โอวาทในโอกาส “มาฆปุณมีดิถี ๑๕ ค่ำเดือน ๓”



มาฆปุณมีดิถี ๑๕ ค่ำเดือน ๓ พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ไปกราบพระพุทธเจ้า  ต่างรูปก็ต่างไปโดยไม่มีการนัดหมาย ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ

พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าทุกท่านทุกคนประพฤติปฏิบัติตามล้วนแต่ได้เป็นพระอริยเจ้าบรรลุธรรมเป็นส่วนใหญ่

ทุกวันนี้เราพากันฟังเทศน์ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าที่บันทึกไว้ในตำรับตำรา  ที่เอามาเทศน์มาสอน มีน้อยมากที่จะได้บรรลุธรรม

ถ้าเรามาวิเคราะห์ดูว่ามันมาจากสาเหตุอะไร...?

สาเหตุเพราะศรัทธาความเชื่อของเรามีน้อย มันเชื่อตัวเองที่มันสั่งสมมาเป็นเวลานาน สมัยครั้งพุทธกาลที่ได้บรรลุธรรมกันเยอะเพราะพระที่บรรพชาอุปสมบทส่วนใหญ่เกิดจากศรัทธา “คนเราถ้ามีศรัทธามีความเชื่อม เราก็ไม่ต้องลังเลสงสัย...”

อย่างพระภิกษุสามเณรที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นส่วนใหญ่ไม่มีการเรียน  ไม่มีการศึกษามาก ท่านปฏิบัติตามโอวาทของครูบาอาจารย์ที่พาประพฤติพาปฏิบัติ  ครูบาอาจารย์ว่าอย่างไรก็ปฏิบัติอย่างนั้น ถ้าองค์ไหนรูปไหนปฏิบัติตามที่ครูบาอาจารย์  สั่งสอนส่วนใหญ่ก็จะได้รับคุณธรรม มีความสำเร็จ


ผู้ที่ไปประพฤติปฏิบัติส่วนใหญ่ พ่อแม่ครูบาอาจารย์ไม่ให้เราอ่านหนังสือ ถ้าอ่านหนังสือมากมันจะทำให้เกิดความลังเลสงสัย “ท่านให้พระตั้งอกตั้งใจทำข้อวัตรข้อปฏิบัติ...”

โอวาทพระปาฏิโมกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน “สัพพาปัสสะอะกะระณัง  การไม่ทำบาปทั้งปวง”

ส่วนใหญ่คนเรามีการทำบาป อย่างการดำรงชีพดำรงชีวิตอยู่ด้วยการทำบาป อาหาร  ที่เราพากันบริโภคส่วนใหญ่ได้มาจากการทำบาป เราบริโภคจำพวกสัตว์ จำพวกผักผลไม้ เวลาเขาปลูกเวลาผลิตล้วนแต่ทำให้พวกสัตว์เขาตาย สัตว์เล็ก สัตว์น้อย ยาฆ่าแมลงอะไร  ต่าง ๆ ถ้าเราไปยินดีไปพอใจในรสอร่อย ยินดีพอใจในการบริโภค มันไม่เป็นบาปมาก  มันก็ต้องเป็นบาปน้อย

พระพุทธเจ้าท่านจึงให้เราบริโภคอาหารเหมือนบุรุษสองผัวเมียที่มีลูกน้อยพากันเดินข้ามทะเลทราย เสบียงที่นำติดตัวไปมันหมด สองสามีภรรยาตกลงกันว่าเดินข้ามทะเลทรายคราวนี้เราต้องพากันตายแน่ทั้งสามคน เหตุปัจจัยที่จะไม่ตายก็คือบริโภคเนื้อลูกของตนเอง  ที่ตายแล้วเป็นอาหาร สองสามีภรรยาเขาพากันบริโภคเนื้อบุตรของตนเองด้วยความจำเป็น เขาไม่มีความเพลิดเพลินในรสในชาดในความอร่อย พระพุทธเจ้าท่านให้เราพากันทำจิตใจอย่างนี้...

คนเราถ้าจะเอาความสุขความสงบจากการบริโภคปัจจัย ๔ มันไม่ค่อยปลอดภัย พระพุทธเจ้าท่านสอนเราเอาความสุขเอาความดับทุกข์กับการทำจิตใจให้สงบ เอาความสงบจากสมาธิ เอาความสงบจากการเจริญปัญญา

การเจริญปัญญาท่านให้เราเจริญอย่างไร...?

พระพุทธเจ้าท่านให้เรามองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างว่ามันไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน  มองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของ ๆ ตน เรามีสมบัติประจำตัวของเรา  ก็คือความแก่ ความเจ็บ ความตาย เรานี้ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ไม่ใช่ผู้หญิงไม่ใช่ผู้ชาย ไม่ใช่คนหนุ่ม ไม่ใช่คนแก่ มันไม่มีเราเลย และมันก็ไม่มีคนอื่น สิ่งเหล่านี้สักแต่ว่าธาตุ  ตามธรรมชาติเท่านั้น ตอนเด็ก ๆ เรียนหนังสือร่วมกัน ๑๐ ปี ๒๐ ปี ก็พากันแก่หมดแล้ว  จำกันแทบไม่ได้ ทุกอย่างมันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

ท่านไม่ให้เรามองคนอื่นเป็นผู้หญิงเป็นผู้ชาย มันเป็นแต่ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย ความสุขมันก็ไม่มี เราทานข้าวทานอาหารพักผ่อนเพียงแต่บรรเทาทุกข์  เดี๋ยวอาหารเขาย่อยเขาสลายเดี๋ยวก็ทุกข์อีกหิวอีก

อาหารที่เราบริโภคนี้มันก็เป็นยาชนิดหนึ่ง อาหารนี้ท่านจัดว่าเป็นยารักษาโรค  ที่อยู่อาศัยของเราก็เพียงให้เราได้พักผ่อนพอบรรเทาทุกข์ไปแค่นั้นเอง ถึงเราจะปฏิบัติ  เขาดีเท่าไหร่เขาก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย คนเรานี้มีโรคสารพัดอย่าง คนที่จะไม่มีโรค  มันไม่มี ไม่ว่าโรคทางกาย โรคทางใจ

พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เราภาวนาว่า “เรามีความเจ็บไข้ไม่สบายเป็นธรรมดา”  ไม่ต้องไปคิดไปดิ้นรน ท่านให้เรายอมรับความจริง

เมื่อเราสมัครเกิดมาเราก็ต้องยอมรับความเจ็บไข้ไม่สบาย รักโรคภัยไข้เจ็บที่จะเกิด  กับเรา ถ้าเราไปดิ้นรนไม่ยอมรับความจริง เราจะต้องเป็นโรคทั้งทางกายและทางใจ  เพราะโรคภัยไข้เจ็บนี้มันจำเป็นที่จะต้องกำหนดรู้ เราจะไปแก้ไขมันไม่ได้

พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาแก้ที่จิตใจ ยอมรับในความแก่ ความเจ็บ ความตาย  ใจของเราจึงจะมีความสุขมีความสงบ ถึงจะทำที่สุดแห่งกองทุกข์ได้ คือเราต้องพากันปฏิบัติ  ที่จิตที่ใจ อย่าพากันไปรับเอาความแก่ ความเจ็บ ความตายมาทับถมจิตใจ  

เรื่องความเจ็บก็ให้เป็นเรื่องของความเจ็บ เรื่องความแก่ก็ให้เป็นเรื่องของความแก่  เรื่องความตายก็ให้เป็นเรื่องของความตาย อันนี้เป็นเรื่องทางกายไม่ใช่เรื่องทางใจ


เรื่องทางใจคือเราต้องฝึกใจของเราให้สงบ อย่าพึ่งไปวุ่นวายตามทางร่างกาย  อย่าไปวุ่นวายกับสิ่งต่าง ๆ ที่มันเป็นเรื่องภายนอก เรื่องดูหนังฟังเพลง เรื่องพูดคุยต่างๆ  มันเพลินไปกับสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้นเอง  มันไม่ใช่ความสุข  มันเป็นความหลงชั่วคราว สุดท้ายเราก็มาทุกข์อย่างเก่า

ถ้าเราไม่ได้เจริญปัญญาให้จิตใจของเราให้มันสงบ ถ้าเราไปใจอ่อน สมาธิไม่แข็งแรง  เราก็ไปรับเอาอารมณ์ของคนอื่น ไปรับเอาอารมณ์สุขทุกข์ทางกายมันก็เลยกลายเป็น  ความวิตกกังวล สร้างโรคสร้างภัยให้กับตัวเองให้ทุกข์เข้าไปอีก เพราะร่างกายของเรามันไม่ได้พักผ่อน มันไม่ได้นอนหลับ

เมื่อเราไม่ทำบาปทั้งปวง พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราเกิดปัญญาเพื่อฝึกละฝึกปล่อยฝึกวาง

เราทุกวันนี้ไปทำงานก็ไปทุกข์กับเรื่องทำงาน ว่ารถมันติด ว่างานหนักไม่ได้พักผ่อน

พระพุทธเจ้าท่านสอนเรา รถติดก็ให้มันติด เราทำงานให้กายมันเหนื่อยแต่ใจของเรามันไม่มีคำว่าเหนื่อยหรือไม่เหนื่อย ที่ว่าเหนื่อยไม่เหนื่อยคือความหลงคือความคิดคืออุปาทานของเรา

เราไปทำงานคนนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เราก็ไปทุกข์กับเขาอีกแล้ว

เราทำงานอยู่ในบ้านเมืองในสังคมก็เจอกับคนแบบนี้ เขาจะดีจะชั่วมันเป็นเรื่องของเขา พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราไปเอาอารมณ์ดีหรือไม่ดีมาแบกมายึดมาถือ

พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้ฝึกรักคนอื่น ช่วยเหลือคนอื่น ให้มีความสุขในการทำงาน สุขในการเสียสละ สมาทานไว้ในใจนะว่าชาตินี้เราจะไม่นินทาใคร เพราะคนเราอยู่ด้วยกันเกิน ๒ คน ชอบเอาเรื่องของคนอื่นมาวิพากษ์วิจารณ์มานินทา สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เราทำบาป  ทำกรรม

เราพยายามดูแลตัวเอง บริหารตัวเอง พยายามเป็นคนไม่ทำบาปทั้งปวง ต้องเป็นคนเสียสละ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือหนทางเดินของพระอริยเจ้า อริยมรรคทุกข้อนั้นท่านล้วน  ให้เรามาแก้ไขตัวเองทั้งหมด ปรับปรุงตัวเองทั้งหมด ไม่ให้เราไปแก้ไขคนอื่น ถ้าเราเป็นคน  ไม่ละเอียด มีความอยากมาก มีความต้องการมาก เคยทำอะไรได้ตามใจมันก็จะนำตัวเอง  ไปในทางที่ตรงกันข้ามกับที่พระพุทธเจ้าสอน

คนที่จะมีจิตใจที่ละเอียดเขาจะทำอะไร จะพูดอะไรเพื่อที่จะแก้ไขตัวเอง ปรับปรุงตัวเอง มีความเกรงกลัวต่อบาป มีความละอายต่อบาปทุกคนนะ

มนุษย์เรานี้มีเสื้อผ้าอาภรณ์เพื่อปกปิดอวัยวะที่เกิดความละอาย แต่ความละอายตัวนี้มันเป็นเรื่องภายนอก พระพุทธเจ้าท่านให้เน้นเข้ามาภายใน ละอายต่อบาปด้วยเจตนา

เรื่องจิตใจที่จะต้องแก้ไขเป็นเรื่องของเรา เราคิดอะไร ปรุงแต่งอะไร กินไม่ได้  นอนไม่หลับคนอื่นไม่รู้เท่ากับเรา ความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาปเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เราตกไปสู่อบายในทางที่ชั่ว

การประพฤติปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าท่านเน้นไปที่จิตใจ เน้นไปที่ความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป เราอย่าเป็นคนกล้า กล้าคิด กล้าทำในสิ่งที่เป็นบาป เพราะว่าสิ่งนี้มันเป็นผลให้กับจิตใจ เป็นผลให้กับการเวียนว่ายตายเกิดของเรา

ทุกวันนี้ทุก ๆ คนตกเป็นทาสของอวิชชาคือความหลง เวลาจะพัฒนาตัวเองมันคิดว่าตัวเองนี้ไม่ได้รับความยุติธรรม ไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพ อันนั้นมันเสรีภาพของกิเลส เสรีภาพของความโลภ ความโกรธ ความหลง

การประพฤติปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ มันก็ยากลำบาก เราทำความเห็นให้ถูกต้องใจของเรามันก็สงบ กิเลสตัณหาอวิชชามันก็ครอบคลุมครอบงำเราไม่ได้ เพราะเราหนักแน่นเราเข้มแข็ง เราเอาจริงเอาจัง ชีวิตเรามองให้กับความดีความเสียสละ ถึงจะตายก็ช่างหัวมัน เพราะเรา  ได้มอบชีวิตให้ต่อคุณพระรัตนตรัย พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ เป็นผู้ที่ไม่ได้ลูบคลำในศีลในข้อวัตรปฏิบัติ

ทุกคนอยากรวย อยากเป็นมหาเศรษฐีจะได้สร้างความดีสร้างบารมีช่วยชุมชน  สร้างสาธารณะประโยชน์ เราเป็นมหาเศรษฐีมันก็ตั้งอยู่ในอารมณ์ของสวรรค์  มีความสะดวกสบาย มีคนรับใช้ มีคนเกรงในอำนาจเงินตรา พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า  มันก็ไม่ยิ่งเท่ากับจิตใจของเราเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระโสดาบัน เพราะผู้เข้าถึงพระโสดาบันจิตใจสงบกว่า เย็นกว่า สิ่งสำคัญคือมันปิดอบายภูมิ ไม่ต้องตกนรกอีก คนร่ำรวยทั้งเงินทองทรัพย์สมบัติตายไปส่วนใหญ่ก็ต้องไปนรกเพราะหลงในความสะดวกสบาย ทำบาปทำกรรม ทำอาชีพบนหลังคนยากคนจน

ถ้าเราเป็นคนจนอย่างนี้มันก็ยิ่งลำบากทั้งกายทั้งใจ คนจนมันทุกข์อีกหลายต่อเหมือนกัน ทุกข์ทั้งภรรยาทุกข์ทั้งสามี ทุกข์ทั้งลูก มีเหล้าขาวเหล้าแดงเป็นที่ตั้ง มันทุกข์มาก ทุกข์หลาย...


พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย

ค่ำวันอาทิตย์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๖


หมายเลขบันทึก: 522060เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2013 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2013 21:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท