งานวิจัย สกว.สู่วันอนุรักษ์มรดกไทย ๒ เม.ย.๕๖ ที่เมืองบางขลัง สุโขทัย


        เมืองบางขลังเป็นชุมชนโบราณอยู่ในพื้นที่ อ.สวรรคโลก  จ.สุโขทัย  ถือกำเนิดร่วมสมัยกับเมืองเก่าสุโขทัยและศรีสัชนาลัย  ตามหลักศิลาจารึกหลักที่  2  วัดศรีชุม  ด้านที่  1  สรุปได้ว่า  พ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมืองยกทัพมารวมพลกันที่เมืองบางขลัง  ฝึกกำลังพลและเกณฑ์นักรบจากเมืองบางขลัง  เข้าตีเมืองสุโขทัยคืนจากขอมสบาดโขลญลำพง  แล้วสถาปนาพ่อขุนบางกลางหาวเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์  ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย 

        นอกจากนี้เมืองบางขลังยังเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรสุโขทัยและอาณาจักรล้านนา  มีหลักฐานว่า  ในปี  พ.ศ.  1913  มีพระภิกษุจากเมืองเชลียงนำพระธาตุที่ฝังใต้กอดอกเข็มที่เมืองบางขลังไปถวายพระเจ้ากือนา  พระองค์ได้นำพระธาตุไปประดิษฐานไว้ที่วัดสวนดอกและวัดพระธาตุดอยสุเทพ  จ.เชียงใหม่ 

        อีกทั้งยังมีความสำคัญและคุณค่าทางประวัติศาสตร์  โบราณคดี มีโบราณสถาน  ปูชนียสถานต่างๆ  บนเส้นทางโบราณที่เรียกกันว่า  “ถนนพระร่วง” หรือ “ท่อปู่พญาร่วง”

        สังคมเริ่มให้ความสำคัญกับเมืองบางขลัง  นับแต่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรร่องรอยอารยธรรมโบราณเมืองบางขลัง  หลังจากนั้นหน่วยงานต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นได้เข้ามาสานต่อ  ดำเนินการจัดกิจกรรมต่างๆ  ที่จะนำไปสู่การปลุกเมืองบางขลังให้ตื่นขึ้นมามีชีวิตอีกครั้ง 

        ชาวบ้านเจ้าของพื้นที่เฝ้ามองการดำเนินกิจกรรมด้วยความสนใจ และได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ตามแต่โอกาส  ผลจากการเข้าร่วมทำให้ชาวบ้านเริ่มรับรู้ว่าชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่มีเรื่องราวที่ไม่ธรรมดา  ตื่นเต้น  สนใจที่จะค้นหา  และอยากรู้ถึงอัจฉริยลักษณ์ที่แท้จริงของชุมชน รวมถึงสนใจที่จะรักษาสภาพวิถีชีวิตดั้งเดิมของตนเองให้คงอยู่สืบไป  ประกอบกับผลจากการทำประชาคมพบว่า ประชาชนเกิดการตื่นตัว ให้ความสนใจ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  เพื่อหาแนวทางที่จะศึกษาประวัติความเป็นมาของชุมชน อยากทราบถึงพัฒนาการของวิถีถิ่นชุมชน รวมถึงแนวทางที่จะใช้ประวัติศาสตร์และเรื่องราวของชุมชนสร้างเป็นสินค้าในรูปแบบเส้นทางท่องเที่ยวของชุมชน

         ดังนั้น ชุมชนและภาคี ได้แก่  วัด  โรงเรียน  และ อบต.เมืองบางขลัง  จึงมีความต้องการที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนด้วยกระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่ใช้ฐานประวัติศาสตร์ และ วิถีวัฒนธรรมชุมชนเป็นตัวเชื่อมร้อยคนในชุมชนและภาคีให้มาร่วมกันทำงานวิจัย เรื่อง   “การศึกษาอัจฉริยลักษณ์ชุมชนโบราณเมืองบางขลัง  เพื่อพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและ อบต.เมืองบางขลัง”  ระยะเวลาทำวิจัย  18  เดือน(1 ธันวาคม 2554 - 30 พฤษภาคม 2556) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  สามแสนบาท ภายใต้การดูแลของ ผศ.ดร.ชุลีรัตน์  จันทร์เชื้อ จาก ม.ราชภัฎพิบูลสงครามและคณะ

          ผลที่ได้รับ ชุมชน อบต.เมืองบางขลัง สถาบันศาสนา และภาคีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้เรียนรู้การมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนเมืองบางขลัง, ประวัติศาสตร์เมืองบางขลังได้รับการยอมรับและเผยแพร่ รวมถึงสืบทอดให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ โดยผู้อาวุโสมาเล่าสู่คนในชุมชน สร้างระบบความสัมพันธ์ในระดับกลุ่มผู้อาวุโส และความสัมพันธ์กับคนต่างวัยที่มาร่วมเรียนรู้ประวัติศาสตร์, ชุมชนได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการเป็นมัคคุเทศก์ชุมชนและสามารถจัดการท่องเที่ยวของชุมชนได้, ชุมชนได้คู่มือนำเที่ยวของมัคคุเทศก์ชุมชน,ชุมชนสามารถจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้

          ได้แนวทางการพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ดำเนินการร่วมกันระหว่างชุมชนกับ อบต., สามารถใช้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือในการก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมีพลัง เพราะชุมชนได้มีโอกาสเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นว่าด้วยการตั้งถิ่นฐาน และ การเปลี่ยนแปลงของชุมชนโดยใช้ประวัติศาสตร์ในเชิงวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง, ข้อมูลที่ได้จากการชำระเรื่องราวเมืองบางขลังจะเป็นทุนให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา  นำไปใช้ทำหลักสูตรท้องถิ่นแทรกอยู่ทุกเนื้อหาวิชา  ผลจากการวิจัยเอกสารและการสัมภาษณ์ของทีมวิจัยที่เป็นชาวบ้านพบว่า

          ด้านโบราณสถาน   

          - บริเวณที่ไม่มีซากหรือหลักฐานหลงเหลือ  จากการสัมภาษณ์และสำรวจพื้นที่  พบว่าบริเวณที่ดินทำกินเคยพบซากโบราณสถานกระจายอยู่ทั่วไปเป็นจำนวนมาก ประมาณ 100 กว่าแห่ง ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถมองเห็นซากหรือหลักฐานทางโบราณสถานดังกล่าว  เนื่องจากชาวบ้านใช้รถไถกลบพื้นที่เพื่อปลูกอ้อย พุทรา ทำนา ทำไร่ ทำให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถรื้อฟื้นพื้นที่เหล่านี้เพื่ออนุรักษ์ได้

          - บริเวณที่มีซากหรือหลักฐานโบราณสถานหลงเหลือกระจัดกระจาย  ปรากฏให้เห็น 28 แห่ง โดยอยู่ในที่ดินชาวบ้าน  17 แห่ง  อยู่ในวัด 7 แห่ง  อยู่ทั่วไป 4 แห่ง

          ด้านโบราณวัตถุ   พบกรุพระเครื่องจำนวนมากที่มีมาพร้อมเรื่องเล่าถึงความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ ความอัศจรรย์  โดยเรียกชื่อพระที่พบบริเวณนี้ว่า “กรุเมืองบางขลัง” “นางบางขลัง”, เตาเผาโบราณ,  พระพุทธรูป 3 พี่น้องและพระร่วงนำทางซึ่งเป็นศิลปสุโขทัย, ข้าวตอกพระร่วง, ถ้วย ชามสังคโลก, ไหโบราณ, กระดูกสัตว์โบราณ, เงินพดด้วงสมัยสุโขทัย, ห่างหูโบราณ, ช่อฟ้า, บราลี, กระเบื้องขอ, ที่คล้องคอช้าง  

          ด้านประวัติศาสตร์  รวมถึงประวัติศาสตร์บอกเล่าถึงการตั้งหมู่บ้าน (หลังจากที่เมืองบางขลังสิ้นความรุ่งเรืองและเสื่อมอำนาจลง ทำให้มีการอพยพโยกย้าย) ประวัติของบุคคล  สถานที่ 

          ด้านวัฒนธรรม ประเพณี ศิลปะการแสดงและภูมิปัญญาพื้นบ้าน   มีจำนวนมาก เช่น การทำแป้งสีพองจากโซกแป้ง, การตักบาตรข้าวเม่า วันสารทไทย, การตักบาตรข้าวต้มวันออกพรรษา, พิธีกินสี่ถ้วย (ในการแต่งงาน), การทำบายศรี, การนวดประคบสมุนไพร, เครื่องดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้าน, การเล่นมังคละ, การเล่นนางด้ง, การเย็บแหโดยใช้ก้านลาน, พิธีการลงนิ้ว หรือตกเสี้ยวลงเกลอ, มีภาษาถิ่น ฯลฯ  

          ด้านความคิด ความเชื่อ ไสยศาสตร์   หมอจับเบี้ย (วิชาไสยศาสตร์ เสี่ยงทายเกี่ยวกับสาเหตุของการเจ็บป่วย) หมอบีบ หมอจับเส้น, หมอไสยศาสตร์  ได้แก่ หมอน้ำมนต์  หมอพ่น หมอเป่า   สิ่งศักดิ์สิทธิ์และเรื่องอัศจรรย์  ได้แก่  ดวงไฟจากวัด, ถ้ำทอง, ขุมสมบัติบนเขาน้ำด้วน, วังตะพาบน้ำ, บ่อน้ำทิพย์, หลวงพ่อสามพี่น้องและพระร่วงนำทาง, ซุ้มประตูโขงฆลฑป, บ่อน้ำพญานาค, พญานาค, ข้าวตอกพระร่วง, หลวงพ่อขาวเนรมิตร, พระธาตุใต้กอดอกเข็ม, รอยสักยันต์, ความเชื่อเรื่องโชคลางต่างๆ 

           ด้านสมุนไพร พืช สัตว์ธรรมชาติในท้องถิ่น   กล่าวถึงสัตว์ป่าและวิธีการล่าสัตว์ป่าในอดีต เช่น เก้ง กวาง เสือดาว ละมั่ง ละโมง กระต่ายป่า กระรอก กระจ้อน นิ่ม เม่น ตะกวด ไก่ป่า แย้ พังพอน ลิงป่า  หนูนา  กระแต อีเห็น ตุ่น หมูป่า  ช้าง ลิงตัวใหญ่ ค้าง ลิงลม  พืชที่สำคัญ  เช่น  ต้นผ่าด้าม (ใช้เชื่อมมีดให้ติดกับด้ามมีด) ดอกเข็ม, ต้นปรง สมุนไพร

           ด้านอาหาร   ส่วนใหญ่ดำรงชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติ แสวงหาสิ่งต่างๆ ที่หาได้ในท้องถิ่นมาดัดแปลงเป็นอาหาร ตลอดจนการถนอมอาหารเก็บไว้กินได้นาน พืชที่นำมาปรุงอาหาร เช่น ผักสวนครัว สมุนไพร ฯลฯ

           ด้านการผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรม  ทำนา, นาข้าวกล่องปลอดสารพิษ และผลิตภัณฑ์ข้าวกล่องในบรรจุภัณฑ์, ไร่อ้อย, ไร่พุทรา, ไม้กวาดดอกหญ้า, น้ำมันเหลือง, การเย็บผ้า, การจักสาร, เตาเศรษฐกิจ ฯลฯ

           ผลจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลพบว่า  ชาวบ้านยินดีเป็นอย่างยิ่ง ตื่นเต้น ให้ความสนใจ เต็มใจ และให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง  บอกเล่าอย่างภาคภูมิใจ

           การนำเสนอคุณค่าและตัวตนของเมืองบางขลังหลังจากที่ถูกมองข้าม  คงทำให้ผู้คนได้ย้อนกลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อรับทราบถึงเรื่องราวและคุณค่าของประวัติศาสตร์เมืองบางขลัง ทราบถึงความเชื่อ วิถีถิ่น จากซากปลักหักพังของก้อนอิฐ ศิลาแลง ซากของเครื่องใช้ สิ่งก่อสร้างที่หักพัง   

            สุวิทย์  ทองสงค์  นายก อบต.เมืองบางขลัง สุมิตร  เกิดกล่ำ นายอำเภอสวรรคโลก และ ส.ส.จักรวาล  ชัยวิรัตน์นุกูล ได้มอบหมายให้ผู้เขียนนำผลการวิจัยมาถ่ายทอดให้แก่ประชาชนในงานวันอนุรักษ์มรดกไทย  เพื่อให้ตระหนักว่า สุโขทัยไม่ใช่มีแค่เมืองเก่าสุโขทัย และเมืองเก่าศรีสัชนาลัย  แต่ยังมีเมืองบางขลังที่เกิดร่วมสมัยเดียวกัน

            เมืองที่ได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพ่อขุนผาเมืองประดิษฐานคู่กัน

            อบต.เมืองบางขลัง ร่วมกับ จ.สุโขทัย  อ.สวรรคโลก ขอเชิญทุกท่านร่วมเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่แห่งกรุงสุโขทัย  ร่วมค้นหาคำตอบถึงความสำคัญของเมืองบางขลัง  ความสัมพันธ์ของสองพ่อขุน และการเป็นจุดกำเนิดประเทศไทยในวันอนุรักษ์มรดกไทย 2 เมษายน 2556 ณ โบราณสถานวัดโบสถ์เมืองบางขลัง  โดยชมฟรีตลอดงาน

            เวลา  18.00 น. ชมการแสดงเทิดพระเกียรติของนักเรียนในพื้นที่

            เวลา 19.30น. ร่วมฟังการเสวนาประวัติศาสตร์งานวิจัยการศึกษาอัจฉริยลักษณ์ชุมชนโบราณเมืองบางขลัง  นำโดย ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัย รศ.ดร.มังกร  ทองสุขดี,   วิทยากรจาก ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม ได้แก่ ผศ.ดร.ชุลีรัตน์ จันทร์เชื้อ, ผศ.ดร.ศุภลักษณ์ วิริยะสุมน, ผศ.วาลิกา โพธิ์หิรัญ, น.ส.กมลรัตน์ บุญอาจร่วมด้วยผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง  สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น, ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผอ.ฝ่ายอุตสาหกรรม สกว.และตัวแทนทีมวิจัยที่เป็นชาวบ้านจากเมืองบางขลัง

            เวลา  20.45น.ร่วมถวายพระพรในวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ประธานในพิธีได้แต่นางสุมิตรา ศรีสมบัติ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย

            ร่วมชมละครอิงประวัติศาสตร์  เมืองบางขลัง : ปรากฏการณ์การสร้างชาติไทย  นักแสดงเกือบทั้งหมดเป็นชาวบ้าน  ยกเว้นนักแสดงกิตติมศักดิ์  ได้แก่  กวีซีไรต์โชคชัย  บัณฑิต’ ปี 2544 ร่วมขับร้องเพลงรุ่งเรืองเมืองบางขลังที่ได้แต่งให้เป็นบทเพลงประจำตำบล, วิสวัส  เอิบสภาพ ปลัด อบต.ไกรกลาง อ.กงไกรลาศ  รับบท พ่อขุนศรีอินทราทิตย์, กานต์  ศรีโสภณ ปลัด อบต.ศรีนคร  อ.ศรีนคร  รับบท  พ่อขุนผาเมือง และ จุฑามาศ  แก้วเนตร  บุคลากร อบต.หนองกลับ  อ.สวรรคโลก  รับบท นางเสือง  จัดการแสดงโดย อ.โสภณ ลาวรรณ  และทีมงานจากภาควิชาศิลปะการแสดง ม.นเรศวร จ.พิษณุโลก.


หมายเลขบันทึก: 522426เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2013 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2013 08:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท