การให้ความคุ้มครองสิทธิพลเมืองของชนกลุ่มน้อยในภูมิภาคยุโรป


แนวคิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

        ตราสารสำคัญของการคุ้มครองสิทธิพลเมืองในภูมิภาคยุโรป คืออนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Convention on Human Right) กำหนดมาตรการขึ้นเพื่อการส่งเสริม คุ้มครอง ซึ่งได้กำหนดเป็นรูปธรรมชัดเจน และเป็นมาตรฐานที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง จึงขอนำมากล่าวไว้ในที่นี้ คือ

 1.การห้ามการเลือกปฏิบัติ มาตรา 14 หลักการไม่เลือกปฏิบัติ ถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ อันเนื่องมาจากเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมืองหรือความเห็นอย่างอื่น ชาติแหล่งกำเนิดทางสังคม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่น ๆนอกจากนั้น ยังต้องประกันสิทธิความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชายในการมีสิทธิทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งการคุ้มครองนี้ ครอบคลุมทั้งการเลือกปฏิบัติที่เกิดจากเจ้าหน้าที่เกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐและจากเอกชนด้วย

2. การรับรองสิทธิในชีวิต การห้ามการกระทำทรมาน หรือการปฏิบัติอย่างโหดร้ายทารุณและดูถูกเหยียดหยาม มาตรา 2 และ มาตรา 3 การรับรองสิทธิในชีวิต และการห้ามการกระทำทรมานหรือทารุณกรรม หรือมีการปฏิบัติตลอดจนการลงโทษที่มีลักษณะโหดร้าย ผิดมนุษยธรรมหรือต่ำช้านี้ นอกจากเป็นการรับรองสิทธิในชีวิตและการได้รับการปฏิบัติที่ดีแล้ว ยังคุ้มครองถึงการห้ามนำมนุษย์ไปเป็นทาศหรือการบังคับเกณฑ์แรงงานด้าย

3.การรับรองสิทธิในการมีอิสรภาพและความปลอดภัย มาตรา 5 การคุ้มครองอิสรภาพและความปลอดภัยนี้เป็นหนึ่งในความคุ้มครองที่ได้รับรองไว้ เช่นกัน การล่วงละเมิดสิทธิดังกล่าว อาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากรัฐและบุคคลธรรมดา เช่น การตรวจค้นร่างกาย เคหสถาน การดักฟังการสนทนาทางโทรศัพท์ หรือการลอบบันทึกการสนทนาต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม สิทธินี้ก็เช่นเดียวกับสิทธิอื่น ๆ ที่มิได้เป็นการให้ความคุ้มครองโดยสมบูรณื กล่าวคือ รัฐสามารถยกเว้นหรือเข้าแทรกแซงได้ในบางกรณี รวมทั้งการดำเนินการที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะด้วย

4.การรับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสันติและเสรีภาพในการรวมตัวกัน มาตรา 11 เสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการรวมตัวนั้นมีความสำคัญ เนื่องจากการรวมตัวกันนี้อาจกระทำเพื่อจุดมุ่งหมายได้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ทางวัฒนธรรม ศาสนา หรือภาษา และการรวมตัวกันนี้ อาจนำไปสู่การกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ ดังกล่าว

5.การรับรองเสรีภาพในการแสดงออก มาตรา 10 เสรีภาพในการยึดถือความคิดเห็นและการแสดงออกนี้ นอกจากจะเป็นการรับรองเสรีภาพในการได้รับ หรือการสื่อสารข้อมูลข่าวสารหรือความคิดในทุกรูปแบบแล้ว ยังรวมถึงเสรีภาพในการแสวงหาและได้รับสิทธิดังกล่าวโดยปราศจากขอบเขตในเรื่องพรมแดน หรือเครื่องมือสื่อสารชนิดใด การจำกัดสิทธิประเภทนี้เป็นเรื่องกระทบผลประโยชน์ของผู้อื่นหรือของชุมชนจึงเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้

6.การรับรองสิทธิในชีวิต ครอบครัว บ้าน และการติดต่อสื่อสารของบุคคล มาตรา 8 สิทธิที่จะได้รับชีวิต ครอบครัว บ้านและการติดต่อสื่อของบุคคลนี้ นอกจากจะกระทำต่อครอบครัวแล้ว ยังให้ความคุ้มครองแก่การสมรสด้วยความสมัครใจ ความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย และกำหนดให้ความคุ้มครองเพื่อปกป้องสิทธิเด็กไว้โดยเฉพาะว่า นอกจากจะมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากครอบครัวโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติแล้ว ยังปกป้องเด็กจากการใช้ความรุนแรงการถูกเอาเปรียบในรูปแบบต่าง ๆ และพันธกรณีของรัฐที่จะต้องมีมาตรการเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็ก รวมทั้งการที่เด็กมีสิทธิที่จะมีชื่อและหลักฐานทางทะเบียนทันทีที่ถือกำเนิด อันเป็นการยอมรับต่อสภาพบุคคลทางกฎหมายของเด็ก และสิทธิของเด็กที่จะได้รับสัญชาติด้วย

 7.การรับรองสิทธิเสรีภาพทางความคิด ความเชื่อและศาสนา มาตรา 9 สิทธิเสรีภาพประเภทนี้ ไม่อาจยินยอมให้มีการยกเว้นได้ แม้ในระหว่างกรณีฉุกเฉิน อย่างไร้ก็ตาม การจำกัดนี้มิใช่ว่าจะกระทำมิได้เลย กล่าวคือ เสรีภาพในการประกาศศาสนา หรือความเชื่อถือของบุคคลอาจอยู่ภายใต้ข้อจำกัดทางกฎหมายได้ หากว่าการจำกัดนั้นเป็นไปเพื่อรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย สุขภาพอนามัย ศีลธรรม รวมทั้งสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลอื่น ซึ่งเสรีภาพในทางความคิด ความเชื่อ และศาสนานี้ หมายความถึง เสรีภาพในความเชื่อทั้งหมดของบุคคลไม่ว่าจะเป็นความเชื่อทางการเมือง ศีลธรรม ปรัชญา หรือศาสนาก็ตาม ในการใช้เสรีภาพดังกล่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หมายเลขบันทึก: 52479เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2006 00:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท