deawche
เดี่ยวเช คมสัน deawche หน่อคำ

แอ่วบ้านดอนมูล แวะซื้อเฟอร์นิเจอร์ไม้สักย่านหัวดง”


แอ่วบ้านดอนมูล แวะซื้อเฟอร์นิเจอร์ไม้สักย่านหัวดง”

  ใกล้ช่วงปลายปีแล้วนะครับ หลายๆครอบครัวคงรอการกลับมาเยี่ยมบ้านของญาติๆในช่วงสิ้นปี ซึ่งเป็นวันหยุดยาวๆ บางคนชักชวนกันไปไหว้พระธาตุช่อแฮอันเป็นพระธาตุประจำจังหวัดแพร่และเป็นพระธาตุประจำปีของคนเกิดปีขาล วันนี้ออนแพร่ขอแนะนำ “แอ่วบ้านดอนมูล แวะซื้อเฟอร์นิเจอร์ไม้สักย่านหัวดง” สำหรับคนแพร่และนักท่องเที่ยว คงทราบดีว่าบ้านหัวดง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ นั้นเป็นแหล่งผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้สักอันมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศไทย

ประวัติความเป็นมาบ้านดอนมูล  ชาวบ้านดอนมูลดอนแท่นอพยพมาจากบ้านดอนมูล,เกาะดอนแท่นที่อยู่ปากแม่น้ำกก,เมืองเชียงแสนและประเทศลาว โดยมีพญาอุปเสน อุปราชเมืองแพร่ได้ยกกองทัพไปร่วมทำสงครามที่เมืองเชียงแสน เมื่อเมืองเชียงแสนถูกกองทัพของกรมหลวงหิริรักษ์เข้าปิดล้อมจนกองทัพพม่าแตกแล้วได้ไพร่พลทั้งหมด 5 ส่วน และ1ใน 5ส่วนได้แบ่งมอบให้กับพญาอุปเสน อุปราชเมืองแพร่ นำไพร่พลมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองแพร่ โดยส่วนหนึ่งให้ตั้งรกรากอยู่ใกล้ๆชาวเชียงแสนที่มาอยู่อาศัยก่อนแล้ว (ประมาณ พ.ศ.2324และพ.ศ.2330) คือชุมชนบ้านพระหลวงธาตุเนิ้ง ซึ่งพญาอุปเสนได้นำมาตั้งถิ่นฐานในภูมิลำเนาที่รกร้างอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านพระหลวงธาตุเนิ้ง สันนิฐานว่าไพร่พล ดังกล่าวได้กระจายกันตั้งถิ่นฐานกระจายไปทางทิศตะวันออกตามผู้นำชุมชนของตน เช่น บ้านดอนมูล บ้านดอนแท่น บ้านค่างาม บ้านร้องแหย่ง เป็นต้นและชุมชนเหล่านี้ บางแห่งได้นำชื่อเดิมของหมู่บ้านที่เคยอาศัยอยู่มาก่อนที่ประเทศลาวและเมืองเมืองเชียงแสน นำมาตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจของพวกตน เช่น บ้านดอนมูล บ้านดอนแท่น เป็นต้น(บ้านดอนมูลและเกาะดอนแท่น เป็นชื่อบ้านเดิมที่อยู่เมืองเชียงแสน)

  ตั้งแต่ พ.ศ.2347 จนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านดอนมูลได้ก่อกำเนิดลูกหลานเหลน เชื้อสายชาวเชียงแสนมากว่า 200 ปี มีผู้นำชุมชนมาแล้วเท่าใดนั้นไม่มีการทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน เพียงแต่มีคำบอกเล่าต่อกันมาและเพียงสันนิษฐานว่า บ้านพระหลวงธาตุเนิ้งที่ชาวเชียงแสนมาอาศัยอยู่ก่อนนานแล้วคงจะมีผู้นำอยู่ก่อน และอาจจะขยับขยายลงมาอยู่ที่บ้านหัวดงด้วยก็เป็นได้ ซึ่งจากคำบอกเล่าว่า “กำนันคนแรกคงมีอยู่ก่อนแล้วและน่าจะอยู่ที่บ้านพระหลวงหรือบ้านหัวดง เมื่อหมดวาระลงหรือลาออกไม่ได้มีการบันทึกไว้ ชาวบ้านจึงเลือกกำนันคนใหม่ขึ้นเพื่อเป็นผู้นำชุมชนได้เลือกพ่อขุนมุกข์ ตั้งแต่สมัย พ.ศ.ใดไม่มีใครสามารถบอกกล่าวได้ เช่นกัน สำหรับความเป็นมาของพ่อขุนมุกข์ ที่เป็นผู้นำชุมชนหรือกำนันคนแรกนั้น พื้นเพท่านมีครอบครัวอยู่บ้านต๋อ(ตำบลร่องกาศ)ได้อพยพครอบครัวญาติพี่น้องมาตั้งรกรากภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านดอนมูล หมู่ที่ 4

  ปัจจุบันบ้านดอนมูลมีย่านการค้าตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองแพร่ไปทางทิศใต้ประมาณ 7 กิโลเมตร ถนนสายแพร่-สูงเม่น เส้นทางหมายเลข 101 เป็นแหล่งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้สัก,ไม้ไผ่ ซึ่งเป็นสินค้าโอท็อปขึ้นชื่อโดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก นั้นได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง มีลักษณะเป็นไม้เนื้ออ่อนที่มีความคงทน ลวดลายสวยงาม เรียบง่าย และขณะเดียวกันก็หรูหรา คลาสสิกในตัวของมันเองโดยการใช้งานยิ่งนานวันเฟอร์นิเจอร์ไม้สักจะมีความสวยงามมากขึ้น จนกลายเป็นของสะสม เนื่องจากมีคุณสมบัติพิเศษปลวกไม่กิน แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าไม้อื่นๆแต่ก็คุ้มค่าการใช้งาน สำหรับผู้ที่ต้องการแวะซื้อเลือกหาเฟอร์นิเจอร์ไม้สักในย่านการค้าหัวดง บ้านดอนมูล ไปเป็นของฝากหรือจะนำไปใช้สอยนั้น ออนแพร่ขอแนะนำวิธีเลือกซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์จากไม้สักเพื่อนำไปใช้กันครับ เฟอร์นิเจอร์ไม้สักมีมากมายหลายประเภท หลายชนิด มีทั้งไม้เก่า ไม้ใหม่ ไม้สักทอง ไม้แปรรูป ความหนาและขนาดของไม้สัก มีผลกับราคาทั้งสิ้น ต้องคำนวณหลายๆเหตุผล เช่น กำลังซื้อ การใช้งาน สถานที่จัดวาง สไตล์และรสนิยมส่วนตัว โดยเฉพาะการบำรุงรักษา เป็นต้น ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อมูลเล็กน้อย ใครสนใจสามารถเที่ยวชมได้นะครับที่บ้านดอนมูลนะครับ อำเภอสูงเม่นยังมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี สถานที่ท่องเที่ยวอีกมากนะครับ ไม่ว่าจะเป็นวัดพระหลวงธาตุเนิ้ง,วัดสูงเม่น,กาดพระหลวง ฯลฯ ขอให้คนแพร่แนะนำให้นักท่องเที่ยวหรือญาติๆด้วยนะครับ

เกร็ดเก็บมาฝาก:ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้ออกพระราชบัญญัติให้คนไทยทุกคนจะต้องมีนามสกุลเป็นของตนเอง ซึ่งพ่อขุนมุกข์ก็ไม่มีนามสกุลเช่นเดียวกัน ท่านเป็นกำนันจะต้องมีนามสกุล บางคนก็นำเอาชื่อหมู่บ้านเป็นนามสกุลก็มี เช่น บ้านวังหงส์,บ้านทุ่ง,บ้านวังธง สำหรับพ่อมุกข์ ท่านก็เอา ชื่อ บ้านดอนมูลและบ้านหัวดงผสมกันเป็นนามสกุล จึงเป็นต้นกำเนิดนามสกุลว่า “ดอนดง” โดยพบว่าบ้านดอนมูล มีนามสกุล “ดอนดง”อยู่มากมายหลายครอบครัว บางคนได้เปลี่ยนนามสกุลให้ทันสมัยกว่าดอนดงก็มี และหลายคนยังใช้นามสกุลเดิมอยู่ก็มีโดยที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นนั้นยังมีอยู่ไม่น้อย ส่วนมากแล้วเป็นเครือญาติกัน แต่คนรุ่นหลังคงยากที่จะสืบเสาะหารากเหง้าของบรรพบุรุษ นี่ล่ะจึงทำให้คิดแบ่งแยกอยู่ตัวใครตัวมัน เป็นสาเหตุให้ขาดญาติพี่น้องไปมากมาย เนื่องจากญาติผู้ใหญ่ไม่ได้บอกเล่านับญาติให้ฟังหรือทำการบันทึกไว้ นับวันผู้รู้ก็จากไปตามสายธารของการเวลาของความผูกพันธ์กันฉันฑ์ญาติพี่น้อง

  โดย ขี้เล่า

ขอบคุณข้อมูลจาก:เอกสารการประชาสัมพันธ์หมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP ดอนมูลและเอกสารย่านการค้าเฟอร์นิเจอร์ไม้หัวดง


หมายเลขบันทึก: 521618เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2013 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2013 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท