การล้มละลายของเมืองและปัญหาแรงงานในอเมริกา


พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ [email protected]

  จนถึงขณะนี้ เมือง(city) ในอเมริกาจำนวนไม่น้อย ที่ยังมีสถานะการเงินร่อแร่ อาจถึงขั้นล้มละลายได้ ในไม่ช้า หากว่าไม่มีการแก้ไขปัญหาด้านการคลังของเมืองให้มีฐานะดีขึ้น ซึ่งในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เราคงได้ยินกันมาแล้วว่า  เมืองบางเมืองถึงขาดล้มละลายอย่างไม่น่าเชื่อ ไล่ตั้งเมืองในรัฐแคลิฟอร์เนียยันเมืองในรัฐทางแถบฝั่งตะวันออก

  ล่าสุด คือ เมืองดีทรอยส์ รัฐมิชิแกน เมืองเก่าแก่มีชื่อด้านอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ แม้ว่าสายพานการผลิตรถบางส่วนจะย้ายออกไปอยู่เม็กซิโกก็ตาม แต่เมืองเดียวกันนี้ก็ยังมีมนต์ขลังสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์อยู่ ด้วยเป็นเมืองมีแรงงานอเมริกันซึ่งทำงานด้านนี้(โรงงานรถยนต์)จำนวนมาก และบรรดารถยี่ห้ออเมริกันส่วนใหญ่ก็มีฐานการผลิตที่เมืองนี้

  ไม่แปลก ที่รัฐบาลโอบามาฉีดเงินเข้าเมืองนี้ให้กับบรรดาแรงงาน(ผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์) เพื่อให้แรงงานอเมริกันมีงานทำอยู่ได้ นับจำนวนมากที่สุด หรือมากกว่าเมืองอื่นๆในอเมริกา

  ขณะที่เมืองดีทรอยส์กำลังรอผลการทบทวนรายงานการเงินซึ่งจะมีการสรุปผลในเร็วๆ นี้ และมีความเป็นไปได้ว่ารัฐมิชิแกนจะแต่งตั้งผู้จัดการด้านการคลังคนใหม่มาเพื่อจัดการและบริหารการเงินให้กับเมืองดีทรอยส์ ซึ่งนายกเทศมนตรี(Mayor) ของเมืองดีทรอยส์ Dave Bing ได้ออกมาปกป้องสถานะทางการเงินของเมืองดีทรอยส์ว่ามีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ

  ในการปราศรัยประจำปีของเมืองดีทรอยส์ Mayor  Dave Bing ออกมากล่าวสร้างความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ของเมืองในปัจจุบันนี้ไม่เลวร้ายไปเสียหมด และบอกว่า เขายังไม่ยอมแพ้ต่อสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจที่เลวร้ายของเมือง

ถึงแม้ว่าหลายปีที่ผ่านมาดีทรอยส์จะประสบปัญหาการเงิน โดยส่วนหนึ่งเกิดจากฐานการเก็บภาษีที่หดตัว เนื่องจากประชากรลดจำนวนลง แต่เจ้าหน้าที่ของเมืองกล่าวว่า เมืองได้พยายามตัดลดงบประมาณรายจ่ายอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เช่น ลดจำนวนวันทำงานและปลดพนักงาน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดเงินสด (คงคลัง) ขณะนี้ดีทรอยส์มีพนักงานเหลือน้อยกว่า 9,700 คน น้อยกว่าเดือนมิถุนายนถึง 1,000 คน

อย่างไรก็ตาม การลดจำนวนพนักงานลงทำให้ทางเมืองสามารถประหยัดงบประมาณไปได้ถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี นอกจากนี้ในปี 2013 เมืองดีทรอยส์ได้ตัดลงงบประมาณรายจ่ายลงเหลือ 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ/ปี ทั้งนี้ ในปี 2009 รายจ่ายของเมืองดีทรอยส์อยู่ที่ 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ/ปี

  ดีทรอยส์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 4 ของสหรัฐอเมริกาแต่ปัจจุบันตกลงมาเป็นอันดับ 18 เนื่องจากในปี 2011 ดีทรอยส์มีหนี้ระยะยาวเป็นจำนวนมากถึง 12 พันล้านเหรียญสหรัฐ

  ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ของรัฐ (มิชิแกน) พิจารณาแล้วประเมินว่าสถานการณ์ของเมืองดีทรอยส์ยังไม่ดีขึ้น ทางรัฐก็สามารถตั้งผู้จัดการทางการเงินฉุกเฉินมาช่วยจัดการงบประมาณของทางเมืองดีทรอยส์ได้ โดย Mayor  Dave Bing กล่าวว่าทางเลือกอื่นก็มี แต่ผลที่ได้อาจไม่น่ายินดีนัก นอกจากนี้แล้วเขายังกล่าวด้วยว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะลงสมัครเลือกตั้งในคราวหน้าหรือไม่

  นายกเทศมนตรี(Mayor)ของเมืองดีทรอยส์ระบุว่า อยากจะแก้ปัญหาของเมืองด้วยตนเอง และไม่อยากให้ผู้จัดการคนนอก (จากทางรัฐ) เข้ามาจัดการใดใด เพราะ เกรงจะมีปัญหาความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างผู้ว่าการรัฐมิชิแกนซึ่งมาจากพรรครีพับลิกัน กับฝ่ายบริหาร (นักการเมือง) ของเมืองดีทรอยส์ ซึ่งส่วนใหญ่มากจากพรรคเดโมแครต

ก่อนหน้านี้ผู้แทนจากสำนักงานผู้ว่าการรัฐมิชิแกนได้ออกมาแถลงว่า ผู้ว่าการรัฐ คือ Rick Snyder ได้พิจารณาหาผู้เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งผู้จัดการทางการเงินฉุกเฉินมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญมาก

  ในอเมริกา รัฐต่างๆ มีวิธีการบริหารจัดการทางด้านการเงินอยู่หลากหลาย ทั้งในเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อเข้ามาช่วยเหลือเมืองที่ประสบปัญหาทางด้านการเงินอย่างหนัก เช่น ในช่วงปี 1970 คณะกรรมการที่ปรึกษาฯเข้ามาช่วยเหลือเมืองนิวยอร์กทางด้านการเงินให้ลุล่วงมาได้ด้วยดี แต่ถึงกระนั้น หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการฯ ดังกล่าวนั้นแตกต่างไปตามสถานการณ์

สำหรับเมืองดีทรอยส์มีการใช้คณะกรรมการที่ปรึกษาอยู่แล้ว ซึ่งก็มีเจ้าหน้าที่ของรัฐจากหลายส่วนและเป็นไปตามข้อตกลงกับรัฐเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อขจัดปัญหาการนำบุคคลนอกมาดำรงตำแหน่งผู้จัดการทางการเงิน

  ภายใต้กฎหมายของรัฐมิชิแกน หากเมืองประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง ผู้จัดการการเงินที่มาจากภายนอก สามารถเสนอให้เมืองนั้นๆ ล้มละลายได้ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ไม่มีผู้ใดปรารถนา แต่ก็อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ต้องทำ

  ผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาให้ความเห็นว่า ทั้งนี้ หากเมืองดีทรอยส์ถูกประกาศล้มละลายจริง ดีทรอยส์จะเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดที่ทำเช่นนั้น และจะเป็นเทศบาลเมืองที่ใหญ่ที่สุดที่ล้มละลาย (ในแง่ของขนาดหนี้) ซึ่งการประกาศล้มละลายหรือที่รู้จักในนาม Chapter 9 เกิดขึ้นน้อยมาก ถือเป็นการกระทำที่ซับซ้อน แบบค่อยเป็นค่อยไปและมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก อย่างไรก็ตามรัฐมิชิแกนมีอำนาจตัดสินอนุญาตให้เมืองดีทรอยส์ล้มละลายหรือไม่ก็ได้ ซึ่งทางรัฐน่าจะมีเหตุผลอยู่มากที่จะไม่ทำแบบนั้น

  ตั้งแต่ช่วงปี 1930 มีหน่วยงานของรัฐบาล 643 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานเล็กๆ ไม่ใช่เมืองใหญ่ถูกประกาศล้มละลายไป ซึ่ง James E. Spiotto, ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายล้มละลายของเทศบาลท้องถิ่นจากสำนักกฎหมาย Chapman & Cutler ในชิคาโก เตือนว่าถ้าเมืองดีทรอยส์ถูกประกาศล้มละลาย ปัญหามากมายจะเกิดตามมาแน่นอน ทั้งเรื่องของความไม่แน่นอน ความอับอายและการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ

  Chapter 9 ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา เป็นเพียงขั้นตอนขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบไปทั่วชุมชนของเมืองดีทรอยส์หรืออาจจะกระจายทั่วทั้งรัฐก็ได้ ดังนั้นการประกาศล้มละลายจึงควรเป็นวิธีสุดท้ายที่พึงกระทำ

  ในช่วงเวลาเดียวกันสภาของรัฐนอร์ทแคโรไลนาเห็นชอบให้มีการตัดลดผลประโยชน์ของผู้ที่ว่างงาน โดยรัฐนี้เป็นหนึ่งในบรรดารัฐที่มีอัตราการว่างงานสูงที่สุดของประเทศ

  ด้วยความพยายามที่จะปรับลดหนี้ของรัฐ ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งควบคุมโดยพรรครีพับลิกันลงคะแนนเสียงตัดลดเงินรายสัปดาห์ที่จ่ายให้กับผู้ว่างงาน โดยปรับลดสูงสุดเหลือ 350 เหรียญสหรัฐ จาก 535 เหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 35 นอกจากนี้ได้ปรับลดจำนวนสัปดาห์ที่ได้รับผลประโยชน์ลงเหลือ 12-20 สัปดาห์จากเดิม 26 สัปดาห์ และปรับมาตรฐานการคัดเลือกและคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ได้รับผลประโยชน์ให้รัดกุมยิ่งขึ้น ซึ่งการตัดลดผลประโยชน์ดังกล่าวจะเริ่มนำมาใช้กับผู้ว่างงานที่ได้ยื่นคำร้องตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นต้นไป

  หากผู้ว่าการรัฐ Pat McCrory ได้ลงนามในร่างกฎหมาย มลรัฐนอร์ทแคโรไลนาจะเป็นรัฐที่ 8 ที่มีการตัดลดผลประโยชน์ของคนว่างงานลงซึ่งเป็นภาระทางการเงินการคลังจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอย

  ผู้ที่สนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าวได้ออกมาให้ความเห็นว่าวิธีการดังกล่าวจะช่วยจ่ายหนี้คืนให้กับรัฐบาลกลางได้ทันทีจำนวน 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับคะแนนโหวตจากวุฒิสภาของรัฐ 36 ต่อ 12 เสียง

  McCrory (พรรครีพับลิกัน) กล่าวว่าเนื่องจากระบบประกันการว่างงานของรัฐนอร์ทแคโรไลนาล้มเหลว จึงทำให้รัฐเป็นหนี้รัฐบาลถึง 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ รัฐจะจ่ายคืนหนี้ดังกล่าว รวมทั้งปรับปรุงระบบประกันผู้ว่างงานและสร้างสิ่งแวดล้อมให้ธุรกิจขนาดใหญ่และเล็กนำคนกลับเข้าไปทำงาน ขณะที่มีผู้ออกมาเตือนเกี่ยวกับผลสืบเนื่องที่เป็นอันตราย เพราะนอร์ทแคโรไลนามีจำนวนผู้ว่างงานมากเป็นลำดับที่ 5 ของประเทศ โดยอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 9.2 เทียบกับอัตราการว่างงานของประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.9

  Bill Rowe ผู้อำนวยการAdvocacy for the North Carolina Justice Center กล่าวว่า อเมริกากำลังเผชิญกับวิกฤติการจ้างงาน กล่าวคืออัตราผู้ว่างงานต่อผู้ที่มีงานอยู่ที่ 3:1 ดังนั้นความคิดที่จะใช้หนี้รัฐบาลกลางในขณะนี้จึงไม่สมเหตุสมผล

  ตามข้อมูลthe National Employment Law Project ตั้งแต่ครั้งที่เกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซา รัฐทั้ง 7 รัฐ ได้แก่ อาร์คันซอ ฟลอริดา จอร์เจีย อิลลินอยส์ มิชิแกน มิสซูรีและเซาท์แคโรไลนาได้ปรับลดผลประโยชน์ของผู้ว่างงาน แต่การตัดลดผลประโยชน์ของผู้ว่างงานในรัฐนอร์ทแคโรไลนานั้นถือว่ารุนแรงมากที่สุด

(หมายเหตุ : ขอบคุณสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นครนิวยอร์ก ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล)


หมายเลขบันทึก: 521983เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2013 05:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2013 05:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท