เผยแพร่ผลงาน : บทความ


บทความ  

         วิถีชีวิตคนไทยในกลันตัน  

         กลันตันเป็นรัฐหนึ่งซี่งอยู่ในความดูของสมาพันธรัฐมาเลเซีย   แต่เดิมเคยเป็นของประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย  ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๕๒  ไทยต้องยอมยกรัฐเคดาห์พร้อมด้วย  กลันตัน  ตรังกานู  และเปอร์ลิสให้กับประเทศอังกฤษ  เพื่อแลกกับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต  และเมื่ออังกฤษคืนเอกราชให้กับประเทศสมาพันธรัฐมาเลเซียเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐  ทั้ง ๔  รัฐจึงตกเป็นของสมาพันธรัฐมาเลเซียตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  ยังคงมีคนไทยติดแผ่นดินเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ในปี  พ.ศ. ๒๕๒๓  จากการสำรวจโดยรัฐบาลสมาพันธรัฐมาเลเซีย  พบว่าในประเทศสมาพันธรัฐมาเลเซียมีคนไทยทั้งหมด ๓๑,๐๙๑  คน  อยู่ในรัฐเคดาห์มากที่สุด  คนไทยเหล่านี้รวมกลุ่มเป็นหมู่บ้านกระจายอยู่ตามแนวชายแดนไทยมาเลเซีย  ชาวมาเลเซียทั่วไปเรียกหมู่บ้านคนไทยว่า  “กำปงเชียน” (กำปง หมายถึง หมู่บ้าน เชียน หมายถึง สยามหรือไทย)  คนไทยเหล่านั้นตั้งถิ่นฐานและสืบเชื้อสายมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีสัญชาติเป็นชาวมาเลเซียตามกฎหมาย  ความเป็นอยู่ไม่ดีนักเนื่องจากมีการศึกษาต่ำ รายได้น้อย ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบท ในปี  พ.ศ. ๒๕๐๙  ได้จัดตั้งกงสุลใหญ่เพื่อดูแลคนไทยที่ตกค้างอยู่ในสมาพันธรัฐมาเลเซียและให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ  ชาวมาเลเซียถือว่าคนไทยเป็นคนต่างด้าวและในปี  พ.ศ. ๒๕๒๐  ได้ยกฐานะเป็นสถานกงสุลใหญ่แห่งเมืองโกตาบารู

       หมู่บ้านบ่อเสม็ด ตำบลเตอรือเบาะ อำเภอตูมปัต รัฐกลันตัน  ประเทศมาเลเซีย เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่มีคนไทยตั้งถิ่นฐานมาช้านาน  ช่วงศตวรรษที่ ๑๘- ๑๙ เกิดปัญหาเศรษฐกิจที่เมืองสงขลาและนครศรีธรรมราช  ราษฎรส่วนหนึ่งได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานและบุกรุกที่ดินเพื่อทำการเกษตรและเข้ามาปักหลักตั้งถิ่นฐาน  แม้ว่ารัฐกลันตันจะตกเป็นของประเทศอังกฤษและประเทศสมาพันธรัฐมาเลเซียแล้วก็ตาม  แต่คนไทยเหล่านั้นก็ไม่กลับเมืองไทยยังคงทำมาหากินและสืบเชื้อสายมาจนถึงปัจจุบัน 

       กลุ่มชนใดก็ตามที่มีความแตกต่างจากชนกลุ่มใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนา ความเชื่อ ภาษาหรือประเพณี ก็ได้ชื่อว่าเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคม  มักจะมีการรวมกลุ่มปฏิบัติสืบทอดวัฒนธรรมของตนไว้อย่างเหนียวแน่นเพื่อสามารถอยู่ในสังคมนั้นได้ เช่นเดียวกับคนไทยในหมู่บ้านเกาะเสม็ด ปัจจุบันการรวมกลุ่มยังสามารถดำรงเอกลักษณ์ไทยไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ทั้งด้านวิถีชีวิต ความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา   การใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน  การยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ทั้งยังสืบทอดอย่างเป็นกิจลักษณะแม้ว่าจะอยู่ภายใต้การปกครองของคนต่างชาติต่างศาสนาก็ตาม   เช่น การบวช  งานศพ  งานลอยกระทง วันสงกรานต์ ประเพณีวันสารทเดือนสิบ  การเชื่อกฎแห่งกรรม ทั้งการเคารพเทิดทูนพระมหากษัตริย์ไทย  สิ่งเหล่านี้ยังคงปฏิบัติยึดถือกันอยู่ตลอดมา  คนไทยในรัฐกลันตันยังมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมซึ่งเป็นมรดกร่วมของกลุ่มที่ได้ร่วมกันสร้างสมสืบทอด ยึดถือปฏิบัติต่อกันมาจนเป็นเรื่องปรกติวิสัย  การดำเนินชีวิตคล้ายกับคนไทยทางภาคใต้ทั้งความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา  วัดยังคงมีบทบาทสำคัญในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ  ภาษาขนบธรรมเนียมประเพณีแบบไทย  ลักษณะการแต่งกายเหมือนกับคนไทยในชนบทโดยทั่วไป มีการศึกษาภาษาไทยแต่ไม่แพร่หลาย  ลักษณะนิสัยไม่กระตือรือร้น  ชอบอยู่เป็นหลักแหล่ง     ไม่ชอบเคลื่อนย้ายถิ่นแม้จะถูกกดดันจากคนมาเลเซียก็ตาม

ผลกระทบด้านสังคมและวัฒนธรรม  วิถีชีวิตของคนไทยในสมาพันธรัฐมาเลเซียไม่แตกต่างจาก   คนไทยในประเทศมากนัก  ด้านสังคมประกอบด้วยหลายเชื้อชาติ มาเลเซียในท้องถิ่นนับถือศาสนาอิสลาม  มาเลเซียเชื้อสายจีน  มาเลเซียเชื้อสายไทยนับถือพระพุทธศาสนา เป็นสังคมชนบท  พึ่งพาอาศัยกัน รักพวกพ้อง  มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจยังคงรักษาเอกรักษ์ไทยอย่างเหนียวแน่น  ทำให้ความเป็นไทยไม่เลือนหายไป  ปัญหาทางด้านศาสนาคือมีพระสงฆ์น้อย   ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อไปจะไม่มีพระสงฆ์  เพราะในปัจจุบัน       มีพระสงฆ์เพียง ๗ รูปเท่านั้น  พระสงฆ์ในสมาพันธรัฐมาเลเซียจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากกรมศาสนา      ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากที่พระไทยจะได้รับการรับรองจากรัฐบาลมาเลเซีย  จะทำให้คนไทยในมาเลเซียขาดสิ่งยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ  คนไทยก็ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันไม่เช่นนั้นสังคมไทยในบริเวณนั้นจะสูญสิ้นไป    คนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม การถือครองที่ดินเฉพาะที่ตนเองมีกรรมสิทธิ์ครอบครองอยู่ไม่มีสิทธิที่จะซื้อเพิ่ม  แต่หากต้องการขายก็ขายได้ กฎหมายของมาเลเซียไม่อนุญาตให้คนต่างด้านซื้อที่ดิน  ผลกระทบคือ เมื่อคนเพิ่มขึ้นที่ดินเท่าเดิมคนเหล่านั้นจะขายที่ดินที่มีอยู่เพื่อแสวงหาที่อยู่ใหม่ที่ดีกว่า

แนวโน้มในอนาคต  คนไทยในรัฐกลันตันหรือรัฐอื่น ๆ อาจถูกกลืนเหมือนกับคนไทยใน  รัฐตรังกานู   สาเหตุเพราะว่า ปัจจุบันนี้คนไทยถูกบีบจากรัฐบาลสมาพันธรัฐมาเลเซียในหลากหลายรูปแบบไม่มีสิทธิ์เท่าเทียมกับคนในมาเลเซีย  เพราะกฎหมายของสมาพันธรัฐมาเลเซียมีข้อห้ามสำหรับคนต่างด้าวมากมาย  ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว  รัฐบาลไทยหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะให้ความสนใจ ส่งเสริมให้  มีการศึกษาในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านภาษาไทย  ศาสนา วัฒนธรรม  ประวัติความเป็นมาของความเป็นไทย  เป็นต้น  สมควรให้คนไทยมีการรวมกลุ่มพรรคการเมืองของตนเพื่อช่วยเหลือคนไทย และให้คนไทยมีการติดต่อและกลมเกลียวกันทั่วประเทศ  สังเกตได้ว่าประเทศมาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษมาแล้วถึง ๔๕ ปี (ปีที่เขียน)  แต่ยังไม่เคยมีคนไทยเป็นสมาชิกสภาจังหวัด  หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

                การต้องการให้คนไทยเหล่านั้นยังคงดำรงอยู่ เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษไทยที่        สืบทอดมาช้านาน ทางรัฐบาลไทย กงสุลไทยในประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ควรให้ความสนใจบุคคลเหล่านั้นให้มากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยส่งเสริมให้ทุนการศึกษา ให้ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์  ภาษา  ศาสนา  วัฒนธรรมให้รู้จักความเป็นไทยเพื่อปลุกใจให้คนเหล่านั้นเกิดความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษและรักเมืองไทย  มีความเป็นชาตินิยมมากขึ้นเพื่อนำสิ่งเหล่านั้นมาขยายผลและเพื่อมิให้ถูกกลืนจากวัฒนธรรมอื่น ๆ

 

 

 

 


สถานที่: รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 529187เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2011 20:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2013 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท