เรื่องของสื่อไทยในอเมริกา


พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

นอกจากสื่อที่ออกเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ในอเมริกายังมีสื่อหลากหลายภาษารวมอยู่ด้วย เนื่องจากประชากรหลายเชื้อชาติจากทุกมุมโลก กระจายอยู่ทั่วทุกหัวระแหง มารวมตัวกันอยู่ที่นี่

เรียกคนหลากเผ่าพันธุ์ในอเมริกาว่า ชนกลุ่มน้อย (Minority Group)  โดยสื่อเหล่านี้มุ่งตอบสนองต่อการรับรู้ข่าวสารของคนในแต่ละชุมชน มีทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ หรือสื่อที่หาอ่าน หาชมได้ง่ายขึ้นและสามารถรับได้ทั่วโลกคือ สื่อประเภทเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ที่ทำให้โลกปัจจุบันแคบลงอย่างมาก

  แทบไม่มีความแตกต่างระหว่างการรับรู้ข่าวสารจากประเทศแม่ของชนกลุ่มน้อย ต่างๆในอเมริกา ในเมื่อมีสารพัดช่องทางแห่งการรับสื่อทั้งจากในและต่างประเทศ ที่ต่างก็พยายามที่จะให้สื่อทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนและผล ประโยชน์ของเจ้าของกิจการสื่อเอง

  ในอเมริกามีสื่อนับพัน และในจำนวนหลากหลายภาษานั้น ก็ได้ตอบสนองความต้องการบริโภคข่าวสารด้วยการแลกเปลี่ยนกันภายในชุมชน ซึ่งหลายครั้งหรือเป็นส่วนใหญ่เสียด้วยซ้ำข่าวสารได้สะท้อนกลับไปยังรัฐบาล หรือส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับประเทศแม่นั้นๆ  อย่างเช่น สื่อของคนเวียตนาม ก็จะสะท้อนความเคลื่อนไหวของชุมชนเวียตนามทั้งในอเมริกาและคนเวียตนามที่ เวียตนาม

  แน่นอน ย่อมทราบกันดีว่า สื่อในทุกประเภท จัดอยู่ในหมวดการค้า หรือเป็นธุรกิจแขนงหนึ่ง เพราะฉะนั้นเลี่ยงไม่ได้ที่สื่อจะตอบสนองผลประโยชน์ของเจ้าของสื่อไม่มากก็ น้อย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

  แต่ในอเมริกา น่าสนใจว่า สื่อได้เสนอความเป็นไป ซึ่งเป็น “ข้อเท็จจริง”ที่เกิดขึ้นมากน้อยขนาดไหน??

   เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าว สำหรับชนกลุ่มน้อย บางครั้งก็ขมขื่น

  มีความพยายามจากหลายเจ้า เพื่อส่งสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมจากแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นประเทศแม่ แต่ก็ขาดความลุ่มลึก ปัญหาในระบบหรือโครงสร้างของชุมชนในอเมริกายังไม่ได้ถูกนำเสนออย่างแท้จริง เหมือนเกาไม่ถูกที่คัน

  ดังกรณี หลายครั้งที่คนผลิตข่าวที่ถูกส่งไปจากเมืองไทยเสนอข้อมูลที่ผิดพลาด ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง!! 

หลายชุมชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในอเมริกา ถึงขนาดรัฐบาลของประเทศนั้นๆได้ออกมาสนับสนุนการดำเนินงานของสื่อทั้งในที่ ลับและที่แจ้ง เพื่อผลประโยชน์ และการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศนั้นๆ เช่นรัฐบาลของจีน และเวียตนามเป็นต้น

เหมือนช่วงหนึ่ง ที่รัฐบาลฮานอย เคยสนับสนุนหนังสือพิมพ์ Viet  Mercury รายสัปดาห์ ฉบับภาษาเวียตนาม โดยที่หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก่อตั้งโดยกลุ่มบริษัทสิ่งพิมพ์ “San Jose Mercury News” ที่เคยเป็นบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในเขตซานฟรานซิสโกและเบย์แอเรีย แคลิฟอร์เนียภาคเหนือ

เป็นความจริงที่ว่า การเข้าใจ และเข้าถึงวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นประเทศ ไม่มีใครเทียบเท่าเจ้าของชุมชนที่อยู่ประจำหรือเจ้าของประเทศนั้นๆ ดังนั้น สื่อของชนแต่ละเชื้อชาติก็จะคงบทบาทสำคัญในแต่ละเชื้อชาติ แต่ละภาษา

จะให้สื่ออเมริกันมาเข้าใจ วัฒนธรรมไทยแบบทะลุปรุโปร่งย่อมเป็นไปไม่ได้

แต่สิ่งที่ควรรับทราบกันไว้ก็คือ คนอเมริกันจำนวนมาก ในอเมริกา ยังไม่รู้จักประเทศไทย

  ขณะเดียวกันวิธีการนำเสนอข่าวในอเมริกาก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะอเมริกาเป็นประเทศที่ใหญ่ ไม่บ่อยครั้งนักที่ข่าวสารจากต่างประเทศจะถูกนำขึ้นจอหรือหน้าหนังสือพิมพ์ ยกเว้นเหตุการณ์ในต่างประเทศที่พัวพันกับผลประโยชน์ของอเมริกาโดยตรง ซึ่งต้องเป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศ ข่าวระดับภูมิภาคที่สะเทือนขวัญ  หรือข่าวใหญ่จริงๆ เพราะลำพังข่าว และข้อมูลในอเมริกาของแต่ละรัฐก็มหาศาลอยู่แล้ว

  เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยในปัจจุบัน เอื้อให้การผลิตสื่อเป็นไปอย่างครอบคลุม และกว้างขวาง กว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ และอินเตอร์เน็ต

หนังสือพิมพ์ฉบับเดียว ใช้หัว(ชื่อ)เดียวกันในเวลานี้ สามารถออกในหลายส่วนบรรณาธิการ (Edition)  ของแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆทั้งหลาย ข่าวสารที่นำขึ้นในหน้าหนึ่ง ของแต่ละ Edition ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญของบรรณาธิการของแต่ละท้องถิ่น

  ดังตัวอย่าง นิวยอร์คไทม์  ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์จากนิวยอร์ค แต่มีอีก Edition  ในรัฐฟากฝั่งตะวันตกอีกด้วย ครอบคลุมหลายรัฐที่อยูด้านมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น แคลิฟอร์เนีย เนวาดา วอชิงตัน ฯลฯ ข่าวนำหรือบทบรรณาธิการก็ไม่เหมือนกับนิวยอร์คไทม์ที่ออกในนิวยอร์ค

  สื่อสิ่งพิมพ์ของหลายประเทศอย่างเช่น จีน เกาหลีใต้  ที่ให้ความสำคัญกับชุมชน(ขนาดใหญ่)ของพวกเขาในอเมริกาก็จัดระบบการส่งข่าว สารในแบบเดียวกันนี้ คือ ผ่านระบบสื่อสารสองทางจากประเทศแม่และจากชุมชนของพวกเขาที่อเมริกา โดยการยิงสัญญาณการพิมพ์ผ่านระบบดาวเทียม

  ในส่วนผู้ที่ทำงานด้านข่าว และงานด้านเทคนิคก็เป็นไปในลักษณะมืออาชีพ

  มองกลับมาที่ สื่อไทยของชุมชนไทยในอเมริกา ยังไปไม่ถึงไหนนัก แม้ขณะนี้จำนวนคนไทยทั้งในและนอกระบบจะมีจำนวนหลายแสนคนหรืออาจเป็นล้านคน แล้วก็ตาม

  ความเข้มแข็งหรือความอ่อนแอของสื่อเป็นสิ่งชี้ อนาคตของชุมชนนั้นๆ อาการเป็นปฏิภาคต่อกันระหว่างสื่อกับสื่อ หรือสื่อกับคนของรัฐบาลในชุมชนไทย ที่เป็นในลักษณะปัจเจกเกิดขึ้นบ่อยๆในอเมริกา นัยยาการแห่งความไม่สร้างสรร สามัคคีมีให้เห็นบ่อยครั้ง

  หมายถึงสื่อยังไม่สะท้อนข้อประเด็นสาธารณะอย่างพียงพอ  ที่สำคัญ คือการขาดแคลนมืออาชีพที่เข้ามาจัดการด้านนี้ ทำให้สื่อในอเมริกาไม่สามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนชุมชนไทย นำเสนอปัญหา หรือชี้แนะทั้งในส่วนชุมชนภายใน ตลอดถึงการส่งสาส์นถึงคนไทย และรัฐบาลไทย  ตลอดถึงฝ่ายอเมริกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ

  ขณะที่ชุมชนของชาติอื่น อย่างเช่น เกาหลี จีน เวียตนาม ฟิลิปปินส์ วิวัฒน์ไปไกลแล้ว

  โดยที่บรรดาชาติเหล่านี้ตระหนักว่า อเมริกาย่อมจะกลายเป็นแหล่งข้อมูลอันหาประมาณค่ามิได้หากรู้จักนำมาใช้

  เหมือนภาพที่ตัวแทนสื่อจากหลายประเทศกลายเป็นตัวแทนที่ตั้งคำถามในประเด็น ที่เกี่ยวพันกับประเทศนั้นๆ พวกเขาอยู่ประจำหรือสามารถเดินเข้าออกในทำเนียบขาวในฐานะสื่อ

  สื่อในอเมริกา โดยเฉพาะสื่อทีวีพยายามที่จะส่งผ่านถึงความหลากหลาย ด้วยการใช้นักข่าวหน้าตาไม่ออกฝรั่ง เพื่อสะท้อนถึงความทัดเทียมกันของตัวแทนของแต่ละชุมชนในอเมริกา ดังเช่น ชุมชนเอเชีย ชุมชนละติน หรือแอฟริกันอเมริกัน

 ขณะที่ภาพของชุมชนไทยในอเมริกา โดยเฉพาะชุมชนใหญ่ในนครลอสแองเจเลิสและอีกหลายเมือง ยังคงถอดแบบมาจากเมืองไทยแทบไม่ผิดเพี้ยน  มีสี มีกลุ่ม เหมือนกัน ยิ่งในตอนนี้ด้วยแล้ว

สื่อท้องถิ่นในชุมชนไทย ยังใส่ใจเรื่องลิขสิทธิ์น้อย ทั้งที่อยู่ในประเทศที่เคี่ยวกรำต่อประเด็นการละเมิดลิขสิทธิ์สูงสุดในโลก อย่างอเมริกา….


หมายเลขบันทึก: 522036เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2013 13:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2013 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท