บวชทำไม



บวชทำไม

  ผมตั้งใจไว้นานแล้วว่าในชีวิตนี้จะขอบวชเรียกสักพรรษาหนึ่งให้ได้ แต่เวลาและโอกาสที่ผ่านมาไม่สามารถทำตามที่ตั้งใจไว้ เพิ่งมามีโอกาสก็ในปีนี้เอง เมื่ออายุของผมย่างเข้าสามสิบสามปี มีเมียหนึ่ง ลูกสองเข้าไปแล้ว

  ผมเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ตามระเบียบ ก่อนบวชต้องยื่นใบลาล่วงห้าอย่างน้อยหกสิบวัน ในใบลาต้องแจ้งด้วยว่าจะบวชวัดไหน ผมยังนึกไม่ออกว่าจะบวชที่วัดไหนดี แต่ตั้งใจแล้วว่าจะต้องขอบวชในปีนี้ให้ได้ ผมจึงได้ไปพบหัวหน้า ขอลาบวชด้วยวาจาก่อน ถ้าท่านไม่ขัดข้อง จะได้ยื่นใบลาภายหลัง

  “คุณบวชทำไม” หัวหน้าถาม

  “ผมอยากบวชครับ” ผมยังนึกคำตอบที่ดีกว่านี้ไม่ได้

  “ผมหมายถึงคุณบวชเพื่ออะไร ถ้าบวชเพื่อประเพณีผมไม่เห็นด้วย”

  “เปล่าครับ ถ้าผมบวชเพื่อประเพณี ผมคงบวชไปนานแล้วตั้งแต่อายุครบบวช แต่ที่ผมบวชเพราะผมมีศรัทธาอยากจะบวช”

  “ศรัทธายังไง” หัวหน้าซัก

  “ผมมีความเชื่อว่า คำสอนของศาสนาพุทธนั้นมีประโยชน์กับทุกคนมาก ผมจึงอยากบวชเพื่อศึกษาธรรม”

  “ไม่ต้องบวชก็ศึกษาได้” หัวหน้าแย้ง

  “จริงครับ แต่คงไม่เหมือนกัน”

  “เหมือนไม่เหมือนมันอยู่ที่เราตั้งใจแค่ไหน”

  “ถูกของหัวหน้าครับ แต่สำหรับผม ผมเห็นว่าถ้าไม่บวช ต้องยุ่งกับการทำมาหากิน มีเวลาน้อยที่จะศึกษาค้นคว้า สู้เป็นพระไม่ได้ ยังได้ฝึกปฏิบัติไปด้วย”

  “เหตุผลที่จะบวชของคุณมีแค่นี้เองหรือ”

  “ยังมีอีกครับ คือผมเริ่มรู้สึกเบื่อความจำเจในชีวิตประจำวัน เช้าไปทำงานเย็นกลับบ้าน หิวก็กิน อยากก็ทำ คนเราวันหนึ่งๆ ไม่เห็นมีอะไร ก็แค่นี้ จิตใจเริ่มเฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้นเหมือนก่อน ถ้าขืนปล่อยไปอย่างนี้เรื่อยๆ คงแย่ ผมจึงอยากบวชเพื่อหยุดตัวเองสักพักหนึ่ง”

  “คุณเบื่องานน่ะสิ”

  “ใช่ครับ” ผมยอมรับ “เมื่อเบื่อผมก็ไม่อยากทนทำ และอีกอย่างหนึ่งที่ผมหวัง คือการที่ผมได้บวชเป็นพระเหมือนกับผมได้ก้าวออกไปจากความเป็นผม เพื่อจะได้หันกลับมาดูตัวเองให้เด่นชัด คนเราถ้าได้ดูตัวเองมากๆ นานๆ จะเห็นตัวเองชัด สิ่งไหนที่เห็นว่าไม่ดี บกพร่อง ผมก็จะได้แก้ไขตัวเองให้ดียิ่งขึ้น เหตุผลข้อใหญ่ของผมก็มีเพียงแค่นี้”

  “คุณไม่จำเป็นต้องบวชก็น่าจะมองดูตัวเองได้”

  “ถึงได้ก็ไม่ดีครับ เพราะถ้าผมไม่บวช ความเคยชินบวกความจำเจในชีวิตประจำวันจะปิดบังความจริงไว้หมด จะมองเห็นตัวเองไม่ชัด”

  หัวหน้ายิ้ม

  “เอาละ ผมพอเข้าใจเจตนาของคุณ ที่ผมซักไม่มีจุดประสงค์จะขัดขวางหรือคัดค้านศรัทธาของคุณหรอก ยังไงผมก็อนุญาตให้คุณลาบวชแน่ เพียงแต่ผมอยากจะถามคุณเพื่อขอเหตุผลเท่านั้น ผมชอบคนที่มีเหตุผล ผมไม่ชอบคนที่ทำอะไรเอะอะก็อ้างประเพณีหรือหลับหูหลับตาตามเขาไป เห็นใครทำอะไรก็อยากทำบ้าง เห็นเขาบวชก็อยากจะบวชบ้าง ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่ถือหลักความจริง ถ้าเป็นอย่างนี้ผมเชื่อว่าคุณจะบวชสักกี่พรรษาก็คงไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ผมเองก็ยังไม่ได้บวช แต่ถ้าจะบวช ผมก็ต้องมีจุดมุ่งหมาย คุณรู้จักณรงค์ไหม”

  “รู้จักครับ”

  “เดือนที่แล้วมาขอบวชเจ็ดวัน เขาขอบวชทำไมรู้มั้ย”

  “ไม่ทราบครับ”

  “บวชแก้บน เขาบนเอาไว้ นี่ก็เป็นความเชื่ออย่างหนึ่งของคนเรา คุณเชื่อตามเขาหรือเปล่า ว่าการบวชแก้บนเป็นวิธีการที่ถูกต้อง”

  “ไม่เชื่อครับ”

  หัวหน้าหัวเราะ

  “ผมก็ไม่เชื่อ และผมก็ไม่เห็นถึงความจำเป็นที่คนเราเวลามุ่งหวังอะไรแล้วต้องบนบาน แต่ผมก็ไม่คัดค้านเขา ผมอนุญาตให้เขาบวชได้ เพราะผมคิดว่าเขาไม่ได้ทำผิดที่บวชแก้บน เพราะอย่างน้อยๆ ก็ทำให้เขาสบายใจที่ได้ทำตามสัญญาที่บนบานไว้ บางปีมีคนมาลาบวชกับผม พอผมถามว่าบวชทำไม ตอบให้ผมไม่ได้ ผมถึงกับไล่ให้ไปหาคำตอบ ไม่งั้นผมก็ไม่ให้ลา” ท่านพูดพลางหัวเราะ “จะบวชอยู่แล้วยังไม่รู้ว่าบวชทำไม เพื่ออะไร ก็แย่แล้ว”

  ผมรู้สึกชื่นชมต่อหัวหน้ามาก เพราะความคิดตรงกัน ก่อนลากลับ ท่านได้พูดถึงการบวชและศาสนาเปรียบเทียบ ท่านรอบรู้แทบทุกศาสนา แสดงว่าท่านได้ศึกษามาไม่น้อย ทั้งๆ ที่ท่านไม่เคยบวชเรียน ท้ายสุดท่านสรุปว่า

  “ศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนทำดีทั้งนั้น เพียงแต่ว่าเราจะนำมาใช้หรือเปล่า ที่ผมนับถือศาสนาพุทธ เพราะเห็นว่าเหมาะสมกับผม ข้อเสียของคนไทยเราอยู่ที่ว่า บอกใครต่อใครอย่างไม่อายว่านับถือศาสนาพุทธ แต่หลักสำคัญของพุทธศาสนามีอะไรบ้าง ส่วนมากจะตอบกันไม่ได้ อยู่เมืองไทยยังไม่สู้กระไร บางคนไปถึงเมืองนอก ฝรั่งถามเข้าหน่อย ยืนงงเหมือนถูกหมัด ตอบไม่ได้ อย่างนี้อายมาก”

   เมื่อผมบอกภรรยาว่าจะบวช เธอดูนัยน์ตาผมเหมือนกับจะค้นหาอะไร ในนั้น

  “พ่อจะบวชจริงหรือ?” เธอถาม

  “จริง” ผมยืนยัน

  “นึกอะไรขึ้นมา”

“นึกหลายอย่าง” ผมอธิบายเหตุผลในการที่ผมอยากจะบวชให้เธอฟัง เธอเห็นด้วยและยินยอม ตั้งแต่เราแต่งงานกันมา เธอไม่เคยขัดใจผมเลย เธอเข้าใจผมดี รู้ความต้องการของผม มีแต่ผมเท่านั้นที่ทำให้เธอเสียใจบ่อยๆ

ป้าคนหนึ่งพูดกับผมว่า

“หลานบวชเมื่อมีเมียแล้วก็ได้เมียหมด”

“อะไรครับป้า ที่ว่าได้เมีย” ผมถามอย่างสงสัย

“ก็ส่วนกุศลน่ะสิ”

“ไม่จริงหรอกป้า” ผมค้าน “ผมเชื่อว่าการบวชเป็นการทำดีอย่างหนึ่ง คนที่รักผมและหวังให้ผมเป็นคนดี ก็ย่อมได้สิ่งตอบแทนจากผมเท่าเทียมกันทุกคน”

“ได้ยังไง?” ป้าซัก

“ได้ความสบายใจสิครับ เพราะคนที่รักผมอย่างพ่อแม่หรือเมียต่างก็ต้องการให้ผมทำดี ผมมั่นใจว่าสิ่งที่ได้จากการบวชอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่ว่าทุกคนได้สบายใจกับผม ผมเข้าวัดดีกว่าเห็นผมเข้าคุก จริงไหมครับ ผมเองก็มีความสุขเพราะได้บวชตามที่ตั้งใจไว้และรู้ว่าคนอื่นๆ สบายใจต่อการกระทำของผม”

“หลานไม่คิดบ้างหรือว่า พ่อแม่ของหลานจะได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์”

ผมยิ้ม แต่ป้าไม่ยอมยิ้มกับผม

“ผมไม่เคยคิดครับ เรื่องอย่างนี้ผมไม่เชื่อ สวรรค์นรกไม่มีจริงหรอกครับ เป็นคำพูดเพื่อให้รู้ข้อแตกต่างระหว่างความสุขกับความทุกข์มากกว่า หรือถ้ามีก็ไม่ใช่ชาติหน้า อยู่ชาตินี้นี่แหละ ท่านผู้รู้คนหนึ่งเคยบอกผมว่า ‘สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ’ คนเราจะทุกข์จะสุขขึ้นอยู่ที่จิตใจเป็นใหญ่ครับ วันไหนป้ามีความทุกข์ก็เหมือนตกนรก ความจริงก็มีอยู่เพียงแค่นี้เอง ผมเชื่อเช่นนี้”

ป้านั่งฟังผมพูดอย่างสนใจ ไม่มีกิริยาคัดค้านแต่อย่างใด ถึงกระนั้นผมก็ยังไม่แน่ใจว่าท่านจะเห็นด้วยตามที่ผมพูดหรือไม่

การได้คุยกับป้าทำให้ผมนึกถึงแม่ แม่อยู่ต่างจังหวัด แม่อาจมีความคิดเหมือนป้าก็ได้ แต่คงไม่เป็นไร ไว้ให้ผมได้พบกับแม่ ผมคงพูดให้แม่เข้าใจได้ ครั้งน้องชายของผมบวช ขณะน้องห่มจีวรสีเหลือง ผมเห็นแม่น้ำตาซึม แม่คงตื้นตันใจ อีกไม่กี่วันผมก็จะได้บวชบ้าง ผมภาวนาขอให้แม่มีความรู้สึกเหมือนกับวันที่แม่เห็นน้องบวชบ้างเถิด

คนเราจะเข้าวัดเข้าวาบวชเรียน โดยเฉพาะตัวผมเอง ผมเห็นว่าเป็นเรื่อง ธรรมดาสามัญเหลือเกิน แต่ทำไมนะ  ดูเพื่อนสนิทของผมต่างก็คิดไปต่างๆ นานา

  “ไอ้ตรี บวชทำไม” เพื่อนคนหนึ่งถาม ผมก็ต้องอธิบาย และอีกหลายคนมาถามเช่นนี้ ผมต้องอธิบายซ้ำแล้วซ้ำอีก

  บางคนก็พาลคิดไปว่า ที่ผมบวชเพราะชีวิตในครอบครัวไม่ราบรื่นจึงหนีไปบวชสักพัก โธ่...ผมไม่อยากคุยหรอกว่าครอบครัวของผมเป็นครอบครัวเล็กๆ ที่มีความสุขที่สุด เรามีเงินไม่มากนัก แต่เราก็มีน้ำใจให้กันและกันอย่างพอเพียง

  บ้างก็คิดไปไกลว่า ที่ผมบวชเพราะผมต้องการรักษาขี้รังแค บ้าทั้งเพ ถ้าผมเป็นขี้รังแคจริง ผมคงไม่โง่รักษาวิธีนี้แน่นอน เอาอะไรมาพูดก็ไม่รู้

จากหนังสือ คนในผ้าเหลือง สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ ในเครือบริษัทสถาพรบุ๊คส์จำกัด

http://www.satapornbooks.co.th/Book/BookDetail.aspx?id=2114


หมายเลขบันทึก: 521650เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2013 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2013 13:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท