จินดามณี กับวิถีที่เปลี่ยนไป


นั่นคือเหตุผลว่าทำไม จินดามณีเก่า ๆ เล่มนี้ จึงถูกวางเทิดทูนอยู่เหนือ "พานแว่นฟ้า"


"รุ่งอรุณแห่งธรรม จินดามณี กับวิถีแห่งคนคุ้งตะเภา"

สถานที่จัดแสดง: พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา
ชนิด: สมุดไทย
อายุ: สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อายุไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ปี
สภาพ: ดี บางเล่มขาดหาย จำนวน: ๑๒ ฉบับ


หนังสือเรียนอักขรวิธีของผู้คนในสมัยโบราณ  อาจพบได้ตามวัดเก่าแก่ทั่ว ๆ ไป แต่ที่วัดคุ้งตะเภา จังหวัดอุตรดิตถ์  มีปรากฎหลักฐานในประวัติวัดของกรมการศาสนา ว่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๓  ศาลาวัดคุ้งตะเภาเคยถูกใช้เป็นสถานที่บอกหนังสือแก่ชุมชนมาตั้งแต่สมัยธนบุรี (๒๔๓ ปี ก่อน) โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้สอน

ชาวบ้านย่านตำบลคุ้งตะเภา ได้อาศัยศาลาวัดคุ้งตะเภาแห่งนี้ เป็นสถานที่ทำการศึกษาเล่าเรียนมาโดยตลอดโดยมีพระสงฆ์เป็นอาจารย์บอกหนังสือ มูลทั้งจินดามณีและมูลบทบรรพกิจรวมไปถึงเลขคณิตต่าง ๆ จนต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ มีการจัดการศึกษาใหม่จึงได้มีครูเป็นฆราวาสทำการสอนแทน โดยเรียกว่า "โรงเรียนวัดคุ้งตะเภา" มีที่ตั้งอยู่ในศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา ซึ่งโรงเรียนวัดคุ้งตะเภานี้นับเป็นโรงเรียนแห่งแรกของตำบลคุ้งตะเภาและแถบ ย่านแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกตรงข้ามย่านตำบลท่าเสาและท่าอิฐ

หลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ โรงเรียนวัดคุ้งตะเภา ได้ย้ายไปตั้งในที่แห่งใหม่ และเปลี่ยนไปใช้ชื่อว่า "โรงเรียนบ้านคุ้งตะเภา" และปัจจุบัน ในเขตตำบลคุ้งตะเภา มีโรงเรียนเกิดขึ้นมารวมทั้งสิ้น ๖ โรงเรียน โดยทั้งหมดนี้ เริ่มต้นมาจากวัดคุ้งตะเภา โดยมีศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภานี่เอง ที่เป็นต้นสายธารแห่งการให้การศึกษาแก่ชุมชนคนคุ้งตะเภา

และแม้บทบาทของพระสงฆ์ในการให้ความรู้แก่สังคม จะถูกแยกออกจากกันมาเนิ่นนาน ตามที่ทราบกันดี
จาก "ศิษย์วัด" กลายเป็น "นักเรียน"
จาก "พระสงฆ์" ก็กลายเป็น "คุณครู"  แทน
หรือแม้จากคำว่า "วัด" ก็อาจถูกตัดออกไป ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม

นับแต่นั้น วัดคุ้งตะเภา ก็ถูกขีดเส้น กันออกจากพื้นที่การศึกษาแก่เยาวชนของชาติ มากว่า ๕๐ ปี

ก่อน การปฏิรูปการศึกษา ๒๕๔๒ พระสงฆ์วัดคุ้งตะเภาขอเข้าสอนธรรมะในโรงเรียนไม่ได้ ด้วยเหตุผลสั้น ๆ ของคุณครูหรือผู้บริหารว่า พระไม่ควรมา "รบกวนเวลาเรียนของเด็ก" อยู่วัดนั่นแหละดีแล้ว...

แต่ ปัจจุบัน นับแต่ พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นต้นมา พระสงฆ์วัดคุ้งตะเภาได้รับสิทธิ์เข้าสอนในโรงเรียนทั้ง ๖ โรงเรียน โดยมีการให้ศึกษาธรรมะ และนโยบายปฏิรูปการศึกษาเป็นตัวเชื่อม 


นับแต่นั้นมา อาจเรียกได้ว่า นักเรียนในโรงเรียนทั่วทั้งตำบลคุ้งตะเภา รวมกว่า ๔๐๐ คน ได้หวนกลับมาเป็น "ศิษย์วัดคุ้งตะเภา" เหมือนเมื่อ ๒๔๓ ปี ก่อนอีกครั้ง


แม้ จินดามณีเล่มนั้น จะมิได้ถูกเปิดอ่านอีกเลยนับร้อยปี แต่สิ่งที่สำคัญกว่าการอ่านมัน คือการที่สมุดไทยเก่า ๆ เล่มนี้ ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้พระสงฆ์วัดคุ้งตะเภาไม่หยุดนิ่ง และเกิดผลสัมฤทธิ์ดังกล่าวมา

นั่นคือเหตุผลว่าทำไม จินดามณีเก่า ๆ เล่มนี้ จึงถูกวางเทิดทูนอยู่เหนือ "พานแว่นฟ้า" 

"...หากไม่รู้จักเอา "อดีต" มารับใช้ "ปัจจุบัน"

เมื่อนั้น "อนาคต" ก็อาจขาดไร้ซึ่งความหมาย..."



ปล. นอกจากสมุดไทยทั่ว ๆ ไป แล้ว ในพิพิธภัณฑ์ยังมีสมุดไทย "ตำราดูแม้ว" ด้วย ซึ่งท่านใดสนใจก็สามารถมาศึกษาได้ จะได้ไม่ต้องไปหาดูไกลถึงดูไบ เชียวนะ...



หมายเลขบันทึก: 522871เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2013 20:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2013 23:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท