รสวรรณคดีไทย


 รสทางวรรณคดีที่ มีอยู่ ๔ ชนิด คือ เสาวรจนี นารีปราโมทย์ พิโรธวาทัง สัลลาปังคพิไสย 
                ๑) เสาวรจนี (เสาว ว. ดี, งาม. + รจนี ก. ตกแต่ง, ประพันธ์; ว. งาม) รสนี้เป็นการชมความงาม ชมโฉม พร่ำพรรณาแลบรรยายถึงความงามแห่งนาง ทั้งตามขนบกวีเก่าก่อนแลในแบบฉบับส่วนตัว ตัวอย่างเช่น
                        ...หนุ่มน้อยโสภาน่าเสียดาย              ควรจะนับว่าชายโฉมยง 
                      ทนต์แดงดั่งแสงทับทิม                      เพริศพริ้มเพรารับกับขนง 
                      เกศาปลายงอนงามทรง                     เอวองค์สารพัดไม่ขัดตา... 
                จากบทข้างต้น เป็นการกล่าวชมรูปโฉมของวิหยาสะกำ ซึ่งถูกสังคามาระตาสังหาร กล่าวว่าวิหยาสะกำนั้น เป็นชายหนุ่มรูปงาม ฟันนั้นเป็นแสงแวววาวสีแดงราวกับแสงของทับทิม ซึ่งตัดรับกับคิ้ว รวมทั้งปลายเส้นผมซึ่งงอนงามขึ้นเป็นทรงสวยงาม รับกับทรวดทรงองค์เอวของวิหยาสะกำ 

                ๒) นารีปราโมทย์ (นารี น. หญิง + ปราโมทย์ น. ความบันเทิงใจ, ความปลื้มใจ, ปราโมช ก็ว่า) คือ การทำให้ "นารี" นั้น ปลื้ม "ปราโมทย์" ซึ่งรูปแบบหนี่งก็คือ การแสดงความรักผ่านการเกี้ยวแลโอ้โลมปฏิโลม. อันคำว่า "โอ้โลมปฏิโลม" นี้ ความหมายอันแท้จริงของคำก็คือ การใช้มือลูบไปตาม (โอ้) แนวขน (โลมา) และย้อน (ปฏิ) ขนขึ้นมา เมื่อโอ้โลมไปมา ในเบื้องปลาย นารีก็จักปรีดาปราโมทย์ ในตอนที่ศึกษา มีเพียงแค่ตอนที่อิเหนากำลังสั่งลาจากนางจินตะหรา ซึ่งเมื่ออ่านดูแล้วบางทีอาจจะไม่ถึงกับเป็นการโอ้โลมปฏิโลมเท่าใดนัก เพียงจะจัดไว้ ณ ที่นี้ เนื่องเพราะเป็นบทที่แสดงถึงความรัก กล่าวคือ
                                                เมื่อนั้น                                   พระสุริย์วงศ์เทวัญอสัญหยา 
                                โลมนางพลางกล่าววาจา                    จงผินมาพาทีกับพี่ชาย 
                                ซึ่งสัญญาว่าไว้กับนวลน้อง               จะคงครองไมตรีไม่หนีหน่าย 
                                มิได้แกล้งกลอกกลับอภิปราย            อย่าสงกาว่าจะวายคลายรัก
                จากบทข้างต้น ก็คือบทที่อิเหนาได้บอกกล่าวกับจินตะหรา ว่าตนไปก็คงไปเพียงไม่นาน ขอจินตะหราอย่าร้องไห้โศกเศร้าเลย

                ๓) พิโรธวาทัง (พิโรธ ก. โกรธเกรี้ยว ไม่สบอารามณ์ + วาทัง น. วาทะ คำพูด) คือการแสดงความโกธรแค้นผ่านการใช้คำตัดพ้อต่อว่าให้สาใจ ทั้งยังสำแดงความน้อยเนื้อต่ำใจ, ความผิดหวัง, ความแค้นคับอับจิต แลความโกรธกริ้ว ตามออกมาด้วย เหมือนกล้วยกับเปลือก. กวีมักตัดพ้อและประชดประเทียดเสียดแลสี เจ็บดังฝีกลางกระดองใจ อ่านสนุกดีไซร้แฮ!
                ตัวอย่างของรสพิโรธวาทังนี้ก็มีอยู่มากมาย ที่จะยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างก็จะมี 
                                เมื่อนั้น                                   พระผู้ผ่านไอศูรย์สูงส่ง 
                           ประกาศิตสีหนาทอาจอง                   จะณรงค์สงครามก็ตามใจ 
                           ตรัสพลางย่างเยื้องยุรยาตร                จากอาสน์แท่นทองผ่องใส 
                           พนักงานปิดม่านทันใด                      เสด็จเข้าข้างในฉับพลันฯ 
                ในบทที่ยกมานี้ เป็นตอนที่ท้าวดาหาได้ฟังความจากราชทูตของเมืองกะหมังกุหนิง ที่กล่าวไว้ว่าถ้าท้าวดาหาไม่ยอมยกบุษบาให้กับวิหยาสะกำ ก็ขอให้เตรียมบ้านเมืองไว้ให้ดี เพราะเมืองกะ-หมังกุหนิงจะยกทัพมารบ เมื่อท้าวดาหาได้ฟังก็โกรธเดือดดาลทันใด จึงบอกไปว่าจะมารบก็มา แล้วก็ลุกออกไปทันที 

                ๔) สัลลาปังคพิไสย (สัลล น. ความโศกโศกาเศร้าร่ำน้ำตานอง, ความเจ็บปวดแปลบ ๆ แลบแล่นในเนื้อใจ, การครวญคร่ำรำพันรำพึง / สัลลาป น. การพูดจากัน + องค์ น. บท, ชิ้น อัน, ตัว + พิไสย น. ความสามารถ ฤาจะแผลงมาจาก วิสัย ซึ่งแปลว่า ธรรมชาติของสิ่งนั้น ๆ ฤาสันดาน ก็อาจเป็นได้) คือ การโอดคร่ำครวญ หรือบทโศกอันว่าด้วยการจากพรากสิ่งอันเป็นที่รัก. มีใช้ให้เกลื่อนกล่นไปในบรรดานิราศ (ก. ไปจาก, ระเหระหน, ปราศจาก, ปราศจากความหวัง, ไม่มีความต้องการ, หมดอยาก, เฉยอยู่) เนื่องเพราะกวี อันมีท่านสุนทรภู่นำเริ่ดบรรเจิดรัศมีอยู่ที่หน้าขบวน จำต้องจรจากนางอันเป็นที่รัก อกจึงหนักแลครวญคร่ำจำนรรจ์ ประหนึ่งหายห่างกันไปครึ่งชีวิต ในตอนนี้ก็มีเช่นกัน เป็นบทที่อิเหนากำลังชมนกชมไม้ระหว่างจะไปดาหา 
                                     ว่าพลางทางชมคณานก      โผนผกจับไม้อึงมี่ 
                           เบญจวรรณจับวัลย์ชาลี                 เหมือนวันพี่ไกลสามสุดามา 
                           นางนวลจับนางนวลนอน               เหมือนพี่แนบนวลสมรจินตะหรา 
                           จากพรากจับจากจำนรรจา              เหมือนจากนางสการะวาตี 
                           แขกเต้าจับเต่าร้างร้อง                  เหมือนร้างห้องมาหยารัศมี 
                           นกแก้วจับแก้วพาที                      เหมือนแก้วพี่ทั้งสามสั่งความมา 
                                                         ฯลฯ 
                จากบทข้างบน จะเห็นได้ว่าอิเหนากำลังโศกเศร้าอย่างหนัก จะเรียกว่าอยู่ในขั้นโคม่าเลยก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าจะมองอะไร ก็นึกถึงแต่นาง ทั้งสามที่ตนรัก อันได้แก่ จินตะหรา มาหยารัศมี และสการะวาตี มองสิ่งใด ก็สามารถเชื่อมโยงกับนางทั้งสามได้หมด 

หมายเลขบันทึก: 521834เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2013 22:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2013 22:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท