ข้อเข่าเสื่อม


                                                                      ข้อเข่าเสื่อม

                                                    นายอานนท์ ภาคมาลี (หมอแดง)

ข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่มักพบในคนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โรคนี้มีการเสื่อมสลายของกระดูกอ่อนผิวข้อต่อ มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่วนอื่นๆ ของข้อเข่า ทำให้เกิดอาการปวด

สาเหตุที่มีส่วนทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อม

1.  อายุมากขึ้น

2.  ข้อเข่าถูกใช้รับน้ำหนักมากหรืออยู่ในท่าที่ถูกกดพับมากเกินไป เช่น นั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ

3.  มีการบาดเจ็บหรือโรคอื่นๆ ที่ทำให้กระดูกอ่อนตรงผิวข้อสึกกร่อน หรือมีความผิดปกติของกระดูกและข้อแต่กำเนิด

อาการ

1.  ปวดเข่าหรือปวดขัดในข้อ โดยเฉพาะเวลานั่งยองๆ แล้วลุกขึ้น

2.  เข่าอ่อนหรือเข่าขัดตึง เคลื่อนไหวข้อไม่สะดวก

3.  มีเสียงดังเวลาเคลื่อนไหวข้อ

4.  ถ้าเป็นมากๆ หรือเรื้อรัง เข่าจะบวมและมีน้ำขังในข้อ บางรายเข่าจะผิดรูปเป็นขาโก่งเหมือนก้ามปูได้

จะทำอย่างไรเมื่อปวดเข่า

1. เมื่อมีอาการปวดเข่าจากข้อเสื่อมโดยที่ไม่มีการอักเสบ บวมแดง ร้อน ควรใช้ผ้าขนหนูบางๆ ห่อกระเป๋าน้ำร้อนวางประคบรอบๆ เข่า นานครั้งละ 15 - 30 นาที วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น

2. ควรพักเข่าข้างที่ปวด หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดการปวดเข่า เช่น ยกของหนักๆ ขึ้นลงบันได การนั่งในท่างอเข่า ยืนหรือเดินนานๆ

3. ควรใช้ไม้เท้าช่วยพยุงตัวเวลาเดิน ซึ่งจะช่วยรับน้ำหนักตัว ทำให้เดินได้มั่นคง และเจ็บน้อยลง

4. ไม่ควรถูนวด ตัดข้อเข่าแรงๆ หรือจับเส้นโดยผู้ไม่มีความรู้ เพราะอาจทำให้ข้อเข่าบาดเจ็บได้

5. เมื่อเข่าหายเจ็บแล้ว ควรฝึกออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อเข่าตามคำแนะนำของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

6. ถ้าปฏิบัติดังกล่าวแล้วอาการปวดเข่ายังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด ไม่ควรซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาชุด หรือยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ เพราะอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนจากการใช้ยาได้

 การปฏิบัติเพื่อป้องกันข้อเข่าเสื่อม ในปัจจุบัน โรคข้อเข่าเสื่อมยังไม่มียารักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันข้อเข่าเสื่อมหรือป้องกันมิให้อาการกำเริบจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยปฏิบัติดังนี้

1 .  ระวังอย่าให้อ้วน ถ้าอ้วนควรลดน้ำหนักตัว โดย กินอาหารที่มีคุณค่าครบถ้วน ปริมาณพอเหมาะไม่กินจุบจิบ  ลดการกินอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล ไขมัน ของหวาน กะทิ  เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารมันๆ และอาหารทอดชนิดต่างๆ ควรกินผักและผลไม้ที่มีรสหวานน้อยเพิ่มมากขึ้น

2. ไม่ควรนั่งในท่างอเข่า เช่น พับเพียบ ขัดสมาธิ คุกเข่า นั่งยองๆ เป็นต้น ควรนั่งบนเก้าอี้ห้อยขา หรือนั่งขาเหยียดตรง อย่านั่งนานๆ ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ

3. หลีกเลี่ยงการใช้ข้อเข่า เช่น ยกของหนักเกินกำลัง ยืนหรือเดินนานๆ การขึ้นลงบันไดบ่อยๆ หรือเล่นกีฬาที่หักโหม

4. ควรฝึกออกกำลังกล้ามเนื้อเข่าเป็นประจำ เพื่อให้กล้ามเนื้อ และเอ็นรอบเข่าแข็งแรง เพิ่มความทนทานในการใช้งาน ช่วยป้องกันและลดความพิการที่อาจเกิดขึ้นกับข้อเข่า โดยปฏิบัติได้ง่ายๆ ดังนี้

 ท่านอนยกขา นอนหงาย ใช้หมอนใบเล็กๆ หนุนใต้เข่าทั้ง 2 ข้าง เหยียดเข่าให้ตรง แล้วยกขึ้นตรงๆ ให้ส้นเท้าสูงจากพื้นประมาณ 1 ฟุต เกร็งไว้นาน 5 - 10 วินาที แล้วลดลง สลับเหยียดขาอีกข้างหนึ่ง ทำเช่นนี้ข้างละ 10 - 15 ครั้ง วันละ 2 เวลา เช้าและเย็น

ท่านั่งยกขา นั่งบนเก้าอี้ห้อยขาในท่างอเข่า แล้วเหยียดเข่าตรงให้ขนานกับพื้น เกร็งไว้นาน 5 - 10 วินาที แล้วลดลง สลับเหยียดขาอีกข้างหนึ่ง ทำเช่นนี้ข้างละ 10 - 15 ครั้ง วันละ 2 เวลา เช้าและเย็น แต่ถ้าต้องการให้กล้ามเนื้อแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ควรใช้ถุงทรายถ่วงน้ำหนักที่ข้อเท้า โดยเริ่มครั้งละน้อยๆ ก่อน เช่น 0.5 กิโลกรัม หรือ 1 กิโลกรัม เป็นต้น


หมายเลขบันทึก: 522206เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2013 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มีนาคม 2013 21:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท