นักเรียน...นักเลง


.ระฆังดังหง่างๆ  ฆ้องใหญ่กว้างครางหึ่งๆ  กลองหนังดังตึงๆ ตีกระดึงดังกริ่งๆ นักเลงร้องเพลงพลาง  ดูหน้าต่างไขว่ห้างหยิ่ง...

     บทกลอนน้ีผมเคยอ่านและท่อง อยู่ในหนังสือภาษาไทย ชั้น ป.3  เหตุที่ยก  เอาบทกลอนน้ีมาเพราะผมนึกถึงคำพูดของพ่อ...

     ตอนที่ผมเรียนอยู่ชั้น  ม. 4  ผมได้สมัครเข้าอยู่วงดนตรีของ โรงเรียน ตำแหน่งมือกลอง  เรื่องน้ีเป็นเรื่องที่ พ่อของผมไม่รู้  เพราะ พ่อไม่ชอบเรื่องของ ดนตรีสากล แม้จะเป็นวงดนตรีของนักเรียน แต่ก็มีคน รับไปแสดง ตามงานต่างๆ  ผมปิดเรื่องเล่นดนตรี กับพ่อมาเป็นปีครับ...

    ความมาแตกตอนที่อาจารย์ผู้ควบคุมวงรับงานที่ต่างอำเภอ ต้องทำใบ อนุญาตจากผู้ปกครอง ความก็เลยแตก... หลังจาก ที่กลับจากเล่นดนตรี งานนั้นผมก็เข้ารับฟังปาฐกถาจากพ่อยกใหญ่ คำหนึ่งของพ่อที่ผมยังจำได้ไม่ลืมคือ "ฉันส่งให้ไปเป็นนักเรียน ไม่ได้ส่งให้ไปเป็นนักเลง" 

     ด้วยความไม่เข้าใจผมเถียงกับพ่อไปหลายคำเหมือนกัน ผมบอกว่าเล่นดนตรีเพื่อความสนุกเพลิดเพลินไม่ได้ไปตีรันฟันแทงกับใคร เป็นการผ่อนคลาย  พ่อบอกว่าอีกหน่อยก็จะไม่สนใจการเรียน  สูบบุหรี  กินเหล้า  คบเพื่อนไม่ดี  และพากันเป็น อันธพาล  ระหว่าง นักเลง กับ อันธพาล  ของพ่อมันต่างกันตรงใหน....

      ผมมารู้ตอนหลังว่า นักเลง ในความหมายของพ่อ...คือ คนที่รักความสนุกสนานรักเสียงเพลง รักและชอบทุกอย่าง ที่เกี่ยว กับการแสดง ที่ทำให้จนลืมงาน ลืมบ้าน อยู่ไม่เป็นที่เป็นทาง  ส่วน อันธพาล  พวกน้ีเป็นคนเกกมะเหรก เกเร ระรานชาวบ้าน  ข่มเหงผู้อื่น ที่อ่อนแอกว่า  พวกน้ีนานเข้าก็จะกลายเป็นโจรผู้ร้ายในที่สุด... นี่คือคำอธิบายของพ่อ...

     จนแล้วจนรอด ผมก็ยังหลงใหล  ความเป็นนักเลงจนถึงปัจจุบัน  ผมยังเล่นดนตรี... ด้วยความรักและชอบ  อีกอย่างมันเป็นการผ่อนคลาย จากความเครียดที่ทำงานมาทั้งวัน  และยังเป็นรายได้เสริมมาจุนเจือ ครอบครัวครับ... 

     ด้วยความดื้อรั้น หรือด้วยความที่จะเอาชนะความคิดของพ่อ อยากที่จะให้พ่อมองคนที่เป็น นักเลง ในแง่ดี มองคนที่เป็น นักเลง เป็นคนดีเป็นคนที่คอยสร้างสรรค์จรรโลงโลก ให้สิ่งที่ดีๆ กับทุกคน ผมจึงเลือกที่จะเป็นแค่ นักเลง  ไม่พัฒนาตนเองไปเป็น อันธพาล 

     จริงๆแล้ว นักเลง  กับ อันธพาล  ตามความหมายของพ่อ มันอยู่คนละขั้ว  แต่มักจะไปอยู่คู่กันเสมอ  ตรงใหนที่มี นักเลง  ตรงนั้น  จะมี อันธพาล  ในบาร์  ในเทค  สวนอาหาร  ในงานต่าง ๆ  นักเลง  ไปอยู่เพื่อให้ความสุขกับทุกคน  แต่ ส่วนใหญ่แล้ว อันธพาล  ก็ไปทำเสียบรรยากาศทุกท่ีเหมือนกัน 

       ผมมาคิดอีกที มองในแง่ดีว่า  ที่พ่อไม่อยากให้ผมเป็น นักเลง  เพราะกลัวว่าจะไปมีเรื่องกับพวก อันธพาล  หรือเป็นห่วงเรื่องของ อนาคตของลูก  อยากให้เรียนสูงๆ  ไม่อยากให้มีอะไรเข้ามาเป็น ตัวทำลายการเรียนของลูก

       ตอนน้ีผมเรียนจบมีงานทำ  มีครอบครัว  แต่ผมก็ยังรักทาง นักเลง  และหากลูกๆ ของผมคิดอยากจะเดินทาง นักเลง  ผมก็จะ เปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง  หวังว่า...พ่อคงเข้าใจ และยอมรับได้นะครับ...

       

· คำสำคัญ (keywords): พ่อของแผ่นดิน


หมายเลขบันทึก: 522344เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2013 13:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มีนาคม 2013 13:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท