พุทธกับโลกสมัยใหม่


พุทธกับโลกสมัยใหม่

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ [email protected]

กระแสโลภิวัฒน์ โดยเฉพาะกำลังของเทคโนโลยีการสื่อสาร กำลังเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้พุทธศาสนาเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ซึ่งหากมองความเคลื่อนไหวของโลกตะวันตก(ยุโรป, อเมริกา)แล้ว  ย่อมเห็นได้ว่า ได้รับผลพวงในเชิงการศึกษาและเรียนรู้พุทธศาสนาอย่างมากชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน แม้ว่าชาวตะวันตกหรือฝรั่งจะได้ศึกษาพุทธศาสนามาเป็นเวลานานนับร้อยปีก็ตาม ทั้งหากจะว่าไปแล้วการศึกษาของฝรั่งหลายคนและหลายองค์กรดูเหมือนจะเลยก้าวหน้าไกลไปกว่าไทยเสียอีก ก่อนหน้าที่สมาคมบาลีปกรณ์ในอังกฤษจะถือกำเนิดเสียด้วยซ้ำ

  และการปริวรรตเทคโนโลยีการสื่อสารดังกล่าว ก็มีส่วนให้โลกตะวันออกสามารถนำออกซึ่งอารยธรรมด้านศาสนาออกมายังโลกตะวันตกมากยิ่งขึ้น ไม่นับรวมการแลกเปลี่ยนอารยธรรมด้านอื่นอีกจำนวนมากที่ไหลบ่าเข้าหากันอย่างรวดเร็ว จนแทบทำให้คิดได้ว่า โลกกำลังเข้าถึงกาลของความเป็นหนึ่งเดียวอย่างถึงที่สุดในเวลาไม่ช้านี้

  การศึกษาและปฏิบัติทางพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน ความห่างเหินระหว่างนิกายพุทธฝ่ายเหนือ(มหายาน) กับนิกายพุทธฝ่ายใต้(เถรวาท) กำลังเกิดความเปลี่ยนแปลง โดยมีความสัมพันธ์ต่อกันในลักษณะที่ใกล้ชิดมากขึ้นจากอิทธิพล ผลพวงของการสื่อสาร , มีการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลข่าวสารมากขึ้นตามลำดับ , ต่างฝ่ายต่างรับอิทธิพลซึ่งกันและกันมากขึ้น การผสมผสานองค์ความรู้เกี่ยวพุทธศาสนาเป็นไปอย่างกว้างขวาง

  เสมือนกับว่า พุทธทั้ง 2 นิกายใหญ่ ซึ่งในอดีตเคยแยกออกจากกัน ได้เวียนมาบรรจบพบกัน ในโลกสมัยใหม่อีกครั้งหนึ่ง นับจากสถานการณ์สำคัญทางด้านประวัติศาตร์พุทธศาสนา ซึ่งมีการแบ่งแยกนิกายในอดีตนับพันปีล่วงมาแล้ว  จนแม้เมื่อคราวพุทธปรินิพพานล่วงไปไม่กี่ร้อยปีเสียด้วยซ้ำ , ความแคบขึ้นของโลก ย่อมทำให้พุทธศาสนาทั้ง 2 นิกาย มีโอกาสที่จะแสวงหาจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละฝ่าย เพื่อทำการศึกษา ปฏิบัติและเผยแผ่พระธรรมได้มากยิ่งขึ้น , ดูเหมือนความร่วมมือในระดับนานาชาติในบรรดาชาวพุทธทั่วโลก จะเกิดขึ้นและดำเนินการกันอยู่หลายๆที่ หลายๆคน และหลายๆองค์กร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี เป็นอย่างมาก

  ขณะที่พุทธมหายาน ซึ่งถือเป็นฝ่ายก้าวหน้า ได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศตะวันตก โดยที่พุทธนิกายนี้(ซึ่งมีกายย่อยหลายนิกาย) ได้พัฒนารูปแบบการศึกษาและปฏิบัติธรรมออกไปอย่างกว้างขวางและซับซ้อน เลยไปจากบริบทพระคัมภีร์อันคำสอนดั้งเดิม(พระไตรปิฎก)มาก ในนามของการสืบต่อผ่านวิถีแห่ง “ อาจารยวาท”  คือ การสืบต่อคำสอนแนวประยุกต์โดยคุรุอาจารย์ ส่วนเถรวาท ยังคงยึดแนว ปฏิฐานนิยม หรือแนวจารีตเดิม ตามพระคัมภีร์(พระไตรปิฎก) แม้สถานการณ์ได้ล่วงเลยมาเป็นเวลาสองพันกว่าปีก็ตาม แม้การยึดแนวทางดังจารีตกล่าว จะมีการเปลี่ยนแปลงโดยการบังคับตามกลไกวัฒนธรรมสังคมไปบ้างก็ตาม แต่ถือว่า ฝ่ายจารีตได้รักษาระเบียบวิธีศึกษาและวัตรปฏิบัติแบบเดิมๆไว้ได้เป็นส่วนใหญ่

  โดยมี “ของกลาง”หรือหลักฐานกลางที่รักษาและปรากฏสืบทอดกันมา คือ พระคัมภีร์ (ไตรปิฎก)ซึ่งนับเป็นหลักฐานหรือของกลางชิ้นเอก โดยที่ในเวลานี้ฝ่าย มหายานเองได้กลับมาศึกษาพระไตรปิฎกของเถรวาทกันมากขึ้น , นอกเหนือจากความสนใจที่มีต่อหลักคำสอนของพุทธศาสนาแล้ว ส่วนหนึ่งเกิดจากความแคบลงของโลกนั่นเอง

หลายสถาบันหรือองค์กรพุทธทั้งเถรวาทและมหายานได้มีการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อทราบปัญหาซึ่งกันและกันอย่างกว้าง ดังมีการจัดกิจกรรมงานวันวิสาขบูชากันในประเทศพุทธทั่วโลก ผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ ,เชื้อเชิญให้เข้าร่วมงานของกันและกันในบรรดาพุทธศาสนิกนานาชาติ

น่าสนใจว่าความเป็นหนึ่งเดียวของพุทธศาสนิกเหล่านี้ “ของกลาง” คือ พระไตรปิฏก หรือ “พระบัญญัติธรรม+วินัย” เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสืบทอด เผยแผ่พุทธศาสนาให้กว้างขวางออกไปในโลกปัจจุบัน ,ในยามที่โลกมีความเป็นธรรมดาไม่เคยเปลี่ยนไม่ว่ายุคสมัยไหน คือ ความร้อนจากทุกข์ด้วยประการต่างๆ

ขณะที่ภาพที่เห็นในเมืองไทยหรือแม้กระทั่งในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทประเทศอื่นๆ คือ โครงร่างหรือกฎกติกา(ธรรมวินัย/ไตรปิฎก)แบบเถรวาทที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ก็มีการต่อเติมเช่นกัน หรือเรียกได้ว่าเป็นโครงร่างธรรมวินัยชุดใหม่(ที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงการปรับปรุง ประดับประดา ดีไซน์ใหม่เพิ่มเติมตลอดเวลา) , หลักธรรมวินัยเชิงเอกสารนี้ได้ถูกปฏิรูปอยู่แทบตลอดเวลาความเป็นมาของประวัติศาตร์พุทธศาสนา (เป็นคนละส่วนกับความหมายของ “สัทธรรมปฏิรูป”) เป็นการปฏิรูปตามจังหวะกาลเวลาและสถานการณ์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ

หากเปรียบเทียบกับชุดเสื้อผ้าแล้ว  เรา(เถรวาทบางคน บางกลุ่ม)กำลังอยู่บนโลกจินตนาการถึงแบบทรงของเสื้อผ้า(ไตรปิฎก)ชุดเดิมที่เรามักคิดว่าเราชอบ ทำนองการหวนหาเสื้อผ้าชุดเก่าที่เรานิยมว่าดี แต่เราก็กำลังสวมใส่เสื้อผ้าร่วมสมัย อย่างน้อยถึงแม้รูปทรงหรือวัสดุมันเป็นของเดิมก็ตาม แต่การตัดเย็บ รอยตะเข็บต่างๆ ความเข้มของเฉดสี ก็ไม่มีวันเหมือนเดิม เพียงแต่เรากำลังจินตนาการถึงเสื้อผ้าชุดเดิม ที่เป็นเสื้อผ้าชุดประวัติศาตร์ และหาทางที่จะเทียบเคียงกับเสื้อผ้าชุดที่สวมใส่อยู่ในปัจจุบัน

ใช่แน่นอนว่า เสื้อผ้าชุดประวัติศาตร์นั้น คนสมัยใหม่ก็ย่อมสามารถใส่ได้  แต่ความเก่า(ประวัติศาตร์)ก็คือความเก่า เราไม่มีวันสวมเสื้อชุดนี้ให้แลดูลงตัว เหมาะกับรูปกายของคนเราร่วมสมัยทุกอย่างไป (ไยจะพูดไปถึงความเท่ห์หรือการมองดูดี) ,เสื้อผ้าชุดประวัติศาตร์ก็คือ เสื้อผ้าชุดประวัติศาตร์ , เราจะทำอย่างไรกับเสื้อผ้าชุดประวัติศาตร์นี้  ??? จะเก็บมันไว้ในพิพิธภัณฑ์ต้นแบบเฉยๆในฐานะมรดกทางประวัติศาตร์??? หรือ จะเก็บมันไว้ในพิพิธภัณฑ์ไม่ให้บอบช้ำสึกกร่อนแล้วลงมือศึกษามันอย่างจริงจัง คัดลอกรูปทรง(รูปแบบ)ที่เหมาะสมกับยุคร่วมสมัยของคุณมาผลิต(สร้าง)ใหม่เพื่อใช้(เพราะเรารู้ว่า ไม่มีทางที่จะผลิตมันให้เหมือนเดิมทั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ได้ วัสดุที่ใช้ผลิตบางอย่างก็หาไม่ได้เสียแล้ว หรือสามารถใช้วัสดุอื่นทำอย่างรวดเร็วขึ้นและเหมาะสมกว่าด้วยซ้ำ)

หรือเราจะนั่งจินตนาการถึงเสื้อผ้าประวัติศาตร์ชุดนี้ต่อไป ใครมาคัดลอกหรือปรับปรุงแบบใหม่(จากชุดเดิมในพิพิธภัณฑ์) เราก็หวาดระแวงด่าทอเขาตลอดเวลา  หาว่าเขาไม่ยอมสงวนต้นแบบ หรือเอาต้นแบบไปผลิตของใหม่ได้อย่างไร หรือตำหนิเขาในทำนองถ้าผลิตของใหม่ก็ควรบอกว่ามันเป็นของใหม่ไปเลย ไม่ควรอ้างถึงต้นแบบที่เป็นของเก่า เป็นต้น ซึ่งประเด็นท้ายสุดผู้คิดหรือผู้พูดอย่างนี้ น่าจะไม่ยอมรับในหลักการ การต่อยอดอารยธรรมของมนุษย์เอาเลย

  เพราะที่จริงแล้ว ชุดเสื้อผ้าประวัติศาตร์(๒๕๐๐ ปี) ก็คงเป็นชุดประวัติศาตร์อยู่วันยังค่ำ ไม่ว่าเราจะเก็บมันไว้ในพิพิธภัณฑ์ หรือนำชุดประวัติศาตร์มาสวมใส่ในปัจจุบัน... หรือปรับปรุงคัดลอกแบบเพื่อใช้ได้ตามกาลสมัย ก็ไม่มีใครว่า ???

  ประเด็น สำคัญ คือ เรามีของกลาง(ไตรปิฎก)ให้ศึกษา เสมือนเสาหลักใหญ่อันมั่นคงอยู่แล้ว (ซึ่งต้องดูแลรักษาเสาหลักนี้ให้จงดี) จะกลัวไปไยกับพัฒนาการเชิงก้าวหน้าของการนำธรรมวินัยไปประยุกต์ใช้ในโลกปัจจุบัน !!   


หมายเลขบันทึก: 521905เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2013 08:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มีนาคม 2013 08:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท