เผยโรคเรื้อนไม่ร้ายอย่างที่คิด ควรทำความเข้าใจ หากกินยารักษาจะไม่แพร่เชื้อและสามารถหายขาดได้


เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบโรค เผยว่า  ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง  หรือประมาณ 57 ปีที่แล้ว “ โรคเรื้อน” ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่มีอัตราความชุกโรคสูง เฉลี่ยถึง 50 คนต่อประชากร 10,000 คน และเป็นที่รังเกียจของคนทั่วไป  เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มียาแผนปัจจุบันในการรักษาที่มีประสิทธิภาพ  ในปี 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ  เสด็จพระราชดำเนินเปิดสถาบัน “ ราชประชาสมาสัย ” อันมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ และประชาชน ย่อมพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน   สถาบันนี้ได้ดำเนินการฝึกอบรมบุคลากรด้านโรคเรื้อนอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถปฏิบัติงานค้นหาและรักษาโรคเรื้อนยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย

         องค์การอนามัยโลก รายงานสถานการณ์โรคเรื้อน เมื่อต้นปี พ.ศ.2551 มีจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ขึ้นทะเบียนรักษาทั่วโลก 218,605 คน สถาบันราชประชาสมาสัย กรมควบคุมโรค รายงานแนวโน้มสถานการณ์โรคเรื้อนในภาพรวมรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2549-2553) พบว่าความชุกโรคในระดับประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีอยู่ 41 อำเภอเท่านั้น ใน 23 จังหวัด ที่พบผู้ป่วยใหม่ติดต่อกันทุกปี รวมทั้งอัตราการตรวจพบผู้ป่วยใหม่มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน โดยประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ขึ้นทะเบียนรักษาอยู่ประมาณ 700 ราย ส่วนใหญ่ราวครึ่งหนึ่งกระจายอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

โรคเรื้อน เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เมื่อเข้าสู่รางกายเชื้อมักจะเข้าไปอาศัยอยู่บริเวณใต้ผิวหนัง และเส้นประสาทส่วนปลาย ภายในเวลา 3-5 ปี หากผู้ได้รับเชื้อไม่มีภูมิต้านทานต่อโรคจะมีอาการแสดงทางผิวหนัง  เช่น เป็นวงด่าง สีจาง หรือ สีเข้มกว่าผิวหนังปกติ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาการจะลุกลามเป็นผื่น หรือตุ่มกระจายอยู่ทั่วตัว และเมื่อเกิดอาการอักเสบของเส้นประสาทส่วนปลายจะทำให้กล้ามเนื้อ ที่ควบคุมด้วยเส้นประสาทเส้นนั้น ฝ่อลีบในระยะท้ายของโรคส่งผลให้มือเท้างอ ข้อติดแข็ง และพิการได้ ทำให้เป็นที่รังเกียจแก่ผู้พบเห็นโดยเชื้อจะทำลายเส้นประสาทส่วนปลาย หากไม่รีบรักษาอาจทำให้เกิดความพิการได้  ดังนั้นการเร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยใหม่เร็วที่สุด ก็ยิ่งทำให้ตัดวงจรการแพร่ของโรคเรื้อนและลดอัตราความพิการลงได้มากเท่านั้น

โรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อไมโครแบคที่เรี่ยม เลปแปร ( Mycobacterium leprare )  การติดต่อของโรคนี้ สามารถติดต่อได้จากคนสู่คน แหล่งแพร่เชื้อ คือ ผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รักษา โดยเชื้อโรคเรื้อนจะแพร่ออกมาทางลมหายใจกระจายออกจากโพรงจมูกของผู้ป่วยที่อยู่ในระยะติดต่อ เมื่อผู้ป่วยจามทำให้ละอองเสมหะที่มีเชื้อโรคเรื้อนฟุ้งกระจายในอากาศ บุคคลที่ใกล้ชิดหรืออยู่ในครอบครัวหรือบ้านเดียวกันสูดลมหายใจเข้าไป ก็จะได้รับละอองเสมหะที่มีเชื้อโรคเรื้อนเข้าสู่ร่างกายได้ ผู้ที่สัมผัสหรือคลุกคลีกับผู้ป่วยเป็นเวลานาน และไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคเรื้อนจะมีโอกาสติดโรคได้ แต่คนปกติทั่วไปมากกว่าร้อยละ 95 จะมีภูมิต้านทานตามธรรมชาติต่อโรคเรื้อนอยู่แล้ว

           อาการป่วยคือ ผิวหนังเป็นวง ด่าง ขาวหรือเป็นผื่น ตุ่ม นูน แดง ชาในรอยโรค หยิกไม่เจ็บ ไม่คัน ขนร่วง ไม่มีเหงื่อออกในรอยโรค หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดความพิการได้  แต่โรคเรื้อนสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการกินยา โดยหากเป็นชนิดเชื้อน้อยกินยาติดต่อกันครบ 6 เดือน   ชนิดเชื้อมากกินยาติดต่อกันครบ 2 ปี ประชาชนทั่วไปสามารถห่างไกลและป้องกันโรคเรื้อน ได้ดังนี้  1) ตรวจผู้สัมผัสโรคร่วมบ้าน โดยการตรวจหารอยโรค อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง  2) ผิวหนัง เป็นวงด่าง หรือมีผื่น ตุ่ม มีอาการชา ไม่คัน รักษานานเกิน 3 เดือน ไม่หาย 3) ฉีดวัคซีนบีซีจีในเด็กแรกเกิด

          เภสัชกรเชิดเกียรติ  กล่าวต่อว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าโรคเรื้อน เป็นโรคที่ประชาชนรังเกียจผู้ป่วย จึงขอทำความเข้าใจว่าโรคเรื้อนนั้น หากผู้ป่วยได้รับประทานยารักษาโรคเรื้อนแล้วภายใน 3 วัน จะไม่สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ และไม่สามารถติดต่อได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ เช่น   การถูกยุงกัด  การรับประทานอาหารร่วมกับผู้ป่วย  การสัมผัสหรือถูกเนื้อต้องตัวกับผู้ป่วย 

ข้อความหลัก " โรคเรื้อนไม่ร้ายอย่างที่คิด สำรวจตัวสักนิด หายสนิทหากรีบรักษา”

กรมควบคุมโรค  ห่วงใย  อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2555_01_16_leprosy.html

 

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 529677เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2012 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มกราคม 2012 15:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท