่อมั่น การอาสาตนแทนคุณแผ่นดินนะครับ รักและเคารพ ภัทรเดช ทองแป้น

กราบขอบพระคุณสำหรับข้อมูลที่ดีค่ะ ชอบแนวคิด 4 เสาหลักของภูฎาน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท