บันทึกละคร 9 เรื่อง จากมหกรรมละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง


บันทึกละคร 9 เรื่อง จากมหกรรมละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง

               นอกไปจากความรื่นรมย์และแง่คิดหลากหลายมุมแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่ทั้งผู้ชมและผู้ร่วมกิจกรรมน่าจะรู้ไปพร้อมๆกับการดูละครทั้ง9เรื่อง ในมหกรรมละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง น่าจะอยู่ที่ทำให้การทำให้เรารู้จักชุมชนอื่นๆ นอกเหนือไปจากความรู้ที่เราเคยได้ยินแต่เรื่องในชุมชนตัวเอง

               ในมหกรรมฯ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อต้นเดือน 7-8 กันยายนที่ผ่านมา ละครแบบให้ดูฟรี ทั้ง9เรื่องนี้จึงทำให้เรารู้จักโลกภายนอกอีกมากโข ทั้งมิตรภาพของเพื่อนต่างโรงเรียน และประสบการณ์ของเพื่อนๆที่เก็บเกี่ยวมาในแต่ละพื้นที่ ล้วนทำให้เราได้เจอสิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ

               โดยเพื่อนๆกลุ่มนี้ เล่าผ่านตำนานดงพญาไฟ เจ้าเมืองโคราชที่ต้องการพัฒนาบ้านเมืองของตนเทียบเท่ากับบ้านเมืองอื่น ๆ จึงสั่งให้ตัดต้นไม้เพื่อ สร้างบ้านแปงเมืองนับเป็นการท้าทายธรรมชาติของมนุษย์ตัวเล็ก ๆ อย่างร้ายกาจ สุดท้ายเมืองก็ล่มสลายด้วยอำนาจของพญาแถน และทำท่าจะเกิดซ้ำอีกเมื่อมนุษย์ไม่เคยรู้จักสำนึก
                             http://upload.siamza.com/file_upload/resize/271211/9824.jpg

               เสนอผ่านเรื่องราวของ ไข่ดำชาวบ้านที่ไปทำงานกับเรือพาณิชย์เพื่อความอยู่รอด เพราะไม่สามารถจับปลาเองได้อีก เขาต้องแตกคอกับ ไข่นุ้ยเพื่อนรัก ไข่นุ้ยอยู่ในเรือกอและ ไข่ดำอยู่บนเรือพาณิชย์ เขาทนการกดขี่ค่าแรงของนายหัวไม่ไหวจึงขโมยเงิน แต่นายหัวเรือจับได้และใช้อำนาจปืนส่งไข่ดำให้กระโดดลงทะเล สุดท้ายเขาก็พบว่าสิ่งที่จะเยียวยาฟื้นฟูได้ดีที่สุดก็คือคนในชุมชนเอง

               จากใต้บ่ายหน้ามาสู่ภาคอีสานอีกครั้งกับเรื่อง พญาคันคากจากทีม Is mass คณะวิทยาการจัดการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ว่าด้วยประเด็นการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก จากการลงพื้นที่ชุมชนบ้านปากบุ่ง จังหวัดร้อยเอ็ด นำเสนอผ่านนิทานพื้นบ้านเรื่องพญาคันคากอันเป็นนิทานอธิบายเหตุประเพณีบุญบั้งไฟ เมื่อการแข่งขันระหว่างโรงเรียนน้อย ๆ เปี่ยมด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นและทักษะชีวิต กับโรงเรียนโต ๆ ที่มีความทันสมัย ทันโลก เครื่องไม้เครื่องมือมากมาย เปรียบเทียบเป็นบั้งไฟน้อย ๆ ห้อยยี่ห้อผ้าไหม กับบั้งไฟใหญ่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ส่งตรงขึ้นฟ้า น้อง ๆ โยนคำถามทิ้งท้ายว่า แล้วท่านจะเลือกบั้งไฟของใครดี....การแสดงเป็นไปอย่างแคล่วคล่องว่องไวและมันส์เถิดเทิงแบบอีสาน ชวนสะท้อนสะท้านใจ
  
                           http://upload.siamza.com/file_upload/resize/271211/9822.jpg

               ส่วนตัวแทนของภาคเหนือก็ใช่จะน้อยหน้า ทีมข้าวนึ่งเชียงดาว อ.เชียงดาว เล่าเรื่อง หมีแพนด้าแบบแสบๆคันๆ โดยเนื้อเรื่องนั้นว่าด้วยประเด็นการปฏิบัติต่อชาติพันธุ์ของสังคม เปิดเรื่องมาด้วยความระทึกใจ เด็กสาวไทใหญ่หนีตายออกมาจากเมืองหนึ่งซึ่งกำลังร้อนระอุเพราะสัตว์ประหลาดอาละวาด เธอหนีร้อนมาพึ่งเย็นในเมืองที่เจ้าเมืองและประชาชนกำลังเห่อหมีแพนด้า งานนี้ได้หัวเราะกันท้องคัดท้องแข็งด้วยการแสดงที่เต็มที่สุด ๆ ของหมีแพนด้า (พูดได้แต่ ด๊า ด้า) ซึ่งเกิดมาถูกใจเด็กสาวคนนี้เข้า เธอจึงได้เข้ามาอยู่กับหมีแพนด้า แต่ถูกกลับปฏิบัติต่างกันราวกับไม่ใช่คน....เห็นความพยายามของเด็กสาวที่จะฝ่าด่านวิ่งเข้ามาในเมืองแล้วก็ชวนให้คิดถึงแรงงานต่างด้าว คนต่างเผ่าพันธุ์ที่ไม่ใช่สัญชาติไทยที่อพยพเข้ามา....ไม่รวมภาพลักษณ์ของชนกลุ่มน้อยที่มักจะถูกสังคมมองว่าเป็นตัวปัญหา ขนยาบ้า ทำไร่เลื่อนลอย

               ขณะที่เรื่อง คนชุมชนจากทีม Arts for life โรงเรียนสงขลาเทคโนโลยี จังหวัดสงขลา จัดเต็มมาด้วยเพลงและศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ รวมทั้งลีลาการต่อสู้ที่น่าตื่นเต้น จากการลงพื้นที่ชุมชนคลองแดนมาสู่ละครชุมชนที่เล่าเรื่องการพัฒนาที่พาคนออกไปจากชุมชนทีละน้อยผ่านการเล่นซ่อนหาของเด็ก ๆ ที่หายไปทีละคน ทีละปีเรื่องนี้รวมมิตรศิลปะถิ่นใต้ทั้งมโนห์รา หนังตะลุง

                          http://upload.siamza.com/file_upload/resize/271211/9831.jpg

               วันที่สองก็ตามมาติด ๆ ประเดิมเริ่มด้วยภาคอีสานอีกเช่นเคย...เรื่อง สังสินไซจากทีม Pigeon คณะวิทยาการจัดการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่อธิบายถึงเรื่องราวที่ว่าด้วยการรุกล้ำพื้นที่ป่าสุดท้ายของจังหวัดมหาสารคาม ข้อมูลจากชุมชนพื้นที่บ้านหนองโน นำเสนอด้วยนิทานพื้นบ้านสังสินไซเป็นแกนของละคร...ยักกุมภัณฑ์แย่งชิงนางสุมณฑามาโดยการหลอกล่อเอาความเจริญเข้าใส่ สังสินไซวกมาตามนางกลับ...สุดท้ายละครก็ชี้ให้เห็นว่าพวกเราจะไม่เหลืออะไรเลยเหมือนชะตากรรมของนางสุมณฑาที่พลาดพลั้งถูกอาวุธในตอนท้ายเรื่อง การแสดงและการเคลื่อนไหวกระชับฉับไวไหลลื่น เว้าอีสานเป็นส่วนมากแต่เฉียบคมบาดลึก! 

               ตรงดิ่งลงภาคใต้อีกครั้งกับเรื่อง ปลาป๋องจากทีมมะนาวหวาน มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จังหวัดสงขลา เกริ่นขึ้นต้นมาว่า ทำไมแม่ลูกคู่หนึ่งซึ่งมีบ้านติดทะเลจึงต้องกินปลากระป๋อง สาเหตุที่ทำให้ปลาสด ๆ จากน้ำหายไปคืออะไร แม่จึงเล่าสาเหตุให้ฟังถึงการรุกล้ำของทุนนิยมในน่านน้ำทะเล เกี่ยวโยงไปถึงการออกเลไม่มีวันกลับของผู้เป็นพ่อเพราะหาปลาในถิ่นที่เคยหาไม่ได้ ทีมนี้นำเสนอประเด็นการรุกล้ำพื้นที่น่านน้ำประมงชาวบ้านของธุรกิจต่าง ๆ วัตถุดิบจากปัญหาในพื้นที่ชุมชนประมงทะเลสาบสงขลา นำเสนอด้วยลีลาสนุกสนาน ขำแต่เจ็บลึก มีมุกฮา ๆ และอินเนอร์มันส์ ๆ ของนักแสดงมาให้เห็นตลอด ดูไปก็ยิ้มไป

               ส่วนเรื่อง หน่อมือเอจากทีมหล่าเทอโพ กลุ่มนักการละครชาวปกาเกอะญอรุ่นใหม่ ประเด็นจากพื้นที่ชุมชนชาวปกาเกอะญอ หมู่บ้านป่าตึงงาม อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ว่าด้วยอัตลักษณ์ชุมชน เป็นเรื่องราว รักสามเศร้าที่หญิงสาวนามหน่อมือเอ จะต้องเลือกชายหนุ่มสองคน คนหนึ่งคือตัวแทนของเงินตราและความสะดวกสบาย อีกคนหนึ่งคือตัวแทนของรากเหง้าชาวปกาเกอะญอ เรื่องนี้นำเสนอเป็นภาษาปกาเกอะญอเป็นส่วนใหญ่ แต่ภาษาไม่ใช่อุปสรรคในการสื่อสารและความเข้าใจ องค์ประกอบที่ปรากฏสู่สายตาบนเวทีทำให้แม้ไม่เข้าใจภาษา แต่ก็เข้าใจเนื้อหาได้ งวดนี้น้อง ๆ จัดเต็มเช่นกันด้วยเสื้อผ้าและเครื่องดนตรีของปกาเกอะญอ ดูแล้วน่าสนใจมาก

               เรื่องราวจากละคร9เรื่อง ที่ต่างกันอยู่คนละมุมประเทศ แต่ทั้งหมดมันก็ทำให้ให้เรารู้จักอะไรมากขึ้น!!!

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 529480เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2011 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2011 10:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท