จากเด็กบ้านนา…...สู่นางฟ้าในชุดขาว


*****************************************************************************************************************

 

       ท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนระอุสาดส่องไปทั่วท้องทุ่ง  ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดกับฤดูการทำนาของชาวอีสานซะเหลือเกิน  ความจริงช่วงนี้ท้องฟ้าน่าจะเป็นสีเทา  ลมพัดเบาๆ  สายฝนโปรยปรายเย็นสบาย  อาจจะเนื่องมาจากปีนี้ฝนแล้งก็เป็นได้ถึงทำให้แดดแรงซะเหลือเกิน  ฉันยังจำได้เมื่อ 10  ปีก่อนเด็กหญิงคนหนึ่งสวมเสื้อม่อฮ่อมสีดำ ( ผ้าฝ้ายที่นำไปย้อมให้เป็นสีดำหรือสีน้ำเงินด้วยผลมะเกลือ)  และกางเกงวอร์มเก่า ๆ ที่ขาทั้งสองข้างเปรอะเปื้อนไปด้วยโคลนจากท้องทุ่งนา  ในมือมีต้นกล้าที่จะใช้ดำนาอยู่หนึ่งกำ  หมวกสีส้มใบเก่า ๆ ที่สวมอยู่บนศีรษะเพื่อบดบังแสงแดงที่กำลังลามเลียไปทุกอณูของผิวหนัง  กำลังก้ม ๆ เงย ๆ เพื่อดำนา

         ขอโทษเด้อค่า.....นาน้องสายชลอยู่ไสเน้อค่ะ ” เสียงของผู้หญิงคนหนึ่งดังแทรกเข้ามาในโสตประสาทหูของฉัน  ฉันหยุดการกระทำทั้งหมดแล้วยืดตัวขึ้นมายืนมองผู้หญิงคนนั้น  สวมกางเกงผ้าสีดำ  เสื้อคอปกสีฟ้า  ผิวขาวสะอาด  หน้าตาน่ารัก  ที่เดินตรงมาหาฉัน

         เป็นหยั๋งเน้อค่ะจั่งสิไปหาคนสื่อสายชล ”  แม่ฉันถามผู้หญิงคนนั้น  เธอก็ไม่ได้ตอบเพียงแต่ยิ้มให้  แล้วแม่ฉันก็ชี้มาที่ฉัน

         นั่นแหละค่ะ  คนสื่อสายชล ”  เธอมองมาที่ฉันพร้อมยิ้มเต็มใบหน้าอีกครั้ง

             “ ไปอี่หล่า     เอื้อยสิพาไปเฮียนพยาบาล  บ่ต้องดำนาอีกแล้ว ”ความรู้สึก  ณ  ขณะนั้นฉัน  งงงง!!!!......... เขาเป็นใคร?   และบอกไม่ถูก  ไม่เชื่อหูตัวเอง  เมื่อผู้หญิงคนนั้นแนะนำตัวเองว่ามาจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ   มาตามตัวสำรองไปเข้าเรียนพยาบาลเพราะคนเก่งๆเขาสละสิทธิ์กันหมดเพื่อไปเรียนสิ่งที่เขาคิดว่าดีกว่าอาชีพพยาบาล  แต่ไม่ได้หมายความว่าคนเรียนพยาบาลเรียนไม่เก่งนะคะ  อาจเป็นเพราะว่าคนเหล่านั้นไม่มีคุณสมบัติของความเป็นพยาบาลต่างหากละ  ตอนแรกฉันไม่เคยคิดอยากเป็นพยาบาลเพราะรู้สึกว่าไม่มีเวลาพักผ่อน  และคิดว่า

               พยาบาลต้องเป็นคนเรียบร้อยและนิสัยดี  ซึ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับลักษณะนิสัยโดยส่วนตัวของฉันเองมาก  แต่ที่ไปสอบเพราะเพื่อนชวน  ความฝันของข้าพเจ้าคืออยากเป็นคุณครู  เพราะมีวันปิดภาคเรียนและที่สำคัญ  ได้แต่งตัวสวยๆ 

               เมื่อฉันได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสุรินทร์  ก็เริ่มรู้สึกว่าเป็นอะไรที่เหนื่อยและต้องใช้ความอดทนและความพยายามมากที่สุด  มีอยู่ครั้งหนึ่งที่รู้สึกว่าตัวเองล้า  ไม่อยากเรียน ไม่อยากเป็นอีกแล้วพยาบาล  (  ช่วงที่ขึ้นเก็บประสบการณ์ที่ห้องคลอด  และเจอกับอากาศที่หนาวเย็นมากๆและฉายาพยาบาลห้องคลอดมีแต่คนใจร้าย  ) และบ่อยครั้งที่มีทั้งหัวเราะและร้องไห้  แต่เมื่อกลับมาบ้านก็ได้กำลังใจจากคุณยาย  พ่อและแม่ผู้ซึ่งเป็นบุคคลอันเป็นที่รัก  จึงทำให้ฉันฮึดสู้อีกครั้งหนึ่ง  เมื่อเรียนจบก็ได้ปฏิบัติงานที่บ้านเกิดของตนเอง  ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอ  โนนคูณ  หลายคนคงจะไม่รู้จักอำเภอนี้เป็นแน่  เพื่อน ๆ ฉันบอกว่าได้ยินแต่ชื่อก็ไม่มีใครอยากจะอยู่แล้ว  แต่ด้วยสปิริตของความที่ว่า   สำนึกรักบ้านเกิด  ณ  ขณะนั้น  ฉันจึงไม่มีคู่แข่งในการเลือกลงสมัครที่อำเภอเลยสักคน 

                 แรกเริ่มฉันได้ปฏิบัติงานที่ตึกผู้ป่วยใน  ต้องขึ้นเวรบ่ายและเวรดึก  เวลาส่วนใหญ่สูญเสียไปกับการลงเวรแล้วก็นอน  นอนแล้วก็ขึ้นเวร  ไม่สุงสิงกับใคร  แม้กระทั่งบางวันข้าวก็ไม่ได้กินเลย  ไม่รู้จักใครแม้กระทั้งคนในหมู่บ้านของตนเอง  เป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยมา  จนเวลาผ่านไป  6 ปี  หลังจากนั้นฉันมีโอกาสได้ไปศึกษาต่อเนื่องใน  หลักสูตร  2 ปี  หลังและเรียนจบที่วิทยาลัยพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี  รางวัลชิ้นแรกที่ข้าพเจ้าได้รับหลังเรียนจบและในวันรับปริญญาบัตรคือ  การที่ได้รับโทรศัพท์ทางไกลจากโรงพยาบาลโนนคูณว่าจะถูกย้ายสถานที่ปฏิบัติงานใหม่  คือ  ไปทำงานที่กลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน  ทำให้ฉันถึงกับน้ำตาไหลเพราะอะไรหลายๆอย่างที่ข้าพเจ้าบอกไม่ถูกเหมือนกัน  ณ  ขณะนั้น 

                ข่อยอยากให้เจ้ามาอยู่นำข่อย  มาส่อยกันพัฒนาบ้านเกิดของเฮา   นี่คือคำพูดของผู้ที่ได้ชื่อว่า  เป็นหัวหน้าของฉันตั้งแต่บัดนั้นจนถึงทุกวันนี้  ซึ่งคำพูดนี้ยังก้องอยู่ใน  2  หูของฉันตลอดมา  เนื่องจากพี่ที่รับผิดชอบงานต้องย้ายสถานที่ทำงาน  คือย้ายตามสามีไปต่างจังหวัด  อย่างกระทันหัน  และฉันได้มารับงานต่อ โดยไม่ได้รับการมอบหมายงานอะไรเลย  เมื่อไปรายงานตัวที่ทำงานใหม่วันแรก  (  วันที่  6  มกราคม  2549  )  สิ่งที่ฉันได้รับก็คือเอกสารในกล่อง กระดาษ  A4   จำนวน  2  กล่อง  และเอกสารที่วางไว้บนโต๊ะ  ประมาณ  2 / 3  ของโต๊ะ 

                นี่คืองานที่เจ้าต้องศึกษาเอาเองเพราะว่ามันเป็นงานที่เจ้าต้องรับผิดชอบทั้งหมด งานที่กล่าวถึงคืองานสร้างสุขภาพ  งานผู้สูงอายุ  งานคนพิการ  งานคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม  งานคัดกรองเบาหวานและความดันโลหิตสูงเชิงรุก   และงานที่สำคัญอีกอย่างที่ ก็คือ  งานเยี่ยมบ้าน  ทำไมมันช่างมากมายอย่างนี้ จะทำได้ไหมนี่?  ทำไมพี่เขาถึงเก่งจัง ?  คำถามต่างๆผุดขึ้นมาในใจ   แต่เมื่อฉันมาปฏิบัติงานที่กลุ่มงานเวชปฏิบัติ ครอบครัวและชุมชน   หัวหน้าบอกฉันว่าฉันมีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่จะทำงานกับชุมชน   เพราะเป็นคนบ้านเฮา  และเมื่อไปปฏิบัติงานในชุมชนจริงๆ  ทำให้ฉันได้รู้ถึงคุณค่าของความเป็นคนมากมาย  ทำให้ได้รู้จักกับคนหลายๆอาชีพ  หลายๆกลุ่มอายุ   ทำให้มีความกล้าคิดและกล้าทำอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยทำเลยในชีวิต  มันฝึกตั้งแต่การติดต่อประสานงานกับทุกๆหน่วยงานและเกือบจะทุกๆอาชีพ  และที่สำคัญคือ  ใครๆก็รู้จักฉันในนามของ  หมอสาย ส่วนใหญ่พ่อแม่พี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียงจะขอความช่วยเหลือ  ไม่ว่าตั้งแต่การล้างแผล  การฉีดยาที่ได้มาจากคลีนิค  เป็นธุระเรื่องอุปกรณ์ทำแผล และเป็นที่ปรึกษาในหลายๆเรื่องและอาสาเป็นธุระให้  ถ้าพอทำได้หรือถ้าทำไม่ได้ก็จะพยายามปรึกษาผู้ที่สามารถแก้ไขและทำสิ่งนั้นได้   ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ  ณ  ขณะที่เป็นพยาบาลประจำตึกผู้ป่วยใน  มันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง  ขอบคุณที่ฉันได้มาอยู่ตรงจุดนี้  ณ  ปัจจุบัน  ได้มีโอกาสช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่เขาด้อยโอกาสกว่าเรา 

                   ซึ่งเพื่อนหลายๆคนเคยบอกว่าฉัน  ตามใจคนไข้ ”  แต่สำหรับตัวฉันเองไม่ได้คิดว่ามันเป็นการตามใจแต่คิดว่ามันเป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์  เมื่อมนุษย์ร้องขอ  เราก็ต้องให้  และให้แบบไม่หวังสิ่งตอบแทน  คือการให้บริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่  ยอมให้ญาติผู้ป่วยต่อว่า  ซึ่งฉันคิดว่าตนเองไม่มีความผิดเลยกับการที่พยายามกระตุ้นให้ญาติหันมาสนใจผู้ป่วยที่พิการและช่วยเหลือตนเองได้บ้าง  สักนิดก็ยังดี  และบางครั้งยังทำให้ฉันคิดว่า  ตัวเองเข้าไปยุ่งกับเขาทำไม?  ญาติพี่น้องก็ไม่ใช่  แต่สิ่งที่ฉันได้รับคือความภูมิใจ  และความดีใจ  ที่ภรรยา  บุตรและญาติหันมาดูแลกันจนถึงปัจจุบัน  (  เห็นหน้าผู้ป่วยรายนี้ทีไรก็มีแต่รอยยิ้ม  แห่งความภูมิใจ )   ยังแอบคิดในใจเลยว่า 

ถึงแม้จะโดนด่าก็คุ้มกับการลงทุนครั้งนี้นะ 

สายชล  นิลเนตร

team  HHC  รพ.โนนคูณ

                     

หมายเลขบันทึก: 525058เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2013 08:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มีนาคม 2013 08:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท