เชิญร่วมงานวิจัย ฝึกสมาธิ-สติ เพื่อเป็นคนดีและเรียนเก่ง


เชิญสถานศึกษาทั่วประเทศ 

ร่วมโครงการวิจัย   การฝึกสติและสมาธิ  เพื่อเป็นคนดีและเรียนเก่ง

 

เชิญสถานศึกษา  คณะครูอาจารย์  ร่วมโครงการวิจัย   “การฝึกสติและสมาธิ  ทำให้เป็นคนดีและเรียนเก่ง” 

โดย  พระอาจารย์แสนปราชญ์  ฐิตสัทโธ  ร่วมกับ  ดร. อาจอง  ชุมสาย ณ อยุธยา 

สมัครเข้าร่วมโครงการวิจัย  โทร. ๐๘๓-๑๒๕๖๓๗๕   

และเชิญฟังธรรมบรรยายในงานวิสาขบูชาพุทธบารมี ๕๔  ในหัวข้อ 

“สร้างเด็กเป็นอัจฉริยะสีขาวด้วยสติและสมาธิ”  โดย  ดร.อาจองชุมสาย ณ อยุธยา 

นักวิทยาศาสตร์ระดับโลก  ผู้ออกแบบอุปกรณ์ควบคุมการร่อนลงจอดของยานไวกิ้งบนดาวอังคาร  โดยใช้สติและสมาธิ

 

กำหนดการวันศุกร์ที่ ๓ มิ.ย. ๒๕๕๔ 

เวลา ๐๙.๐๐ น. - ๑๒.๐๐ น.  คณะวิจัยประชุมร่วมฟังข้อแนะนำจาก พระอาจารย์แสนปราชญ์  และ  ดร.อาจอง  ชุมสาย ณ อยุธยา

เวลา ๑๓.๐๐ น. – ๑๕.๓๐ น.  ธรรมบรรยาย “สร้างเด็กเป็นอัจฉริยะสีขาวด้วยสติและสมาธิ” โดย  ดร.อาจองชุมสาย ณ อยุธยา ณ  เอ็ม ซี ซี ฮอลล์  เดอะมอลล์  นครราชสีมา

 

 

 องค์กรชาวพุทธจังหวัดนครราชสีมา จับมือวิจัยเรื่อง  การฝึกสมาธิและสติ  เพื่อเป็นคนดีและเรียนเก่ง  ร่วมมือกับ  ดร.อาจอง  ชุมสาย ณ อยุธยา  นักวิทยาศาสตร์ระดับโลก 

 

                องค์กรชาวพุทธจังหวัดนครราชสีมา  ร่วมมือกับ  ดร.อาจอง  ชุมสาย  ณ  อยุธยา  นักวิทยาศาสตร์ระดับโลก  จับงานวิจัยทดลองสอนเด็กนักเรียนตามวิถีพุทธ  พิสูจน์ตามหลักที่ว่า  พระพุทธเจ้าเป็นครูที่เก่งที่สุดในโลก  หลักสูตรที่ดีที่สุดจึงเป็นหลักสูตรของพระพุทธองค์    เน้นไปที่การฝึกสมาธิและสติ  หวังผลทำให้เด็กเป็นคนดี  และเรียนเก่ง  รับผู้สนใจร่วมวิจัยครั้งแรก ๕๐ คน/แห่ง  เปิดประชุมครั้งแรก ๓ มิ.ย. ๕๔  เวลา ๑๐.๐๐ น.  ที่เดอะมอลล์นครราชสีมา โดย    พระอาจารย์แสนปราชญ์  และ  ดร.อาจอง  ชุมสาย  ณ อยุธยา  ตอบข้อซักถาม  

                เมื่อวันที่ ๑๗  เมษายน ๒๕๕๔  เวลา ๑๓.๐๐ น. ที่วัดโสงหนองบัว  สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดแห่งที่ ๖๑  จังหวัดนครราชสีมา  ได้มีการประชุมพิเศษขององค์กรชาวพุทธ  จังหวัดนครราชสีมา  โดยมี  พระครูโกวิทกิตติสาร  เจ้าคณะอำเภอเฉลิมพระเกียรติ  เป็นประธานฝ่ายสงฆ์  พันตำรวจเอก  ทรงกฤช  อินทะทำมา  นายกพุทธสมาคมจังหวัดนครราชสีมา  เป็นประธานฝ่ายฆราวาส  ร่วมด้วย  นายประชา  เพ็งสุริยา  ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา  จังหวัดนครราชสีมา  ตัวแทนจากกองทัพภาคที่ ๒,  ตัวแทนจากกองบังคับการตำรวจภูธรภาค ๓, โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา,  เดอะมอลล์นครราชสีมา,  ชมรมรักษ์พระพุทธศาสนา,  สถานีวิทยุ  มจร. นครราชสีมา,  ชมรมจริยธรรมโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา,  ฯลฯ 

                ที่ประชุมปรึกษาทำงานวิจัย  การฝึกสมาธิและสติ  เพื่อเป็นคนดีและเรียนเก่งขึ้น  โดยการนำของพระใบฎีกาแสนปราชญ์  ฐิตสัทโธ  พระวิปัสสนาจารย์  จังหวัดนครราชสีมา  เจ้าของรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น  อันดับ ๑  ของ  มจร.  จากทั่วประเทศ  ร่วมมือกับ  ดร.อาจอง  ชุมสาย  ณ  อยุธยา  นักวิทยาศาสตร์ระดับโลก  ที่ใช้สมาธิออกแบบอุปกรณ์การร่อนลงจอดของยานไวกิ้งบนดาวอังคารได้สำเร็จเป็นคนแรกของโลก  ด้วยข้อสมมติฐานที่ว่า  พระพุทธเจ้าเป็นครูที่เก่งที่สุดในโลก  ดังนั้นหลักสูตรที่ดีที่สุดจึงเป็นหลักสูตรของพระพุทธองค์   ที่ทำให้เด็กนักเรียนเป็นคนดีและเรียนเก่งได้  จึงร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทำงานวิจัย  แบบการทดลองกับเด็กนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ  โดยมีหลักการใหญ่ที่ครูผู้สอนกับวิธีการฝึกสมาธิและสติที่ถูกต้อง  ซึ่งจะเปิดรับผู้สนใจร่วมวิจัยครั้งแรก ๕๐ คน/แห่ง  เปิดประชุมตอบข้อซักถามครั้งแรก ๓ มิ.ย. ๕๔  เวลา ๑๐.๐๐น.             ที่เดอะมอลล์นครราชสีมา โดยพระอาจารย์แสนปราชญ์  และ  ดร.อาจอง  ชุมสาย  ณ อยุทธยา  โทรศัพท์สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่  ๐๘๓๑๒๕๖๓๗๕

พระใบฎีกาแสนปราชญ์  หัวหน้าโครงการฯ  ได้เสนอในที่ประชุมโดยได้ยกปัญหาการทำงานด้านพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของเด็กนักเรียนว่าล้มเหลว  สืบเนื่องจากการใช้  คำสั่ง  และ  เงินทุน  เป็นตัวขับเคลื่อน  แต่วัฒนธรรมของชาวพุทธดั้งเดิมส่วนใหญ่ใช้ลักษณะ  จิตอาสา  การประสานความร่วมมือ  ทำให้ในอดีตงานพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมแบบภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนโบราณประสบความสำเร็จ  การปลูกฝังพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนก็เช่นเดียวกัน  ส่วนใหญ่โรงเรียนและสถานศึกษาจะได้รับคำสั่งให้จัดอบรมโดยขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง  โดยเฉพาะเรื่องการฝึกสมาธิ  และการฝึกสติ  โรงเรียนส่วนใหญ่จะฝึกสมาธิผิด  เป็นสมาธินอกพระพุทธศาสนา  ทำให้นักเรียนถูกปลูกฝังความยึดมั่นถือมั่น  หรือเกิดความกดดันจนไประบายในครอบครัวตัวเอง  จึงพบเห็นพฤติกรรมของเด็กนักเรียนที่ต่ำลงอยู่ทั่วไปในสังคมไทย  และในฐานะที่ตัวเองได้ศึกษาเรื่อง  สติปัฏฐานกถาจนได้รับคัดเลือกเป็นวิทยานิพนธ์ดีเด่น  พบว่าสมาธิ  และสติ  เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้จึงจะนำไปใช้และแก้ปัญหาได้จริง  ปัญหาที่พบคือสถานศึกษา  หรือครูไม่เข้าใจเรื่องสมาธิทางพระพุทธศาสนา  ส่วนใหญ่จึงเป็นการฝึกสมาธิที่มีอยู่แล้วนอกพระพุทธศาสนา  ปัญหาการพัฒนาเด็กให้เป็นคนดีจึงไม่เป็นผล    

พระใบฎีกาแสนปราชญ์กล่าวต่อว่า  ท่านมีแนวคิดที่ต่อยอดงานวิจัยให้เกิดประโยชน์แก่วงการศึกษา  และเกิดการปลูกฝังคุณธรรมให้เด็กและเยาวชน  โดยได้ศึกษาวิธีการของ  ดร.อาจอง  ชุมสาย  ณ  อยุทธยา  นักวิทยาศาสตร์ระดับโลก  ที่หันชีวิตมาสร้างคนดี  เปิดโรงเรียนสัตยาไสขึ้นที่ลพบุรี  เน้นความสำคัญที่ครูผู้สอนและการฝึกสมาธิ  วิธีการนี้ ดร.อาจอง  ได้ทดลองทำการวิจัยมาทั้งในประเทศและต่างประเทศจนได้ข้อสรุปว่า  วงการศึกษาของโลกผิดพลาดที่เน้นคนเก่ง  ส่วนในเมืองไทยก็เป็นระบบแพ้คัดออก  คือคนเก่งจึงสามารถได้ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำได้  วิธีที่จะแก้ปัญหานี้คือการมีเป้าหมายของการศึกษาต้องเป็นแบบ  “สร้างคนดีเหนือสิ่งใด”  เพราะเมื่อเป็นคนดีแล้วเขาจะมีระเบียบวินัย  และเรียนเก่งในที่สุด  โรงเรียนสัตยาไสจึงเกิดขึ้น  ด้วยเป้าหมายที่ว่าการสร้างคนดีเหนือสิ่งใด  ตามหลักคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ท่านสรุปไว้ ๕ อย่าง คือ (๑) ความรักความเมตตา  (๒) ความจริง  (๓) ความประพฤติชอบ  (๔) ความสงบ  (๕) ความไม่เบียดเบียน  โดยทางโรงเรียนใช้การฝึกสมาธิเป็นหลักวันละ ๙ ครั้ง  นักเรียนเป็นโรงเรียนประจำ  เรียนรู้และอยู่กับธรรมชาติมีภูเขาแม่น้ำ  ทำนา  ปลูกผัก  กินอาหารมังสวิรัติ  เป็นต้น  นักเรียนของสัตยาไสจึงเป็นนักเรียนที่มีความประพฤติดี  และเมื่อจบชั้นมัธยมปลายแล้วสามารถเอ็นทรานส์เข้ามหาวิทยาลัยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

                ส่วนรูปแบบการเรียนการสอนในทางพระพุทธศาสนา   คือ  การศึกษาและปฏิบัติตามหลัก มัชฌิมาปฏิปทา  แปลว่า  ทางสายกลาง  อันประกอบด้วยข้อปฏิบัติ ๘ อย่างที่อยู่ในหลักการปฏิบัติเดียวกัน  หรือเป็นทางสายเดียวกันแต่มีองค์ประกอบ ๘ อย่างเรียกว่า  มรรคมีองค์ ๘[1]  ซึ่งสรุปเป็นข้อศึกษาและปฏิบัติเรียกว่า  ไตรสิกขา  แต่เมื่อวิเคราะห์ถึงการนำไปใช้แล้วพบว่ามรรคมีองค์ ๘  กับไตรสิกขายังมีความแตกต่างกัน  กล่าวคือ  มรรคมีองค์ ๘  เป็นระบบการปฏิบัติที่มุ่งในแง่เนื้อหาคือ มองแต่ลำพังตัวระบบเอง  ยังไม่พูดถึงว่าจะใช้งานอย่างไร  ส่วนไตรสิกขา  ได้แก่  ศีล  สมาธิ  ปัญญา  เป็นระบบการฝึกอบรมที่เป็นเชิงปฏิบัติเต็มที่  จัดไว้เพื่อใช้ฝึกคนในฐานะที่อยู่ในสังคม  หรือใช้เป็นระบบการฝึกคนของสังคม  หรือฝึกคนในฐานะที่เป็นมนุษย์ผู้หนึ่ง   ดังนั้นทั้งมรรคมีองค์ ๘  และไตรสิกขาจึงเป็นภารกิจของสถานศึกษาต่างๆ  ที่ต้องนำมาใช้  โดยการสอน  การอบรมคุณธรรมของผู้เรียนด้วยมรรคมีองค์ ๘  และการฝึกที่เป็นเชิงปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับภายนอกทั้งบุคคลและสังคมด้วยหลักไตรสิกขา  ดังนั้นการศึกษาและปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาเมื่อนำมาใช้ในการศึกษาก็คือ  การสอน  การอบรม  หรือการฝึกนักเรียน ซึ่งต้องให้ครบ ๓ ขั้น ได้แก่ (๑) ศีล              (๒) สมาธิ  (๓) ปัญญา  เพราะแต่ละขั้นมีองค์ประกอบส่งเสริมกันและกัน  และเมื่อฝึกครบ ๓ ขั้น  จึงจะได้การศึกษาที่สมบูรณ์[2]   

                พระใบฎีกาแสนปราชญ์ได้วิเคราะห์ถึงความสำเร็จการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสัตยาไสนั้นเกิดจากลักษณะเฉพาะสรุปได้ดังนี้คือ  (๑) ดร.อาจอง  ชุมสาย ณ อยุธยา  ผู้บริหารสูงสุดและเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสัตยาไส  เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก  คือ  เป็นผู้ออกแบบอุปกรณ์ควบคุมการร่อนลงจอดของยานไวกิ้งบนดาวอังคารขององค์การนาซ่า  เมื่อ ๓๕ ปีก่อน  และได้อุทิศตนเพื่อสังคมเป็นแบบอย่างของคนดี  เป็นคนไทยตัวอย่าง  ได้รับรางวัลสันติภาพภูมิภาคตะวันออก  เป็นครูดีเด่น  เป็นต้น  (๒) ครูผู้สอน  ผ่านการคัดเลือกโดยใช้หลักคัดเลือกคนดี  และมีการพัฒนาครูผู้สอนให้มีคุณภาพโดยส่งให้ศึกษาต่อ  ซึ่งมีครูระดับปริญญาเอก ๕ คน  ปริญาโท ๒๐ กว่าคน  (๓) การฝึกสมาธิ  มีการฝึกสมาธิให้กับนักเรียนวันละ ๙ ครั้ง  เริ่มจากตื่นนอน  ขณะเรียนในแต่ละคาบเรียน  จนถึงก่อนนอน  (๔) รูปแบบวิธีการจัดการเรียนการสอน  เป็นโรงเรียนประจำที่นักเรียนกินนอนที่โรงเรียน  ซึ่งนอกจากการเรียนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว  ยังได้จัดรูปแบบการเรียนการสอนที่สอดแทรกคุณธรรมไว้ในวิถีชีวิตของนักเรียน  อาทิ  การรับประทานอาหาร  โดยทางโรงเรียนกำหนดให้นักเรียนทุกคนรับประทานอาหารมังสวิรัติ  กำหนดให้มีการเรียนรู้ความพอเพียง  อยู่ได้ด้วยตนเอง  โดยให้ลงมือปฏิบัติด้านเกษตรกรรม  ทำนา  ปลูกผักปลอดสารพิษ  รวมทั้งการเรียนรู้สภาวะแวดล้อมเกี่ยวกับธรรมชาติ  สภาวะโลกร้อน  พลังงานทดแทน เป็นต้น  (๕) ครอบครัวนักเรียน  ถูกคัดเลือกกลั่นกรองอย่างดีโดยใช้หลักเกณฑ์การสอบคัดเลือกผู้ปกครอง  ไม่ได้สอบคัดเลือกนักเรียน  ทำให้ผู้ปกครองได้เรียนรู้และทำหน้าที่เป็นผู้สอนควบคู่ไปกับโรงเรียน  ผู้เรียนและครอบครัวจึงมีลักษณะแบบความสมัครใจ  มีความเข้าใจตรงตามจุดประสงค์ของโรงเรียนคือ  สร้างและพัฒนานักเรียนให้เป็นคนดีเหนือสิ่งใด  (๖) สถานที่  อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ  คือ  ตั้งอยู่ติดภูเขา  แม่น้ำ  ทำให้นักเรียนมีสุขภาพกายและจิตใจที่ดี

                จากลักษณะเฉพาะของโรงเรียนสัตยาไสนี้เองที่ทำให้โรงเรียนต่างๆที่ได้ไปศึกษาดูงานไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้  เพราะมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน คือ (๑) ด้านผู้บริหารโรงเรียนระดับสูงสุดของโรงเรียน  เปรียบเทียบระหว่างผู้อำนวยการโรงเรียนต่าง ๆ กับ ดร.อาจอง  ชุมสาย ณ อยุธยา  มีมาตรฐานทั้งด้านความรู้ความสามารถการประพฤติปฏิบัติตนมีความแตกต่างกันมาก                   (๒) ครูผู้สอน  มีความหลากหลาย  มีทั้งครูที่มีคุณภาพและด้อยคุณภาพ  (๓) การฝึกสมาธิขาดความรู้ความเข้าใจในการฝึก  (๔) รูปแบบวิธีการเรียนการสอน  สอดแทรกคุณธรรมในชีวิตประจำวันของนักเรียนได้ยาก  เพราะไม่ใช่โรงเรียนประจำ  (๕) ครอบครัวนักเรียนมีความหลากหลาย  มีความแตกต่างกันมาก (๖) สถานที่อยู่ตามสภาพแวดล้อมตามความเป็นจริงของแต่ละชุมชน  บางแห่งอยู่ในสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม

                งานวิจัยการฝึกสมาธิและสติ  เพื่อเป็นคนดีและเรียนเก่ง  มีหลักการใหญ่ที่ครูผู้สอนกับวิธีการฝึกสมาธิและสติที่ถูกต้อง  ซึ่งจะทดลองกับโรงเรียนทั่วไปที่สนใจจะเข้าร่วม  หรือครูอาจารย์ที่มีความสนใจ  สอบถามรายละเอียดที่  ๐๘๓๑๒๕๖๓๗๕  



[1](๑) สัมมาทิฏฐิ  หมายถึง  ความเห็นชอบ  (๒) สัมมาสังกับปะ  หมายถึง  ความดำริชอบ                         (๓) สัมมาวาจา  หมายถึง  วาจาชอบ  (๔) สัมมากัมมันตะ  หมายถึง  การงานชอบ  (๕) สัมมาอาชีวะ  หมายถึง  อาชีพชอบ  (๖) สัมมาวายามะ  หมายถึง  ความเพียรชอบ  (๗) สัมมาสติ  หมายถึง สติชอบ  (๘) สัมมาสมาธิ  หมายถึง  สมาธิชอบ, อ้างใน   

[2]พระเทพเวที (ประยุทธ์  ปยุตตฺโต), พุทธธรรม (ฉบับปรับปรุงและขยายความ), พิมพ์ครั้งที่ ๕, (กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๒), หน้า ๖๐๖.  

สถานที่: ชั้น ๓ เอ็ม.ซี.ซี. ฮอลล์ เดอะมอลล์ นครราชสีมา

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 528713เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2011 01:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 12:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท