Teesanat
ทัศนีย์ ก่อเกียรติไพศาล

การครอบครองปรปักษ์ที่ดิน (ที่ดินหายโดยไม่รู้ตัว)



ปัจจุบันอาจมีหลายท่านที่อาจซื้อที่ดินไว้มากมายหลายแปลง จนบางครั้งก็อาจลืมไปด้วยซ้ำว่าที่ดินตนเองอยู่ที่ไหนบ้างแต่ก็ยังไม่กังวลอะไรมากมาย เพราะมั่นใจว่าตนเองมีโฉนดที่ดินอยู่ในมือ คงไม่มีใครนำที่ดินของตนเองไปทำอะไรได้หากแต่ยังมีทางที่บุคคลอื่นอาจได้ที่ดินของท่านได้ โดยวิธีการที่เรียกว่า “การครอบครองปรปักษ์” บางท่านอาจเคยได้ยินมากันบ้าง หรืออาจเป็นความรู้ใหม่สำหรับใครอีกหลายคน


การได้มาซึ่งสิทธิในการครอบครองปรปักษ์

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ บัญญัติ ไว้ว่า บุคคลใด ครอบครอง ทรัพย์สิน ของผู้อื่นไว้ โดยสงบ และ โดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็น อสังหาริมทรัพย์ ได้ครอบครอง ติดต่อกัน เป็นเวลา สิบปี ถ้าเป็น สังหาริมทรัพย์ ได้ครอบครอง ติดต่อกันเป็นเวลา ห้าปี ไซร้ ท่านว่า บุคคลนั้น ได้ กรรมสิทธิ์


อธิบาย การ ครอบครองปรปักษ์ หมายถึง การที่บุคคลใดคนหนึ่งได้ครอบครอง ทรัพย์สินของผู้อื่นไว้ ซึ่งทรัพย์สินนั้น หมายความรวมถึง ทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ นั่นเอง และจะต้องเป็นการครอบครองโดยสงบ และเปิดเผยด้วยว่าเรามีเจตนาที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น กล่าวคือ เจ้าของทรัพย์สินเดิมจะต้องรู้ว่าเรากำลังครอบครองอยู่ด้วย ซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้ดังนี้

1. ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ อันได้แก่ ที่ดิน และทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินที่มีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียว กับที่ดินนั้น อาทิเช่น บ้านนั้นเอง เหล่านี้เรียกว่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ ถ้าบุคคลนั้นได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี

2. ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี

กฎหมาย ถือว่าบุคคลนั้นได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ ซึ่งบุคคลที่ครอบครองปรปักษ์ถือว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ครอบครองปรปักษ์ นั้น มีสิทธิ์ที่จะอยู่อาศัย และขายหรือจำหน่าย ทรัพย์สินเหล่านั้นเช่นเจ้าของได้เลย

ตัวอย่าง

นายไว ได้เข้าอาศัยอยู่ในที่ดินของนาย ชักช้า ดังเช่นเหมือนเป็นที่ดินของนายไวเอง ซึ่งนายชักช้า ก็รู้ ว่านายไว อาศัยอยู่ในที่ดินของตน โดยนาย ไว ได้เข้าไปอยู่โดยสงบ และเปิดเผย โดยที่นายชักช้ารู้แล้วแต่ไม่ทักท้วงแต่อย่างใด เมื่อนายไวได้อยู่อาศัยในที่ดินนั้นเป็นเวลา 10 ติดต่อกัน กฎหมายถือว่านาย ไวได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นโดยการครอบครองปรปักษ์ มีสิทธิ์ที่จะใช้สอย หรือขายจำหน่าย จ่ายโอนที่ดินดังกล่าวได้เลย

การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้อง “ภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง”
เมื่อได้เห็นบทบัญญัติของกฎหมายนี้แล้ว บรรดาเจ้าของที่ดินทั้งหลายจะ ต้องเอาใจใส่หมั่นไปดูแลที่ดินของตนอย่างน้อยปีละครั้ง เพราะหากมีผู้อื่นเข้ามาแย่งการครอบครองบุกรุกเข้ามาจะได้ทักท้วงหวงห้ามปกป้องสิทธิของตนไว้ก่อน

หากปล่อยปละละเลยไม่สนใจ ที่ดินของท่านอาจกลายเป็นที่ดินของคนอื่นโดยที่ท่านไม่รู้ตัว”


หมายเลขบันทึก: 521660เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2013 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2013 14:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณข้อมูลดีๆ นะคะ

ฝันดีค่ะ

ขอบคุณ คุณBright Lily ที่แวะเข้ามาชมบล็อคนะคะ

ฝันดีเช่นกันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท