ไทย&อเมริกาในทศวรรษหน้า


พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ : [email protected]

แม้ George  Friedman ผู้เขียน “The Next 100 Years  : A Forecast for the 21 Century” จะไม่ได้บอกรายละเอียดถึงกระทั่งว่า ตำแหน่งแห่งหนและความเป็นไปของประเทศไทยในอนาคต จะเป็นอย่างไร แต่เป็นที่แน่นอนดังเขาระบุว่า ประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศเอเชีย-แปซิฟิกและหนึ่งในประเทศอาเซียนนั้น ถูกพ่วงติดกับประเทศมหาอำนาจทั้งหลายอย่างไม่สามารถเลี่ยงได้ โดยเฉพาะจีนและอเมริกัน

  สถานการณ์ในปัจจุบันเองก็เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ไทยไม่สามารถที่ดำรงนโยบายอยู่อย่างอิสระโดยปราศจากพันธมิตรมหาอำนาจของโลกทั้งสอง แต่จะสร้างความสัมพันธ์อย่างไร เป็นเรื่องที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และประชาชนชาวไทยต้องคิดกันให้จงดี

  เท่าที่ดูในเวลานี้ แม้จีน จะเป็นประเทศที่อยู่ใกล้กับไทยก็ตาม แต่การวางนโยบายหรือยุทธศาตร์เชิงความสัมพันธ์ของ(รัฐบาล)ไทย ให้ความสำคัญกับอเมริกามากกว่าจีน ซึ่งสามารถดูได้หลายทาง

อย่างแรก คือ ผลประโยชน์ร่วมระหว่างทั้ง 2 ประเทศ 

อย่างที่สอง คือ ความจำเป็นในแง่การวางยุทธศาตร์เพื่อความอยู่รอดของประเทศ

  อย่างแรก คือ ผลประโยชน์ร่วมระหว่างไทยกับอเมริกันนั้น เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยาก ประกอบด้วยผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคง ทั้ง 2 ประเทศ ต่างต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันไม่มากขึ้นก็น้อยลง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคงของโลก ที่เปลี่ยนไปในแต่ยุคแต่ละสมัย ดังการไปเยือนไทย พม่าและกัมพูชา ของนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีอเมริกัน เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งเป็นเรื่องของการพยายามสร้างความพันธ์เชิงการให้ความสำคัญกับประเทศในภูมิภาคอินโดจีนมากที่อยู่ใกล้หรือติดกับจีน และอยู่ในในเขตการแผ่อิทธิพลของจีน

  ที่ผ่านมารัฐบาลอเมริกันมุ่งขยายการลงทุนในทางเศรษฐกิจในประเทศที่เคยคว่ำบาตร อย่างพม่า ผ่านฐานการเงินการลงทุนในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นที่รู้กันในบรรดานักลงทุนอเมริกัน ,ครั้งหนึ่งผมเคยถามนักลงทุนอเมริกันที่ประจำการอยู่แถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้มาร่วมงาน “เฟอร์นิเจอร์เวิลด์ เอ็กซ์โป” ที่ลาสเวกัส  เขาบอกว่า เขานำไม้แปรรูปแบบหยาบๆมาจากอินโดนีเซีย โดยที่ไม้เหล่านี้ ถูกส่งจากพม่าอีกทอดหนึ่ง เพื่อแปรรูปเป็นสินค้า อย่างเช่น เฟอร์นิเจอร์ในแดนอิเหนา ก่อนที่มันจะถูกส่งเข้ามาขายในอเมริกา

  เพราะฉะนั้น ไม่พึงคิดว่าอเมริกัน ไม่เคยทำการค้ากับพม่า , อเมริกันทำการค้ากับพม่า เพียงแต่เป็นการกระทำธุรกิจในทางอ้อม และตอนนี้นักธุรกิจหรือนักลงทุนอเมริกันกำลังจะทำธุรกิจทางตรงกับพม่า อย่างไม่ต้องอ้อมค้อมไปประเทศอื่นให้เสียเวลา เสียเงินอีกต่อไป , ยิ่งตอนนี้วงการล็อบบี้อเมริกันแถวแคปปิตัลฮิล ดูจะคึกคักมากเป็นพิเศษ ตัวแทนของรัฐบาลพม่าได้รับเชิญไปกินเลี้ยงเพื่อเจรจาความสัมพันธ์และธุรกิจอยู่บ่อยครั้ง

  เช่นเดียวกับที่อเมริกัน มีความสัมพันธ์กับไทยมายาวนาน และอเมริกันคงไม่เปลี่ยนยุทธศาตร์ของความสัมพันธ์ เพียงแต่ประเทศใหญ่(มหาอำนาจ)มีทางเลือกเชิงนโยบายมากกว่าประเทศเล็ก , ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจะเป็นอย่างไรในอนาคตขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายการต่างประเทศในปัจจุบันว่า เรา(ไทย) จะกำหนดหรือออกแบบให้เป็นไปแบบใด เราเข้าใจเขา(มากกว่าที่จะให้เขาเข้าใจเรา)มากน้อยขนาดไหน , ไม่ต้องห่วงว่าอเมริกันไม่เข้าใจไทย แต่ผมคิดว่า ความเข้าใจของไทยต่ออเมริกันอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง

  ความขัดแย้งด้านทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลระหว่างชาติอาเซียนด้วยกันและจีน(หมู่เกาะสแปรดลี่ย์ ทะเลจีนใต้)  เป็นประเด็นหนึ่ง ที่ไทยควรได้โอกาสในการตอบสนองต่อการเข้าถ่วงดุลอำนาจในภูมิภาคของฝ่ายอเมริกัน ขณะที่ไทยเองเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในเรื่องนี้น้อยมากหรือไม่มีเลย ว่าไปแล้วเป็นโอกาสของการทำหน้าที่”ประเทศกลาง” ในการเจรจาผลประโยชน์ทางทะเล ซึ่งนับวันความขัดแย้งจะส่อเค้าบานปลายมากขึ้น ในที่สุดแล้วย่อมนำไปสู่เวทีการเจรจา (การใช้กำลังเป็นเรื่องที่ทุกประเทศตระหนักว่าไม่ก่อผลดีใดๆทั้งสิ้น ที่สำคัญดีลผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับอเมริกันมีมากกว่าที่จะคิดทำสงครามกัน) โดยมีอเมริกันเข้ามาเป็นประเทศกลางในการเจรจา ด้วยเหตุที่เป็นหนึ่งในประเทศคู่ขัดแย้ง

  ในอีกด้านหนึ่งญี่ปุ่น จะเป็นประเทศที่มีการก่อตัวทางด้านการทหารมากขึ้น (มากที่สุดหลังจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง , เวลานี้มีนายทหารญี่ปุ่นเดินทางไปศึกษาการทหารในอเมริกาจำนวนไม่น้อย โดยการสนับสนับสนุนของเพนตากอนหรือกลาโหมของอเมริกัน) ด้วยการติดเขี้ยวเล็บทางทหารจากฝ่ายอเมริกัน , ขณะที่มีการเสริมกำลังกองทัพเรืออเมริกันที่เกาะกวมมากขึ้น (แน่นอนมีการส่งยุทโธปกรณ์มามากขึ้นเช่นกัน) เพื่อลาดตระเวนทางทะเล ที่ถือเป็นการคุมเชิง เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับฝ่ายจีน

  ย้อนมาดูทางฝ่ายไทย ในประเด็น อย่างที่สอง คือ ความจำเป็นในแง่การวางยุทธศาสตร์เพื่อความอยู่รอดของประเทศ ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ไม่มีการ “ดำเนินการอย่างเป็นระบบ” แต่อย่างใด ภาพที่ควรเห็นในประเด็นนี้ยังไม่เกิด เช่น การวางหน่วยงานหรือคนเพื่อวิเคราะห์นโยบายเชิงลึกของรัฐบาลอเมริกัน (เรื่องนี้ต้องเป็นการดำเนินการภายในอเมริกาด้วย อีกนัยหนึ่ง คือการใช้ประโยชน์จากเจ้าหน้าที่การทูต หรือเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่างๆของไทยที่ประจำอยู่ในอเมริกาให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น) , การประสานงานด้านการเมืองของรัฐสภาของทั้งสองประเทศ ทั้งในระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ที่ในช่วงที่ผ่านมาแทบไม่ได้มีการลงมือทำการเรื่องนี้อย่างจริงจังแต่อย่างใด (การเดินทางไปดูงานในอเมริกาของนักการเมืองไทย ยังเป็นเสมือนการท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ ดังการไปเยือนบ่อนสำคัญๆ ดังๆ ของนครลาสเวกัสของนักการเมืองไทยหลายคน เป็นต้น) , การประสานความร่วมมือระหว่างภาคประชาชนไทยกับประชาชนอเมริกัน ที่ถือว่ายังไม่ได้รับสนองเชิง ความตื่นตัวของประชาชนของทั้งสองประเทศ

  หรือแม้กระทั่งการความสำคัญของการเป็น ASEAN , AEC ที่แม้แต่ตัวเลขาธิการอาเซียน(ที่เป็นคนไทย)เอง เคยเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอเมริกัน ก็ไม่ได้รับการขับเคลื่อนไปสู่การรับรู้ของพลเมืองอเมริกันมากมายนัก ใยจะหวังถึงผลประโยชน์ระยะยาวของอาเซียน โดยเฉพาะประโยชน์ของฝ่ายไทยเอง ,ทั้งที่กำหนดการ “อาเซียนโรดโชว์”  ในอเมริกา น่าจะถูกเซ็ตไว้ได้แล้ว อย่างน้อยก็สองเมือง คือ แอล.เอ.และนิวยอร์ค

  ผมเชื่อเพื่อนอเมริกันที่ใช้ชีวิตในเมืองไทยมายาวนานอย่าง Jack Wallace ,เขาบอกว่า ในเมื่อเรื่องการศึกษาของอาเซียนยังไปไม่ถึงไหน การจะไปหวังถึงเรื่องอื่นๆไมใช่ของง่าย...


หมายเลขบันทึก: 521897เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2013 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มีนาคม 2013 22:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

We do not know the future and our (Thailand) intelligence systems do not work to help us improve our predictions. We use our resources in corruption and power mongering -- wasting any opportunity to improve people's and thus the nation's prosperity. We don't have a future plan!

ทำให้เราต้องคำนึงถึงการตัดสินใจของผู้นำในยุคปัจจุบันว่าจะทำให้ประเทศชาติเดินทางอย่างอยู่รอดปลอดภัยได้อย่างไรฝากไว้เป็นข้อเตือนใจในการตัดสินใจบริหารประเทศต่อไปนะขอรับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท